beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

บันทึกที่ 100 : เล่นตามเกม (ของใคร)


เกมนี้ผมประยุกต์การละเล่นจาก การทอยหนังยาง ผนวกกับการขว้างลูกหินให้โดนลูกล่อใน การเล่นตกคืบ

    สมัยเมื่อ beeman ยังเรียนอยู่ชั้นประถมต้น (ป.1-ป.7)  ผมเดินไปโรงเรียน และเดินกลับทุกวัน (โรงเรียนอยู่ไม่เกิน 900 เมตร)  พอโรงเรียนเลิกตอนบ่าย 3 โมง อากาศยังร้อนอยู่และแสงอาทิตย์ยังแรงอยู่ ผมก็จะอยู่ทำการบ้านที่โรงเรียน ประมาณ 1 ชั่วโมง หากครูยังอยู่ก็จะนำการบ้านไปส่งแล้วเดินกลับบ้าน พอไปถึงบ้านเอากระเป๋าไปเก็บแล้วก็จะไปเล่นกับเพื่อน ๆ จนค่ำ

   พี่ชายคนที่สอง (ในพี่ 8 คน และผมเป็นคนสุดท้อง) หรือพี่คนที่ 4 เป็นคนส่งผมเรียน เป็นผู้ปกครองที่จะเขียนบันทึกในสมุดพก (สมัยนี้เป็นสมุดรายงานผลการเรียน) ว่า "ไม่เคยเห็นผมอ่านหนังสือที่บ้านเลย" แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความที่ผมเป็นคนที่มีความจำดี ตั้งแต่ป.4 ถึง ป. 7 ผมก็สอบได้ที่ 1 มาตลอด (ตอนป.4 ผมอยู่ห้องสุดท้าย หลังจากนั้นขึ้นมาห้อง King ก็ยังได้ที่ 1)  ที่จริงไม่ได้มาอวดอะไรหรอกครับ อยากเล่าประวัติที่ภูมิใจสักหน่อย แต่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะเขียนในวันนี้ (เขียนบันทึกความภูมิใจสักเล็กน้อย เพราะว่าเป็นบันทึกที่ 100 เหมือนแสดงปาฐกถาพิเศษเพื่อเป็นเกียรติอะไรทำนองนั้น)

   มาถึงเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนครับ คือ พอผมกลับมาบ้านตอนเย็นทุกวันผมก็จะออกไปเล่นกับเพื่อนแถวบ้าน หรือแม้แต่วันเสาร์และวันอาทิตย์ผมก็จะออกไปเล่น จะเห็นผมที่บ้านตอนทานข้าว (หิวข้าวก็กลับมาทานข้าวที่บ้านแล้วไปเล่นต่อ)  สมัยก่อนการเล่นของผมก็จะเล่นแบบการพนันน้อย ๆ คือเล่นหนังยาง (ยางรัดของวงใหญ่ขนาดข้อมือ)  ถ้ามีคนเล่น 5 คน ก็เอายางมาคนละ 10 เส้น เป็น 50 เส้น แล้วคนที่ชนะเสี่ยงทายจะเล่นคนแรก เอายาง 50 เส้นโยนเข้าไปในกรอบ 4 เหลี่ยม ยางก็อาจจะอยู่ในกรอบ 4 เหลี่ยม หรือบางส่วนจะหลุดออกจากกรอบไป คราวนี้เพื่อนก็จะบอก (ชี้)ว่าจะให้กินกองหรือกินเดี่ยว แล้วเราก็ทอย (โยน) เหรียญบาท ไปคาบยางวง ถ้าทำได้เราก็จะได้ยางจำนวนนั้นไปหรือได้ไปหมดทั้งกอง (50 เส้น) อันนี้ก็เป็นเกมที่เล่นกันในสมัยนั้น (สมัยนี้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์กัน)

    มาถึงตอนสำคัญคือเรื่องการเล่น "ลูกหิน"  ลูกหินนี้น่าจะทำจากปูนซิเมนต์มาปั้นเป็นลูกกลมๆ (คล้ายๆคนในชนบทหรือชาวนา เขาเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นลูกๆ สำหรับไว้เป็นลูกกระสุนสใส่หนังสติ๊กยิงนก)  มีวิธีการเล่นในสมัยนั้นคือ มีคนเล่นสัก 3-4 คน  คนหนึ่งโยนลูกล่อเอาไว้ คนที่ 2,3,4 ขว้างลูกให้โดนลูกล่อ (บ้านผมอยู่กรุงเทพเขาเรียกการโยนนี้ว่า "เตี๊ยม") ถ้าใครขว้างโดนก็จะได้เล่นอีกที  สมมุติว่าคนที่ 2 ขว้างโดยลูกล่อ คนที่ 3,4 ขว้างไม่โดน คนที่ 2 ก็ได้เล่นอีกครั้ง คราวนี้เขาก็จะโยนลูกของเขาให้ไปใกล้ลูกของใครก็ได้ใน 3 คน  (ห้ามโดนลูกคนอื่น ถ้าโดนจะเรียกว่า"กิ๊ก" จะเสียลูกหินให้เพื่อน) ให้มีระยะอยู่ในรัศมี 1 คืบของเรา (ใครมือใหญ่ได้เปรียบ) ถ้าทำได้ก็จะได้ลูกหินจากเพื่อน 1 ลูก (คือลูกที่กำลังเล่นอยู่) และสามารถกินคนอื่นๆ ได้อีกจนหมดวง การเล่นลูกหินแบบนี้เขาเรียกว่าเกม "ตกคืบ" ครับ

    ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดวิธีการเล่น "ตกคืบ" ใครทราบช่วยบอกที การเล่นแบบนี้ผมไม่เคยเห็นอีกเลยใน 30 กว่าปีมานี้ คราวนี้ผมเห็นว่าการเล่นแบบนี้ผมก็พอได้เปรียบเพื่อนๆ เหมือนกัน แต่เล่นกันตั้งนานกินลูกหิน (ได้ลูกหิน) เพื่อนได้ไม่เท่าไร ผมก็เลยคิดวิธีเล่นใหม่ เป็นวิธีคิดการเล่นที่ผมคิดเองเป็นคนแรก คือผมจะขุดหลุมเล็ก ๆ (คล้ายหลุมขนมครก) ที่พื้นดิน แล้วเอาลูกหินใส่ไว้ตามจำนวนคนที่เล่น เช่น เล่น 5 คน ก็ใส่ 5 ลูก ก่อนเล่นเกม ก็มีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน คือให้โยนหรือทอยลูกหินของตัวเอง ให้ใกล้หลุมที่สุดหรือใครลงหลุมเลยก็จะได้เล่นก่อน โดยยืนห่างจากหลุมประมาณ 2.5-3 เมตร แล้วปาลูกหินของเราให้โดยลูกหินในกอง หากลูกหินออกจากวงกี่ลูก ก็จะเป็นของผู้ปา (ใครได้เล่นก่อนได้เปรียบ ใครปาแม่นกว่าได้เปรียบ)  ส่วนใหญ่ผมจะเป็นผู้ชนะ  ได้กิน(ได้)ลูกหินของเพื่อนมานักต่อนักแล้ว เกมนี้ผมประยุกต์ (ตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่าประยุกต์) การละเล่นจากการทอยหนังยางผนวกกับการขว้างลูกหินให้โดนลูกล่อในการเล่น"ตกคืบ"

    ตอนนี้ผมลปรร.หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับว่า ในวงการศึกษาหลายเรื่อง "เราเล่นตามเกม" ฝรั่งเขาครับ คือ เราไม่เคยนำเขาเลย เราได้แต่เป็นผู้ตาม ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่มีทางชนะฝรั่งได้เลย เรานิยมฝรั่ง (หรือชาติอื่นๆ) จ้างเขามาเป็นที่ปรึกษา แต่เราไม่เคยเห็นว่าคนไทยเก่งบ้างเลย เพราะเราเล่นตามเกมฝรั่งครับ เราก็แพ้(เสีย)เปรียบเขาวันยังค่ำ ถ้าเราเล่นเกมที่พี่ไทยเราคิดบ้างแล้วชวนฝรั่งเล่นตามเกมเรานี่ถ้าจะดี

    ยกตัวอย่างเล่นตามเกมพี่ไทยครับ เรื่องอาหารไทย ต้องนับว่า "อาหารไทยอร่อยที่สุดในโลก" เราก็ต้องจัดตั้งสถาบันอาหารไทย เอาอาหารไทยตำหรับชาววัง หลายๆ อย่างมาจัดเป็นหลักสูตร แล้วให้เรียนถึงปริญญาเอกทางการอาหาร (ไทย) เอาเรื่องความสะอาดประยุกต์กับความอร่อยและคุณค่าของสมุนไพร แค่อาหาร 2 อย่างก็ดังทั่วโลกแล้ว คือ "ส้มตำ" กับ "ตัมยำกุ้ง" (ความจริงต้มยำกุ้งเราน่าจะเชียร์ให้เป็น Positive แต่ดันทำเป็น Negative ไปได้ คือ "โรคต้มยำกุ้ง หรือ Tomyumkung disease นั่นแหละครับ)  เอวัง! ก็มีด้วยประการะฉะนี้ครับ

 

     
 

 

หมายเลขบันทึก: 6459เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท