ผ้าทอใจ


สายใยรักที่แม่ทอ

            เรื่องสั้นเรื่อง ผ้าทอใจ แต่งขึ้นโดย นายณรงค์กรณ์ วิทยอักษรศรี นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย    คณะครุศาสตร์ แต่งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ “ประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น และได้รับรางวัลชมเชย ตีพิมพ์รวมเล่มผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ๑๓ เรื่อง ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ด้วยชื่อเรื่องที่สั้นและเนื้อหากินใจผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรักและหวังดีของแม่ ทั้งยังทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เรื่องประเพณีงานบุญผะเหวด ส่งผลให้มีกระแสตอบรับอย่างกว้างขวางจากผู้อ่าน ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ ทำให้เรื่องผ้าทอใจเป็นเรื่องในดวงใจของใครหลายๆคน

            ผ้าทอใจ เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ คำหอม เธอพยายามหลีกหนีจากโลกที่เธอต้องเผชิญอยู่ ไปอยู่ในที่ที่เธอต้องการ แต่แม่ของเธอมีอาชีพทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพที่คำหอมไม่ปรารถนา       ไม่นานก็ถึงงานบุญประจำหมู่บ้านคืองานบุญผะเหวด เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน ทำให้เกิดปมขัดแย้งของเรื่องขึ้น แม่พยายามให้คำหอมฝึกทอผ้า แต่คำหอมไม่ยอมทำตามที่แม่ต้องการ ปมปัญหานี้ทำให้เกิดเรื่องราวที่เลวร้ายตามมา เมื่อคำหอมเรียนจบและได้ไปทำงานในเมืองตามที่เธอต้องการแล้ว แม่ของเธอก็เริ่มตรอมใจ อาการป่วยก็เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ เมื่อเธอได้ฟังข่าวร้ายจากพ่อ คำหอมจึงรีบกลับมาบ้านเพื่อดูอาการของแม่ เธอรู้สึกผิดกับสิ่งที่เธอทำกับแม่ และสุดท้ายก็ปิดเรื่องด้วยความคิดที่เธอจะทำอะไรบางอย่าง สิ่งนั้นก็คือ การทอผ้านั่นเอง

            กลวิธีในการดำเนินเรื่องผ้าทอใจ ผู้แต่งเล่าเรื่องตามลำดับปฏิทิน โดยใช้ตัวละครเอกเป็นผู้เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มเล่าถึงงานบุญผะเหวดที่จัดขึ้นในหมู่บ้านทุกๆปี ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็มาร่วมด้วยช่วยกัน  รวมถึงครอบครัวของคำหอมด้วย ทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านได้อย่างสมจริง คำหอมเริ่มเล่าถึงอาชีพของแม่ คือการทอผ้า แม่จะทอผ้าไหมและตัดชุดใหม่ให้คนในครอบครัวเผื่อที่จะได้ใส่ไปร่วมงานบุญผะเหวด และแม่ต้องการให้คำหอมฝึกทอผ้าเพื่อสืบทอดการทอผ้าต่อจากแม่ แต่คำหอมอยากจะไปให้พ้น ๆ จากหมู่บ้านชนบท ที่ห่างไกลความเจริญแบบนี้ สุดท้ายเธอก็ได้ออกจากหมู่บ้านไปทำงานในตัวอำเภอ แม่ของคำหอมเมื่อรู้และเข้าใจว่าลูกสาวไม่ต้องการที่จะทอผ้า              และไม่อยากอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ แม่ก็ตรอมใจ อาการป่วยทรุดลงเรื่อยๆ จนเหลือแต่หนังห่อหุ้มกระดูก คำหอมจึงคิดได้และกลับมาสืบทอดการทอผ้าอย่างที่แม่ต้องการ

            ผู้เขียนผูกเรื่องและสร้างองค์ประกอบได้อย่างมีเอกภาพ สร้างตัวละครที่มีลักษณะสมจริงสูง มีเลือดเนื้อชีวิต ตัวละครเอกอย่างคำหอม ผู้เขียนได้สร้างให้เป็นภาพตัวแทนของเด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ ที่มีความคิดใหม่ๆ ต้องการการยอมรับและมีหน้ามีตาจากกลุ่มเพื่อน เห็นได้จากคำพูดของคำหอมที่ว่า “แม่รู้ไหมว่าฉันน่ะเบื่อที่นี่มากแค่ไหน ฉันเบื่อเต็มทนที่ต้องเป็นคนบ้าน นอกกระจอก ๆ แบบนี้” จากคำพูดนี้ทำให้ผู้อ่านเห็นลักษณะนิสัยของคำหอมได้ชัดเจน ผู้เขียนพยายามสื่อให้เห็นว่า เด็กวัยรุ่นปัจจุบันต้องการมีอิสระทางความคิด ไม่อยากให้ความคิดหรือการตัดสินใจของผู้ใหญ่มาครอบงำความเป็นตัวตนและสิ่งที่เด็กต้องการ ผู้เขียนสร้างตัวละครเอกได้อย่างไร้ที่ติ พัฒนาอารมณ์และความคิดเป็นขั้นเป็นตอน สมวัย จนสุดท้ายตัวละครเอกก็กลับตัวกลับใจและทำหน้าที่แทนแม่อย่างภาคภูมิ

            แม่ของคำหอม แม่ผู้ตั้งความหวังไว้สูงลิ่วกับลูกสาวคนโต แต่ความหวังกลับพังทลายลง เมื่อคำหอมต้องการที่จะออกไปเผชิญโลกกว้าง ไม่ต้องการที่จะมาจมปรักกับการทอผ้า เป็นคนบ้านนอกขอกนาไม่ทันสมัยอย่างที่ลูกคนรวยในกลุ่มเพื่อนเขาทำกัน แม่ของคำหอมเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ที่คอยมอบความรักความหวังดีให้แก่ลูกหลาน ต้องการให้ลูกหลานช่วยกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าติดตัวไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ปัจจุบันกาลสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ กลิ่นไอของชนบทเริ่มเหือดหายไปตามกาลเวลา

            ฉากในเรื่องผ้าทอใจ เป็นฉากที่สมจริงและสอดคล้องกับตัวละครในเรื่อง ฉากที่สร้างขึ้นในเรื่องเป็นฉากที่อยู่ในชนบท ทำให้ผู้อ่านเห็นสภาพและวิถีชีวิตของคนในชนบทได้อย่างกลมกลืน มีภาษาถิ่นปะปนเข้ามาในเรื่องประปราย ทำให้ผู้อ่านได้เข้าถึงกลิ่นไอของความเป็นพื้นบ้านมากขึ้น เช่นคำว่า ฮ้างแอ่งน้ำหรือโอ่งดินใบเล็กๆ ส่วนบรรยากาศในเรื่องเป็นบรรยากาศที่เงียบสงบ ผู้คนอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข ต่างคนต่างแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ภายใต้การปกครองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีหมอชาวบ้านหรือหมอพราหมณ์เป็นผู้นำพาทำพิธีกรรมต่างๆ ประเพณีต่างๆที่จัดขึ้นล้วนเกิดจากความเชื่อที่ลูกหลานสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นรากฐานและวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม รวมชาวบ้านให้เป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นสืบไป

            เรื่องราวและปมปัญหาต่างๆดำเนินสู่แก่นเรื่องที่ว่า คนเราหากมีความกตัญญูกตเวที ไม่ลืมรากเหง้าที่ตนเติบโตมา ศรัทธาในความรักความหวังดีของคนที่รักและหวังดีกับเรามากที่สุด ย่อมทำให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญ เปรียบได้กับการยิงธนู การที่จะยิงให้ลูกศรของธนูพุ่งไปได้ไกลนั้น ต้องออกแรกดึงให้หวนคืนกลับมาข้างหลังอย่างเต็มเหนี่ยว  ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน หากมุ่งเดินไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจกับสิ่งที่อยู่ด้านหลัง ที่คอยพลักดันให้ชีวิตดำเนินไปข้างหน้าได้ด้วยดีแล้วนั้น ย่อมส่งผลให้ประสบความสำเร็จได้ลำบาก อดีตและรากเหง้าที่เป็นตัวตนของเรา จะนำพาให้เราพบกับชัยชนะอย่างแน่นอน อย่างน้อยตัวเอกในเรื่องก็สามารถทำให้เห็นว่า ชัยชนะที่แท้จริงก็คือการชนะใจตัวเอง มิใช่การได้ทุกอย่างตามที่ใจตนต้องการ

            เรื่องผ้าทอใจ เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงความเป็นไทยและเอกลักษณ์ของชาวอีสาน คนอีสานจะนิยมทอผ้าไหมเพื่อนุ่งห่มประดับกายและนิยมนุ่งผ้าถุงไหมเพื่อร่วมประเพณีงานบุญต่างๆ งานบุญที่ปรากฏในเรื่องคือประเพณีงานบุญผะเหวด ผู้เขียนได้เล่าถึงตำนานในการสร้างหออุปคุต งานบุญผะเหวดจึงถือเอาความ เชื่อนั้นมาและจัดทำหออุปคุตไว้ที่ทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญเพื่อให้งานบุญ ผะเหวดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผู้เขียนยังได้เล่าถึงรายละเอียดของการจัดงานบุญผะเหวดในแต่ละวัน เช่น วัน ‘โฮมบุญ’ หรือ      วันรวม ชาวบ้านล้วนแห่แหนกันไปที่วัดเพื่อ จัดเตรียมสถานที่ทำบุญ ศาลาประดับตกแต่งอย่างงดงาม จัดทำที่ฟังเทศน์ ประดับ ประดาธรรมาสน์ ธงถูกประดับไว้รอบ ๆ วัด และทำหออุปคุต ส่วนวันที่สองของงานจะเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละวัดจะจัดขบวนแห่ของแต่ละกัณฑ์ทั้งสิบสามกัณฑ์เพื่อแห่รอบเมือง ส่วนในตอนเย็นนั้น จะมีการจัดมหรสพสมโภชให้ชาวบ้านได้ดูได้ชม วันที่สองและสามนั้นจะมีการจัดโรงทานเลี้ยงข้าวปุ้นบุญผะเหวดให้ผู้มาร่วมงานได้กินฟรีทั้งงานตลอดเวลา วันที่สามของงานนั้น เมื่อใกล้รุ่งสาง ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนเสียบไม้จำนวน พันก้อน เรียกว่า ‘ข้าวพันก้อน’ ชาวบ้านจะแห่ข้าวพันก้อนรอบวัด นี่ก็เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเรื่องผ้าทอใจ ที่ได้นำพาผู้อ่านเข้าไปสู่งานบุญผะเหวดได้อย่างลงตัว

            

หมายเลขบันทึก: 645840เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท