ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 12. บทส่งท้าย



บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 ตอนที่ ๑๒ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ตีความจากบทสรุปในหนังสือ    และจากรายการแหล่งค้นคว้า (resources) สำหรับอาจารย์ใช้ช่วยเตรียมการสอน  

วิธีการที่เสนอในหนังสือเล่มนี้ ช่วยให้นักศึกษาเรียนง่ายขึ้น สนุกขึ้น และเรียนแล้วรู้จริง (mastery learning)   และที่สำคัญยิ่ง เกิดแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ และเห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้นๆ     

วิธีปรับปรุงการสอนเล็กน้อยที่มีพลังมากอย่างหนึ่งคือ ใช้หลัก ๘๐ : ๒๐   คือให้นักศึกษามีส่วนมีเสียงต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประมาณร้อยละ ๒๐   

อ่านเรื่องราวในหนังสือทั้งหมดแล้ว  ผมมีข้อเสนอว่า มหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างพลังการเรียนรู้ของนักศึกษาควรสนับสนุนให้เกิดชมรมร่วมพัฒนาวิธีการสอนในทำนองเดียวกันกับ ABLConnect และ Reacting Consortium   โดยในมหาวิทยาลัยหนึ่งอาจมีหลายชมรม สนใจต่างเทคนิค    และเชื่อมโยงไปยังผู้สนใจเทคนิคเดียวกันในต่างสถาบัน

ในแต่ละวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย น่าจะมีการระดมความคิดหาความท้าทายหลักๆ ด้านการเรียนการสอน   และเชิญชวนอาจารย์มาร่วมกันคิด ว่าจะดำเนินการ “ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่” ได้อย่างไรบ้าง    เพื่อแก้ปัญหาท้าทายนั้นๆ   แล้วรวมตัวกันดำเนินการและเรียนรู้ต่อเนื่อง     

ที่จริงขบวนการนี้ควรทำในระดับประเทศ สนับสนุนงบประมาณบางส่วนโดย สกอ.    โดยหน่วยประสานงานน่าจะอยู่ที่สถาบันคลังสมองของชาติ    โดยเน้นทั้ง small teaching  และ big teaching  

หลักการสำคัญคือ จุดเล็กๆ บางจุดที่หากอาจารย์เอาใจใส่   จะสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีให้แก่ศิษย์ได้อย่างมาก โดยที่อาจารย์แทบไม่ต้องลงแรงเพิ่ม   จุดที่ทำได้อยู่ที่การออกแบบรายวิชา  กระบวนการในห้องเรียน  การสื่อสารกับนักศึกษา  และการเผชิญความท้าทายที่เกิดขึ้น  

นอกเหนือจากประเด็นที่แนะนำในบันทึกชุดนี้แล้ว    อาจารย์สามารถใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิธีการใหม่ๆ ตามแนว “ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ให้เกิดผลยิ่งใหญ่” ต่อศิษย์ได้ ในหลากหลายรูปแบบ   

เมื่ออาจารย์ริเริ่มวิธีการใหม่ๆ ก็ควรประเมินผลลัพธ์ของวิธีการใหม่นั้น เพื่อให้มั่นใจว่าให้ผลดี    เขาแนะนำหนังสือเรื่องการประเมินคือ Classroom Assessment Techniques : A Handbook for College Teachers, 2nd Ed. (1993)  เขียนโดย Thomas A. Angelo and K. Patricia Cross    และ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors, 3rd Ed.  (2010) เขียนโดย Linda Nelson  หนังสือเล่มนี้ผมได้ตีความเป็นหนังสือ สอนอย่างมือชั้นครู สามารถดาวน์โหลด pdf file ได้ฟรีที่ http://www.leadershipforfuture.com/?portfolio=สอนอย่างมือชั้นครู-2

James Lang บอกว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา มักจะมีศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านการสอน (Center for Teaching Excellence, Center for Teaching and Learning)   สำหรับให้ความช่วยเหลืออาจารย์ปรับปรุงการสอนของตน    เรื่องนี้มหาวิทยาลัยไทยควรเอาใจใส่อย่างยิ่ง    เพราะต่อจากนี้ไป ตลาดอุดมศึกษาจะเป็นของผู้เรียน    คือผู้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เลือกว่าจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใด   และปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือคุณภาพของการสอน    เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑ วิทยุเสียงอเมริกาออกข่าวว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาต้องปิดตัวลง เพราะแข่งขันดึงดูนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนไม่ได้ ทนขาดทุนไม่ไหว    สภาพนี้กำลังเกิดขึ้นต่อมหาวิทยาลัยไทยด้วย  

นอกจากเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์โดยตรงแล้ว    สาระในบันทึกนี้ยังมีประโยชน์ต่อนักวิชาการพัฒนาอาจารย์ (Faculty Development Professionals) ที่จะหยิบบางเรื่องที่สอดคล้องเหมาะสมต่อสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยของตน ไปใช้ประโยชน์   เพื่อหาทางสร้างทีมอาจารย์พัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อบรรจบกับการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ สำหรับนำมาเป็นวงจรป้อนกลับ (feedback loop)  สู่การปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่อง  ก็จะเกิดการเรียนรู้ของอาจารย์ เป็นการพัฒนาอาจารย์    รวมทั้งผลงานบางส่วนสามารถเป็นผลงานวิชาการด้านการเรียนการสอนได้ด้วย

 

แหล่งค้นคว้า (Resources)

นอกจากเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม ซึ่งมาจากหนังสือและผลงานวิจัยจำนวนมากมายแล้ว    James Lang ยังแนะนำให้ติดตามหนังสือด้านการเรียนการสอนใหม่จากสำนักพิมพ์ ๔ แห่งคือ Jossey-Bass, Harvard University Press, Chicago Press, และ Stylus   หนังสือที่เขาแนะนำบางเล่มได้ระบุไว้ในบันทึกก่อนๆ แล้ว   เล่มที่ยังไม่ได้แนะนำมาก่อน ได้แก่ (1) What the Best College Teachers Do (2004) โดย Ken Bain,  (2) Make It Stick : The Science of Successful Learning (2014)  เขียนโดย Peter C. Brown, Henry L. Roediger, and Mark A. McDaniel,   (3) Why Don’t Students Like School? : A Cognitive Scientist Answers Questions About How the Minds Work and How It Means for Classrooms  (2008)  เขียนโดย Daniel T. Willingham  ซึ่งผมได้ตีความเขียนบันทึกใน Gototknow ชุด จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ เมื่อ ๗ ปีที่แล้ว อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์

 

เขาแนะนำเว็บไซต์ ได้แก่ ABLConnect (http://ablconnect.harvard.edu ), Pedagogy Unbound (www.pedagogyunbound.com ), Faculty Focus (www.facultyfocus.com ), Chronicle of Higher Education (http://chronicle.com )     และแนะนำ Podcast : Teaching in Higher Ed (http://teachinginhighered.com/episodes/ )    นอกจากนั้น ยังแนะนำ Twitter ด้วย แต่ผมไม่ได้เอามาลงไว้   



วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 646248เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2018 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2018 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท