การดูแลผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมกลุ่มที่มีอาการท้าทายด้านอารมณ์ พฤติกรรม และจิตใจ


                 ข้อมูลจากหลาย ๆ หลักฐานชี้ว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมกว่าร้อยละ 90 มีอาการทางด้านอารมณ์ พฤติกรรมและจิตใจ หรือที่เรียกว่า Behavioral and Psychological Symptoms of Dementia: ฺBPSD ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า กลุ่มอาการที่ท้าทายด้านอารมณ์ พฤติกรรมและจิตใจ เพราะเป็นกลุ่มอาการที่ทดสอบความรู้ ความเข้าใจ และความอดทนของผู้ดูแลเป็นที่สุด จากประสบการณ์พบว่าผู้ดูแลที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าร้อยละ 50 

                 แล้วหลักการในการจัดการอาการท้าทายด้านอารมณ์ พฤติกรรม และจิตใจ ต้องทำอย่างไร ผู้เขียนซึ่งเป็นพยาบาลประจำคลินิกจิตเวชสูงอายุ ได้ใช้กระบวนการของกลุ่มสนับสนุนผู้ดูแล เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ดูแล ในการจัดการอาการที่ท้าทายนี้ จากการทำกลุ่มมาเกือบ 6 ครั้ง พอเห็นหลักการที่ผู้ดูแลใช้ตรงกัน คือ เข้มงวด และยืดหยุ่น สงสัยแล้วใช้มั้ยคะว่าคืออะไร ทำไมสองคำนี้แตกต่างกันเหลือเกินจะเอามาใช้ด้วยกันอย่างไร 

                   จากการแลกเปลี่ยนผู้ดูแลอธิบายว่า เข้มงวดในกิจกรรมที่ต้องระวังความปลอดภัย กิจกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาทางกฏหมาย หรือความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ถ้าผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ ต้องจำกัดพฤติกรรม หรือปรับสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด มีกรณีผู้ป่วยหญิงท่านหนึ่ง ดื่มน้ำตลอดเวลาและดื่มเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีของเหลวอย่างขาดการยับยั้ง จนมีผลต่อสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ทางแพทย์ และพยาบาลแนะนำให้เก็บเครื่องดื่มทุกชนิด ไม่ดื่มต่อหน้า ไม่เก็บไว้ในตู้เย็น เวลาออกจากบ้านสามีต้องปิดวาล์วน้ำทั้งหมด เพื่อป้องกันการดื่มน้ำในที่ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ ซึ่งผู้ดูแลที่เป็นสามีต้องใจแข็งมาก และออกกฏในครอบครัวให้งดดื่มของเหลวทุกชนิดต่อหน้าผู้ป่วย เพราะไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะแย่งหรือขอดื่มจนเกิดเรื่องราวหงุดหงิด ฉุนเฉียว ซึ่งการจัดการที่เข้มงวดทำให้ผู้ป่วยท่านนี้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการดื่มน้ำ ของเหลวจำนวนมาก เนื่องจากภาวะสมองเสื่อม ทำให้สูญเสียการยับยั้งชั่งใจ (Disinhibition) 

                   ส่วนคำว่า ยืดหยุ่น จะใช้เมื่อจำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เพื่อลดความขัดแย้ง การปะทะอารมณ์ การโต้เถียงจากการที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น เก็บรองเท้าโยนเข้าบ้านบ่อย เก็บผ้าที่ตากยังไม่แห้ง เปิดปิดประตูซ้ำ ๆ เดินไปที่หนึ่งที่ใดกลับไปกลับมา เหล่านี้ หากเห็นว่ากิจกรรมบางอย่างไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ต้องยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ผู้ดูแลต้องพยายามปรับจิตปรับใจให้ผ่อนตาม ดีกว่าต้องมาทะเลาะด้วยเรื่องซ้ำ ๆ ซึ่งไม่มีผลดีต่อสุขภาพจิตทั้งสองฝ่าย 

                   หรืออีกกรณีหนึ่งที่ผู้ป่วยมีอาการเฉื่อยมาก (apathy) การทำกิจกรรม กิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ผู้ดูแลต้องพยายามคงสมดุล ทั้งในส่วนของ การเข้มงวด และการยืดหยุ่น ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อไม่เป็นการบังคับผู้ป่วยมากเกินไป หรือขาดการกระตุ้นจนอาการเฉื่อยแย่ลงเรื่อย ๆ เช่น บางคนไม่ยอมทำอะไร ญาติต้องทั้งหลอกหล่อ และยอมตาม เพื่อให้ผู้ป่วยร่วมมือ ขณะเดียวกันก็โอนอ่อนในบางครั้งถ้ากิจกรรมนั้น หากไม่ทำก็ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากนัก หรือรอให้ผู้ป่วยพร้อมค่อยกระตุ้นใหม่ เห็นหรือไม่ว่าแม้จะแตกต่าง แต่เมื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยอย่างลงตัว ก็ช่วยให้ผู้ดูแลมีทางเลือกในการจัดการกลุ่มอาการที่ท้าทายเหล่านี้

                   เข้มงวด และ ยืดหยุ่น คำง่าย ๆ ที่ต้องใช้ใจเป็นตัววัด เพราะหากไม่มีใจแล้วเทคนิคเหล่านี้ก็ไร้ค่า ประสบการณ์เหล่านี้มาจากใจของผู้ดูแล ได้แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย โอกาสหน้าดิฉันจะมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวดีดี ที่ยังมีอีกมาก ซึ่งได้จากประสบการณ์ที่มีคุณค่าของผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมค่ะ ...

                                                                                                           9 พ.ค.61 ดร.ขวัญสุดา บุญทศ

หมายเลขบันทึก: 647056เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2018 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2018 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท