หน้าต่างบานแรก


“ ปิดหน้าต่างบานแรกเสียให้สนิท...คงไม่ช้าหรอก...แผลก็จะหาย

          ความอยากได้ใคร่รู้ของมนุษย์นั้นสั่งสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ อยากจะรู้อยากจะเห็นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่หน้าต่างบานนั้นข้างนอกมันจะมีอะไรหนอ เขาพยายามที่จะเปิดหน้าต่างตลอดเวลาแต่เขาก็สูงไม่พอที่จะเปิดมันได้ เมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้นมาจนสูงทันหน้าต่าง เขาก็ไม่รีรอที่จะเปิดออกดูโลกภายนอก โชคไม่เข้าข้างเขานักเขาเปิดออกมาเจอดอกไม้ที่สวยแต่เปลือกนอก ข้างในมีหนอนชอนไชยั้วเยี้ย นอกหน้าต่างนั้นให้ประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือน หน้าต่างบานแรกของเขาจึงต้องปิดลง

        นวนิยายเรื่องหน้าต่างบานแรก เป็นผลงานการเขียนของกฤษณา อโศกสิน เป็นนามปากกาที่แพร่หลายที่สุดของสุกัญญา ชลศึกษ์ นักประพันธ์สตรีผู้เรืองนามและมากประสบการณ์ ซึ่งท่านยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้ร้อยเรียงนิยายขนาดสั้น ๑๒ ตอน ตีพิมพ์เป็นตอนๆลงนิตยสารลุกส์ แล้วรวมเล่มตีพิมพ์อีกกว่า ๙ ครั้งหลังจากนั้นปีพ.ศ.๒๕๕๔จึงได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ และท่านยังมีผลงานที่รับรางวัลซีไรต์     ก็คือ เรื่องปูนปิดทอง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียงร้อยถ้อยคำของท่านเป็นอย่างดี

           เนื้อเรื่องของหน้าต่างบานแรกเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้มีชื่อว่า 'ฉายา' หรือ 'ฉาย' เขาเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่รับข้าราชการ เขาไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง แต่เขาก็เป็นเด็กเรียบร้อย ไม่เคยเกเร จนวันหนึ่งเมื่อเขาได้พบกับ 'หนึ่ง' ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป เขาทำเธอท้องและรับผิดชอบด้วยการพาเธอมาอยู่ด้วยที่บ้าน ซึ่งนั่นทำให้พ่อแม่ของฉายหนักใจและเสียใจมากที่เห็นลูกชายคนเดียวทำตัวเหลวไหล เมื่อเวลาผ่านไป หนึ่งท้องโตขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่เธอเป็นวัยรุ่น ทำให้เธอไม่มีความอดทน เธอไม่เคยมีความเคารพพ่อกับแม่ของฉายา และทะเลาะกับฉายาบ่อยครั้ง ซึ่งนั่นทำให้พ่อแม่ของฉายากลุ้มใจมาก เมื่อหนึ่งคลอดลูก ทำให้บ้านหลังนี้ดูสดชื่นขึ้น แต่หนึ่งเริ่มหมดรักฉายาเมื่อเธอพบรักใหม่ เธอไม่สนใจลูก ตั้งหน้าตั้งตาแต่งตัวออกไปทำงานข้างนอก ฉายาเริ่มตระหนักในความผิดพลาดของตน เขาเคยคิดว่าหนึ่งคือดอกไม้ที่งดงามสำหรับเขา เขาคิดว่าเขาจะมีความสุขเมื่ออยู่กับเธอ แต่ทุกอย่างมันกลับตรงกันข้าม ทำให้เขาได้รู้ว่าหน้าต่างบานแรกไม่ได้สวยงามเสมอ

          กฤษณา อโศกสิน ได้สร้างตัวละครที่มีลักษณะสมจริง มีเลือดเนื้อมีชีวิต สร้างตัวละครเอก คือ ฉายา ให้ตีแผ่ปัญหาของเด็กวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งสร้างให้เป็นตัวแทนของเยาวชนที่ด่วนตัดสินใจเรื่องรักในวัยที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ แต่เมื่อเขาได้ทำหน้าที่พ่อ ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดหรืออาจจะเกิดจากการรักสนุก ฉายาก็พยายามรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น และทำหน้าที่พ่อให้ดีที่สุด เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ตระหนักถึงปัญหาการชิงสุกก่อนห่ามที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตก ผู้ใหญ่ควรเปิดกว้างให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตนเอง โดยที่เด็กสามารถนำความรู้ไปแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

         “ครอบครัวคือรากฐานของชีวิต” เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่ผู้เขียนมุ่งเสนอว่า การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวย่อมส่งผลถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น ผู้เขียนจึงสร้างตัวละครหนึ่งขึ้นมาคู่กับฉาย หนึ่งเกิดมาในครอบครัวระดับล่าง พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งเป็นประจำ เขาขาดความอบอุ่นจากทั้งพ่อและแม่ ทำให้หนึ่งเป็นเด็กที่กร้านโลก ไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ หวังสบายให้สามีคอยเลี้ยงดู ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีลูกแล้ว หนึ่งกลับไม่มีสัญชาตญาณความเป็นแม่เลย พฤติกรรมดังกล่าวย้อนไปถึงพื้นฐานของตัวละครที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งไม่เคยได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว และเป็นผลทำให้เธอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

          ผู้เขียนสร้างความแตกต่างพื้นฐานครอบครัวของฉายและหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด เพื่อสื่อถึงแนวคิดว่าครอบครัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อสังคม ฉายจึงพัฒนาตนได้สมกับที่พ่อแม่คอยดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ให้คำปรึกษาปลอบโยน หาวิธีทำให้เขากลับสู่เส้นทางที่สดใสอีกครั้งให้ได้ ส่วนหนึ่งซึ่งมีพื้นฐานครอบครัวไม่ดี แม้กระทั่งแม่ของเขาก็ปฏิเสธที่จะดูแล เมื่อไม่มีพ่อแม่ประคับประคอง เธอจึงใช้ชีวิตโดยการหาที่พึ่งไปเรื่อยๆโดยไม่มีที่สิ้นสุด

          ตระการและโฉมเป็นตัวละครสำคัญที่มีบทบาทแสดงความเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูก ประคับประคองลูกชายคนเดียวซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ทั้งสองจึงเป็นตัวละครที่ผู้เขียนสร้างเสนอแนวทางหาทางออกให้กับสังคม เมื่อลูกก่อปัญหาขึ้นแล้ว พ่อแม่ต้องใจเย็น มีสติ ไม่ต่อว่าสิ่งผิดพลาดที่ลูกกระทำไป ดังที่ผู้เขียนได้สร้างครอบครัวของตระการและโฉมเป็นตัวอย่างในแนวทางแก้ปัญหานี้ ผู้เขียนสร้างโฉมให้มีพัฒนาการด้านความคิดและอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าโฉมรังเกียจลูกสะใภ้ปานใด แต่ถ้าไล่หนึ่งไปย่อมเป็นการผลักไสฉายให้ไกลสายตาหล่อนไป หล่อนจึงอดทนและอดกลั้น ดูแลทั้งลูกเขาและลูกตัว เมื่อรู้ว่าหลานใกล้คลอดหล่อนเฝ้าดูแลประคบประหงมหนึ่งอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหลานผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคลอดออกมา ทำให้หัวใจที่ห่อเหี่ยวสิ้นหวังของโฉมสดชื่นขึ้นอีกครั้ง

          เรื่องหน้าต่างบานแรกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้ชีวิต เวลาและอนาคตที่สูญเสียไปไม่สามารถเรียกร้องกลับคืน หรือย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับวัยรุ่นที่กำลังเรียนรู้โลก กำลังหลงไปกับโลกกว้างที่ตนคิดว่าสวยงาม ในวัยที่พึ่งจะได้ออกมาเรียนรู้โลกกว้างนั้น เมื่อได้เรียนรู้อะไรก็จะคิดว่านั่นคือโลกทั้งหมด ตัดสินใจอะไรโดยฉาบฉวย ไม่ศึกษาให้รู้ถึงแก่นแท้ วัยรุ่นอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ชอบท้าทายโลกกว้างใหญ่ที่ไม่เคยพบเห็น แต่ด้วยด้อยประสบการณ์และวุฒิภาวะ จึงไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม และด้วยอารมณ์พลุ่งพล่านตามวัย กล่าวได้ว่าการตัดสินใจของวัยรุ่นใช้อารมณ์ความรู้สึกซึ่งมีอิทธิพลเหนือเหตุผล ก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่โตตามมา ผู้ใหญ่และพ่อแม่ต้องทำใจยอมรับความพลั้งพลาดของลูก ปลอบโยนเยียวยาความรู้สึก แล้วพาเขาเหล่านั้นก้าวล่วงผ่านสิ่งเลวร้ายไปให้ได้

 

“ มันเลือกเปิดหน้าต่างตรงกับต้นอุตพิด มันก็เลยคิดว่าชีวิตนี้ ไอ้ต้นไม้บ้าๆนั่นสวยที่สุด หอมที่สุด

(หน้า ๗๖)

หมายเลขบันทึก: 645839เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท