วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช

โครงการพัฒนากระบวนการจัดการความรู้เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดีในองค์กร (ครั้งที่ 2) วันพุธที่ 25 เมษายน 2561


โครงการพัฒนากระบวนการจัดการความรู้เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดีในองค์กร (ครั้งที่ 2) วันพุธที่ 25 เมษายน 2561

1. การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะทางปัญญา: Reflective thinking 

    1.1 ภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น อ.ดร.ชลลดา ติยะวิสิทธิ์ศรี

            ภายหลังจากการเรียนรู้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561  ทำให้ได้แนวทางในการนำไปประยุกต์ในการนิเทศภาคปฏิบัตินักศึกษาบนหอผู้ป่วย จึงนำไปประยุกต์ใช้ในการนเทศภาคปฏิบัติวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 ณ หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด  โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ  การพัฒนาทักษะการคิดของนักศึกษา   ผ่านกิจกรรมประชุมปรึกษาก่อนและหลังการพยาบาล  การบันทึกการเรียนรู้รายสัปดาห์  การเขียนแผนการพยาบาล และการทำงานกลุ่มแปลและวิเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลทารกที่อยู่ในระยะสุดท้าย      กลุ่มเป้าหมาย คือนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จำนวน 7 คน  ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติดูแลทารกแรกเกิดที่มีอาการป่วยมาก่อน  จำนวน 6 คน  มี 1 คน ที่เคยผ่านการฝึกปฏิบัติดูแลทารกแรกเกิดที่มีอาการป่วยแล้ว  (ครูคาดหวังว่าเธอจะเป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ ได้)

สัปดาห์ที่ 1

ในวันแรกของการขึ้นฝึกภายหลังจากนักศึกษารับการปฐมนิเทศจากพยาบาลพี่เลี้ยงของหอผู้ป่วยแล้ว  มีการมอบหมายผู้ป่วยให้โดยในให้นักศึกษา 2 คน ดูแลผู้ป่วย 1 คน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้นักศึกษาปรับตัว และลดความเครียดในการเข้าไอซียูครั้งแรก และคนไข้ก็เป็นทารกแรกเกิดด้วย  แต่แม้จะมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วย 1 คน ต่อ นักศึกษา 2 คน  ทุกคนต้องเขียนแผนการพยาบาลของตนเอง และนำเสนอ case ด้วยตนเอง  เมื่อมอบหมายผู้ป่วยให้แล้ว  ครูสอนการอ่าน chart และแบบบันทึกต่างๆ ของผู้ป่วย  แล้วปล่อยให้ทุกคนศึกษา chart  case  ที่ได้รับมอบหมาย โดยครูอยู่ในหอผู้ป่วยด้วย และเปิดโอกาสให้ซักถามได้หากมีข้อสงสัย  จนกระทั่งทุกคนศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยครบถ้วน  ก็ถึงเวลาส่งเวร  จึงให้สังเกตการณ์การรับ-ส่งเวรของพี่พยาบาลระหว่างเวรเช้า กับเวรบ่าย  เสร็จแล้วจึงให้ลงจากตึกได้ และนัดหมายให้วันรุ่งขึ้นมาถึงหอผู้ป่วยไม่เกิน 7.45 น. พร้อมทำหน้าที่พิเศษให้เสร็จก่อน 8.15 น. เพื่อเตรียมรับเวรจากพี่เวรดึก  (บันทึกถึงตรงนี้ทำให้คิดได้ว่า ทำไมครูไม่ถามว่านักศึกษารู้สึกอย่างไร มีประเด็นไหนที่สงสัย อยากถาม หรือแลกเปลี่ยน) ช่วงที่รับเวร สังเกตว่าขณะที่พี่พยาบาลส่งเวรเตียงที่ไม่ได้ assign นักศึกษาจะยืนฟังเฉยๆ ไม่มีการบันทึก แม้แต่เตียงของตนเองก็จดน้อยมาก  (คิดว่าจะต้องสะท้อนเรื่องนี้ตอน pre-conference) หลังรับเวรเสร็จปล่อยให้นักศึกษาลงมือทำงานกับพี่พยาบาลเจ้าของ case เลย (เพราะกิจกรรมการพยาบาลทารกต้องมีการให้นมมื้อ9.00 น. ซึ่งการส่งเวรจะเสร็จประมาณ 8.50-9.00 น. ) เพื่อเรียนรู้ลำดับขั้นตอนของการพยาบาลทารกที่อยู่ในภาวะวิกฤต ตั้งแต่การประเมินสภาพ การบันทึก  การให้ดูดเสมหะ การให้อาหาร การทำความสะอาด  การเจาะเลือด  การเตรียมทารกตรวจพิเศษ การให้ยา การทำแผล ฯลฯ และนัดหมาย pre-conference ในเวลา 10.00 น. ภายหลังวัดสัญญาณชีพแล้ว  แยกห้อง (ผู้ป่วยมี 2 ห้อง นศ.ทำงานห้องละ 3-4 คน)  ห้องที่ 1 บรรยากาศในการ pre-conference  อาจารย์สุ่มมา 1 เตียง (เตียงที่นศ.คนที่เคยฝึกพยาบาลทารกมาแล้ว)  นศ.นำเสนอประวัติทารก และผลการตรวจที่ผิดปกติ และนำเสนอปัญหาการพยาบาล ซึ่งเริ่มต้นด้วยปัญหาการหายใจ  สิ่งที่พบคือ นศ. นำข้อมูลสนับสนุนของผู้ป่วยมาใช้ประกอบได้ไม่ครอบคลุม ครูใช้วิธีการถามทุกคนว่ายังมีข้อมูลอะไรอีกไหมที่จะช่วยสนับสนุนปัญหานี้  และถามเหตุผลว่าข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนอย่างไร ให้อธิบาย สิ่งที่ปรากฏคือ นักศึกษายังไม่สามารถบอกได้ครอบคลุม ครูจึงให้โจทย์ไปว่าให้นศ.ทุกคนในห้องนี้แลกเปลี่ยนกันว่าในปัญหาระบบทางเดินหายใจแต่ละคนมีข้อมูลสนับสนุนอะไรบ้าง และอธิบายเหตุผลด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนปัญหานี้อย่างไร และนำไปอภิปรายกันในตอนเย็นช่วง post-conference   ส่วนบรรยากาศการ pre-conference ในห้องที่ 2 ก็ไม่แตกต่างจากห้องที่ 1 จึงมอบหมายเช่นเดียวกัน  ตลอดทั้งวันจากการสังเกตพฤติกรรมการทำงานนักศึกษายังไม่คอยมั่นใจในการทำงานมีการซักถามขอมูลเป็นระยะๆ แต่ละเตียงจะมีพี่พยาบาลเป็นพี่เลี้ยงในการทำงาน จึงเปิดโอกาสให้นศ.เรียนรู้จากพี่ให้มากที่สุด เพราะเมื่อใดที่ครูเข้าไปพี่จะหยุดสอน (คิดว่าน่าจะเกรงใจ และกลัวครู ..หรือเปล่า)  ช่วงพักสอบถามนศ.ว่าเป็นอย่างไรบ้าง นศ.ตอบว่าพี่ๆสอนดีค่ะ แต่ให้การบ้านมา 6 ข้อ หนูต้องรีบหาไปตอบ (ครูรู้สึกดีที่นศ.กระตือรือร้น) ส่วนอีกห้องหนึ่งตอบว่าพี่ไม่ให้หนูทำอะไรเลย ได้แต่ยืนดูอย่างเดียว (ครูเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตามไปดู และหาโอกาสคุยพับพยาบาลพี่เลี้ยง  ตั้งเป้าหมายว่า post-conference  ต้องคุยทั้ง 2 ประเด็นนี้เกี่ยวสาเหตุ และแนวทางการแก้ไข)  สิ่งที่ได้จากการทำ  post-conference  (แบบสรุปความ)

  • การรวบรวมข้อมูล  นักศึกษาสรุปได้ว่าในการรวบรวมข้อมูลปัญหาทางการพยาบาลไม่ว่าปัญหาอะไร ข้อมูลจะต้องประกอบไปด้วย 1) ประวัติของทารกทั้งหมดตั้งแต่ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาที่เคยได้รับ  2) ผลการตรวจร่างกายและข้อมูลสัญญาณชีพ และค่า monitor ต่างๆ  3) ผลการตรวจพิเศษ ผล Lab ทุกชนิด  และจะนำไปปรับปรุงการเขียนแผนการพยาบาลของตนเอง 
  • การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวันนี้
    • ทำไมจึงตอบคำถามพี่ไม่ได้ เพราะนศ.ไม่ได้ทบทวนความรู้มามากพอ ศึกษาเฉพาะเรื่อง แบบผ่านๆ  และไม่รู้วิธีการสืบค้นข้อมูลที่ตรงประเด็น อ่านจับใจความไม่ได้ อ่านหลายรอบก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะทางการรักษา ไม่สังเกตขณะที่พี่ทำหัตถการหรือให้การพยาบาล
    • ทำไมพี่ไม่ให้ทำ เพราะนักศึกษาตัดสินใจช้า และบอกขั้นตอนการทำไม่ได้ และไม่กล้าขอพี่ในการฝึกทำ กลัวโดนดุ คิดว่าอยู่เฉยๆดีกว่าจะได้ไม่โดนว่า  ครูจึงให้ทุกคนเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของสถานการณ์นี้ และจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร

ข้อดี

ข้อเสีย

1.ไม่โดนดุ

2.สบายดีไม่ต้องทำอะไร

1.ไม่ได้เรียนรู้

2.ขาดทักษะประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ

3.สัมพันธภาพไม่ดีกับพี่เลี้ยง

4.อาย   รู้สึกเสียหน้า ไร้ค่า

5.ทำให้อาจารย์ผิดหวัง

แนวทางการพัฒนา

1.เตรียมความรู้ให้พร้อมโดยสอบถามจากเพื่อนกลุ่มก่อนๆ อ่านหนังสือ และถามอาจารย์เพื่อสอบทานความถูกต้องของข้อมูล

2.กล้าแสดงความต้องการที่จะเรียนรู้ของตนเอง

3.หากไม่รู้ก็ไม่มัวตอบ แต่รับจะไปค้นคว้าหาความรู้มาตอบให้ (คิดว่าพี่น่าจะพอใจ)

4.กระตือรือร้นในการฝึกปฏิบัติอยู่เสมอ (ไม่ดูดาย) ช่วยงานที่พี่มอบหมาย

 

การประเมินผล  จากการสังเกตพฤติกรรม  การเขียนแผนการพยาบาล และสอบถามพยาบาลพี่เลี้ยง พบว่า การรวบรวมข้อมูลในวันถัดมามีข้อมูลมากขึ้นและสอดคล้องกับปัญหาการพยาบาล รวมทั้งสามารถบอกเหตุผล อธิบายความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงได้ตรงประเด็นพอสมควร (ดีขึ้นกว่าวันแรก)  ส่วนเรื่องการได้ลงมือปฏิบัติการพยาบาล นักศึกษารู้สึกมั่นใจขึ้นในการลงมือทำและสื่อสารความต้องการกับพี่เลี้ยงในแต่ละเตียง  ครูจึงเปลี่ยน assign ให้ในวันที่ 4 ของการฝึกเป็นนศ. 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 1 ราย เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสปฏิบัติการพยาบาลอย่างเต็มที่ (ครูให้นศ.ประเมินการมอบหมายงานแบบนี้ นศ.เห็นว่าเหมาะสม เพราะช่วงการขึ้นครั้งแรกแล้วมีเพื่อนเป็นคู่คิด ทำให้รู้สึกอุ่นใจในการปฏิบัติ)

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

  • ความพร้อมของครู ในแง่ของเวลา ครูต้องอยู่กับนักศึกษาให้มากที่สุด เพื่อจะได้สังเกตพฤติกรรม และเก็บประเด็นสะท้อนการเรียนรู้ให้กับนศ.ได้ทันเหตุการณ์ นำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขได้ทัน
  • ความพร้อมของนักศึกษา  นศ.ต้องกล้าที่จะบอกความจริง และเปิดใจเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่โทษคนอื่น

จุดอ่อนและแนวทางการพัฒนา

  • ไม่ได้วางแผนการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  คิดไม่รอบ ควรมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ออกแบบกระบวนการและการประเมินผลให้สอดคล้องกัน
  • ขาดการบันทึกข้อมูลที่ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม  เพราะหากครูมีการถอดบทเรียนและจดบันทึกโดยละเอียด จะทำให้เกิดคำถาม หรือ ได้ประเด็นการไปสะท้อนกับนักศึกษาได้ทันที ตามสถานการณ์ที่นศ.ประสบ

ส่วนสัปดาห์ที่ 2 ครูต้องเข้าประชุม อบรม จ้าง Preceptor นิเทศแทน จึงไม่ได้บันทึก

     1.2 ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน โดย อ.ศุภวรรน  ยอดโปร่ง และอ.ชนกานต์  แสงคำกุล 

        1) ฝึกปฏิบัติการเยี่ยมบ้านโดยใช้เทคนิคการสะท้อนคิดตามระยะของการเยี่ยมบ้าน ได้แก่ ระยะก่อนเยี่ยมบ้าน ระยะดำเนินการเยี่ยมบ้าน และระยะหลังเยี่ยมบ้าน โดยในช่วงของการ pre-post conference อาจารย์ประจำกลุ่มจะกระตุ้นให้นักศึกษาสะท้อนคิดตามขั้นตอนการสะท้อนคิดของ Gibbs ทั้ง 6 ขั้นตอน ดังนี้ (สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง จำนวน 4 สัปดาห์)

               - บรรยายเหตุการณ์/ประสบการณ์ (Description) ในการฝึกภาคปฏิบัติการเยี่ยมบ้านที่นักศึกษาคิดว่าสำคัญสำหรับนักศึกษา: เกิดอะไรขึ้น บทบาทของนักศึกษาตอนนั้นคืออะไร

              - จากสถานการณ์นักศึกษารู้สึกอย่างไร (Feelings) อธิบายความคิดความรู้สึกที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ และอธิบายเหตุผลประกอบอย่างสมเหตุสมผล

              - จากสิ่งที่นักศึกษาเล่ามาข้างบน จุดเด่นในตัวนักศึกษาคืออะไร และจุดที่ควรปรับปรุงในตัวนักศึกษาคืออะไร (Evaluation) : (จุดที่ควรปรับปรุงจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่ม)

             - อะไรที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมกลุ่ม/อาจารย์ (Analysis) : เช่น สิ่งที่อาจารย์ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมคืออะไร หรือ สิ่งที่ได้รับการสะท้อนจากตัวผู้ป่วย

             - จากการสะท้อนของตัวนักศึกษาเองและข้อเสนอแนะจากผู้อื่น นักศึกษาคิดว่านักศึกษาต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม (Conclusions)

             - การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในอนาคต (Action plans) อธิบายแผนการนำความรู้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งบอกสถานการณ์ วิธีการ เหตุผลของการประยุกต์ใช้อย่างชัดเจน

       2) ครูมอบหมายให้นักศึกษาเขียนบันทึกการสะท้อนคิดภายหลังจากการ conference กับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม และอาจารย์ประจำกลุ่มแล้ว (One page) ส่งอาจารย์ประจำกลุ่ม  (1 ฉบับต่อนักศึกษา 1 คน) 

    1.3 ภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดย อ.ดวใจ พรหมพยัคฆ์ 

      1) สอนโดยใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริง

      2) ครูแบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 คน เข้าเรียนรู้สถานการณ์โดยกำหนดบทบาทเป็นพยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าเวร หัวหน้าทีม และสมาชิกทีม ส่วนผู้เรียนที่เหลืออีก 4 คน จะเป็นเป็นผู้สังเกตการปฏิบัติของเพื่อน และในสถานการณ์ต่อมาผู้เรียนทั้ง 2 กลุ่ม จะสลับบทบาทการเป็นผู้แสดงและผู้สังเกตุการณ์ ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์ (scenario) ใช้เวลา 15-20 นาที 

      3) ขั้นสรุปผลการเรียนรู้ (debriefing) ใช้เวลา 20-30 นาที ให้ผู้เรียนสะท้อนคิดกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติในสถานการณ์  ตามบทบาทที่ตนได้รับ โดยครูกระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนคิดตามแนวทางการสะท้อนคิดของกิบบ์ (Gibbs' reflective cycle) ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้

         - ผู้เรียนบรรยายสถานะการณ์ที่เกิดขึ้น

         - ผู้เรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน 

         - ผู้เรียนวิเคราะห์ประสบการณ์ว่า มีความคิด ความรู้สึกอย่างไรหรือคิดอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความซื่อสัตย์ 

         - วิเคราะห์สถานการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าที่เป้นอุปสรรค มีอะไรบ้างที่จะสามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น มีการอ้างอิงและเชื่อมโยงหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 

         - ผู้เรียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสถารณ์ ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติหรือข้อคิด และวิธีแก้ไขปัญหาโดยใช้เหตุผลประกอบ หรือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำขึ้นอีก 

         - ผู้เรียนวางแผนเพื่อนำไปใช้หากเกิดสถานการณ์ซ้ำ 

      4) หลังจากสะท้อนคิดแล้วผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้โดยบันทึกการสะท้อนคิด (reflective journal) ตามโครงสร้างคำถามของกิบบ์ (Gibbs' reflective cycle) 

    1.4  ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ โดย อ.ดร.จิตตระการ ศุกร์ดี 

           จัดในวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดา ทารกแรกเกิด และผดุงครรภ์ นำไปใช้ในฝึกประสบการณ์การทำคลอดในห้องคลอด 

โดยมอบหมายให้นักศึกษาเลือกเหตุการ์หรือสถานการณ์ที่สนใจมา 1 สถานการณ์ หลังจากนั้น ให้นักศึกษาเขียนบันทึกการสะท้อนคิด (reflective journal) ตามโครงสร้างคำถามของกิบบ์ (Gibbs' reflective cycle) ส่งอาจารย์ประจำกลุ่ม

     

2. การผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัย โดย อ.ดร.กีรติ  กิจธีระวุฒิวงษ์ 

การจะทำวิจัยเพื่อให้สามารถเผยแพร่ได้หลายประเด็นต้องเริ่มต้นจากการออกแบบการวิจัย
    - มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 

    - เนื้อหาครอบคลุม
    - กลุ่มตัวอย่างเพียงพอ เป็นตัวแทนของประชากรได้
    - และมีการวางแผนการการตีพิมพ์เอาไว้ 






20180501114736.pdf

20180501114742.pdf

20180501114752.pdf

หมายเลขบันทึก: 646863เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2018 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2018 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ชลลดา ติยะวิสุทธิ์ศรี

หลังจากการแลกเปลี่ยนในวันนั้น ได้กลับมาสะท้อนเพิ่มเติมว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จนอกจากขึ้นอยู่กับอาจารย์และนักศึกษาที่เขียนไว้แล้วในเอกสารถอดบทเรียน   คิดว่าปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมก็มีผลด้วยเช่นกัน เช่น การจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนตัว  บรรยากาศกัลยณมิตร สร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย ไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด  จะช่วยทำให้นักศึกษาเกิดความไว้วางใจ และกล้าที่พูดความจริง  สะท้อนความคิดและความรู้สึกออกมาให้ทุกคนในกลุ่มฟัง

อาจารย์ทุกท่านที่นำเสนอประสบการณ์การใช้เทคนิคการสะท้อนคิดไปใช้ในการสอนนักศึกษาพยาบาลให้มุมมองจากประสบการณ์ของอาจารย์ทุกท่านได้ดีมากเลยคะ สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือ การใช้เทคนิคนี้ให้ได้ผล น่าจะต้องมีการผสมผสานกันทั้งการสนทนาและการเขียนสะท้อนคิด เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับครูผู้สอนได้มากขึ้น ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแลกเปลี่ยนคะ

หลังจากการแลกเปลี่ยนในวันนั้น โดย อ.ดร.ชลลดา ติยะวิสุทธิ์ศรี เกี่ยวกับการคิดแบบสะท้อน (Reflective thinking) ใน NICU อาจารย์แนะนำว่า เทคนิคที่ให้นักศึกษา Trust คือ ความไว้วางใจ และกล้าที่พูดความจริง สะท้อนความคิดและความรู้สึกออกมาให้ทุกคนในกลุ่มฟังเป็นสิ่งจำเป็นในการทำในคลินิก หรือในห้องเรียน ดังนั้นบรรยากาศแบบกัลยาณมิตรที่ดีและการสร้างความอบอุ่นให้นักศึกษาเกิดความไว้วางใจในการที่จะพูดแบบ Reflective thinking ควรจะสร้างขึ้นมาในระหว่างสนทนา และการตั้งประเด็นคำถามก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้นักศึกษาร่วมแชร์ประสบการณ์และสะท้อนคิดได้ดียิ่งขึ้น 

ในการฝึกการนิเทศการพยาบาลผู้สูงอายุ ได้มีการใช้ Reflective thinking โดยการตั้งประเด็นคำถามและสะท้อนคิดเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้นักศึกษาได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้นและสามารถนำข้อสะท้อนคิดต่างๆ จากอาจารย์ไปใช้ได้จริงและผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถประยุกต์ใช้ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

การนำ reflective thinking ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะช่วยให้นักศึกษาเกิดการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท