๔๒. ประสบการณ์ที่ถูกถอด


ประสบการณ์ที่ถูกถอด

ยุคปัจจุบัน...คือ ยุคแห่งการแข่งขันสูงมาก ๆ...หรืออาจเป็นเพราะรุ่นของฉัน คือ ยุคข้าราชการน้อยที่สุดในมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเป็นข้าราชการสายสนับสนุนวิชาการก็ตาม แต่นั่นในสมัยก่อน ฉันก็คือ "ข้าราชการ" คำว่า ข้าราชการหากศึกษาประวัติกันดี ๆ มีความหมายมากมาย...กว่าจะมาเป็นคำ ๆ นี้ พวกฉันถูกสอนให้เป็นคนที่กตัญญูต่อแผ่นดิน ต่อพระมหากษัตริย์ ต่อประเทศชาติ...เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน...ให้กระทำตนเป็นคนดี ทำแต่ความดี ซื่อสัตย์ ไม่คดโกงประเทศชาติ

ฉันมาย้อนคิดว่า...ฉันได้ปฏิบัติตนตามนั้นจริง ๆ เพราะถือว่า การกระทำดี คือ เกราะป้องกันตนเอง...และยึดถือ น้อมรับปฏิบัติมาโดยตลอดตั้งแต่บรรจุเป็นข้าราชการจนมาถึงวาระที่จวนจะเกษียณอายุราชการ เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายว่าในสถาบันอุดมศึกษาหากข้าราชการเกษียณอายุลงก็ไม่ให้นำอัตราข้าราชการมาบรรจุ อัตราที่เกษียณอายุราชการจะถูกทดแทนด้วยการบรรจุพนักงานมหาวิทยาลัย ส่วนลูกจ้างประจำเมื่อเกษียณอายุราชการจะถูกทดแทนด้วยอัตราของพนักงานราชการ สุดท้ายปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะถูกออกนอกระบบ หากว่ามีความพร้อมที่ต้องการจะออก เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดการคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับมหาวิทยาลัยที่ฉันอยู่เป็นมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ นั่นคือ มีคำว่า "ราชภัฏ" ติดอยู่ ซึ่ง ร. ๙ ทรงพระราชทานนามชื่อให้...ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยก็เป็นไปตามสภาพ เรียนรู้ ทำผิดพลาดบ้าง ไม่ผิดพลาดบ้าง ขึ้นอยู่กับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยว่า ทราบกันจริงถึงเรื่อง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายหรือไม่...บางมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความสามารถ เรื่องศาลปกครองก็น้อยหน่อย แต่บางมหาวิทยาลัยทำผิดบ้าง พลาดบ้าง กระทบสิทธิ์ถึงผู้อื่น ก็มีถึงศาลปกครองกัน...เป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศมาก ๆ ฉันมองแบบนั้น เพราะเอาเวลาขึ้นศาล แก้ต่างคดีความ มาช่วยกันพัฒนาประเทศดีกว่าหรือไม่ นี่คือ ความคิดของฉันเอง...แต่เรื่องคือมันต้องดำเนินต่อไปตามกระบวนการนั้น ๆ สุดแท้แต่ชะตากรรมเพราะปัจจุบัน ภาครัฐเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทำให้การจัดการระบบยังไม่นิ่งพอ...ทำให้เห็นการทำงานในระบบเก่ากับระบบใหม่ ซึ่งหากมองมันไม่ควรที่จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น แต่นั่นคือ ความพร้อมของบุคลากรมากกว่า พร้อมที่จะมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและแท้จริง อาจเกิดจากความคิด มุมมองมากกว่า ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ข้าราชการในมหาวิทยาลัยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด...ข้าราชการเกษียณอายุราชการปีละร่วม ๑๐ อัตรา...ลดลงมาเรื่อย ๆ จากเดิมที่ฉันสอบโอนมาอยู่ราชภัฏ ตอนนั้นมีอัตรา ๓๐๐ กว่าอัตรา ปัจจุบันเหลือไม่ถึง ๑๐๐ อัตรา...แต่จะได้ทดแทนมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเข้ามาแทนที่อัตราข้าราชการ...ซึ่งเป็นระบบสัญญาจ้าง และพนักงานราชการซึ่งมาทดแทนอัตราลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ...ในมหาวิทยาลัยจะมีบุคลากร ๒ ประเภท คือ ประเภทสายวิชาการและประเภทสายสนับสนุนวิชาการ...ซึ่ง สกอ.จะให้ความสำคัญกับสายวิชาการมากกว่าสายสนับสนุนวิชาการ อ้างว่า เนื่องจากเป็นผู้ผลิตบัณฑิต ส่วนสายสนับสนุนวิชาการจะมีหน้าที่ Support สายวิชาการในเรื่องของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเน้นให้ความสำคัญไปที่สายวิชาการ แม้แต่การประกันคุณภาพ ตัวชี้วัดส่วนมากจะเน้นในเรื่องของวิชาการ...นี่คือ ความแตกต่างกัน อาจเรียกว่า ๒ มาตรฐานก็ว่าได้ สำหรับอุดมศึกษา...อาจรวมถึงอัตราการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในระยะเริ่มต้น ที่มีมติ ครม. เริ่มต้นจ้างให้กับสายวิชาการ ได้ ๑.๗ และสายสนับสนุนวิชาการ ๑.๕ และมีมติให้มหาวิทยาลัยสามารถนำ ๐.๒ มาเป็นสวัสดิการในการบริหารจัดการได้ ซึ่งมติ ครม. ก็มีไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการตามแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลแล้ว สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้เอง...นี่ก็คือ ประเด็นปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการในแต่ละมหาวิทยาลัย เนื่องจากนโยบายไม่ชัดเจน บอกเพียงแต่กว้าง ๆ ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยใดตีความเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของมหาวิทยาลัยก็ดีไป...แต่หากมหาวิทยาลัยใดตีความเข้าข้างตนเองก็เริ่มเป็นประเด็นปัญหา เกิดเรื่องขึ้นในมหาวิทยาลัย จนถึงศาลปกครอง

สำหรับข้าราชการอย่างฉันก็ต้องพลิกผันการทำงานจากงานที่เคยทำประจำ กลับต้องเรียนรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการมากขึ้น เป็นเสาหลักให้กับมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการ...ฉันยังคิดต่อไปอีกว่า หากฉันไม่ทราบหรือเรียนรู้ที่มา ที่ไป กฎ ระเบียบ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ในอดีตที่ได้ปฏิบัติอยู่และนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการในปัจจุบัน อะไรมันจะเกิดขึ้น...เพราะจากงานวิจัยในสมัยก่อนออกมาว่า "ข้าราชการทำงานเช้าชาม เย็นชาม"...ซึ่งในสมัยนั้นฉันไม่เถียง...แต่ขอเถียงที่ว่า...อาจไม่ใช่ข้าราชการทุกคนกระมัง!!! ที่เป็นแบบนั้น อาจมีบ้าง เพราะในสมัยก่อน เรื่องของการพัฒนาคน ยังไม่เด่นชัดเช่นในปัจจุบันนี้...การพัฒนาตนเองในสมัยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลมากกว่า ที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองเพียงใด หากใครไม่พัฒนา เรียนรู้ ก็จะอยู่ในตำแหน่งเดิม หากพัฒนาตนเองก็จะมีโอกาสความก้าวหน้าของตนเองเพิ่มขึ้น...งานวิจัยก็เป็นเพียงแค่กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น มิใช่ผลออกมาเป็นข้าราชการทุกคนเมื่อใด...สำหรับฉันมิใช่อยู่ในกลุ่มของข้าราชการกลุ่มเช้าชามเย็นชาม เพราะหากอยู่กลุ่มนั้น คงไม่ได้มาเป็นถึงผู้อำนวยการกอง นับแต่บรรจุเป็นเจ้าพนักงานธุรการ ไต่เต้าจากการสอบเลื่อนซีทุกซีจนมาถึงปัจจุบัน นี่คือ การพัฒนาตัวเองของฉันมากกว่า...จากการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น IT กฎหมายต่าง ๆ ที่ข้าราชการต้องเรียนรู้ ฯลฯ...ถามว่าเหนื่อยไหม? ขอตอบเลยว่า...ข้าราชการแบบฉันมันเหนื่อยมาก ยิ่งเป็นสายสนับสนุนวิชาการในมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว มาตรฐานระดับ ๑ มิต้องพูดถึง เพราะส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นชนชั้น ๒ อยู่แล้ว...อาจไม่ใช่ความผิดของนโยบาย แต่มันคือ ความผิดของคนไม่ทราบกฎหมาย เรื่องการบริหารจัดการกันมากกว่า จึงทำให้สายสนับสนุนวิชาการเป็นชนชั้นที่ ๒ เพราะเท่าที่ฉันได้เรียนรู้มา ภาครัฐมิได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่เหตุการณ์ที่พวกข้าราชการสายสนับสนุนวิชาการพบเจอมันเป็นแบบนี้จริง ๆ

หากภาครัฐในความต้องการจริง ๆ คือ เรื่องวิชาการกับสายสนับสนุนวิชาการ ควรต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน...มิใช่จะอวดตัวเสมอเทียบชั้น แต่ในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น เพราะสายวิชาการ นั่นคือ การบริหารจัดการเรื่องการศึกษา การพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพราะบัณฑิตในอนาคต ก็คือ คนทำงานให้กับประเทศชาติ...ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ มีหน้าที่ในการช่วยสายวิชาการสนับสนุนในเรื่องของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ๔ M ที่ต้องมีความสำคัญต่อสถาบันอุดมศึกษา...หากการบริหารจัดการขาดเรื่องการบริหารจัดการไปแล้ว เรียกว่า "อ่อนแอ" จะทำให้เห็นถึงคุณภาพของบัณฑิตที่เรา ๆ เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ การบริหารจัดการต้องเข้มแข็ง คนปฏิบัติก็ต้องทราบจริงในเรื่องกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ สามารถแนะนำให้สายวิชาการได้ เรียกว่า "เป็นที่พึ่งให้สายวิชาการได้" ส่วนสายวิชาการก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการจากสายสนับสนุนวิชาการ มิได้นำเอาวุฒิการศึกษาที่จบปริญญาเอก มาเทียบ หรือมาบอกว่า สามารถกระทำงานในมหาวิทยาลัยไปได้ทุกเรื่อง...ทุกเรื่องราวต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน...นี่มากกว่า คือ การเรียนรู้ร่วมกันในสถาบันอุดมศึกษา หาก ๒ สาย เดินคู่ขนานไปด้วยกัน ฉันบอกได้เลยว่า...การศึกษาของประเทศไทยจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้...

ปัจจุบันข้าราชการแบบฉัน เริ่มลดน้อยลง สิ่งที่กระทำในตอนนี้ นั่นคือ "ความอดทน" อดทนต่อทุกเรื่องที่มนุษย์แต่ละประเภทในมหาวิทยาลัยจะกระทำต่อฉันเอง...ถามว่า ฉันต้องอดทนหรือไม่ จริง ๆ แล้ว หากทุกคนเข้าใจในการทำงานที่แท้จริงทุก ๆ คนแล้ว ฉันก็มิต้องอดทนเลย เพราะทุกคนปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ...แต่นี่ เป็นเพราะไม่เข้าใจจริง ๆ มันจึงเกิดเหตุการณ์ให้ฉันต้องอดทน...ไม่ว่าคำว่า สายตา ความคิด ตัวอคติ ฯลฯ...ซึ่งหากย้อนถามว่า "มันใช่หรือ?" ที่ข้าราชการแบบฉันจะต้องมานั่งอดทน...โดยเฉพาะชอบเน้นกันกับคำว่า "ชนกลุ่มน้อย" ในความเป็นจริงแล้วจะชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มใหญ่ เราก็ต่างทำงานให้กับมหาวิทยาลัยด้วยกันทั้งนั้น สุดท้ายพอเมื่ออายุ ๖๐ ปี ทุกคนก็ต้องเกษียณด้วยกันทั้งนั้น...แล้วจะมาทะเลาะ เบาะแว้งกันเพื่ออะไร...หรือเข้ามากันเพื่อหวังผลประโยชน์มิทราบ...นี่ใช่ไหม? ที่คือ "ความจริง" ที่ฉันต้องอดทน...สำหรับฉันที่เป็นข้าราชการ จะทำอะไรก็ต้องภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของราชการ มีกฎหมายให้ฉันได้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ มิได้อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายมาใช้ในการทำงาน...แต่บางครั้งการทำงานที่ตรง ๆ แบบฉัน ก็กระทบสิทธิถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่...ฉันทำได้ทางเดียว นั่นคือ หากผู้ใดกระทำ หรือสั่งการ ต้องให้ออกประกาศ ระเบียบ มาให้ฉันได้ปฏิบัติ เพราะนั่นคือ นโยบาย สำหรับผู้อำนวยการกองอย่างฉัน กระทำได้ นั่นคือ ทำภายใต้นโยบายที่มหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันตัวของฉันเอง หากใครทำ เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจเมื่อใด คน ๆ นั้นก็รับผิดชอบไป เพราะเรายังทำงานภายใต้กฎหมายของประเทศไทย

เหตุที่เขียน...เพื่อต้องการถอดบทเรียนที่ตัวของฉันเองได้รับว่าต้องอดทนนั้น มีอะไรบ้าง? หากหมดรุ่นข้าราชการ ซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อใด นั่นล่ะ! ที่จะทำให้เห็นว่า...กลุ่มชนกลุ่มใหญ่ก็จะถูกกระทำกันเองภายในกลุ่มนั้น เช่นกัน นี่คือ "สัจจธรรม" หากไม่จัดการระบบใหม่ให้ดีและแข็งแรงเสียก่อน และมันก็จะสืบทอดต่อไปเป็นรุ่นสู่รุ่นต่อไป...เขียนเพื่อต้องการเห็นถึงการพัฒนาประเทศที่แท้จริงในเรื่องของการศึกษา มิได้มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน...เพราะคนที่จะได้รับในรุ่นต่อไป นั่นคือ รุ่นลูก หลานของฉันเอง...เพราะความรักและปรารถนาดีต่อพวกเขาเท่านั้นเอง...อาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ขอถอดประสบการณ์ที่พบเจอไว้บนบันทึกแห่งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนา ต่อยอดให้ระบบการศึกษานั้น พัฒนายิ่งขึ้น...ณ ตอนนี้ ฉันก็ขอทำหน้าที่ของฉันให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเราข้าราชการสายสนับสนุนวิชาการที่จะช่วยมหาวิทยาลัยได้ และมีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้มันจะเหนื่อยสุด ๆ...มีความเข้าใจข้าราชการที่เขาขอลาออกไปก่อนกำหนดเกษียณอายุราชการว่าเพราะเหตุใด?...เพราะเขาเหนื่อย เขาไม่สู้ เขาไม่อยากอดทนอีกต่อไปแล้ว...มีใครกันบ้าง? ที่ต้องการจะเป็นชนกลุ่มน้อย...มีใครบ้าง? ที่ต้องการจะเป็นข้าราชการรุ่นสุดท้าย...มีใครบ้าง? ที่ต้องการให้คนอื่นมาดูถูกเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นข้าราชการ...สำหรับฉันแล้ว ถือว่าทำดีที่สุดแล้วต่อแผ่นดิน แล้วมีใครทำได้เท่ากับพวกเราข้าราชการสายสนับสนุนวิชาการแบบนี้บ้าง?...ขอเขียนไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของตนเองในการเป็นข้าราชการที่ได้ทำงานเพื่อแทนคุณต่อแผ่นดิน...การเป็นข้าราชการที่ดีนั้น มิใช่เป็นกันได้ง่าย ๆ เพราะมันต้องผ่านบททดสอบต่าง ๆ มาเพื่อให้พวกเราต้องอดทนกันอย่างมากทีเดียว...

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 647399เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเพิ่งได้อ่านเรื่องเกษียณฯ รู้สึกเห็นใจและคิดว่าเข้าใจในความเป็นไปของระบบฯ แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานไหม? ….วิโรจน์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท