ESP Model การพัฒนาเชาว์ปัญญาในการเข้าใจตนเองสำหรับเยาวชน


ในโลกยุคปัจจุบัน ฐานความเชื่อเรื่องปรัชญาการศึกษาแบบอัตถิสภาวะนิยมและพุทธินิยม มีความหมายเเละความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการสร้างคนที่จะเป็นอนาคตของชาติ อนาคตของสังคมและเพื่ออนาคตต่อตัวของเขาเองด้วย เพราะเด็กต้องเติบโตขึ้นไปข้างหน้า เด็กมีหัวใจ และเด็กมีความฝัน การเเสวงหาความหมายหรือสารัตถะแห่งชีวิตดังกล่าวเป็นกุญเเจสำคัญในการวางเป้าหมายชีวิต ให้เกิดเเรงบันดาลใจเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าตามเส้นทางที่เขาเป็นคนกำหนดเอง

การจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาและเเนะเเนวอาชีพในโรงเรียน มีความหมายและความสำคัญต่อชีวิตของเด็กในยุคนี้มาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ดูเหมือนสวนทางกับระบบการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาเด็กไม่รู้จักความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตของตนเอง ดังนั้นการจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาและแนะแนวอาชีพ จึงเป็นกิจกรรมหลักในการช่วยให้เด็กได้ค้นพบตัวของตัวเองเพิ่มมากขึ้น 

การช่วยให้เด็กเกิดการค้นพบตัวเอง เป็นการพัฒนาเชาว์ปัญญาในการเข้าใจตนเอง(Intrapersonal Intelligence) ตามทฤษฎีพหุปัญญาของฮาร์วาด  การ์เนอร์ และเป็นลำดับความต้องการขั้นสูงสุด ตามทฤษฎีลำดับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ของอับบราฮัม มาสโลว์ ฉะนั้นเเล้วจึงดูเหมือนเป็นเรื่องท้าทายในการจัดกิจกรรมให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมลักษณะของ การตระหนักรู้ภายใน(Self-awareness) หรือ รูปแบบของจิตตปัญญาศึกษา เป็นกิจกรรมที่เริ่มแพร่หลายในด้านจิตวิทยามากยิ่งขึ้น มีกระบวนการฟัง การมอง และการคิดอย่างใคร่ครวญ โดยให้เด็กได้อยู่กับตนเอง กระบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นเข็มทิศในการเสริมสร้าง ให้เด็กสะท้อนถึงความเป็นตัวของตัวเองออกมาจากภายใน อันจะนำมาซึ่งศักยภาพทางการรู้จักเเละเข้าใจเป้าหมายชีวิตของตนเอง ซึ่งกิจกรรมและเครื่องมือการคิดใคร่ครวญลักษณะดังกล่าวกับกระบวนการแนะแนวในโรงเรียน ถือว่ามีอยู่น้อยมาก จึงเป็นปัญหาสำคัญเชิงกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องออกแบบและพัฒนา

ESP Model (รูปแบบการแนะแนวแบบ ESP) จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเสริมสภาวะของกรตระหนักรู้ภายในด้านการเข้าใจตนเอง เรื่อง เป้าหมายชีวิตของตนเอง ถอดมาจากประสบการณ์การจัดกิจกรรมแนะแนวของผู้เขียน โดยมีกระบวนการ ๓ ขั้น ในการจัดกิจกรรม ให้เกิด "๕ รู้" ได้แก่ รู้จักตัวตน รู้จักนิสัย รู้จักต้นทุนภายในและภายนอกตนเอง รู้จักเป้าหมาย และรู้จักแผนการใช้ชีวิต โดย ESP ย่อมาจาก 

E = Experience sharing คือ การแบ่งปันประสบการณ์ โดยใช้รูปแบบการเล่าเรื่อง (Story telling)
S = Self-awareness คือ การตระหนักรู้ภายใน โดยใช้กิจกรรมลักษณะการถอดบทเรียนตัวเอง(AAR)
P = Planning for life คือ การวางแผนชีวิตจากเป้าหมายสู่อนาคต โดยใช้กิจกรรมลักษณะการวางแผน

ESP Model

ขั้นที่ ๑ การเเบ่งปันประสบการณ์ (Experience sharing) ใช้รูปแบบของการเล่าเรื่อง(Story telling) เน้นที่ประสบการณ์ของผู้เล่าที่แบ่งปันให้ผู้ฟัง โดยให้พี่ๆเล่าประสบการณ์แต่ละสายอาชีพ ความฝัน การสอบ การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ให้น้องๆฟัง ขั้นนี้ถือเป็นขั้นนำเข้า(Input) จะช่วยให้เด็กเกิดการเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะชุดประสบการณ์เดิมของเด็กเเต่ละคนเเตกต่างกัน การเล่าแบ่งปันประสบการณ์เป็นการเติมเต็มประสบการณ์ของเด็กจากการฟังและการสอบถาม ให้เกิดความรู้ด้านการเรียนต่อนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคตมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำมาสู่กระบวนการขั้นถัดไปด้วย โดยมีชุดตัวอย่างกิจกรรม ดังนี้ 

๑) การเล่าเรื่องผ่านเวทีเสวนา พูดคุย เรื่อง ประเด็นการเรียนต่อ การสอบ การใช้ชีวิต สู่การประกอบอาชีพในอนาคต
๒) การใช้สุนทรียสนทนา(Dialogue theater) แบบกลุ่มย่อยตามสายอาชีพ เป็นกระบวนการลักษณะปฏิสัมพันธ์ทางตรง (Face to Face)
๓) การใช้กิจกรรมฐาน โดยอาจแบ่งตามฐานอาชีพ เช่น สายวิทย์ สายมนุษย์ สังคม สายภาษา สายครู สายการปกครอง สายอาชีพ สายตำรวจทหาร สายดนตรี ศิลปะ เป็นต้น 

ขั้นที่ ๒ การตระหนักรู้ภายใน (Self-awareness) ขั้นนี้เป็นขั้นสำคัญที่สุด จากที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากภายนอกเเล้ว ขั้นนี้เป็นการสังเคราะห์ชุดประสบการณ์ภายในตนเอง ซึ่งการตระหนักรู้ภายในท่ามกลางศักยภาพทางการคิดของเด็ก ถือว่ามีค่อยข้างจำกัด จึงมีเครื่องมือทางจิตตปัญญาในการช่วยเติมเต็มสภาวะเชิงปัจเจกดังกล่าว โดยใช้กิจกรรม Who are you?(คุณคือใคร) กิจกรรมผู้นำ ๔ ทิศ และกิจกรรมสามเหลี่ยมความฝัน โดยมีรายละเอียด เป็นลำดับขั้น ดังนี้ 

๒.๑) กิจกรรม Who are you ? (คุณคือใคร) "รู้จักตัวตน"
จุดประสงค์ : เพื่อให้เด็กได้เข้าใจตัวตนของตนเองที่มีหลากหลาย
แนวคิดและทฤษฎี : ทฤษฎีตัวตน ๓ ของ คาร์ล โรเจอร์ ได้แก่ ตัวตนตามที่ตนมองเห็น ตัวตนตามความเป็นจริง และตัวตนในอุดมคติ
การจัดกิจกรรม 
- เเบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น กลุ่มละ 4 คน และกำหนดว่าใครจะเป็นลำดับที่ ๑-๔
- กระบวนกรให้โจทย์เเต่ละคนได้เล่าถึงตัวตน โดยคำถาม คือ คุณคือใคร ? บอกมาให้มากที่สุด (เช่น ฉันคือนักเรียน ฉันคือคนร้องเพลงเพราะ ฉันคือลูกที่ดีของพ่อเเม่ ฉันคือติ่งเกาหลี ฉันคือนักเขียน) อธิบายเริ่มจากคนที่๑-๔ให้ครบ ให้เวลา คนละ ๑ นาที 
- กระบวนกรให้โจทย์ต่อมา โดยใช้คำถาม คือ คิดว่าตัวเองเป็นคนนิสัยอย่างไร ? (ตัวตนที่ตนมองเห็น) อธิบายเริ่มจากคนที่๑-๔ให้ครบ ให้เวลา คนละ ๑ นาที 
- กระบวนกรให้โจทย์ต่อมา โดยใช้คำถาม คือ คิดว่าเพื่อนเป็นคนนิสัยอย่างไร ? (ตัวตนตามความเป็นจริง) ให้เพื่อนในวงช่วยสะท้อน จากคนที่๑-๔ให้ครบ ให้เวลา คนละ ๑ นาที 
- กระบวนกรให้โจทย์ต่อมา โดยใช้คำถาม คือ คิดว่าตัวเองอยากเป็นคนนิสัยอย่างไร ? (ตัวตนในอุดมคติ) อธิบายเริ่มจากคนที่๑-๔ให้ครบ ให้เวลา คนละ ๑ นาที
การสรุปผล : กระบวนกรอธิบายสรุปผล ให้เห็นภาพของความหลากหลายทางตัวตน บทบาท หน้าที่ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ เป็นต้น

๒.๒) กิจกรรมผู้นำ ๔ ทิศ "รู้จักนิสัย"
จุดประสงค์ : เพื่อให้เด็กเข้าใจนิสัยของตนเองทั้งด้านบวกเเละลบ
แนวคิดและทฤษฎี : เปรียบเทียบนิสัยคนเหมือนสัตว์ ๔ ทิศ ได้แก่ กระทิง หนู หมี เเละอินทรี จากแนวคิดของชาวอินเดียนเเดงยุคโบราณ แนวคิดจริต ๖ ในพุทธศาสนา และแนวคิดธาตุกับนิสัย และแนวคิดปัญญา ๓ ฐาน ของรูดอฟ สไตน์เนอร์
การจัดกิจกรรม สามารถศึกษาการจัดกิจกรรมได้ที่ ลิงค์นี้ (ผู้นำ ๔ ทิศ) ของธีระวุฒิ  ศรีมังคละ
- ใช้คำถามนำหรือกิจกรรมเชคอิน หรือกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้ากิจกรรม
- ใช้กระบวนการเดินเเล้วอ่าน อย่างใคร่ครวญ ทำความเข้าใจในตัวสัตว์เเละสะท้อนเข้าในความคิดเเละใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง ว่าสัตว์ตัวไหนที่เป็นตัวเรามากที่สุด
- หลังจากการเดินมองเเล้ว ให้ตัดสินใจเลือกสัตว์ตัวที่เราเป็นมากที่สุด เเละสัตว์ที่รองลงมาที่เหมือนตนเอง
- เขียนกราฟตัวตน โดยในเเต่ละเส้นให้ขีด ๑๐ จุด หมายถึง สัตว์เเต่ละตัวมีคะเเนน ๑๐ คะเเนน จากนั้นให้ลองให้คะเเนนสัตว์เเต่ละตัวภายใต้คะเเนน เต็ม ๑๐ เเละเขียนจุดลากกราฟหากัน(จะเห็นตัวตนชัดเจนยิ่งขึ้น) จากนั้นหาเหตุผลโดยตนเองด้วยการใคร่ครวญจากภายใน ในความเหมือน ความต่าง เเละวิธีการเสริมจุดด้อยของตนเองให้ดีขึ้น
- จับกลุ่มร่วมสะท้อนเรื่องสัตว์ที่ตนเองเป็นสู่ตนเองที่เป็นอยู่ ว่ามีความเหมือน หรือต่างกันอย่างไร ตนเองมีข้อเด่น เเละจุดด้อยอย่างไร เมื่ออยู่คนเดียว เเละอยู่ในสังคม
การสรุปผล : กระบวนกรอธิบายสรุปผลนิสัยบวกลบของเเต่ละคน เเละการพัฒนานิสัยของตนเอง ถึงอาชีพที่เหมาะกับผู้นำแต่ละทิศ

๒.๓) กิจกรรม ๓ เหลี่ยมความฝัน "รู้จักต้นทุนภายในเเละภายนอกตัวเอง"
จุดประสงค์ : 
เพื่อให้เด็กเข้าใจต้นทุนทางศักยภาพของตนเองทั้งภายในเเละภายนอก เพื่อการตัดสินใจเลือกอนาคต
แนวคิดเเละทฤษฎี : จากแนวคิดการเขียนเพื่อสะท้อนตัวเองจากภายใน บนฐานความเชื่อเรื่องจิตตปัญญา
การจัดกิจกรรม สามารถศึกษาการจัดกิจกรรมได้ที่ ลิงค์นี้ (๓เหลี่ยมความฝัน) ของโครงการเด็กดีมีที่เรียน มมส
การเขียนสะท้อนตัวเองจากภายใน
- แจกกระดาษเอ ๔ ให้คนละ ๑ แผ่น วาดสามเหลี่ยมตรงกลาง และกรอบสี่เหลี่ยม ๓ กรอบรอบนอก (ตามตัวอย่างที่สาธิต)
- ช่องสิ่งที่ชอบและถนัด(เพื่อตนเอง) ในช่องนี้ให้เขียนว่าเรามีความชอบเเละความถนัดเรื่องอะไรบ้าง เช่น ชอบถ่ายภาพ ชอบร้องเพลง ชอบการเขียน ชอบการสอนผู้อื่น  ถนัดวิชาสังคมศึกษา ถนัดการพูดในที่สาธารณะ ถนัดการบริหารจัดการ เป็นต้น 
- ช่องความสุข (ตนเอง+ผู้อื่น) ในช่องนี้ให้เขียนว่า ในชีวิตนี้ อยากทำอะไรบ้างให้ตนเองมีความสุขเเละผู้อื่นมีความสุขด้วย เช่น อยากสร้างบ้านให้พ่อกับเเม่ อยากสอบได้ให้พ่อเเม่ภูมิใจ อยากมีเงินใช้เยอะๆ อยากทำคายอาสา อยากแบ่งปันเสื้อผ้าให้ผู้อื่น เป็นต้น
- ช่องความฝัน (ตนเอง+ผู้อื่น+สังคม) ในช่องนี้ให้เขียนว่า ในชีวิตนี้ เรามีความฝันอะไรบ้าง ยกมา ๓ อันดับ เเล้วเลือกความฝันที่เราอยากเป็นมากที่สุดเเค่ ๑ ฝัน
- ขีดลากเชื่อมโยง จากสิ่งที่ชอบ-ถนัด สู่สิ่งที่มีความสุข จนถึงความฝันสูงสุด เพื่อดูต้นทุนของตนเองด้านความฝันว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด

นอกสามเหลี่ยม
- กรอบครอบครัว ในช่องนี้ให้เขียนว่า พ่อเเม่คาดหวังอยากให้เราเป็นอะไร ให้ตั้งคำถามต่อว่า จริงๆเเล้วมันตรงตามความฝันที่เเท้จริงของเราหรือไม่ 
- กรอบค่านิยม ในช่องนี้ให้เขียนว่า ในยุคนี้ เขากำลังบูมสาขาวิชาอะไร หรือเขาฮิตคณะ/มหาวิทยาลัยอะไร หากความฝันเราตรงกับค่านิยมบูมดังกล่าว ให้ตั้งคำถามต่อว่า จริงๆเเล้วมันตรงตามความฝันที่เเท้จริงของเราหรือไม่ 
-กรอบเหตุผลอื่นๆ ในช่องนี้ให้เขียนว่า เรามีความฝันอื่นๆในเหตุผลอื่นๆหรือไม่ เช่น เพื่อนบอกว่าเราเหมือนครูเลย "เธอต้องเรียนครูนะ" หรือ เรียนหมอยากเกินไปครูจึงเเนะนำว่าเรียนพยาบาลก็น่าสนใจนะ เป็นต้น
การสรุปผล : สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจับคู่/กลุ่มเล่าให้กันฟัง หรือ ให้สุ่มออกมานำเสนอของตนเองให้เพื่อนฟัง เป็นต้น

ขั้นที่ ๓ การวางแผนชีวิต (Planning for life) ใช้รูปแบบของการเขียนเพื่อวางแผนอนาคตของตนเอง เรียงเป็นขั้น โดยใช้กิจกรรม The crossroads model และ กิจกรรมการเขียน Timeline อนาคต ซึ่งจุดหมายสูงสุดในโมเดลนี้ คือ สามารถเขียนแผนชีวิตของตนเองได้ โดยกิจกรรมมีรายละเอียด ดังนี้ 

๓.๑) กิจกรรม The crossroads model  "รู้จักเป้าหมายชีวิต"
จุดประสงค์ : เพื่อให้ตัดสินใจเลือกเป้าหมายชีวิตของตนเอง
แนวคิดเเละทฤษฎี : เครื่องมือการคิดเเก้ปัญหา The crossroads model(การตัดสินใจบนทางเเยก) ของ Mikeal Krogerus and Roman Tschappeler จากหนังสือ ๕๐ วิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจอย่างฉลาด
การจัดกิจกรรม 
- แจกกระดาษ เอ ๔ ให้คนละ ๑ แผ่น วาดภาพตัวเองลงไปตรงกลาง (ตามตัวอย่างที่สาธิต)
- เขียนตัดสินใจเลือกความฝัน ตามทางเลือกต่อไปนี้ ๑)ความฝันสูงสุดที่คุณอยากเป็น  ๒)ความฝันที่เหมาะสมกับศักยภาพ  ๓)ความฝันที่คนอื่นต้องการให้เป็น เเล้วให้เลือก ๑ ความฝันเท่านั้น (วาดไว้ส่วนบนกระดาษ)
- เขียนวิเคราะห์ความเสี่ยง จากการเลือกความฝันดังกล่าว ตามโจทย์ต่อไปนี้ ๑)อะไรที่ทำให้คุณกลัว  ๒)อะไรที่สำคัญจริงๆสำหรับคุณ ๓)ใครบ้างที่เป็นคนสำคัญของคุณ  ๔)อะไรที่ขวางคุณอยู่  (วาดไว้ส่วนล่างกระดาษ)
การสรุปผล : กระบวนกรอธิบายยกตัวอย่างการเลือกเส้นทางความฝันของตัวเองกับการจำเป็นที่จะต้องเลือก สู่กิจกรรมการวางแผนชีวิต

๓.๒) กิจกรรมเขียน Timeline ชีวิตของตนเอง  "รู้จักวางแผนชีวิต"
จุดประสงค์ : เพื่อเด็กได้วางแผนชีวิตของตนเอง
แนวคิดเเละทฤษฎี : แนวคิดจากทฤษฎีกระปุกทราย
การจัดกิจกรรม สามารถดูเครื่องมือได้ ลิงค์นี้ (แผนชีวิต) ของธีระวุฒิ  ศรีมังคละ
- การเปิดวิดีทัศน์ เรื่อง ทฤษฎีกระปุกทราย ให้เด็กๆได้ชม สามารถดูได้จาก ลิงค์นี้ (ทฤษฎีกระปุกทราย)
- แจกกระดาษ Timeline ให้คนละ ๑ แผ่น 
- เขียนอธิบาย ๗ โจทย์ชุดคำถาม ตามเครื่องมือในข้างต้น ได้แก่ เป้าหมาย การเตรียมตัวสอบ การเรียน อาชีพ ความฝันสูงสุด บั้นปลายชีวิต และก่อนจากไป ให้เขียนไปทีละข้อ พร้อมจุดอายุที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้นๆที่ต้องการให้เกิดขึ้น
การสรุปผล : จับกลุ่ม ๓ คน เล่าเรื่องแผนชีวิตของตนเอง กระบวนกรอธิบายยกตัวอย่างแผนชีวิต สู่ข้อคิดของการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย 

การเลือกความฝันสู่เส้นทางการประกอบอาชีพ จึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของเด็กมากที่สุด โดยในการเลือกอาชีพนั้น จะต้องเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับบุคลลิกภาพของตน สถานะทางเศรษฐกิจ ครอบครัว สติปัญญา ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ เป็นต้น ซึ่งต้องดูหลายๆองค์ประกอบ ESP โมเดล จึงคาดหวังให้เด็กเกิดเป้าหมายชีวิตสู่การตัดสินใจเลือกอาชีพ ในบริบทดังกล่าว ซึ่งตัดสินใจเเล้วต้องทำตามฝันถึงจะสำเร็จ


 การอ้างอิง

Mikeal Krogerus and Roman Tschappeler. (๒๕๕๖). ๕๐ วิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจอย่างฉลาด. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเอ็กเปอร์เน็ตจำกัด.
ลักขณา สริวัฒน์. (๒๕๕๑). การแนะแนวเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
ลักขณา สริวัฒน์. (๒๕๕๗). จิตวิทยาสำหรับครู. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

หมายเลขบันทึก: 644627เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2018 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2018 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท