ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 21 : การสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการ ตอน 5


ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 21 : การสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการ ตอน 5

26 เมษายน 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มุมมองการสับเปลี่ยนโยกย้ายปลัด อปท.รอบ 4 ปี

ในกรณีตำแหน่งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ นั้น สามารถย้ายสับเปลี่ยนได้สะดวก เพราะมีระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางส่วนภูมิภาครองรับ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการยึดติดพื้นที่ แต่กรณีคน อปท. นั้นมันมีความผูกพัน ฝังราก มากกว่า งานปกครองที่สรุปว่าน่าจะมีทางเลือกให้พนักงานส่วนท้องถิ่นต้องการเป็นแบบใดจะเป็นแบบพลเรือน หรือ แบบท้องถิ่น เกือบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปลงตัว มีข้อวิตกว่าระบบ ก.จังหวัดมักเป็นแหล่งรวมของกลุ่มผลประโยชน์ อิทธิพล ที่มีผลไปถึงการแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้กำกับดูแลท้องถิ่นด้วย หากจะเป็นระบบการคัดเลือกแบบข้าราชการพลเรือนก็ดี แต่ อปท. มีการบริหารงานแบบครอบครัว มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ประจำ อปท.ที่อาจมีมากขึ้นกว่าแต่เดิมที่สร้างความเสื่อมศรัทธาในสายตาคนนอกได้เป็นปัญหาว่าควรแก้กันอย่างไร นอกจากนี้ บุคคลในระบบท้องถิ่นรวมถึงผู้กำกับดูแล ที่ไม่ใส่ใจเข้มงวดกวดขันการ “เรียกรับ” เป็นพฤติกรรมเดิมๆที่ยอมรับสภาพ จึงเป็นปัญหาคาอกของระบบอุปถัมภ์ ที่ไม่มีวันหมดมาถึงทุกวันนี้ หรือว่า อปท.จะเป็นเพียงการสร้างเวทีการเมือง ของระบอบประชาธิปไตยเบื้องต้น ที่มี “เงามืดแฝง” มีคนที่แบ่งขั้วกันอยู่ด้วยกันอย่างร้าวลึก อยู่กันอย่างหวาดระแวงหรือว่าจะพัฒนาบ้านเมือง ตามกระบวนการพัฒนา “แบบการปฏิรูปประเทศ” แม้ว่าจะมีหน่วยตรวจสอบเข้าตรวจสอบ แต่ก็ยึดถือตามเกณฑ์มาตรฐานของ “การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง” เป็นหลัก มิได้คำนึงถึงข้อจำกัด หรือบริบทของท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งหัวฝ่ายการเมืองทั้งท้องถิ่นและในภูมิภาคก็นิยมแต่การสร้าง “คะแนนนิยมมากกว่าความสำเร็จในการพัฒนา” เป็นแบบ “ประชานิยม”

 

การกำหนดวาระ ปลัด อปท. 4 ปี

เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่เป็นแนวคิดที่ชักเข้าชักออก โดยไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หากจะให้เดาก็คงมาลงที่ขนาดของ อปท. ไม่เท่ากัน เพราะ อปท. บางแห่งมีขนาดเล็กมากโดยเฉพาะ อบต. การเวียนเทียนให้ย้ายปลัดฯ ทุก 4 ปี เพราะอาจมีการขอยกเว้นระเบียบ คือ “ขออายุ” ต่อ ก.จังหวัดกันมากมาย ทำให้วุ่นวาย ฉะนั้น ในส่วนของ อบต.ที่ได้ทดลองนำร่องย้ายปลัดทุก 4 ปีมาก่อนจึงล้มเลิกไปโดยปริยาย [2] แต่หารู้ไม่ว่ายังมี อปท. ที่มีขนาดใหญ่ หรือ ขนาดกลาง ยังมีความจำเป็น “ต้องเวียนย้ายปลัดฯ” เพราะการให้ปลัดฯ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายประจำอยู่นาน ๆ ย่อมเกิดการนั่งทับผลประโยชน์ อันเป็นต้นตอของ “ระบบอุปถัมภ์” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเม็ดเงินงบประมาณบริหาร งบประมาณรายรับ รายจ่าย ที่มาก ทำให้มีอำนาจในการบริหารที่มาก เป็นจุดกำเนิดของ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” มันจะเริ่มต้นกันที่ “อำนาจดุลพินิจ” (Discretion) [3] ของผู้มีอำนาจ ว่ามาถึงตรงนี้ชาว อปท. หลายท่านคงร้องอ้อ เป็นเหตุผลลึก ๆ ว่า เหตุใดข้าราชการส่วนท้องถิ่นใน อปท. ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ หรือเขตปริมณฑล กทม. จึงคงรักษาเก้าอี้ และ ไม่อยากย้ายไปที่ใด เอาแค่การประเมิน (มีอำนาจดุลพินิจมาก) ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดินเพื่อการจัดเก็บที่เป็นรายได้ (รายรับ)หลักของ อปท. แค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว ฉะนั้น ใน อปท.ขนาดใหญ่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมแทบไม่อยากย้ายไปที่ใดอีก ด้วยมีความสะดวกสบายแล้ว อันเป็นเหตุผลเชิงตรรกะอย่างง่ายที่พอจะอธิบายได้ ว่ากันว่า ตำแหน่งหรือมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของ อปท. สายบริหาร ไม่ว่า ปลัด อปท. หรือ รองปลัด อปท. มีการออกมามาเพื่อ “ความมั่นคงแข็งแรงของเก้าอี้” (ตำแหน่ง) บวกเข้ากับ “ระบบอุปถัมภ์อันแข็งแกร่ง” [4] ของอปท. ขนาดใหญ่แล้ว แทบไม่ต้องมาพูดกันเลยว่า ปลัด อปท. ต้องย้ายทุก 4 ปี ปลัด อปท. รวมทั้ง หัวหน้าส่วนราชการฯ สำคัญฯ ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปไหน อยู่ที่เดิมนั่นแหละ เพราะไม่มีใครมาแย่งตำแหน่ง เช่นกำหนด “สายรองปลัด อปท.” ก็ครองสายรองปลัด อปท. ไปตลอด เช่น จาก รองปลัด 7 ไป รองปลัด 8 รองปลัด 9 หรือ กรณีที่ปลัด อปท. ไม่มีวาระ ก็รักษาตำแหน่งอยู่ไปเรื่อย ๆ จนสามารถเติบโตจากปลัดระดับ 6 ไประดับ 7 ระดับ 8 เพราะอยู่ที่เดิมจึงดูคุณสมบัติที่ “ตัวบุคคล” เป็นหลัก โดยไม่ได้ดูเนื้องาน หรือ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่กำหนดให้มีการสรรหาและคัดเลือก แบบ Lateral Entry [5] (คัดเลือกจากสายข้างๆ เรียกว่า “สอบคัดเลือก”) มิใช่แบบ Vertical Entry (คัดเลือกแบบสายตรง แนวดิ่ง เรียกว่า “การคัดเลือก” เป็นการบรรจุบุคคลเริ่มจากระดับต่ำสุดของแต่ละสายงาน เน้นการเติบโตภายใน) ซึ่งผู้อำนวยการกองฯ ระดับ 7 สามารถสอบรองปลัด อปท. ระดับ 7 ผู้อำนวยการกองฯ ระดับ 8 สามารถสอบรองปลัด อปท. ระดับ 8 ผู้อำนวยการสำนักฯ ระดับ 9 สามารถสอบรองปลัด อปท. ระดับ 9 ได้ เป็นต้น เหล่านี้คือปัญหาการบริหารงานบุคคลที่ค้างมานานแล้ว ที่กล่าวมานี้มิใช่ว่าจะกล่าวหาโจมตีว่าทำไม่ถูก เพียงแต่ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นปัญหาว่า ควรมีมาตรการอื่นประกอบด้วยตามสมควร มิใช่การส่งเสริมระบบอุปถัมภ์มากมายจนขาดหลักระบบคุณธรรมเท่านั้น และล่าสุด สำนักงาน ก.ถ. ได้ปัดฝุ่นร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดวาระ ปลัด อปท. 4 ปี ต้องสับเปลี่ยนโอนไป อปท. อื่น [6] เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเฉพาะหัวหน้าฝ่ายประจำเท่านั้น มิได้รวมถึงรองปลัด อปท. หรือ หัวหน้าส่วนราชการ (สายอำนวยการ) แต่อย่างใด

 

ความคาดหวังในระบบคุณธรรมที่ลิบๆ

(1) มีคำถามข้อสงสัยว่าการสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการครั้งนี้จะมีการทุจริตและวิ่งเต้นหรือไม่ (อาทิเส้นสายเงินหรือผลประโยชน์ฯ) ในมาตรการและระบบการตรวจสอบของ กสถ. ที่เข้มงวดคงไม่สามารถกระทำได้  แต่การขาดความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม เพราะเห็นระบบอุปถัมภ์ที่มีความเจริญเติบโต ทำให้เกิดความสับสน และกังขาในระบบ เช่น ในเรื่องการจัดสรรบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่ลง ที่อาจลงตัวยาก ด้วยเกรงเรื่องเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น การไม่ได้แสดงความจำนงของผู้สอบเลือก(ระบุ) สถานที่ อปท. หรือ การไม่พิจารณาจาก “ภูมิลำเนา” ก็เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการบรรจุแต่งตั้งได้ แต่เชื่อว่าการลากยาวในการสอบออกไปเรื่อย ย่อมมีผลต่อการวิ่งเต้นเส้นสายแน่นอน

 (2) การให้คะแนนสอบคุณสมบัติ เมื่อตอนก่อนเปิดประเด็นว่า การสรรหาครั้งนี้ มีการคัดเลือก (สายตรง) และ การสอบคัดเลือก (สายข้างจากแท่งอำนวยการเปลี่ยนมาแท่งบริหาร) โดยนำมาสอบรวมกันทำให้อาจมีปัญหาในการให้คะแนนไล่เรียงอาวุโส ที่เป็นคะแนนใน “คุณสมบัติ” (คะแนนดิบ) กลุ่มผู้สมัครสอบแยกกัน 5 กลุ่ม [7] ในเรื่องคะแนนดิบ (คะแนนคุณสมบัติ) มีความได้เปรียบเสียบเปรียบกันมาก เช่นคะแนนที่วัดจากการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นปัญหาเรื่องมาตรฐาน เพราะโดยปกติไม่สามารถตรวจสอบถึงมาตรฐานที่มาที่ไปได้ ถือเป็นจุดอ่อนของระบบอุปถัมภ์

(3) ข้อวิพากษ์ความอาวุโสในสายงาน จากหลักเกณฑ์คะแนนดิบ 5 เกณฑ์ คะแนนรวม 20 คะแนน [8] แม้จะเป็นคะแนนเพียงน้อยนิดเพียงเกณฑ์ละ 5 คะแนนก็ตาม แต่เกณฑ์ข้อ 2 คะแนนอาวุโส หายหมด เช่น ขั้นเงินเดือน อายุการทำงานในสายงาน (ท้องถิ่น หรือเทียบฯ) ถูกตัดออก มีความแตกต่างแบบนัยยะสำคัญ ไม่มีตัวเกณฑ์(ดัชนี) ที่บ่งชี้ความอาวุโสตามหลักคุณธรรม การเติบโตแบบก้าวกระโดดข้ามอาวุโสในช่วงของระบบอุปถัมภ์ หรือ การสร้างเกณฑ์ใหม่ที่แปลกที่เน้นคุณสมบัติบุคคลมากกว่าเนื้องาน เช่น ปลัด อบต. 8 พิเศษ หรือ ปลัดเทศบาลขนาดเล็กปรับเป็นกลาง ผลก็คือเกณฑ์คะแนนข้อ 2 นี้มีคะแนนที่ไม่แตกต่างลูกหม้อสายตรงหรือสายข้าง (Vertical or Lateral Entry) ที่มีอายุราชการ อายุงาน ประสบการณ์ เงินเดือนสูง แต่อย่างใด ปรากฏการณ์การสอบในครั้งนี้ก็คือ หากรุ่นน้อง ที่เคยเป็นลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาใน อปท.ขนาดใหญ่ สอบปลัดสูง หรือ รองปลัดสูง ได้ก็อาจมาเป็นผู้บังคับบัญชาอดีตผู้บังคับบัญชาเดิม (รุ่นพี่) ที่ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกลาง ที่ไม่สามารถไปเติบโตใน อปท.เล็กเพื่อเอาตำแหน่งปลัด ระดับ 7 ระดับ 8 (ปลัดกลาง) ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า เกณฑ์คะแนนข้อ 2 ไม่มีใครได้คะแนนข้อ 2 เต็ม 5 คะแนน เพราะตัวตั้งจะต้องน้อยกว่าตัวหาร ที่ระยะเวลาจะหดหายห่างจากตัวหารไปประมาณ 1-2-3 ปี แล้วแต่ที่มาของแต่ละคนเท่านั้นที่มาจากตำแหน่งที่แตกต่างกัน ด้วยผลของระบบซีที่เปลี่ยนมาเป็นระบบแท่งที่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในเชิง ข้อสงสัยมีว่า ในการสอบครั้งนี้ กรณีปลัดกลางที่ดำรงตำแหน่งครบ 2 ปี (เพราะ ปลัดกลางก่อน 1 มกราคม 2559 ทุกคน) สามารถไปสอบได้สองทาง [9] คือ (1) สอบรองปลัดสูง และ (2) สอบปลัดสูง  แต่มาตรฐานกำหนดตำแหน่งใหม่ ปี 2558 กำหนดว่าปลัดกลาง = 4 ปี [10] ไปปลัดสูง ไม่ใช่ 2 ปี ตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติสอบครั้งนี้ที่กำหนดระยะเวลาไว้  2 ปี ซึ่งแท่งอำนวยการกลางต้องดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีจึงขึ้นตำแหน่งอำนวยการสูง เพราะไม่มีรองผู้อำนวยการสูง

(4) ปรากฏการณ์การอบรมหลักสูตร “นักบริหารงานท้องถิ่นระดับสูง” (นบส.ท.) เพื่อเอาไว้เป็นคุณสมบัติประกอบการแต่งตั้ง (เร่งตั้ง) โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ แม้จะมีกระแสความไม่เหมาะสม เช่น คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม นบส.ท.ไม่เหมาะสม หลักสูตรอาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นที่ยอมรับแม้กระทั่งพนักงาน อปท.ด้วยกัน ค่าใช้จ่ายที่แพงมากถึง 190,000 บาท มีการศึกษาดูงานต่างประเทศและอบรมนานถึง 6 สัปดาห์ (เดือนครึ่ง) ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรเร่งรัด เพราะ นบส.ของมหาดไทยอบรมนานกว่าประมาณ 4 - 5 เดือน [11]

(5) แนวโน้มปลัดสูงและรองปลัดสูง หากในอนาคตมีการควบรวม อปท. ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็หมายความว่าตำแหน่งปลัดเทศบาลจะลดน้อยลงทันทีตามส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีรองปลัดเพิ่มมากขึ้น ในเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง ที่มีขนาดใหญ่ จะมีกรอบตำแหน่งปลัดสูง รองปลัดสูง หรืออาจมีปลัดกลางมาเสริมบางตำแหน่ง เช่น รองปลัดคนที่ 3 หรือ ที่ 4 แต่ต่อไปอาจมีรองปลัดกลาง รองปลัดสูง แห่งละ 1 คน และเพิ่มได้ครั้งละ 1 คน ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 4 คน การไล่เลียงเป็นชั้น อปท.ไปจากขนาดเล็กไปใหญ่ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยไม่มีแทงกั๊ก (การเผื่อเลือกทางเทคนิค) ไม่มีการสงวนพวก สงวนตำแหน่ง กล่าวคือ “ไม่มีใบสั่ง” ตำแหน่งบริหารอำนวยการฯ จึง “จะเวียนไปสู่ระบบคุณธรรมได้” โดยเอาตัวคุณสมบัติผู้สอบมาวัดกันทั้งประเทศ ไม่มีแบ่งขนาดแบ่งชั้น อปท. มองในประเด็นนี้ ปลัด อบต. สูง และรองปลัด อบต. สูง ไม่ได้เปิดสอบในครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีตำแหน่งว่าง ทำให้เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ปลัดเทศบาลได้สอบปลัดและรองปลัดสูง

 (6) ปัญหาเมื่อครั้งอยู่ระบบซีกับระบบแท่งแทบไม่แตกต่างกัน ปัญหา เช่น ตำแหน่งกรอบ ผอ. กองว่างแต่ไม่มีผู้สมัคร หรือสมัครน้อยเป็นเพราะการมีสิทธิ์เข้าสู่ตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนแปลงจากระบบซีเป็นระบบแท่งมีความลักลั่นกัน ความหวังที่จะรอให้มีการควบรวม อปท. นั้น อยู่ที่ร่างประมวล อปท. (พรบ.จัดตั้งฯ) ที่เสียงบประมาณเป็นค่าตอบแทน สปช.สปท.หลายล้าน แต่ร่างกฎหมายกลับไม่นำมาใช้ประโยชน์แต่ยังคงเป็น พรบ.ฉบับเดิมที่ไม่มีข้อยุติ คือไม่จบ ทางแก้ไขประการหนึ่งก็คือ “การทำให้มาตรฐานตำแหน่งเป็นมาตรฐานสากล”  มิใช่แย่กว่าเดิม และเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการต่าง ๆ

 (7) ในวังวนแห่งการยอมรับสภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีข้อวิตกว่า ยุคปัจจุบันที่สังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความตลบตะแลง ข้าราชการส่วนท้องถิ่นขาดอิสระในการพูดความจริง ต้องเอาใจตามใจผู้มีอำนาจจึงจะอยู่รอด การวิพากษ์วิจารณ์ระบบที่หน่วยเหนือ หรือฝ่ายผู้มีอำนาจ “รับไม่ได้” เช่น การทักท้วงระเบียบหลักเกณฑ์ก่อนเข้าแท่ง ที่สายวิชาการ/ทั่วไป ดิ้นรนหมดขวัญกำลังใจ มาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เข้าแท่ง โดยการมีระยะเวลาการครองตำแหน่งในระบบแท่งที่ยาวนานขึ้น มีผู้เสียสิทธิในการสอบเลื่อนระดับ 6/7 ในครั้งนั้น หลายคนเพิ่งมีสิทธิสอบคัดเลือกในครั้งนี้  ฉะนั้น ระเบียบหลักเกณฑ์ปกติจึงนำมาใช้ยาก มีการนำหลักเกณฑ์พิเศษมาใช้ ด้วยอำนาจพิเศษแทรกแซง ไม่เว้นแม้แต่อำนาจ คสช. [12] การทักท้วงการยึดกรอบระเบียบเดิมอาจผิดหมด การเยียวยาแก้ไขด้วยมาตรการทางปกครองที่ผิดหลักการ ทำให้ความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของระเบียบกฎหมายด้อยค่าในทันที เช่น การสอบแข่งขันอ้างทำตามคำสั่ง คสช. เลยจะกำหนดประกาศมาตรฐาน หลักเกณฑ์เองอย่างไรก็ได้ การยึดตามระเบียบ ประกาศ ก.จังหวัด เมื่อมีการแย้งทักท้วงกลับกลายถือว่าผิดไป เช่น ตำแหน่ง ผอ. กองต้น ขึ้น ผอ.กลางที่ตีบตัน [13] เพราะไม่มีที่จะไปแต่ก็ไม่กล้าเรียกร้อง หรือหากมีการเรียกร้องแล้วส่วนกลางไม่ดำเนินการให้ก็หันมาใช้มาตรการทางกฎหมายแทน (การฟ้องคดี) ที่นำมาซึ่งความไม่พอใจของหน่วยงานกำกับดูแลได้

(8) การสร้างปัญหาบุคคลและทิ้งไว้ให้รุ่นหลังแก้ การลอยตัวงานทั้งในระเบียบปฏิบัติและผู้รับผิดชอบโดยตรง คือคณะกรรมการ ก. กลาง และผู้ที่รักษาการคือกระทรวงมหาดไทยที่เห็นอย่างไรเหมาะสมก็ชงและเสนอผู้มีอำนาจ “โดยไม่มีข้อผูกพันรับผิดชอบต่อ อปท.” เป็นเพียงผู้กำกับดูแลที่ไม่มีส่วนได้เสียใน “ความเป็นองค์กร” [14] เพราะคนกระทรวงมหาดไทยมิใช่บุคคลากรของ อปท.

 

เขียนประเด็นการสอบบริหารฯมาหลายตอนแล้ว ขอปิดไว้ในตอนนี้ก่อน

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Tawat Petruanthong & Woothi Pati, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ที่ 27 เมษายน- วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]มติก.อบต.กลางยกเลิกย้ายปลัดใน4ปี แผนต่อไปเตรียมโละขนาดอบต. พร้อมเดินสายรับฟังความคิดเห็น, 12 ธันวาคม 2552, http://www.crp.go.th/webboard_...

นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม ก.อบต.กลางครั้งที่ 11/2552 ที่ประชุมได้ยกเลิกมติ ก.อบต.กลาง เมื่อปี 2547 กรณีที่ให้อำนาจผู้บริหารโยกย้ายปลัด อบต. หัวหน้าส่วนโยธา และหัวหน้าส่วนการคลัง ภายใน 4 ปี และต่ออายุให้คราวละ 1 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในระบบการบริหารงานบุคคลระหว่างผู้บริหารและพนักงาน อบต.ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการโยกย้ายพนักงาน อบต.แตกต่างจากพนักงานเทศบาล ข้าราชการ อบจ.ที่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

& ปลัด'ท้องถิ่น'ค้านโยกย้ายทุก 4 ปี ข่าว นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2558 คอลัมน์ ปกครองท้องถิ่น, หน้า 27, http://associationtessaban.blo...

[3]Klitguard & Baser (อ้างจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน , 2547 : 34)ระบุว่ามูลเหตุของการทุจริตเกิดจากการผูกขาดอำนาจในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ที่บุคคลหนึ่งคนใดแต่เพียงผู้เดียวรวมกับการใช้ดุลยพินิจของตนโดยพลการที่ขาดการควบคุมกำกับจากผู้อื่นทำการนั้นเพื่อเกิดผลประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้องโดยขาดความรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำนั้นว่าจะเกิดการสูญเสียหรือเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่ง Klitguard & Baser ได้เสนอแนะสูตรของการเกิดทุจริตดังที่กล่าวไว้ดังนี้

C=M+D-A โดยที่

C=Corruption ( การทุจริต)

M =Monopoly(การผูกขาดอำนาจ)

D=Discretion(การใช้ดุลยพินิจ)

A=Accountability (ความรับผิดชอบ)

[4]เกื้อกูล ขวัญทอง, ระบบคุณธรรม และระบบอุปถัมภ์, GotoKnow, 30 ธันวาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts...324159

ระบบคุณธรรม (merit system)  เป็นวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน โดยใช้การสอบรูปแบบต่างๆ เพื่อประเมินความรู้ ความสามารถของบุคคลที่มีคุณสมบัติครบตามต้องการ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสำคัญ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามระบบคุณธรรมยึดหลักการ 4 ประการ ได้แก่ (1) ความเสมอภาคในโอกาส (Equality of opportunity) (2) หลักความสามารถ (Competence) (3) หลักความมั่นคงในอาชีพการงาน (Security on tenure) (4) หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political neutrality)

ระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานโดยใช้เหตุผลทางการเมืองหรือความสัมพันธ์เป็นหลักสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมเป็นประการหลักลักษณะทั่ว ๆ ไป ของระบบอุปถัมภ์จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบคุณธรรม ระบบนี้มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น ระบบชุบเลี้ยง (Spoiled system) ระบบพรรคพวกหรือระบบเล่นพวก (Nepotism) หรือระบบคนพิเศษ (Favoritism)

[5]พรสวรรค์ สุรพรสถิตกุล, การสรรหาทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กร, GotoKnow, 18 สิงหาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/288625

การสรรหา( Recruitment) คือ กระบวนการในการแสวงหาและจูงใจผู้สมัครงานที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์การ เริ่มต้นตั้งแต่การแสวงหาคนเข้าทำงานและสิ้นสุดเมื่อบุคคลได้มาสมัครงานในองค์การ

การคัดเลือก( Selection) คือ กระบวนการที่องค์การใช้เครื่องมือต่างๆ มาดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจำนวนมากให้เหลือตามจำนวนที่องค์การต้องการ ฉะนั้นการคัดเลือกจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์กำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้ได้คนที่มีคุณสมบัติตรงกับงานที่เปิดรับ การคัดเลือกจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น จะต้องมีตัวป้อนเข้า ( input ) ที่ดีด้วย

& ในกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคล (Recruitment and Selection) เข้าทำงานนั้นมีหลายระบบ ว่าจะใช้ระบบใด หรือผสมผเสกัน คือ (1) ระบบคุณธรรม (2) ระบบอุปถัมภ์  (3) ระบบการคัดเลือกจากแนวราบและแนวดิ่ง Lateral Entry หรือ Vertical Entry (4) ระบบ Fast track หรือ  “ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง” (High Performance and Potential System : HiPPS) ที่ต้องการ “คนเก่ง” (Talent) (5) ระบบสืบทอดตำแหน่ง (6) ระบบอื่น ๆ

& ดู การบริหารทรัพยากรมนุษย์,  e-Learning PSRU, Dr.Chot  Bodeerat, Faculty of Humanities and Social Sciences, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, http://elearning.psru.ac.th/co...การคัดเลือก.ppt

นโยบายการคัดเลือกแบบแนวดิ่ง (vertical entry) (1) บรรจุบุคคล เริ่มจากระดับต่ำสุด ของแต่ละสายงาน (2) เน้นการเติบโตภายใน เลื่อนตำแหน่งโดยแต่งตั้งบุคคลากรภายในของตนเอง

นโยบายการคัดเลือกแนวราบ(Lateral entry) (1) เน้นในเรื่องของทักษะ ความชำนาญงาน และประสบการณ์ของผู้สมัครเป็นหลัก (2) ประสบการณ์มาก เงินเดือนสูง (มากกว่าตามแนวดิ่ง)  

[6]สำนักงาน ก.ถ. เปิดเผยร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการท้องถิ่น “มาตรา 57 กำหนดวาระ ปลัด อปท. 4 ปี ต้องสับเปลี่ยนโอนไป อปท. อื่น”, 19 มีนาคม 2561, http://www.thailocalmeet.com/i... & ดูล่าสุด ตามร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับ สำนักงาน ส.ถ.), http://www.local.moi.go.th/200...

[7]ผู้มีสิทธิสมัครสอบกันแจกแจงเป็น 5 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสายบริหารท้องถิ่น ปลัด อปท. (2) กลุ่มสายบริหารท้องถิ่น รองปลัด อปท. (3) กลุ่มสายอำนวยการท้องถิ่นตำแหน่งผู้อำนวยการกอง (4) กลุ่มสายอำนวยการท้องถิ่น ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่าย (5) กลุ่มผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา

[8] เกณฑ์การให้คะแนนคุณสมบัติ (สอบ 25 มีนาคม 2561),  ดูตัวอย่างกรณี อบจ. (เทศบาล และ อบต. เหมือนกัน), ตามประกาศคณะอนุกรรมการสรรหาข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เรื่อง เกณฑ์การให้คะแนนประวัติการรับราชการ ลงวันที่ 26 มกราคม 2561, https://file.job.thai.com/prak...   

รวม 20 คะแนน ดังนี้ (1) วุฒิการศึกษา คะแนนเต็ม 5 คะแนน (2) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่งสายงานและระดับปัจจุบัน ของแต่ละตำแหน่งสายงาน และระดับ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันเข้าสู่ตำแหน่งสายงานและระดับปัจจุบัน (นับรวมการดำรงตำแหน่งระบบซีและระบบแท่ง) จนถึงวันปิดรับสมัคร 15 ธันวาคม 2560 (หน่วยนับ : เดือน เศษวันให้ปัดทิ้ง) คะแนนเต็ม 5 คะแนน (3) ความผิดทางวินัยย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2560) คะแนนเต็ม 5 คะแนน (4) การพิจารณาความดีความชอบกรณีพิเศษย้อนหลัง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2560) คะแนนเต็ม 5 คะแนน

[9]ดู การสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหารท้องถิ่น, https://dlalocaljob.thaijobjob...  

ตัวอย่างของพนักงานเทศบาล ดูตรงนี้  "ตรวจสอบคุณสมบัติ การสมัครพนักงานเทศบาลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร" ตาม หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.5/ว 58 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2558 (มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง), https://file.job.thai.com/prakad/dlalocaljob201707/dlalocaljob201707_12.pdf  (1) คุณสมบัติเลื่อนระดับ คัดเลือก และสอบคัดเลือก เทศบาล, https://file.job.thai.com/prakad/dlalocaljob201707/dlalocaljob201707_13.pdf  (2) แก้ไขแนบท้ายบทเฉพาะกาล ว 58, https://file.job.thai.com/prakad/dlalocaljob201707/dlalocaljob201707_14.pdf 

& หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.5/ว 23 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 (มาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามระบบประเภทตำแหน่ง), https://file.job.thai.com/prakad/dlalocaljob201707/dlalocaljob201707_1.pdf  (1) ประเภทบริหารท้องถิ่น นักบริหารงานท้องถิ่น (ต้น-สูง), https://file.job.thai.com/prakad/dlalocaljob201707/dlalocaljob201707_2.pdf (2) ประเภทอำนวยการท้องถิ่น ได้แก่ (2.1) นักบริหารงานทั่วไป (ต้น-สูง) (2.2) นักบริหารงานการคลัง (ต้น-สูง) (2.3) นักบริหารงานช่าง (ต้น-สูง) (2.4) นักบริหารงานสาธารณสุข (ต้น-สูง) (2.5) นักบริหารงานสวัสดิการสังคม (ต้น-สูง) (2.6) นักบริหารงานประปา (ต้น-สูง) (2.7) นักบริหารงานการศึกษา (ต้น-สูง) (2.8) นักบริหารงานช่างสุขาภิบาล (ต้น-สูง) (2.9) นักบริหารงานการเกษตร (ต้น-สูง)

& หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.9/ว 7 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 (มาตรฐานตำแหน่งครู), https://file.job.thai.com/prak...
& หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว 94 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559 (เทียบตำแหน่งนักบริหารงานช่างและนักบริหารงานช่างสุขาภิบาล), https://file.job.thai.com/prak... 

& ตัวอย่างประกาศสอบของพนักงานเทศบาล ดู (1) ประกาศคณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เรื่อง การรับสมัครพนักงานเทศบาลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560, https://file.job.thai.com/prak... (2) ประกาศคณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เรื่อง ขอบเขตเนื้อหาวิชาความรู้ที่ใช้ในการทดสอบภาคความรู้ความสามารถ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560, https://file.job.thai.com/prak...

[10]คุณสมบัติผู้มีสิทธิคัดเลือก ปลัดเทศบาล ปลัด อบจ. สูง เหมือนกัน แต่ ปลัด อบต. สูง ไม่มี เพราะ อบต. ไม่เปิดสอบ ปลัดสูง และรองปลัดสูง เนื่องจากไม่มีตำแหน่งว่าง

ลองเทียบดูมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตาม (1) มาตรฐานของเก่าเดิมตามมติ ก.ท. เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2550 (2) มาตรฐานใหม่เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2558 ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาลสูงและ (3) เอกสาร แนบประกาศสอบครั้งนี้ ปลัดเทศบาลสูง และ ปลัด อบจ. สูง เหมือนกัน (ปลัด อบต. สูง รองปลัด อบต.สูงไม่มี)

[11]คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม นบส.ท.ไม่เหมาะสม, สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น, http://www.lpdi.go.th/showcomm...  

& นักบริหารงานท้องถิ่นระดับสูงกับหลักสูตร นบส.ท., 23 พฤษภาคม 2559, http://www.lpdi.go.th/showcomm...4538

[12]คำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, http://library2.parliament.go....

[13]ปลัดระดับ 8 : รายได้ 20 ล้านบาทขึ้นไป ผอ.กอง 8 : ต้องมีรายได้ 40 ล้านบาทขึ้นไป /มีรองปลัดระดับ 8 ได้ เมื่อมีส่วนราชการระดับ 8

[14]ความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เรียกว่า “Organization Commitment” ซึ่งต้องมีความผูกพัน และจงรักภักดีต่อองค์กรของตน เพราะเป็นคนในองค์กรนั้นเอง มิใช่คนอื่น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท