ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 14 : การสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น


ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 14 : การสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่น

1 มีนาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

การมองไปที่ “มาตรฐานการบริหารงานบุคคล” ถือเป็นหลักสำคัญของ “ระบบคุณธรรม” (Merit System) เพราะต้องถือว่า “การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” เป็นการบริหารราชการอย่างหนึ่งตามหลักสากลทั่วไปที่แยกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง (รวมส่วนภูมิภาค) และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ฉะนั้น จึงปฏิเสธหลักการแห่งระบบคุณธรรมไม่ได้  แม้ว่าในบริบทปลีกย่อยหลายประการมีความแตกต่างจากการบริหารราชการส่วนกลางค่อนข้างมาก เช่น เป็นหน่วยงาน “บริการสาธารณะ” (Public Service) หลักหรือโดยตรงในพื้นที่  มีผู้บริหารสูงสุดมีลักษณะเป็น “การเมือง” หรือเป็น “ฝ่ายการเมือง” ที่มีอำนาจเต็ม “โดยตรง” (Strong Executive Mayor) [2] รวมทั้งทางด้านการบริหารงานบุคคลด้วย โดย “ฝ่ายประจำ” ไม่มีอำนาจโดยตรงในการบริหารงานบุคคลแต่อย่างใด แตกต่างจากราชการส่วนกลาง ที่ฝ่ายประจำ คือ หัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวง และ อธิบดีมีอำนาจเต็มในการบริหารงานบุคคล การบรรจุ แต่งตั้ง และ การดำเนินการทางวินัย ยกเว้นเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเท่านั้น ที่ฝ่ายการเมือง คือรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมีอำนาจด้วย  ฉะนั้น ในความแตกต่างนี้ ถือเป็นจุดสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะการมอบอำนาจดุลพินิจที่มากมายแก่ผู้บริหารท้องถิ่น โดยไม่มีการควบคุมกำกับที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า “การถ่วงดุล” [3] ย่อมเกิดการฉ้อฉล อันเป็นที่มาของการ “ทุจริตคอร์รัปชัน” (Corruption) ได้ง่ายและมากด้วย ดังนั้น การอ้างประสิทธิภาพในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นโดยยึดเป้าประสงค์ของ “ประชาชน” เพียงประการเดียว โดย “นักการเมืองท้องถิ่น” ในพื้นที่มีหลักการที่ “เป็นปฏิปักษ์” ต่อหลักการของระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล ถือเป็นภาระหนักของ “หน่วยงานกลางอิสระ” ที่มาทำหน้าที่ “องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” (Central Personnel Organization or Agency) ต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบคุณธรรม ยึด “หลักความเป็นกลางที่ไม่มีส่วนได้เสีย” (Impartiality) และ “หลักการบริหารแบบมืออาชีพ” (Professional) อย่างเคร่งครัด

ดังกล่าวแล้วว่ามาตรฐานการบริหารงานบุคคลที่พอจะเทียบเคียงและยึดถือเสมอก็คือ มาตรฐานของ “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” หรือ ก.พ. ฉะนั้นการเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ยังไม่มีหรือขาดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลใด ๆ ก็ตาม หรือ การกระทำการที่เป็น “มาตรฐานงานบุคคลที่แตกต่าง” จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด โดยเฉพาะในเรื่องศักดิ์ศรีมาตรฐานการบริหารงานราชการทุกอย่างต้องเหมือนกัน ไม่มีแปลกแยกแตกต่าง ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ช่วงนี้มีกระแสการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นลองมาทวนข่าวกัน

 

การสรรหาเป็นมาตรการด่านแรกของการบริหารงานบุคคล

กระบวนการสรรหาบุคลากร (Recruitment) [4] เพื่อมาบรรจุแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ถือเป็น “หัวใจด่านแรก” ในที่นี้ผู้เขียนกำลังจะให้หมายความถึง “การสอบแข่งขัน” ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาบรรจุใหม่ และ “การคัดเลือกหรือการสอบคัดเลือก” ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ถือว่าสำคัญมากเมื่อเทียบกับ “ข้าราชการฝ่ายพลเรือน”

 

การสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นปี 2560

(1) รศ. อัษฎางค์ปาณิกบุตร ประธานคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) รายงานว่า ได้เตรียมการจัดสอบเพื่อบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 14,000 อัตรา จาก 63 ตำแหน่ง ในประมาณปลายปี 2559 คาดจำนวนผู้เข้าสอบทั่วประเทศมากกว่า 6 แสนคน เป็นอัตราบรรจุแต่งตั้งที่มากกว่าการจัดสอบปี 2557 ซึ่งมีการบรรจุ 7,000 อัตราเท่านั้น [5] แต่จากการสำรวจครั้งสุดท้ายมียอดอัตราว่างทั้งหมดจำนวน 85 ตำแหน่ง รวม 21,605 อัตรา [6]

(2) มติคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ครั้งที่ 5/2560 เมื่อ 3 กรกฎาคม 2560 และครั้งที่ 6/2560 เมื่อ 25 กรกฎาคม 2560 ให้มีการสอบแข่งขัน ตามประกาศเรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 [7] โดยคัดเลือกมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นสถาบันกลางในการดำเนินการจัดสอบ มียอดจำนวนผู้สมัครสอบแข่งขันท้องถิ่น ประจำปี 2560 รับสมัครระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 มีจำนวนดังนี้ [8] (1) ผู้สมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตผ่านระบบออนไลน์ 710,888 คน (2) ผู้สมัครที่ชำระค่าธรรมเนียมสอบ 627,975 คน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบวันที่ 8 กันยายน 2560 สอบเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 และมีการสอบใหม่อีกครั้งในตำแหน่งสันทนาการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2560 [9] เนื่องจากมีความผิดพลาดสลับชุดข้อสอบกัน

(3) สุดท้ายได้ประกาศเรื่อง การขึ้นบัญชีและยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 [10] บัญชีผู้สอบได้มีอายุ 2 ปี โดย สถ. จะสำรวจความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีตำแหน่งว่าง แล้วมีหนังสือเรียกตัวผู้สอบได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุ และในรอบแรก สถ. ได้ดำเนินการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 10,229 คน และรอบที่สองได้เรียกรายงานตัวผู้สอบได้เพื่อบรรจุจำนวน 1,578 คน [11] ประกอบด้วยตำแหน่งประเภทวิชาการ จำนวน 1,089 คน ตำแหน่งครูผู้ช่วย/ครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 214 คน และตำแหน่งประเภททั่วไป จำนวน 275 คน โดย สถ. จะส่งหนังสือเรียกผู้สอบได้มารายงานตัวเพื่อเลือก อปท. ที่ประสงค์จะไปบรรจุและแต่งตั้งระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2561 และบรรจุแต่งตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2561 [12]

 

ปัญหาสารพันของการสอบแข่งขัน

หลังจากที่มีการสอบเสร็จพลันก็มีเรื่องราวโต้แย้งคัดค้านกันอุตลุด โดยนายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยได้ร้องขอให้ตรวจสอบมาตรฐานในการออกข้อสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นว่า เป็นไปตามประกาศของ กสถ.หรือไม่ [13] โดยมีข้อสังเกตในการสอบครั้งนี้ว่าอาจเป็นไปโดยไม่สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม เป็นมาตรฐาน จนกระทั่งมีการเรียกผู้สอบได้มาบรรจุแต่งตั้ง ก็มีกระแสการโต้แย้ง ความลักลั่นในการบริหารงานบุคคลตามหลักระบบคุณธรรมมาเป็นละลอก ๆ โดยเฉพาะสิทธิในการขอรับรองบัญชีของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่สอบได้  รวมไปถึงสิทธิในการโอนย้ายของข้าราชการส่วนท้องถิ่น [14] ที่ต่างเฝ้ารอคอยการโอนย้ายตามสิทธิมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้รับการพิจารณา หรือ ไม่สามารถโอนย้ายได้ตามระบบปกติ เพราะการแช่แข็งข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในเรื่องการโอน(ย้าย)ของแท่งทั่วไป แท่งวิชาการที่ค้างนานมาปีกว่าแล้ว

 

ปัญหาตกค้างมาจากระบบซีมาเป็นระบบแท่ง (Broad band)

(1) นับตั้งแต่การเข้าสู่ระบบแท่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 [15] จนกาลเวลาล่วงเลยมาถึงการสอบแข่งขันแล้วเสร็จ คนใหม่กำลังจะมาบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันคนเก่าหมายถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่นเดิม โดยเฉพาะข้าราชการในแท่งทั่วไป และแท่งวิชาการ ก็ยังมิได้รับการแก้ไขเยียวยาปัญหาที่ได้รับผลกระทบในระบบคุณธรรมแต่อย่างใด มีข้อเรียกร้องที่ไม่เห็นด้วยใน ร่าง พรบ.การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ (1.1) เรื่องการคงอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการสอบเปลี่ยนสายงานจากแท่งทั่วไปเป็นแท่งวิชาการ และ (1.2) เรื่องการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายบุคคลที่เกินกว่าร้อยละ 40 โดยเฉพาะปัญหาการจ้างพนักงานจ้าง ควรเร่งรัดภายใน 2 ปี เพราะ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อกรอบโครงสร้างอัตรากำลังของ อปท. ทำให้มีปัญหาการขยายกรอบอัตรา นั่นหมายถึง การหยุดความก้าวหน้าเติบโตตามระบบคุณธรรมของข้าราชการสายผู้ปฏิบัติไปโดยปริยาย โดยมิต้องไปพิจารณาถึงแท่งบริหารและแท่งอำนวยการแต่อย่างใด เพราะมันกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปหมด อันเป็นปัญหาหนึ่งในการคัดเลือก และการสอบคัดเลือกสายงานบริหารและอำนวยการท้องถิ่นที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วย

(2) นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น แม้จะยึดมาตรฐานของ ก.ค.ศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) [16] ก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของท้องถิ่นต้องอยู่ในบังคับของมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นด้วย ฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า ข้าราชการครูท้องถิ่นต้องมาติดร่างแหในหลาย ๆ เรื่องที่ข้าราชการท้องถิ่นติดไปด้วยกัน มีผู้เสนอว่า เพื่อสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ อปท. ขอให้เพิ่มเติมข้อความในร่าง พรบ. ว่า “ให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ อปท.เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

(3) เรื่องการไม่เยียวยาครูผู้ดูแลเด็ก(ครู ผดด.) ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 98 คน ที่เข้าสู่ตำแหน่ง (คัดเลือกกรณีพิเศษโดยไม่สอบแข่งขันฯ) ไม่ถูกต้อง ตัวแทนกลุ่มครูผู้ดูแลเด็ก ได้ร้องขอความเป็นธรรม กรณี กท.และ ก.อบต. พิจารณาว่าไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ครูผู้ดูแลเด็ก ไม่สามารถเทียบได้ เรื่องนี้มติที่ประชุมให้เสนอหารือ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพ พิจารณาจบคุณวุฒิ ป.ตรีอื่นเทียบได้วุฒิทางการศึกษาหรือไม่อย่างไร ที่ต้องรอฟังผลต่อไป [17] เรื่องนี้ส่งผลถึงมาตรฐานและความน่าเชื่อถือต่อองค์กรภายนอก โดยเฉพาะองค์กรข้างเคียงที่จัดการศึกษาด้วยกัน เช่น สพฐ. รร. เอกชน หรือ แม้แต่ รร. หรือ สถานศึกษา อปท. ด้วยกันเอง

(4) การทุจริตการสอบแข่งขันของ อปท. ที่ถูกยกเลิกบัญชีการสอบแข่งขันมีเรื่องค้างคาในหลายจังหวัด [18] อาทิ ปัญหาการสอบแข่งขันในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และอุดรธานี ที่ยกเลิกไปก่อนหน้าเมื่อปี 2559 แล้ว ยังมีปัญหาที่จังหวัดอยุธยา และจังหวัดอื่นอีกหลายจังหวัด ล่าสุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งปัญหาที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 32 อบต. นั้นมีข่าวว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดนคุกคาม [19] เพราะมีการปลดนายก อบต. ทั้ง 32 รายด้วย กรณีการทุจริตสอบแข่งขัน จ.แม่ฮ่องสอนนั้นมีการโต้แย้ง ร้องเรียนโดยกลุ่มผู้สอบได้ 8 อบต. ที่ได้รับผลกระทบว่า สมควรยกเลิกบัญชีสอบฯ หรือไม่ อย่างไร [20] เพราะ สถ. เชื่อว่ามีการโกงบัญชีสอบ [21] แต่สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ร้องขอให้ สถ.หยุดแทรกแซงหาข้อเท็จจริงการถอนบัญชี และหยุดการประวิงเวลามิให้คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองวินิจฉัยไปตามกระบวนการที่เหมาะสม [22] โดยเชื่อว่ามีกระบวนการบิดเบือนข้อมูล และ กลุ่มผู้ที่สอบได้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

(5) ข่าวล่าสุด (2560-2561) ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด กรณีการเพิกถอนบัญชีการสอบแข่งขัน 3 จังหวัดได้แก่ (5.1) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 12 คดี (12 อปท.) (5.2) จังหวัดมหาสารคาม รวม 7 คดี (7 อปท.) (5.3) จังหวัดอุดรธานี รวม 4 คดี (4 อปท.) [23]

 

ปัญหาเดิมที่สะสมหมักหมมมาก่อนแล้วภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่ง สถ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ด้วยข้อจำกัดทางปฏิบัติและระเบียบข้อกฎหมายที่ไม่ชัดแจ้ง เช่นการหารือ ตีความกันหลายครั้ง ระหว่าง อปท. ก.จังหวัด และ ก.กลาง ประหนึ่งเป็นปัญหาด้านความไม่พร้อมของ อปท. และ สถ. ความไม่ชัดแจ้งของระเบียบข้อกฎหมาย และ หน่วยงานที่กำกับดูแลที่ต้องเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ปัญหาปลีกย่อย เล็กน้อยเหล่านี้ หากไม่ได้ใส่ใจพิจารณา อาจเป็นประเด็นที่ทวีมากขึ้น เป็นประเด็นปัญหามาตรฐานการบริหารงานบุคคล รวมถึงปัญหามาตรฐานวิชาชีพเฉพาะทาง ที่มีผลโดยตรงต่อขวัญกำลังใจของบุคคลข้าราชการท้องถิ่นผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตไว้


[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 25 วันศุกร์ที่ 2 - วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66

[2]Public Administration in Southeast Asia: Thailand, Philippines, Malaysia, Hong Kong, and Macao, Edited by Evan M. Berman, CRC Press Taylor & Francis Group, 2011. Political Science, Section I By Ponlapat Buracom & Bidhya Bowornwathana (Assoc Prof. CU), pp.29-140., (ทั้งหมด 589 หน้า), http://blancopeck.net/Public-Administration-in-Southeast-Asia.pdf

[3]เมื่อพูดถึง “การถ่วงดุลอำนาจ” ลองมาเปรียบเทียบกับ “การถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย”

ดู หลักการว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจ (Checks and Balances) ในFreedom of thought, 26 พฤษภาคม 2554, 

http://freedom-thing.blogspot.com/2011/05/checks-and-balances.html

ตามหลักของ มองเตสกิเออ ตัวอย่างในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของทั้ง 3 ฝ่าย อาจพิจารณาได้ดังนี้

(1) ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ( Congressional Checks on the Executive Branch ) (2) ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ (Congressional checks on the Judicial Branch) (3) ฝ่ายบริหารถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ (Presidential Checks an Congress) (4) ฝ่ายบริหารถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ (Presidential Checks on the Judiciary) (5) ฝ่ายตุลาการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร (Judicial Checks on Congress and the President)

การถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแบ่งแยกอำนาจมิได้ หมายความว่า องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสาม คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจะต้องมีอำนาจเท่าเทียมกัน โดยอำนาจใดอำนาจหนึ่งอาจอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่งได้และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีขั้นตอนในการลดอำนาจของอีกฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้ อาจกล่าวได้ว่า การถ่วงดุลอำนาจมักเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร

[4]การสรรหาบุคลากร, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/การสรรหาบุคลากร

การสรรหาบุคลากร (recruitment) หมายถึง กระบวนการดึงดูด คัดกรอง เลือกและรับบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ารับงาน

กระบวนการสรรหาบุคลากรมีขั้นตอนดังนี้ (1) วิเคราะห์งานและพัฒนาข้อกำหนดบุคคล (2) มองหาผู้สมัครงานผ่านเครือข่ายสังคม โฆษณาหรือวิธีการค้นหาอื่น (3) จับคู่ผู้สมัครงานกับข้อกำหนดงานและคัดกรองปัจเจกบุคคลโดยใช้การทดสอบ ซึ่งอาจเป็นการประเมินทักษะหรือบุคลิกภาพ (4) ประเมินแรงจูงใจของผู้สมัครงานและความเหมาะสมกับข้อกำหนดองค์การโดยการสัมภาษณ์และเทคนิคการประเมินอื่น

ดูเพิ่ม การสรรหาและการคัดเลือก (Recruitment & Selection), http://pws.npru.ac.th/praewpan/data/files/HRM4.pdf  & นันท์นภัส มะลิเผือก, การสรรหา (Recruitment), นครแห่งการเรียนรู้, ศูนย์การเรียนรู้ นครศรีธรรมราช, เอกสารประกอบการเรียน 3207-2004 การสรรหาและการคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์, หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง, (เทียบโอนประสบการณ์อาชีพ), http://www.nakorn3.com/download/1296819424.doc

[5]ประธาน กสถ. เผย “จะจัดสอบเพื่อบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ, 10 พฤศจิกายน 2559, จากข่าวหนังสือพิมพ์มติชน รายงานเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=63410.0

[6]ตำแหน่งและอัตราว่างรวมทั้งสิ้น จำนวน 85 ตำแหน่ง 21,605 อัตรา แบ่งเป็น (1) ตำแหน่งประเภททั่วไป จำนวน 27 ตำแหน่ง 11,838 อัตรา (2) ตำแหน่งประเภทวิชาการ จำนวน 33 ตำแหน่ง 7,864 อัตรา (3) ตำแหน่งครูผู้ช่วยและครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 25 ตำแหน่ง 1,903 อัตรา

ผลสอบภาค ก,ข, ของการสอบท้องถิ่น ปี 2560 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 มีผู้สอบผ่าน ภาค ก,ข, มากถึง 32,369 คน มีตำแหน่งว่างรวมทุกตำแหน่ง 21,605 อัตรา

ดู ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล, เปิดสอบ ท้องถิ่น อบต 2561 ยังมีอัตราว่างอีก 10,023 อัตรา, ประกาศ ผลสอบ, 5 พฤศจิกายน 2560, https://www.ประกาศผลสอบ.com/prd-detail.php?prd_id=84

[7]ประกาศคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560, https://www.xn--12c4cbf7aots1ayx.com/pdf/dla2560/DLA001_01256001_20170726_1.PDF

[8]สรุปยอดจำนวนผู้สมัครสอบท้องถิ่น ประจำปี 2560, https://www.xn--12c4cbf7aots1ayx.com/prd-detail.php?prd_id=432

& สรุปปิดยอดผู้สมัครสอบท้องถิ่น ปี2560 และชำระเงินแล้ว 627,975คน, 4 กันยายน 2560, http://www.kruwandee.com/news-id35870.html

& ยอดผู้สมัครสอบ อปท.พุ่ง 7 แสน กสถ.เปิดโอกาสโอนเงินค่าสมัครได้ถึง 3 ทุ่มคืนนี้, 2 กันยายน 2560, https://www.matichon.co.th/news/650740

[9]ตำแหน่งที่สอบใหม่ ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) เนื่องจากการสลับชุดข้อสอบกัน คือ ตำแหน่งนักสันทนาการปฏิบัติการ และตำแหน่งบรรณารักษ์ปฏิบัติการ สอบวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี

[10]ประกาศคณะกรรมการกลางสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น เรื่อง การขึ้นบัญชีและยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560, http://www.dlaapplicant2560.com/Main/FrmManageDownload.aspx?FD=cvu65mPoemOZNCmUn5EJBA%3d%3d&FILE=Rg/yWJnXbPiWN3QbYI4Ny6s3B9KTl7QFvRRzlCUEaak=

[11]สถ.เผยเตรียมบรรจุพนักงานท้องถิ่นรอบสอง 1,578 รายตามลำดับคะแนน, 13 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.matichon.co.th/news/840563

[12]ดูข่าว อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจงกรณีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ข้าราชการท้องถิ่น “ตำแหน่งใด-เขตใด ไม่มีผู้สอบได้เหลือ...หมดบัญชีแล้ว” จะดำเนินการเช่นไร, 26 กุมภาพันธ์ 2561, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=65693.0

[13]สมาคมขรก.ส่วนท้องถิ่นฯขอให้ตรวจสอบมาตรฐานในการออกข้อสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น, สยามรัฐออนไลน์ การเมืองท้องถิ่น, 16 ตุลาคม 2560, https://siamrath.co.th/n/24913 & ยื่นร้องเรียนสอบบรรจุ 'อปท’., หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2560, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=65034.0 

[14]ดูหลักเกณฑ์การบรรจุ ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.3/ว 1 ลงวันที่ 4 มกราคม 2561 เรื่อง การบรรจุละแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/1/19348_1_1515130402047.pdf  & ได้แจ้ง “แนวทางปฏิบัติในการขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ฯ” เพื่อบรรจุข้าราชการ-พนักงานส่วนท้องถิ่น แนวทางรับโอนหลังบรรจุรอบแรกฯ, หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ มท 0809.3/ว 3758 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/11/20871_1_1543315682185.pdf

[15]การกำหนดตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นในระบบแท่ง (Broadband) ตามประกาศคณะกรรมการกลาง (ก.กลาง ทั้ง 3 ก.) เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราตำแหน่งและมาตรฐานของตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2558

[16]สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.), https://th.wikipedia.org/wiki/สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

[17]แจ้งในที่ประชุมร่วม 3 ก. เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561

[18]ทบทวนความจำ... มาดูข่าวเก่า ๆ ปัญหาการส่อทุจริตในการสอบแข่งขันข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่โด่งดังในช่วงเวลาที่ผ่านมาและช่วงเวลานี้ก็คือ การสอบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี

ดูข่าว

“รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ลงนาม ยกเลิกคำสั่งบรรจุฯ อปท.ในจังหวัดแล้ว - ผลคือ คนบรรจุ จะต้องออกจากราชการ”, 13 สิงหาคม 2557, http://www.kruwandee.com/news-id10914.html#sthash.96aQEozo.dpuf

& “เผยสอบท้องถิ่นอยุธยา ซี3 จ่ายร่วม 6 แสน หอบเงินสดให้ “อ” ที่ชั้น 3”,

16 มิถุนายน 2557, http://www.kruwandee.com/news-id10382.html#sthash.nDLvIWbu.dpuf

& “คุณคิดอย่างไรที่มีข่าวว่าอยุธยาโกงการสอบท้องถิ่นครั้งล่าสุดอีกแล้ว...”, 4 มิถุนายน 2557, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=55039.0

& หนังสือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด่วนที่สุด ที่ อย 0023.2/ว158 ลงวันที่ 21 เมษายน 2557 เรื่อง การป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น, http://ayutthayalocal.go.th/order_general/detail/903

& “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “การสอบแข่งขันของ อปท. จังหวัดอุดรธานี” 33 แห่ง”, 1 มีนาคม 2558, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,57866.0  & “ผู้ว่าอุดรฯสั่งชะลอ 9 อบต.จัดสอบบรรจุเอง”, 28 ตุลาคม 2557, http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=739740  & “เปิดสอบท้องถิ่น 96 อัตรา! ล่าสุด(27ต.ค.57) ผู้ว่าอุดร สั่งให้ชะลอการดำเนินการสอบทั้งหมด”, 27 ตุลาคม 2557, http://www.sobkorpor.com/news-id241.html  & “ร้องทุจริตสอบท้องถิ่น อบต.ทับกุง อุดรฯ เงินหมุน 17 ล้าน โยงที่ปรึกษาผู้บริหาร”, 18 กรกฎาคม 2557, http://pantip.com/topic/32340328  & http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,55520.0.html

& “มติ ก.ท.จ.บุรีรัมย์ ชะลอการสอบ อปท.ทุกแห่ง(24 กันยายน 2557),” 11 ตุลาคม 2557, http://iqepi.com/?p=15943

& “ศูนย์ดำรงธรรมสารคามฯปัดฝุ่นบี้สอบ 19 อบต.ฉาวปมบรรจุพนักงาน”, isranews, 18 มกราคม 2558, http://www.isranews.org/isranews-news/item/35896-kokkoh_904.html#.VPPVYrE2qYA.facebook  & “เปิดหมด! เอกสารประชุม ก.อบต.สารคามสั่งยุติหาข้อเท็จจริงปมสอบฉาว”, isranews, 15 ธันวาคม 2557, http://www.isranews.org/component/content/article/58-isranews/isranews-scoop/35105-kokkoh_901_01.html#.VPPVs-M-lLo.facebook

& “ผลการตรวจสอบ เหตุร้องเรียนทุจริตการสอบบรรจุข้าราชการ อบต. 13 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี” , 22 ธันวาคม 2557, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=57285.0 (สรุป !!! คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนโดยการสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่จัดการสอบ และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการทุจริต หรือเรียกรับเงินในการสอบแข่งขัน และชี้ชัดได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นของ อบต. 13 แห่ง แต่อย่างใด)

[19]ย้อนรอย ไล่ออก! “32 นายก อบต. พื้นที่ มหาสารคาม” ถึงมือ “พล.อ.ไพบูลย์-ศอตช.” ชง “ศาลปราบทุจริต” ฟันแพ่ง-อาญา ชุดแรก, 12 กันยายน 2559,

https://mgronline.com/politics/detail/9590000091742

& เบื้องหลังคำสั่ง คสช.ลงดาบ ใช้ ม.44 สั่งพักงาน 32 นายก อบต.มหาสารคาม. 7 มกราคม 2559, https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1452154288

[20]ร้องผู้ตรวจฯปม ก.อบต.เลิกบรรจุ พนง. ตำบล 8 อบต.ในแม่ฮ่องสอน-ยันไร้โกง, 17 พฤษภาคม 2560, https://www.isranews.org/isranews.../56307-isranews-56307.html

& ก.อบต.จังหวัดแม่ฮ่องสอน หารือ ก กลางท้องถิ่น "กรณีบัญชีสอบ พนง.ส่วนตำบล 8 อบต.", 7 เมษายน 2560, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=64113.0

[21]สถ. แจงกรณียกเลิกบัญชีสอบ 8อบต.แม่ฮ่องสอน, 15 กุมภาพันธ์ 2561, https://gnews.apps.go.th/news?news=14069

[22]ขอ สถ.หยุดแทรกแซง/หาข้อเท็จจริงถอนบัญชีสอบ 8อบต.แม่ฮ่องสอน ขรก.ท้องถิ่นบุกร้องรมว.มหาดไทย, สยามรัฐ  ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561,  https://kontb.blogspot.com/2018/02/8_15.html

[23]แจ้งในที่ประชุมร่วม 3 ก. เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 สรุปคดีปกครอง กรณี ก.กลาง มีมติเพิกถอน ก.จังหวัด ที่ดำเนินการสอบแข่งขัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาไปแล้ว

1. ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาของจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 26 ธันวาคม 2560 รวม 12 คดี (12 อปท.)

2.ศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 -27 ธันวาคม 2560 รวม 4 คดี (4 อปท.)

3.ศาลปกครองขอนแก่น  มีคำพิพากษาวันที่16-17 มกราคม 2561 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม รวม 7 คดี (7 อปท.)

โดยศาลปกครองทั้ง 3 แห่งนั้นมีคำพิพากษาเหมือนกันคือ พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 645186เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2018 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2019 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท