๑๙๗. การสังเคราะห์ประมวลผล บูรณาการจากภายใน ให้ประสานเชื่อมโยงกันบนความต่าง


กรอบบูรณาการกระบวนการเวทีจังหวัดแม่ฮ่องสอน วัดส่งเสริมสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ บูรณาการการพัฒนาเพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะ และแนวขยายผลนวัตกรสื่อสาร กระบวนการวิจัยและพัฒนา



คณะทำงานและเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะสาธารณะโดยธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ประสานงานโครงการและเครือข่ายดำเนินการโดยพระคุณเจ้า พระวิสิทธิ์ จิตวิสิทโธ, ดร. อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ให้ไปเป็นวิทยากรและช่วยดูกระบวนการเชิงวิชาการ นำทีมดำเนินการต่างๆให้ เลยศึกษาและวิเคราะห์กรอบร่วมเชิงระเบียบวิธี วิธีคิดและกรอบปัญญาปฏิบัติ เพื่อบูรณาการและยืดหยุ่น กิจกรรมและกระบวนการเวที ซึ่งจะทำให้ทีมกระบวนกรและหน่วยดำเนินการหลายฝ่าย มีกรอบคิดและกรอบอ้างอิง เพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขา สามารถนำกระบวนการคิดและตัดสินใจ และจัดการอุปสรรคปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยใช้ความถนัดของตนเองได้อย่างสูงสุด รวมทั้งสามารถบูรณาการและเชื่อมโยงงานเชิงนโยบายของต่างองค์กรให้เข้ามาเสริมพลังดำเนินการซึ่งกันและกันให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น

เมื่อครั้งอยู่มหิดล มีทีมอาจารย์ ทีมวิจัย และหมู่คนทำงานหลายกลุ่มหลายคณะ มีความสนใจและขอให้ผมจัดกระบวนการ พาร่วมเวิร์คช็อปเพื่อเรียนรู้และสร้างทักษะการทำงานแบบนี้ ทั้งการฟัง การสรุป การประมวลผล สร้างหัวข้อและประเด็นคำถาม รวมทั้งการเล่า ถ่ายทอด บันทึกและทำสื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ นับแต่การเขียน การวาดภาพ การทำสื่อศิลปะ และอื่นๆ ที่เป็นข้อมูล สื่อ และการสื่อสารที่ไม่ใช่ภาษา ตัวอักษร ถ้อยคำ (Non-text and non-verbal communication media) ซึ่งจะใช้ทำงานที่มีองค์ประกอบบูรณาการทั้ง Technical skill และ Practical skill ให้กลุ่มคนต่างสาขา สามารถเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อยึดโยงกับการร่วมกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายระดับหลอมรวมและบูรณาการความแยกส่วนได้อย่างมีพลังมากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะการจัดการความรู้และพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ บูรณาการเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้กับการปฏิบัติ ทำให้การทำงานเอื้อให้เกิดโครงสร้างใหม่ๆของชุมชนและองค์กรทางปัญญา รวมทั้งบังเกิดชุดความหมาย ระบบคุณค่า ตลอดจนความเป็นส่วนรวมร่วมกันที่ดีและเหมาะสมกว่าเดิมมากยิ่งๆขึ้น

ผมได้ร่วมกับทีมและหมู่คณะคนเก่งอีกหลายคนดังกล่าวในมหาวิทยาลัยสร้างชุมชนปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) ให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนหลักในการพัฒนาองค์กรและบูรณาการระบบปฏิบัติการเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management - UKM) เพื่อจัดการความรู้บูรณาการการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและนำการพัฒนาดังที่พึงประสงค์ของสังคมประเทศชาติ มีความเป็นส่วนรวมที่แผ่กว้างออกไปบูรณาการจุดหมายและกระบวนการปฏิบัติสู่ความเป็นส่วนรวมเดียวกันอันกว้างใหญ่กับสังคมและภาคส่วนอันหลากหลาย แทนที่จะจำกัดกรอบเพียงอยู่กับตัวบ่งชี้ความสำเร็จบนความเป็นองค์กรและหน่วยจัดการความรู้แยกส่วนเล็กๆในสังคม มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 8 แห่ง มาร่วมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งน่าจะมีส่วนในการได้ก่อให้เกิดพัฒนาการสืบเนื่องในลำดับภายหลังจากนั้นอยู่บ้างพอสมควร  

นอกจากนี้ ก็ได้ใช้กระบวนการแบบนี้เช่นกัน มาเป็นเครื่องมือออกแบบการประชุมพัฒนางานนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ๆทั้งของมหาวิทยาลัย และของคณะต่างๆ ตลอดจนองค์กรภายนอกทั้งระดับชาติลงไปจนถึงระดับท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งได้พัฒนาโครงการหลักสูตรสร้างนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้และวิทยากรกระบวนการ (Process of Learning Designer and Facilitator) และนักวิจัยแนว Integrated  CO-PAR - Integrated development and Community Organizing Through Participatory Action Research ได้จำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก แต่ก็เชื่อว่ากระจายไปทุกภูมิภาคและทำงานสรรสร้างสุขภาวะสังคมบนประเด็นส่วนรวมที่สำคัญของชุมชนระดับต่างๆ หลายเรื่อง ร่วมทำงานกับครูอาจารย์ที่เคารพนับถือและมือชั้นยอดในวงวิชาการของประเทศ คุมวิทยานิพนธ์ขั้นสูงระดับปริญญาโทและเอกของชาวไทยและต่างประเทศของหลายมหาวิทยาลัย ให้พัฒนาเชิงระเบียบวิธีในแนวนี้ได้บ้างพอสมควร

งานวิจัยวิทยานิพนธ์หลายชิ้นที่ผมได้กำกับและดูแล จึงมีการผสานกันของคณะกรรมการควบคุมและคณะกรรมการสอบขึ้นเป็นทีมสหวิทยาการ  ที่สามารถบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามวิธีการ เพื่อร่วมมือกันทำและเรียนรู้ไปด้วยแบบค่อยเป็นค่อยไป ในการสร้างผู้นำทางวิชาการ สร้างนักวิจัย และสร้างผู้นำการพัฒนาในแนวที่จะสามารถออกไปทำงานให้กับสังคมในระดับบูรณาการและประสานความร่วมมือบนความแตกต่างด้วยจุดหมายร่วมสร้างสุขภาวะส่วนรวมเดียวกันที่กว้างขวางและครอบคลุมความแตกต่างหลากหลายให้สอดคล้องกับความจำเป็นใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลกได้มากยิ่งๆขึ้น

พร้อมกันนี้ ในด้านการสร้างความรู้ใหม่และปัญญาปฏิบัติแบบใหม่ ก็เป็นการวิจัยเชิงสังเคราะห์ตกผลึกประสบการณ์ของสังคมไทยและคนทำงานแนวนี้จากทุกแห่งทั่วสังคมโลกหลายยุคหลายสมัย ที่ขาดวิธีที่ดีพอสำหรับนำมาศึกษารวบรวม บันทึก และถ่ายทอดไว้เป็นปัญญาปฏิบัติ ที่เชื่อมโยงและบูรณาการอย่างพอดีระหว่างงานเชิงความคิดทฤษฎีกับกระบวนการปฏิบัติในบริบทของสังคมไทย เพื่อให้ทุนมนุษย์ สังคม ประชากร และวิถีชุมชน กับกระบวนการปฏิบัติและเรียนรู้ เป็นปัจจัยต้นทุนที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทางด้านต่างๆทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน และสังคมวงกว้าง

วิธีทำงานของ NGO กลุ่มนักกิจกรรม และกลุ่มคนทำงานระดับปฏิบัติการทั้งในภาครัฐและธุรกิจเอกชนเป็นจำนวนไม่น้อย ได้รับการนำมาศึกษาตรวจสอบเชิงระเบียบวิธีและพัฒนาให้เป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการ ช่วยบูรณาการระบบทำงานเชิงนโยบายให้มีวิธีสร้างจุดสัมผัสกับภาคปฏิบัติและเข้าถึงความเป็นจริงเชิงการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเชิงยกระดับการทำงานความคิดของภาคประชาสังคมและ NGO บางส่วน ให้เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสื่อสารความรู้ พัฒนาการเรียนรู้ และจัดการความเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการทางปัญญา มีแนวคิดและแนวอธิบายเชิงระเบียบวิธีให้การทำกิจกรรมบางส่วนเป็นปฏิบัติการเชิงการสร้างปัญญาปฏิบัติ สามารถแปรปัญหาการต่างขั้วความคิด ซึ่งเป็นรากของความขัดแย้งและการปะทะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ให้เป็นการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้และเกิดความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการสร้างอนาคตร่วมกันใหม่ๆ มีโอกาสอยู่เสมอที่มนุษย์จะหาทางแก้ปัญหาและสร้างสุขภาวะสังคมร่วมกันด้วยการเรียนรู้ สื่อสาร สนทนา พูดคุย รับฟัง ปรึกษาหารือ สร้างความเข้าใจ และใช้วิถีทางแห่งปัญญา ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีเสมอกันในทุกคน

Advisee ของผมนั้น บางคนไปเป็นผู้ประสานงานโครงการความช่วยเหลือของประเทศในกลุ่มประเทศแอฟริกา บางคนไปเป็นผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของประชากรข้ามชาติและการย้ายถิ่นข้ามชาติ บางคนไปเป็นอาจารย์และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยในเวียดนาม บางคนไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของ สปป.ลาว บางคนไปเป็นผู้ประเมินโครงการเชิงนโยบายและที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกของปากีสถาน หลายคนเป็นผู้นำพัฒนาการศึกษาและนักบริหารการศึกษาที่ได้ทุนของธนาคารโลกและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ไปเป็นกำลังคนสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและในกลุ่มประเทศก้าวหน้าทุกภูมิภาคของโลก นักศึกษาของผมและ Advisee  รวมทั้งคนทำงานของผม จะทำงานเชิงวิธีคิด ออกแบบระเบียบวิธีเพื่อเลือกเทคนิคและวิธีทำงานด้วยการใช้ความรู้ กระบวนการวิชาการ และปัญญาปฏิบัติ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างเหมาะสมที่สุดบนเงื่อนไขและปัจจัยในบริบทนั้นๆของการทำงาน รู้หลักคิด และทำงานเชิงกระบวนการเป็น มีศิลปวิทยาในการทำงาน คุยภาษาศิลปะ หนังสือ การอ่าน ทำงานสื่อ และศิลปะในการถ่ายทอด สื่อสาร แบบพึ่งการปฏิบัติของตนเองได้ นอบน้อมต่อการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คน แม้นทำได้เพียงแค่นี้ก็พอใจบ้างพอสมควร

ผมเคยกล่าวให้เป็นแนวคิดแก่ทีมวิจัยและคนทำงานกับผมที่มีแนวทำงานในลักษณะนี้ว่า การทำงานแนวนี้ ไม่เก่ง ไม่เด่น ไม่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งไม่ควรมุ่งให้เป็นอย่างนั้น หากเปรียบเป็นระบบและองค์รวมของร่างกาย ก็คงเทียบได้กับการเป็นเนื้อเยื่อ เอ็น ข้อต่อ และระบบยึดโยง ให้โครงสร้างกระดูก ร่างกาย และระบบต่างๆ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นระบบ ทำงานร่วมกัน บูรณาการ สอดประสานและส่งเสริมกัน กระทั่งเป็นระบบและองค์รวมของชีวิตโดยสมบูรณ์ในตัวคน จึงเป็นงานที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลังและเป็นรากฐานของความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งงานลักษณะนี้ เป็นธรรมชาติของงานทางด้านการสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการทางการศึกษา กระบวนการทางความรู้ ศิลปวิทยา วิทยาศาสตร์ กระบวนการทางศิลปะและวัฒนธรรม งานทางความคิด งานสร้างสรรค์ทางปัญญา งานในเชิงบริหารจัดการ อำนวยความสะดวก บริการ

กระบวนการแบบนี้ เป็นทักษะและเทคนิควิธีพื้นฐานของผู้ทำงานศิลปะ ที่ใช้สำหรับทำงานความคิด หามุมมอง หาแรงบันดาลใจ สร้างจินตนาการ สะท้อนอารมณ์และความรู้สึก เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ เป็นวงจรต่อเนื่อง จากภายในถ่ายทอดสู่ภายนอก (Inside-out) และสื่อสะท้อนกับภายนอก สร้างผลสะเทือนสู่ภาวะการเห็นจากภายใน (Outside-in) ซึ่งเรียกโดยรวมกันว่า วิธีการทางศิลปะดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการศึกษา (Study) สตั๊ดดี้ หรือการทำวิจัย (Research) เพื่อบังเกิดภาวะความแจ่มชัด ฉายโชน เจิดจ้าในใจ สามารถเห็นแบบแผนของสิ่งต่างๆ สังเคราะห์สร้างรูปฟอร์ม พิจารณาองค์ประกอบ และวางมิติความสัมพันธ์ต่างๆที่เป็นความงามสูงสุดในชุดอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งๆ

อย่างไรก็ตาม ศิลปินและคนทำงานศิลปะโดยมากจะไม่อธิบายแจกแจงกระบวนการเหล่านี้ในลักษณะนี้ หรืออาจจะงดการอธิบาย เพราะนอกจากจะเชื่อกันว่าไม่ใช่สาระสำคัญของศิลปะแล้ว ก็มักเห็นว่าเป็นการชี้นำและตีกรอบการมอง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกไม่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ซื่อตรงและไม่ใสกระจ่าง ซึ่งจะส่งผลต่อการบิดเบือนโลกความเป็นจริงของผู้อื่น ทอนความสามารถรู้สึกและความสามารถเข้าถึงธรรมชาติของมนุษย์ ปิดกั้นกระแสธารความฉายโชนแห่งปัญญาและจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งหากกล่าวในแนวทรรศนะศิลปะบริสุทธิ์และศิลปะเพื่อศิลปะก็คือ นอกจากไม่เป็นสาระสำคัญทางศิลปะแล้ว ยังเป็นการทำลายและปิดกั้นการเข้าถึงภาวะสูงสุดทางศิลปะของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายแนวคิดทฤษฎีเชิงวิพากษ์และทรรศนะทางวิชาการ เท่านั้น

เมื่อครั้งทำปริญญาเอกสาขาประชากรศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ผมกับเพื่อนหลายคน โดยเฉพาะ ดร.สะอาด สินไชย กรมการศึกษานอกโรงเรียน (ถึงแก่กรรมแล้ว) และอาจารย์ไพบูลย์ ชาวสวนศรีเจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสาธารณสุขยะลา มักรวมกลุ่มนั่งสนทนาเชิงวิพากษ์และแลกเปลี่ยนการอ่านบทความ วรรณกรรม หนังสือตำรา การบรรยายและปาฐกถาของบุคคล รวมไปจนถึงงานความคิดและงานของนักทฤษฎีต่างๆ กระทั่งนำเอาทฤษฎีทางด้านสังคมศาสตร์ทั้งหมดเท่าที่มีและหาได้ และเทคนิคเชิงระเบียบวิธีการวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งหมดเท่าที่มีและหาได้ มานั่งศึกษา วิพากษ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเป็นเรื่องที่นำมาพูดคุยพักผ่อนและเป็นหัวข้อสนทนายามว่างกัน สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องมือและกระบวนการคิดที่ช่วยจัดระเบียบประสบการณ์ชีวิต และนำกลับศึกษาใหม่ ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และใช้ทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมอย่างใหม่ ได้อย่างสอดคล้องกับทักษะและพื้นฐานของตนเองได้พอสมควร โดยเฉพาะการผสมผสานและบูรณาการศิลปะ กระบวนการทางการศึกษา และศาสตร์ต่างแขนง

ภาพความคิดเชิงระบบแบบนี้ หากเป็นทางศิลปะ ก็อยู่บนหลักการของการสรรค์สร้างสื่อสะท้อนตัวแบบ (Pattern) พื้นที่และรูปฟอร์ม (Shape,Form and Space) การเผยองค์ประกอบ (Complication and Composition) แสดงมิติสัมพันธ์ (Relation and Dimensions) และให้น้ำหนักในรายละเอียดขององค์ประกอบศิลป์ (Texture and Art elements) ให้ความงามและพลังแห่งสุนทรียปัญญา ได้เผยและปรากฏออกมาให้รู้สึก เกิดประสบการณ์หล่อหลอมกล่อมเกลาชีวิตภายใน เข้าถึงกระบวนการธรรมชาติ และสัมผัสจิตวิญญาณของมนุษย์ สังคม หมู่ชน และองค์รวมของสิ่งต่างๆถึงกัน สะท้อนกลมกลืนไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ของมนุษย์ สร้างวิถีสังคม วัฒนธรรม และอารยธรรม ด้วยการคัดสรรกลมกลืนไปกับความงาม ความดี ความจริง ที่ยืนนาน

หากเป็นหลักพื้นฐานของวิธีวิทยาและศาสตร์ศิลป์แห่งการสร้างสรรค์เชิงทฤษฎีและความรู้ (Science of knowledge) ก็อยู่บนหลักพื้นฐานที่สุดในการศึกษาเชิงระเบียบวิธีและวิธีวิทยาที่เป็นวิธีสร้างทฤษฎีและสร้างความรู้ต่างๆของมนุษย์ โดยเฉพาะในยุควิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ลำดับความสำคัญต่อการสังเกตการณ์ เครื่องมือและวิธีการสังเกต การวัดและนับได้ และการมีวิธีทำซ้ำหรือทดลอง ที่ผู้สนใจสามารถตรวจสอบ ศึกษา และทำขึ้นใหม่ด้วยตนเองได้อยู่เสมอ โดยให้มุ่งพัฒนาการคิดและทำสิ่งต่างๆให้เหมาะสมและดีที่สุดบน 3 หลักการสำคัญเสมอ ได้แก่  Max / Min / Con หรือ Maximized variation / Minimized error / Consistency control บนสามมิติของมนุษย์และปรากฏการณ์สังคมที่จะสามารถเข้าถึง สังเกต และวัดประเมินได้ ประกอบด้วย Cognitive Domain / Affective Domain / Practical Skill ของมนุษย์ กับ Ground /Frame of Phenomena ในระดับปรากฏการณ์สังคมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ 

สิ่งที่กล่าวมานี้ จะเป็นกฏและหลักเกณฑ์พื้นฐานที่นักวิจัยและนักทฤษฎีจะใช้เป็นแนวในการอ่านเหตุการณ์ อ่านโลกสรรพสิ่ง อ่านหนังสือ ตรวจสอบ พิจารณา สร้างทรรศนะวิพากษ์ ทั้งในเชิงทฤษฎี เทคนิควิธีวิจัย วิธีแสดงเหตุผล วิธีแปรผล วิธีเผยแพร่และสื่อสารความรู้ รวมไปจนถึงให้การใคร่ครวญและชั่งน้ำหนักต่างๆ แก่คุณภาพข้อมูล งานวิชาการ งานเขียน งานวิจัย งานความรู้ และงานเชิงทฤษฎีในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนงานเชิงมุขปาฐะ และงานแบบ Non-text data อีกทั้งเป็นระบบคิดและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (Thinking system and Intellectual infrastructure) เพื่อสั่งสมความรู้ใหม่ให้เพิ่มพูนงอกงามอยู่เสมอ เดินทางภายในและอยู่กับวิถีแห่งปัญญาในกิจกรรมต่างๆของชีวิตการงาน หรืออาจจะกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า ทั้งหมดนี้ เป็นหลักพื้นฐานที่จะนำไปสู่วิธีคิดและออกแบบเชิงเทคนิค ทั้งทฤษฎีสุ่ม การออกแบบวิจัย การพัฒนาเครื่องมือ การจัดกระทำข้อมูล ไปจนถึงการเผยแพร่สื่อสารและสะท้อนสู่วงจรปฏิบัติและสร้างกระบวนการเชิงสังคม จัดว่าเป็นวิธีเรียนรู้ (Learning how to learn) และวิธีการทางความรู้ (Science and arts of knowledge practice) เหนือความรู้ ทฤษฎี และศาสตร์แขนงต่างๆอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สิ่งใหม่ๆที่เราไม่รู้และอยู่นอกเหนือความรู้เดิม สามารถเข้าสู่การเรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้นำมาใช้ทำงานได้ด้วยตนเองเสมอ

ณ จุดหนึ่งของพัฒนาการ นักวิจัย ผู้เรียนรู้ ตลอดจนคนทำงานผู้มีประสบการณ์และมีการศึกษาเรียนรู้ อบรมกล่อมเกลาตนเองไปด้วยอยู่เสมอ ก็จะเหมือนกับไม่เชื่ออะไรเลย ไม่ตัดสิน ไม่สรุปและไม่หาข้อยุติเบ็ดเสร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะรู้ประจักษ์แจ้งแก่ใจกันดีว่าความรู้และปัญญาของมนุษย์นั้นเล็กน้อยและอหังการ์มาก ยังมีสิ่งที่มนุษย์ยังไม่รู้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น คนทำงานด้วยความรู้ นักวิจัย นักอ่าน นักศึกษาค้นคว้า คนอ่านโลกอ่านชีวิต และผู้อบรมกล่อมเกลาตนเองด้วยการเรียนรู้ไปบนวิถีแห่งการงานและการดำเนินชีวิต จำนวนหนึ่ง จะไม่ได้มุ่งอ่านข้อมูลและศึกษาเรื่องราวต่างๆ เพื่อไปสิ้นสุดที่การเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่จะพิจารณารอบด้านดูว่า ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และความคิดชุดนั้น สร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการและวิธีการที่เหมาะสมเพียงพอในบริบทนั้นๆหรือไม่อย่างไร แล้วก็พิจารณาปฏิบัติเสริมความเป็นพลวัตรปัจจัยให้กันและกันไปตามความเป็นจริง จำเพาะกรณีจำเพาะบริบทนั้นๆ  

กระบวนการเหล่านี้ เป็นกระบวนการและเครื่องมือสำหรับทำงานจากภายใน ใช้เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณา ตรวจสอบ ออกแบบแนวคิดแนวดำเนินการภาคปฏิบัติ ในการเข้าสู่การเรียนรู้สถานการณ์ใหม่ๆ เข้าถึงการสังเกต เห็น รู้สึก สื่อสะท้อนความหมาย และดึงออกมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้ตามความเหมาะสมหลายระดับ นับแต่การพูด เขียน ไปจนถึงการเขียนภาพเชิงนามธรรม หรือสรุปเป็นกรอบและหลักพื้นฐาน เพื่อนำไปใช้สร้างความคิดใหม่ให้ยืดหยุ่นกับสถานการณ์หลากหลาย แต่สามารถวางอยู่บนสิ่งพื้นฐานที่สุดของสังคมร่วมยุคสมัยและบริบทเชิงปรากฏการณ์ของสิ่งนั้นๆ.

..................................................

วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชากรกลุ่มพิเศษและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
คณะกรรมการเขตพื้นที่สุขภาพภาคประชาชน กขป.
ประธานอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กขป.เขต 1
ประธานอนุกรรมการวิชาการพัฒนากระบวนการรับฟังความคิดเห็น สปสช. เขต 1 ภาคเหนือ เชียงใหม่
ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 647298เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2018 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018 06:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ 

แม้ไม่ได้อยู่ที่มหิดลแล้ว แต่อาจารย์ยังมีอะไรดีๆ มาให้เราได้เรียนรู้กันอยู่เสมอๆ นะคะ ?

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วยเช่นกันครับ ที่เป็นเครือข่ายการเรียนรู้และได้ทำงานด้วยกันในหลายวาระ รวมทั้งเป็นผู้แนะนำ gotoknow.org ให้ผมได้รู้จักและเข้ามาใช้ทำงาน น่าจะนานหลายปีพอสมควรแล้วนะนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท