ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจริยธรรม



ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจริยธรรม

จริยธรรม คือ หลักแห่งความประพฤติ หรือแนวทางของการประพฤติปฏิบัติให้เป็นคนดีเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและส่วนรวม

ความสำคัญและประโยชน์

1. จริยธรรมเป็นรากฐานอันสำคัญแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมและประเทศชาติอย่างยิ่ง ซึ่งการพัฒนาที่ขาดจริยธรรมเป็นหลักยึดย่อมเกิดผลร้ายมากกว่าดี เพราะผู้มีความรู้แต่ขาดคุณธรรม ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมเสียได้มากกว่าผู้ด้อยความรู้

2. การพัฒนาบ้านเมือง ต้องพัฒนาจิตใจคนก่อน หรืออย่างน้อยก็ให้พร้อมๆไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาวิชาการอื่นๆ เพราะการพัฒนาที่ไม่มีจริยธรรมเป็นแกนนำนั้นจะสูญเปล่าและเกิดผลเสียเป็นอันมาก และการที่เศรษฐกิจต้องเสื่อมโทรม ประชาชนทุกข์ยาก เพราะคนในสังคมละเลยจริยธรรม กอบโกยทรัพย์สินเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไปขาดความเมตตาปราณี แล้งน้ำใจในการดำเนินชีวิตซึ่งกันและกัน

3. จริยธรรม มิได้หมายถึง การถือศีล กินเพล เข้าวัดฟังธรรม จำศีลภาวนา โดยไม่ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่จริยธรรมหมายถึงความประพฤติ การกระทำและความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมการทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เว้นสิ่งควรเว้น ทำสิ่งควรทำ ด้วยความฉลาดรอบคอบ รู้เหตุรู้ผลถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล ดังนั้น จริยธรรมจึงจำเป็นและมีคุณค่าสำหรับทุกคนในทุกวิชาชีพทุกสังคม สังคมจะอยู่รอดด้วยจริยธรรม

4.การทุจริต คดโกง การเบียดเบียนกันในรูปแบบต่างๆอันเป็นเหตุให้สังคมเสื่อมโทรม มีสาเหตุมาจากการขาดจริยธรรมของคนในสังคม ถ้าชาวโลกช่วยกันละทิ้งความละโลภมาก แล้วมามีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ยึดเอาจริยธรรมเป็นทางดำเนินชีวิต ไม่ใช่ยึดเอาลาภยศความมีหน้ามีตาในสังคมเป็นจุดหมาย ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นก็ถือเป็นเพียงผลพลอยได้และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประพฤติธรรม

5. จริยธรรมสอนให้เราเลิกดูหมิ่นกดขี่คนจน ให้เอาใจใส่ดูแลเอื้ออาทรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นบุพการีของชาติ สอนให้เราถ่อมตัวเพื่อเข้าหากันได้ดีกับคนทั้งหลาย และไม่วางตัวอวดดีหรือก้าวร้าวผู้อื่น สอนให้เราลดทิฏฐิมานะลงให้มากๆเพื่อจะได้มองเห็นสิ่งต่างๆตามความจริง ไม่หลงสำคัญตัวว่ารู้ดีกว่า ผู้นำที่มีจริยธรรมสูงย่อมเป็นที่เคารพกราบไหว้ของทั้งหลายได้อย่างสนิทใจ บุคคลหรือประเทศชาติจะมั่นคงอยู่ได้ไม่นาน สังคมที่เจริญมั่นคงต้องมีจริยธรรมเป็นเครื่องรับรอบหรือเป็นแกนกลาง

แหล่งที่มาของจริยธรรม

แหล่งที่เป็นบ่อเกิดของจริยธรรมที่เป็นแหล่งสำคัญ มีดังนี้

1. ปรัชญา คือวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง

2. ศาสนา คำสอนของศาสดาในศาสนาต่างๆ ตามที่ศาสดาเหล่านั้นท่านได้ปฏิบัติเองและสั่งสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม จนเกิดผลดีงามของการปฏิบัตินั้นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

3. วรรณคดี หนังสือวรรณคดีเป็นหนังสือที่มีมาตรฐานทั้งด้านเนื้อหาสาระ คุณค่าและวิธีแต่ง จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

4. สังคม สิ่งที่สังคมกำหนดนับถือร่วมปฏิบัติด้วยกัน อันได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ถือปฏิบัติกันในสังคมและยอมรับสืบทอดกันมา

5. การเมืองการปกครอง ในระบอบการเมืองการปกครอง ได้กำหนดข้อบังคับระเบียบกฎหมายของบ้านเมือง จรรยาบรรณต่างๆ ซึ่งเป็นข้อบังคับหรือแนวปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเพื่อความยุติธรรมโดยทั่วกัน

 

การเกิดจริยธรรมในมนุษย์แต่ละคน อาจเกิดได้จากลักษณะต่อไปนี้

เกิดจากการเลียนแบบ การยอมรับ การเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ แล้วนำมาปรับเข้ากับตนเอง กระบวนการนี้จัดเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อนและชุมชน

การสร้างจริยธรรมในตนเอง โดยตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องของมโนธรรม เหตุผลหรืออารมณ์ของมนุษย์

องค์ประกอบของจริยธรรม

จริยธรรมของบุคคลมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

ด้านความรู้ (moral reasoning) คือ ความเข้าใจในเหตุผลของความถูกต้องดีงาม สามารถตัดสินแยกความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้องได้ด้วยการคิด

ด้านอารมณ์ความรู้สึก (moral attitude and belief) คือ ความพึงพอใจ ความศรัทธาเลื่อมใส ความนิยมยินดี ที่จะรับจริยธรรมมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน

ด้านพฤติกรรม (moral conduct) คือการกระทำหรือหารแสดงออกของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของทั้งสององค์ประกอบข้างต้น

ดังนั้น ในการศึกษา จึงต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นแล้วพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไป เช่นการบริโภคอาหาร ก็จะกำหนดรู้ด้วยปัญญาว่าเรากินเพื่อบำรุงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ให้มีความสุขภาพดี เพื่อให้เรามีชีวิตที่ผาสุก หรือเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม เพื่อการบำเพ็ญกิจอันประเสริฐคือการทำหน้าที่และประโยชน์ต่างๆ นั่นก็คือใช้ปัญญาในการทำหน้าที่รู้คุณค่าของอาหาร รู้ความประสงค์ในการกินการบริโภค

หมายเลขบันทึก: 647589เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2018 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2018 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท