ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ


ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ

บทนำ

           พุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตมีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันอย่างเหมาะสม  ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นความเชื่อที่ครอบครัวของเราใช้ดำรงตนเสมอมาประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องจริงของการปฏิบัติของลูกที่มีต่อพ่อตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบด้วย เรื่องเล่าเร้าพลังของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ

1.เรื่องเล่าเร้าพลังของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

พ่อเป็นข้าราชการบำนาญ ที่มีร่างกายแข็งแรง เช้าขึ้นมาจะทำกับข้าวอร่อยๆให้ลูกๆหลานๆรับประทาน ก่อนที่เราจะไปทำงานหรือไปโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนในบ้านได้มีความสุขจากการรับประทานอาหารอร่อยๆร่วมกันก่อนไปปฏิบัติภารกิจของตนเอง หลังจากทุกคนออกจากบ้านไปแล้ว พ่อกับแม่ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญเช่นเดียวกันจะขับรถมอเตอร์ไซด์เข้าสวนต่างๆเพื่อเก็บเกี่ยวผัก ผลไม้ จากนั้นจะกลับเข้าบ้านเพื่อพักผ่อน และแต่งตัวไปรับหลานๆที่โรงเรียน ซึ่งพ่อจะได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆคนรู้จักที่มารับส่งหลานเช่นเดียวกัน ช่วงเย็นก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน ดูโทรทัศน์ และเข้านอนซึ่งพ่อเป็นคนที่หลับง่าย

เมื่อพ่อเข้าสู่วัย 77 ปี พ่อกับแม่โหมหนักในการปลูกยางพาราที่สวนยางบนภูเขาใกล้หมู่บ้าน มีแต่คนถามว่าพ่อกับแม่จะทำไปทำไมในเมื่อมีเงินบำนาญ ลูกๆมีงานมีการทำหมดแล้ว ทั้งสองท่านก็ตอบว่าทำไว้ให้ลูกหลาน พ่อดูผอม ดำ เนื่องจากต้องกรำแดดทั้งวันในสวนยาง และดูเหนื่อยง่าย ตกเย็นจะมีเสียงไอเหมือนมีเสมหะในคอตลอด ซึ่งพ่อบอกว่าปกติเพราะเมื่อก่อนเคยสูบบุหรี่ตอนเป็นวัยรุ่น วันหนึ่งแม่บอกว่า พ่ออาเจียนเป็นเลือดอยู่ข้างบ้านกระจายทั่วพื้นไปหมด เราเริ่มสังเกตชีวิตพ่อที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่บัดนั้น และอาเจียนเป็นเลือดอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา แม่พูดว่าให้พยายามทำใจไว้บ้างอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดเป็นธรรมดาตามที่พระพุทธเข้าสอนไว้

เราพาพ่อไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอให้ทำการอัลตร้าซาวด์ พบว่า พ่อมีอาการตับแข็ง เรางงกับผลการตรวจมากเพราะพ่อไม่ใช้คนดื่มเหล้า ซึ่งหมอพยายามเค้นเอาความจริงเรื่องการดื่มของพ่อมาทุกครั้งที่มาตรวจ และให้คำแนะนำว่า ลุงต้องหยุดดื่มนะ ทั้งที่เราได้บอกหมอทุกครั้งที่มาตรวจว่าพ่อไม่ดื่ม แล้วพ่อได้ยาบำรุงตับพ่อกลับมารับประทาน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้าพบหมอเราไปอยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อสื่อสารให้หมอและพ่อเข้าใจกันเนื่องจากประสาทหูของพ่อเริ่มเสื่อมบ้างแล้ว

เราสังเกตว่าพ่อสามารถที่รับรู้การเจ็บป่วยของตนเองได้หมด ดังนั้นทุกคำพูดที่หมอพูดพ่อจะรับรู้ได้หมด โดยไม่มีการปิดบัง แม้กระทั่งหากผลตรวจเปลี่ยนเป็นมะเร็งพ่อจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร พ่อได้ตรวจ MRI ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งไม่พบความผิดปกติใดๆนอกเหนือจากโรคตับแข็งที่มีอยู่เดิม พ่อบอกว่าลำพังพ่อไม่อยากให้ลูกหยุดงานทั้งสองคนเพื่อพาพ่อตรวจถึงหาดใหญ่ แต่เกรงใจลูกๆที่ตั้งใจ หลังพบหมอซึ่งแนะนำวิธีแก้โรคของพ่อมีวิธีการรักษาโดยนำตับจากลูกมาผ่าตัดเปลี่ยนให้พ่อได้ พ่อบอกว่าไม่ต้องผ่าตัด ให้ลูกๆมีร่างกายแข็งแรงเพื่อดูแลครอบครัวต่อไป

หลังจากนั้นพ่อก็ยังเข้าสวนทำงานตามปกติ อาการเหนื่อยมีมากขึ้นจนบางครั้งเมื่ออยู่สวนพ่อจะไปนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ การที่แม่กอดเอวพ่อนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปสวนทุกวันแม่สังเกตวาท้องพ่อแข็งตึง จนเมื่อสวมเสื้อธรรมดาจะเห็นได้อย่างชัดเจน พ่อปฏิเสธการไปหาหมอ พ่อผ่ายผอมลงอีกมาก และรู้สึกอึดอัดบริเวณช่องท้องมากขึ้น เราจึงขอร้องพ่อไปหาหมอ หมอจัดการเจาะน้ำออกจากท้องพ่อ และให้พักโรงพยาบาลหนึ่งคืน

ประมาณ 02.30 น.วันหนึ่ง พ่อมีอาการไม่รู้สึกตัวชักเกร็งในห้องนอน แม่วิ่งมาเรียกเราที่ห้องเราตื่นมาอย่างงุนงงและงัวเงียเพราะเพิ่งหลับไป วิ่งเข้าไปที่ห้องนอนช่วยกันพลิกตะแคงตัวพ่อเพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งป้องกันการอุดตันแล้วให้แม่จับไว้ จากนั้นจึงโทร.บอกลุง ซึ่งเดินทางมาช่วยเหลือทั้งครอบครัว ช่วยกันหามพ่อขึ้นรถไปโรงพยาบาล พ่อมีเหงื่ออกมาเยอะมาก ซึ่งขณะนั่งรถระหว่างทางค่อนข้างน่ากลัวมีรถพยายามที่จะตามประกบแต่ดีที่ญาติเป็นทหารรู้ทันจึงสามารถหลบหลีกได้ ถึงโรงพยาบาลพ่อเริ่มรู้สึกตัวสามารถเดินขึ้นรถนั่งไปตรวจได้ และนอนโรงพยาบาลหนึ่งคืนจึงขอกลับบ้านโดยไม่สามารถจำได้ว่ามาอยู่โรงพยาบาลได้อย่างไร

หลังจากนั้นพ่อมีอาการเป็นระยะ อีกสามสี่ครั้ง เราก็ช่วยกันปฐมพยาบาลโดยตะแคงตัวจนพ่อผ่อนคลายสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติโดยไม่ไปโรงพยาบาล ต้องชื่นชมแม่ที่มีสติช่วยเหลือพ่อทุกครั้งแม้ยามที่เราไม่ได้อยู่ด้วย เราจึงเริ่มปรึกษาน้องเรื่องการดูแล โดยน้องยินดีย้ายกลับมาทำงานที่บ้านเพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยเหลือดูแลพ่อ อาการของพ่อที่เพิ่มเติมมาคือจะท้องเสียง่าย อาหารหลายอย่างที่พ่อเคยทาน เมื่อเจ็บป่วยนี้นำไปสู่อาการถ่ายเหลวและจะเป็นอาการนำสำคัญที่เราสังเกตว่าพ่อจะชักเกร็งจากการสูญเสียน้ำและอิเล็คโตรไลต์แม่จึงชงน้ำเกลือแร่ให้จิบ แต่พ่อไม่ชอบจิบจึงต้องมีการปฐมพยาบาลเมื่อชักเกร็ง บางครั้งมานอนโรงพยาบาลได้รับการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด รู้สึกดีก็ขอกลับบ้านทันที

จนครั้งหนึ่งพ่อมีอาการมาก ปฐมพยาบาลกันที่บ้านแล้วไม่หาย จึงขอรถฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาล หมอใส่ Tube พ่อมีอาการชักเกร็งไม่รู้สึกตัว บางครั้งทุรนทุรายเป็นช่วงที่เรารู้สึกแย่มาก เพราะพ่อเคยสั่งเสียว่าหากไม่รู้สึกตัวไม่ต้องใส่สายใดๆให้พ่อ เราหันมาสบตาแม่ แม่สั่นหน้า เราจึงตัดสินใจไม่สมัครอยู่ขอให้ถอด Tube และขอกลับบ้านหลายคนถามว่าเราจะอยู่อย่างไรเพราะพ่อมีแรงดิ้นทุรนทุรายมาก เมื่อกลับมาถึงบ้านแม่เคลียสถานที่ให้พ่อนอนบนที่นอนที่ปูบนพื้น ซึ่งพ่อที่ไม่รู้สึกตัวจะผุดลุกนั่งและนอนสลับกันทุกนาที ซึ่งเราจะต้องประคองเพราะกลัวพ่อประสบอุบัติเหตุหัวพาดพื้น เราเปลี่ยนกันดูแลกับน้องจนรู้สึกระบมแขนเมื่อยล้าไปหมด เช้าขึ้นมาลุงซึ่งเป็นหมอบ้านได้ทำพิธีปัดเป่าให้พ่อ เมื่อพ่อลืมตาขึ้นมา มีสติรู้ตัวกลับสู่ปกติ โดยไม่สามารถจดจำเรื่องราวที่อยู่ในช่วงวิกฤติของชีวิตได้

พ่อใช้ชีวิตอย่างปกติมีท้องเสียชักเกร็งบ้าง แต่ยังสามารถขับรถกระบะรถยนต์ที่พ่อได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงพาแม่ไปตลาด ไปงานต่างๆที่มีระยะทางไม่ไกลมากนัก พ่อสามารถไปร่วมงานแต่งงานของลูกหลานได้อย่างเป็นสุข เราจะขับรถพาพ่อไปยังศาสนสถานต่างๆเพื่อให้พ่อผ่อนคลาย ทุกวันแม่จะเปิดเสียงสวดมนต์ที่สามารถได้ยินเข้าไปในห้องนอน โดยเป็นความต้องการของแม่ที่จะสวดมนต์ทั้งที่ต้องการให้ส่งไปถึงพ่อในทางอ้อม ซึ่งอาจทำให้พ่อได้รับความเยือกเย็นจากเสียงสวดมนต์ในพระพุทธศาสนานี้ไปด้วย

บ้านของเรามีความเชื่อเรื่องบุญกรรมตามหลักพุทธศาสนา และพยายามสอนลูกหลานให้ทำความดีไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้พยายามสร้างมิตรมากกว่าเห็นแก่ตัว และเลือกปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ เมื่อวันหนึ่งที่เราสังเกตเห็นว่าพ่อไม่ออกจากห้องนอน ไม่มีความอยากอาหาร ปัสสาวะน้อยลงและมีอุจจาระสีดำเหนียวออกมาส่งสัญญาณของวาระสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง แม่จะบอกลูกๆให้ทำใจ เราได้ดูแลป้อนอาหารให้พ่อเป็นมื้อแรก ล้างอุจจาระปัสสาวะเป็นครั้งแรกในวันนั้น เพราะที่ผ่านมาพ่อสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือให้แม่ช่วยโดยไม่ให้ลูกทำบอกว่ายังไม่ถึงเวลา สองวันที่มีอาการนี้ พ่อมีอาการเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด ตอนดึกคืนนั้น พ่อถามแม่ถึงลูกๆซึ่งนอนหลับกันอยู่ข้างเตียง แม่บอกว่าลูกๆนอนหลับหมอแล้ว ให้พ่อหลับไปได้เลย โดยมีแม่นอนข้างๆ ประมาณ 03.30 น.แม่ปลุกเราบอกว่าพ่อไปแล้ว ขณะที่นอนเคียงข้างแม่ในบ้านของเรา โดยมือของพ่อยังแนบอยู่ที่แก้มแม่ที่แม่สัมผัสได้ว่าเย็น แม่เป็นคนแรกที่รับรู้ถึงการจากไปอย่างสงบของพ่อ เราจึงช่วยกันเช็ดตัวพ่อ เราและน้องช่วยกันหามพ่อออกจากห้องนอนมาเตรียมอาบน้ำศพที่ห้องโถง จากนั้นจึงแจ้งข่าวกับญาติๆ

 

2.ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยใจ

ผู้ที่มีหน้าที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะต้องดูแลเอาใจใส่ อดทน ซึ่งจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถสรุปการปฏิบัติได้ดังนี้

  • ปรับตัว ปรับใจ

ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆเป็นส่วนใหญ่ภายหลังจากที่อวัยวะต่างๆนั้นได้ทำหน้าที่มาอย่างเต็มที่ในวัยหนุ่มสาว การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายนี้ไม่ได้เริ่มเป็นขั้นตอนว่าอวัยวะใดจะเริ่มก่อนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละคน ความเสื่อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ บางท่านอาจเสื่อมที่ หู ตา หัวใจ ตับ เป็นต้น

 การทำความเข้าใจภาระหน้าที่ของตัวเอง บูรณาการภาระหน้าที่ในบทบาทที่รับผิดชอบให้เกิดความสมดุล ทั้งหน้าที่การงาน หน้าที่แม่ หน้าที่ลูก เพื่อให้สามารถแบ่งเวลาและจัดการกับกิจกรรมโดยไม่ตึงเครียดกับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดความอ่อนล้า หรือสิ้นหวังจากผลการรักษาจะต้องทำใจให้ฮึดสู้เพื่อผู้ป่วยจะได้รู้สึกว่าตนไม่เป็นภาระของผู้ดูแล

การปรับกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องดูแล เป็นการตัดสินใจให้คุณค่ากับสิ่งที่เลือกกระทำ โดยเลือกกระทำในสิ่งที่จำเป็น กระชับเวลาในการทำภารกิจต่างๆ

  • ให้ความรัก

การเอาใจใส่ผู้สูงป่วยระยะสุดท้ายด้วยความรัก รักเคารพในบทบาทของลูก หมั่นทบทวนสิ่งที่บุพการีได้ปฏิบัติกับเราเมื่อเรายังเป็นเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง จนถึงความรักความห่วงใยที่ท่านมอบให้ในปัจจุบันที่เราต้องเป็นผู้ดูแลท่านเป็นความรักที่เราสามารถมอบให้ท่านขณะที่ท่านยังรับรู้ได้

มีความอดทนอดกลั้น หลายๆครั้งที่เราอาจจะเหน็ดเหนื่อยจากภารกิจการงานและภารกิจอื่นๆ หรือบางครั้งท่านอาจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมจากที่เคยปฏิบัติ บางคนอาจพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือการเปลี่ยนแปลงจากภาวะร่างกายของท่าน ขอให้นึกว่า ท่านเองไม่ต้องการให้ลูกหลานลำบากแต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ท่านไม่สามารถควบคุมได้นั้น เราจึงต้องมีความอดทนอดกลั้น ทั้งทางวาจา ทางสายตา รวมทั้งการปฏิบัติทุกกิจกรรมต่อท่าน

การใช้ความเข้าใจเป็นสิ่งนำทาง หากเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยระยะสุดท้าย คิดส่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นกับคนทุกคนแม้ตัวเราเอง ความขัดแย้งในใจที่ต้องดูแลจะลดลง แต่เมื่อไหร่ที่เกิดความขัดแย้งขึ้นก็ขอให้ตั้งสติอย่างสงบ  พร้อมที่จะยอมรับและปรับความเข้าใจที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง

การให้เกียรติ ด้วยการรับฟังสิ่งที่ท่านพูดด้วยความตั้งใจ แม้เรื่องราวต่างๆนั้นอาจผ่านมาหลายครั้ง ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆที่ท่านมอบหมายให้ทำเป็นอันดับต้นๆ แม้กระทั่งเรื่องของการบริหารทรัพย์สินต่างๆให้ทำตามท่านโดยปราศจากเงื่อนไข เพื่อให้ท่านสบายใจและไม่วิตกกังวล

  • ให้ความสำคัญ

การให้ความสำคัญกับท่านอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำสิ่งที่ท่านต้องการโดยถือผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่าใช้ตัวเราเป็นคนตัดสินใจ  ทั้งเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น พ่อเคยขับรถยนต์ เราอาจประมาณเรื่องความปลอดภัยด้วยการนั่งไปด้วยกัน  เรื่องการรับประทานอาหารอาจต้องปรับอาหารต่างๆที่เหมาะกับโรค แต่ไม่ได้งดอาหารที่ท่านเคยชอบรับประทาน เพื่อให้ท่านมีอาหารสร้างพลังงานในร่างกาย หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งสติยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆโดยไม่ตกใจโวยวาย โดยอาจมอบหน้าที่บางอย่างในบ้าน เช่น รดน้ำต้นไม้ การพูดคุยอบรมลูกหลาน และอย่าพูด หรือทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระเด็ดขาด

  • สร้างความสุข

การหมั่นสร้างบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ขัน รวมกลุ่มพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นให้ท่านได้รับรู้เรื่องราวภายนอกแม้บางครั้งท่านไม่สามารถออกไปได้ การชักชวนหลานๆมาช่วยกันดูแล เช่น การบีบนวด การชงเครื่องดื่ม การซื้ออาหารที่ท่านชอบมาให้ท่านรับประทาน

การหากิจกรรมสนุกๆ มาทำร่วมกัน เพื่อลดความเครียด และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การให้ท่านถ่ายทอดกลเม็ดพิเศษต่างๆที่ท่านถนัด เช่น การเล่นหมากขุมอย่างไรให้ชนะ

  • ผ่อนคลาย

เมื่อไหร่ที่ผู้ดูแลรู้สึกเครียด เบื่อ หรืออึดอัด ให้ลองหาผู้อื่นมาสับเปลี่ยนกันดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายบ้าง หรือหากิจกรรมที่ชอบมาทำเพื่อช่วยผ่อนคลาย

บทสรุป

          การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเริ่มจากจิตใจปรับทัศนคติของเราเอง เราสามารถที่จะปฏิบัติทุกกิจกรรมได้ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทำในสิ่งที่ท่านต้องการ เราจะรู้สึกได้ทำครบถ้วนทุกอย่าง ไม่รู้สึกติดค้างยามเมื่อท่านละจากโลกนี้ไป และเป็นแบบอย่างสืบทอดการกระทำสู่รุ่นลูกหลานสืบไป

หมายเลขบันทึก: 644589เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2018 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2018 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

My condolences.

Thank you for the insights on living with 'end-of-life'.

ชีวิต กับความตาย เป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อกันและกัน จริงๆ เลยคะ อาจารย์  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท