สายน้ำ


วิจารณ์เรื่องสั้น

สายน้ำ   

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง

นิติพร  ชุมศรี

         

สายน้ำ ชายหนุ่มผู้เกียจคร้านและใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายไปวัน ๆ เหตุการณ์แข่งเรือที่พี่ชายของเขาได้เป็นหนึ่งในฝีพายนั้นได้ทำให้ชีวิตของเขาถึงจุดพลิกผัน เมื่อสายลมผู้เป็นพี่ชายประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถลงแข่งขันเรือยาวได้ สายน้ำจึงกลายเป็นความหวังเดียวของครอบครัว สิ่งเหล่านี้ยังทำให้ให้สายน้ำเกิดความขุ่นเคืองอยู่ภายในใจว่าเหตุใดจากแข่งเรือถึงได้สำคัญขนาดนั้น เมื่อถึงคราวที่เขาได้ไปสัมผัสการแข่งขัน ความขัดแย้งที่อยู่ภายในใจของเขาจึงได้ถูกคลี่คลายลงจนหมด เพราะเขารู้แล้วว่ามันมันไม่ใช่แค่การแข่งขันเพื่อรางวัลหรือชัยชนะ แต่การแข่งเรือนี้คือศูนย์รวมแรงกายใจของทุกคน

 

โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง

          การวางโครงเรื่องของเรื่อง สายน้ำ นั้นมีการวางโครงเรื่องได้สัมพันธ์กับเนื้อหา มีการผูกปมของตัวละครโดยการให้ตัวละครเอกของเรื่องเกิดความขัดแย้งกับเหตุการณ์การแข่งเรือ เป็นการขัดแย้งด้านจิตใจของตัวละคร ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ต้องติดตามเพื่อนำไปสู่การคลายปมในที่สุด

          เหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในใจของ สายน้ำ คือความคิดที่เห็นต่างจากคนในครอบครัว เนื่องจากสายน้ำมองไม่เห็นความสำคัญของการแข่งเรือ เขาเป็นคนที่มีแนวความคิดเหมือนคนในยุคใหม่ที่เบื่อหน่ายกับวัฒนธรรมเดิม ๆ ในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสื่อให้เห็นถึงความคิดของคนในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างในตอนที่สายน้ำตื่นนอนในทุก ๆ วัน เขาจะต้องใช้โทรศัพท์ มือถือเพื่อท่องโลกออนไลน์จนเมื่อยสายตา ถึงจะลุกไปทำกิจวัตรอย่างอื่น แต่ถึงกระนั้นในตอนกลางวันเขาก็ยังไปอยู่ในร้านเกมอีกจนได้ ซึ่งในจุดนี้ผู้แต่งสามารถทำเนื้อหาของเรื่องนั้นมีความสมจริงและถือว่าเป็นการเสียดสีสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจนอีกมุมหนึ่ง

          กลายคลายปมของเรื่องนั้นได้ค่อย ๆ คลี่คลายไปตามเนื้อเรื่องโดยมีเหตุประจวบเกิดขึ้น คือ พี่ชายของสายน้ำนั้นได้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้สายน้ำนั้นต้องลงแข่งแทน เหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นถือว่าเป็นการคลายปมไปตามเหตุการณ์การดำเนินเรื่อง ซึ่งนำไปสู่จุดจบคือสายน้ำเข้าใจวัฒนธรรมและจุดมุ่งหมายของการแข่งเรือโดยแท้จริง

กลวิธีในการดำเนินเรื่อง

          กลวิธีในการดำเนินเรื่องนั้นเป็นการลำดับเรื่องแบบย้อนกลับ โดยเป็นการเปิดเรื่องในเหตุการณ์ปัจจุบันและเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตเพื่อเป็นการเร้าความสนใจจากผู้อ่าน และได้เห็นถึงที่มาของตัวละครต่าง ๆ อย่างชัดเจน ส่วนการปิดเรื่องนั้นเป็นการปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม และทิ้งไว้ให้คิดในส่วนของผู้ได้รับชัยชนะเพื่อเป็นนัยว่า สุดท้ายแล้วชัยชนะก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับรักความความสามัคคีที่ทุกคนได้รับในเหตุการณ์แข่งเรือครั้งนั้น ส่วนวิธีการเล่านั้นเป็นการเล่าแบบผู้แต่งในฐานะที่เป็นผู้รู้แจ้งเป็นคนเล่า ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้แต่งจะไม่ให้ตัวละครใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่า แต่จะใช้วิธีบรรยายไปตามเหตุการณ์และตัวละครที่มีบทบาทนั้น ๆ

ตัวละคร

ตัวละครเอกของเรื่อง คือ สายน้ำ เป็นผู้ตัวละครดำเนินเรื่องหลักในเรื่องนี้ตั้งแต่เหตุการณ์การผูกปมไปจนถึงการคลายปม ซึ่งบทบาทของสายน้ำก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้ในเนื้อเรื่องข้างต้น ถือว่าเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดของเรื่อง และเป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ กล่าวคือ เป็นตัวละครที่มีลักษณะนิสัย อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปรียบเหมือนคนในชีวิตจริง

          ในส่วนของตัวละครอื่น ๆ ทั้ง สายลม พ่อและแม่ คือตัวละครที่สำคัญรองลงมา ตัวละครเหล่านี้เป็นส่วนที่ช่วยผลักดันตัวละครหลักนำไปสู่การคลายปมจนสำเร็จ และเป็นตัวละครที่มีลักษณะเดียวคือ แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยอยู่เพียงด้านเดียว เนื่องจากจุดมุ่งหมายของตัวละครเหล่านี้คือ อยากให้สายน้ำนั้นมีทัศนคติที่ดีต่อการแข่งเรือ

ฉาก

          ฉากสำคัญในเรื่องที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ ฉากการแข่งเรือ โดยมีสถานที่คือแม่น้ำมูล และสวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือว่าเป็นฉากและสถานที่ที่มีความสอดคล้องและสมจริง โดยมีการยกตัวอย่างทั้งฉากการแข่งขันและการซ้อมในเรื่องอีกด้วย นอกจากนี้สถานที่เหล่านี้ก็เป็นสถานที่จริง จึงทำให้การดำเนินเรื่องนั้นเต็มไปด้วยความเด่นชัดและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

 

สารัตถะ

แก่นเรื่องหรือสารัตถะของเรื่องนั้น ผู้แต่งได้สื่อให้เห็นออกมาได้อย่างเด่นชัดผ่านเจตนารมณ์ของตัวละครคือ การมุ่งให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งกำลังจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา เนื่องจากคนยุคใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร ความเจริญก้าวหน้าในวัตถุได้เข้าครอบงำความงดงามของประเพณีอันเก่าแก่จนเกือบจะหมดสิ้น ผู้แต่งจึงใช้ประเพณีในท้องถิ่นออกมาแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการมองเห็นคุณค่าในตัวตนของตนเองและคนในสังคม

 

การประเมินค่า

          เรื่องสั้น สายน้ำ ของคุณนิติพร  ชุมศรี ถือว่าเป็นผลงานที่น่ายกย่องอีกหนึ่งเรื่อง เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้แต่งไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพแต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณค่าได้อย่างน่ายกย่อง และที่สำคัญที่สุดคือการนำวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนออกมาเผยแพร่ให้กับผู้อื่นได้รับรู้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ควรได้รับการชื่นชม

คุณค่าที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเรื่องสั้น สายน้ำ คือ

  • การสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเยาวชนคนรุ่นหลัง
  • การที่ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าในตัวเองว่าเราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้เพียงแค่ใช้ความพยายามและตั้งใจกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ
  • ความสมัครสมานสามัคคีก็เป็นหนึ่งในพลังการขับเคลื่อนในการบรรลุไปสู่เป้าหมาย

 

หมายเลขบันทึก: 645778เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2018 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2018 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท