บทที่ 1 งานตะไบ



"บทที่ 1 งานตะไบ"

บทที่ 1 งานตะไบ

             งานตะไบ เป็นงานขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญมากทางด้านช่างอุตสาหกรรม ช่างฝีมือทุกคนต้องศึกษา ชนิด คุณสมบัติของตะไบ และฝึกให้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้ตะไบ จึงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ละเอียด ประณีต มีประสิทธิภาพ
             ตะไบเป็นเครื่องมือตัดเฉือนที่มีประโยชน์มาก ซึ่งใช้ในการปรับลดขนาดชิ้นงาน  ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตกแต่งผิวงานให้เรียบ  เพื่องานประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน หรือใช้ตกแต่งและซ่อมแซมชิ้นงาน ชิ้นส่วน  เครื่องจักรกลในงานซ่อมบำรุง  เป็นต้น

1. ความหมายของการตะไบ
             การตะไบ  คือ  ขบวนการที่ทำให้ผิวของงานหลุดออกจากที่เดิม ในลักษณะของการโกน หรือ ถากคล้ายกับการตัดเฉือนของคมสกัดตะไบที่ใช้งานทั่วไป จะมีฟันที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับลิ่มเรียงเป็นแถว แต่ละแท่งลิ่มจะมีปลายคมตัด เมื่อเราออกแรงกดตะไบจะทำให้เกิดผลสองประการ คือ               
                   1. เมื่อกดวัตถุจะแยกห่างออกจากกัน
                   2. เมื่อออกแรงดันวัตถุจะหลุดออกจากกัน

ภาพที่ 5.1 แสดงลักษณะการตัดเฉือนของฟันตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 98



2. ส่วนประกอบของตะไบ
                   
              ตะไบเป็นเครื่องมือที่ทำจากเหล็กกล้าคาร์บอนสูงผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรแล้วนำไปอบชุบผิวแข็ง ตะไบมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ด้าม กั่น โคน หน้า ขอบ ความยาว และปลาย

ภาพที่ 5.2  แสดงส่วนประกอบของตะไบ

2.1  คมตัดของตะไบ คมตัดหรือฟันของตะไบ โดยทั่วไปจะมีมุมคายเป็นลบ ซึ่งจะมีผลทำให้คมตัดตะไบตัดเฉือนเนื้อวัสดุงานในลักษณะถากผิวออกทีละน้อย ตะไบมีคมตัดหลายลักษณะ เช่น                 
               Ÿ = มุมคาย                 
               β = มุมลิ่ม                   
               α = มุมฟรี

ภาพที่ 5.3 แสดงมุมต่าง ๆ ของฟันตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 99

                1)  คมตัดคู่ (Double-cut) เหมาะสำหรับใช้ตะไบปรับลดขนาดงาน วัสดุแข็ง เช่น เหล็กกล้า เหล็กหล่อ

ภาพที่ 5.4 แสดงลักษณะคมตัดคู่

               2)  คมตัดเดี่ยว (Single-cut) เหมาะสำหรับใช้ตะไบปรับผิวในชั้นสุดท้าย เป็นการตะไบละเอียดงานเหล็ก

ภาพที่ 5.5 แสดงลักษณะคมตัดเดี่ยว

              3)  คมตัดโค้ง (Curved-cut) ลักษณะคมตัดโค้งเป็นรัศมี ทำให้สามารถคายเศษโลหะออกได้ทั้งสองข้างของคมตะไบ เหมาะสำหรับตะไบงานที่มีเนื้ออ่อน เช่น ตะกั่ว ดีบุก พลวง อะลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น

ภาพที่ 5.6 แสดงลักษณะคมตัดโค้ง



3.  ประเภทของตะไบและลักษณะการใช้

              ตะไบถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ตะไบชิ้นงานในลักษณะต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตะไบนิยมแบ่งออกตามลักษณะพื้นที่หน้าตัดของตะไบนั้นๆ ดังนี้

ภาพที่ 5.7  แสดงชนิดของตะไบและลักษณะการใช้งาน


4.  
การใส่ด้ามตะไบ
               1. เจาะด้ามตะไบเป็นสามส่วนด้วยดอกสว่าน 3 ขนาด
               2. สวมกั่นตะไบเข้าด้ามให้แน่นพอสมควร
               3. ใช้ค้อนตอกดังภาพ

ภาพที่ 5.8   แสดงการใส่ด้ามตะไบ

                4. การถอดด้ามตะไบ ใช้มือจับตะไบให้แน่นแล้วค่อยๆ กระแทกกับปากกา โดยการดึงออกดังภาพ

ภาพที่ 5.9 แสดงการถอดด้ามตะไบ



5. 
ระดับของปากกาที่เหมาะสมสำหรับการตะไบ
               ระดับความสูงของปากกาจับงาน ควรให้ปากของปากกาจับงานอยู่ต่ำกว่าข้อศอกของผู้ปฏิบัติงานประมาณ 5-8 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในอิริยาบถที่สบายที่สุด ตะไบงานได้ง่าย ออกแรงน้อย ความเมื่อยล้าก็จะน้อย การทำงานมีประสิทธิภาพสูง

ภาพที่ 5.10  แสดงระดับปากกาที่เหมาะสม


6. การจัดวางตะไบบนโต๊ะปฏิบัติงาน                     
             ในการปฏิบัติงานตะไบ ควรวางตะไบ แปรงปัดตะไบ และเครื่องมืออื่นๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและความปลอดภัย



7. เทคนิคและวิธีการตะไบ                   

                การตะไบชิ้นงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลงานมีคุณภาพสูง มีขนาดถูกต้อง ประณีต สมบรูณ์ และใช้เวลาในการปฏิบัติงานน้อย เครื่องมืออุปกรณ์ไม่ชำรุดเสียหาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีฝีมือและมีทักษะในการตะไบสูง ซึ่งจะต้องศึกษาเทคนิคต่างๆ ดังนี้

        7.1 เทคนิควิธีการจับยึดชิ้นงาน                  
                จับยึดชิ้นงานให้ได้ศูนย์กลางของปากกา และยึดให้มั่นคง  โดยให้ส่วนของชิ้นงานที่จะถูกตะไบอยู่ใกล้ปากของปากกา เพื่อป้องกันการสะท้านของชิ้นงาน                    
        7.2 เทคนิควิธีการจับตะไบ                    
                มือขวาจับที่ด้ามไม้ให้ปลายด้ามไม้อยู่ในอุ้งของสันหัวแม่มือ และนิ้วหัวแม่มือชี้ขนานกับด้ามแล้วกำนิ้วทั้งสี่นิ้ว มือซ้ายกดที่ปลายตะไบโดยอุ้งมือส่วนที่ค่อนมาทางข้อมือเป็นตัวกด ให้น้ำหนักที่กระทบบนตะไบมีจุดร่วมอยู่ที่งาน

ภาพที่ 5.12  แสดงวิธีการจับงานและวิธีการจับตะไบ

         7.3 เทคนิคการวางตำแหน่งเท้าขณะยืนทำงาน                      
                 เท้าขวาทำมุมประมาณ 75 องศา กับแนวกึ่งกลางตัวปากกา   เท้าซ้ายทำมุม 15-30 องศา กับแนวกึ่งกลางตัวปากกา และอยู่หน้าเท้าขวาระยะประมาณ 30-40 เซนติเมตร

ภาพที่ 5.13 แสดงตำแหน่งการวางเท้า
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 104

           7.4 เทคนิคการทิ้งน้ำหนักตัวและการโยกตัว
                     เข่าของขาหลังตึงเล็กน้อย เข่าของขาหน้าหย่อนไปตามจังหวะโยกตัวไป-มา

ภาพที่ 5.13 แสดงเทคนิคการตะไบโดยการโยก
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 105

           7.5 เทคนิควิธีการประคองตะไบ
                  1. ผลักไปข้างหน้าตามแนวยาวของตะไบให้สุด แต่อย่าให้ชนถึงด้ามตะไบหรือด้ามตะไบชน กระแทกงาน
                  2. มือขวาทำหน้าที่ผลักและกด มือซ้ายกดอย่างเดียว
                  3. เคลื่อนตะไบไปข้างหน้าพร้อมกับแรงกดลง

                  4. ดึงกลับจะต้องไม่กดตะไบลง
                  5. การผลักตะไบไปข้างหน้าจะต้องให้แรงกดกระทำที่ชิ้นงานอย่างสม่ำเสมอ

ภาพที่ 5.14 แสดงวิธีการตะไบ
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106

   8. การตะไบผิวราบ               

            ชิ้นงานที่ต้องการปรับลดขนาดและตกแต่งผิวให้เรียบมีขนาดความกว้าง ความยาวและ      ความหนาแตกต่างกันลักษณะทั่วไปของการตะไบผิวราบสามารถแบ่งได้4ลักษณะคือ                

            8.1 การตะไบตามขวาง                 
                  การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางของการตะไบจะทำมุมฉากกับขอบชิ้นงานด้านความยาวใช้ในการลดขนาดของชิ้นงาน ซึ่งสามารถตะไบลดขนาดลงได้รวดเร็วหกว่าการตะไบลักษณะอื่น เพราะพื้นที่ที่ถูกตะไบน้อยกว่าลักษณะอื่น นอกจากนี้ยังใช้ตะไบแก้ไขชิ้นงานที่โค้งนูนตามความยาว

ภาพที่ 5.15 แสดงลักษณะการตะไบตามขวาง
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106

            8.2 การตะไบตามยาว               

                การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางของการตะไบจะทำมุมฉากกับชิ้นงานด้านความกว้างหรือตามแนวยาวของผิวงาน

ภาพที่ 5.16 แสดงลักษณะการตะไบตามยาว
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 106

            8.3 การตะไบเฉียงหรือตะไบทแยงมุม              

                      การตะไบลักษณะนี้ ทิศทางการตะไบจะทำมุม 45 องศา กับขอบชิ้นงานด้านยาว แล้วเปลี่ยนให้ทิศทางการตะไบจากเดิมทำมุม 90 องศา กับครั้งแรกทุกครั้งเหมาะสำหรับปรับผิวเรียบ รอยตะไบที่ไขว้กันจะแสดงให้เห็นผิวนูนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสังเกตได้จากรอยที่เกิดจากการตะไบทแยงมุม ถ้ารอบตะไบยาวตั้งแต่ด้านหนึ่งไปสิ้นสุดอีกด้านหนึ่งทั้งสองด้าน แสดงว่าผิวของชิ้นงานที่ทำการตะไบมีผิวเรียบ

ภาพที่ 5.17 แสดงลักษณะการตะไบทแยงมุม
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 107

             8.4 การตะไบแบบขูด             

                      การตะไบลักษณะนี้ มักใช้กับการตะไบผิวละเอียด โดยใช้ตะไบคมตัดเดี่ยววิธีการจับตะไบจะต้องให้สมดุล และใช้มือทั้งสองข้างจับตัวตะไบใกล้ชิดกันแล้วกดดันไปข้างหน้าและดึงถอยหลัง ชักตะไบระยะสั้นๆ ใช้กับงานที่มีความกว้างไม่มาก และตะไบปรับเฉพาะส่วนที่โค้งนูนให้เรียบ

ภาพที่ 5.18 แสดงลักษณะการตะไบแบบถู

9. การทำความสะอาด             

               เมื่อเราทำความสะอาดตะไบชิ้นงานระยะหนึ่ง จะมีเศษโลหะติดตะไบ ทำให้ผิวงานเป็นรอย ขีดข่วน ดังนั้นจึงต้องขจัดเศษโลหะนั้นออก วิธีทำความสะอาดตะไบ โดยปกติจะใช้แปรงปัดตะไบถูปัด ไปตามร่องฟันตะไบ

ภาพที่ 5.19 แสดงการทำความสะอาดตะไบด้วยแปรง
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 109

10. การใช้และการบำรุงรักษาตะไบ

               1. อย่าใช้ตะไบที่ไม่มีด้าม
               2. อย่าใช้ตะไบแทนค้อนหรือทำตกพื้นเพราะจะทำให้แตกหัก
               3. อย่าใช้น้ำมันหล่อลื่นทาตะไบ  เพราะจะทำให้คมของตะไบลื่น
               4. เลือกใช้ตะไบให้เหมาะสมกับงาน
               5. ควรแยกตะไบออกจากเครื่องมือชนิดอื่น และไม่ควรเก็บกองรวมกันต้องเก็บไว้ในที่เก็บ
               6. การตะไบ ผิวดิบของชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการรีดร้อนมาผิวจะแข็ง   ดังนั้นจะต้องใช้สันตะไบทำการตะไบผิวดิบออกให้หมดก่อนจึงจะใช้หน้าตะไบปรับงานต่อไป โดยให้สันตะไบทำมุมเอียงประมาณ 30 องศา กับแนวระนาบ

ภาพที่ 5.20 แสดงตะไบที่ไม่มีด้ามไม่ควรนำมาใช้งาน
สมยศ   แก้วประทุมรัสมี . 2545 : 109

โดย นางสาวพรชลิตา สุริโย             58080502618
       นางสาวสกุลรัตน์ ศรีสมโภชน์    58080502625
       นางสาวภัคเนตร ขุนจันทึก        58080502635
                            PTE KMUTT'58

คำสำคัญ (Tags): #งานฝึกฝีมือ
หมายเลขบันทึก: 645784เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2018 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2018 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท