ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่โรงเรียนร่มเกล้า บุรีรัมย์


มีการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่บูรณาการเข้ากับมาตรฐานในระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและนำข้อมูลมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

     เมื่อปีก่อนพวกเราซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อ รับรางวัลระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง มีโอกาสได้ไปเยี่ยมโรงเรียนร่มเกล้า บุรีรัมย์ ซึ่ง สพม.เขต 32 คัดเลือกให้เป็นตัวแทนรับการประเมินระดับประเทศ  เราต้องเดินทางลัดเลาะไปตามป่าเขาจากตัวเมืองบุรีรัมย์ถึงโรงเรียนนี้ระยะทางร่วม 100 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในอำเภอโนนดินแดง ใกล้เขตชายแดนไทย-กัมพูชา ทราบว่าเดิมเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของผู้ที่มีอุดมการณ์แตกต่างทางการเมือง และต้องสูญเสียชีวิตผู้คนในปฏิบัติการสู้รบกันหลายครั้งที่โนนดินแดงแห่งนี้เป็นจำนวนไม่น้อย         

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนร่มเกล้า บุรีรัมย์ เป็น 1 ใน 13 แห่งของโรงเรียนร่มเกล้าทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกหลานราษฎรในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยม ชื่อเดิมของโรงเรียนคือโนนดินแดงพิทยาคม ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนร่มเกล้า บุรีรัมย์  จากความเป็นมาดังกล่าวทุกคนจึงมีความสำนึกเสมอว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็น “โรงเรียนของพระราชา”      
         ปัจจุบันโรงเรียนร่มเกล้า บุรีรัมย์ เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6  มีนักเรียน 921 คน ครู 58 คน  เช้าวันที่พวกเราไปถึงซึ่งตรงกับวันพระ และอยู่ในเวลาที่นักเรียนเคารพธงชาติ ภาพที่ปรากฏต่อหน้าคือ ทั้งนักเรียน และครูทุกคน แต่งชุดขาว นั่งสมาธิอยู่กลางสนามหน้าเสาธงอย่างสงบนิ่ง เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง  เป็นเวลาราว 10 นาที ช่างเป็นภาพที่งดงามและน่าปิติยิ่งนัก  หลังจากนั้นก็มีพิธีกรรมและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งนำโดยนักเรียน และทุกคนร่วมในกิจกรรมกันอย่างเป็นธรรมชาติ จนกระทั่งการเดินแถวเข้าสู่ชั้นเรียน      
          หลังจากนั้นเราก็ได้รับฟังการนำเสนอผลงานของโรงเรียนที่สั้นกระชับและเห็นภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอย่างเป็นระบบครบถ้วน  ซึ่งนำโดย ท่านผอ.อัครเดช  หลาบนอก คณะครู  นักเรียน ผู้ปกครองและภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆในพื้นที่  ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนโรงเรียน  จำได้ว่าวันนั้นมีผู้ปกครองและเครือข่ายในพื้นที่มาร่วมให้ข้อมูล ให้กำลังใจโรงเรียน และร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพวกเรา จนเต็มห้องประชุม อาทิ เขตพื้นที่มัธยมศึกษา เครือข่ายท้องที่  เครือข่ายท้องถิ่น  เครือข่ายผู้ปกครอง  เครือข่ายฝ่ายสงฆ์ เครือข่ายอุดมศึกษา  เครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่   เครือข่ายศิษย์เก่า  รวมทั้งผู้มีอุปการคุณด้านต่างๆ เป็นต้น        
          จากข้อมูลที่นำเสนอและจากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า โรงเรียนมีทุนเดิมที่ผ่านการพัฒนานับเนื่องมาโดยลำดับ คือเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน ตามโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน  โรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ    โรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธ และโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้บริหารโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ คิดอย่างมีกลยุทธ์ บริหารการเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นตามบริบท โดย “นำทำ” ทุ่มเท ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรค ยกย่องให้เกียรติผู้อื่นเสมอ  จนเป็นที่ยอมรับของครู ผู้ปกครอง ชุมชนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำว่า “โรงเรียนของพระราชา” เพื่อสร้างความตระหนัก สร้างแรงบันดาลใจและสร้างพลังผสานร่วมจากทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี  มีการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่บูรณาการเข้ากับมาตรฐานในระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและนำข้อมูลมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง            
         จากข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนพบว่า นักเรียนมีปัญหาหลายประการเช่น ปัญหาครอบครัว บิดา มารดาหย่าร้าง แยกกันอยู่  ปัญหาด้าน เศรษฐกิจ  บิดามารดาไปทำงานที่อื่นนักเรียนต้องอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องหรืออยู่กันตามลำพัง ซึ่งมีผลทำให้นักเรียนมีจิตใจว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น มีผลกระทบต่อการเรียน การมาโรงเรียนอย่างไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิในการเรียน บางคนขาดเรียน หนีเรียน ผลการเรียนตกต่ำ นักเรียนเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เช่น การใช้สารเสพติด การเที่ยวเตร่มั่วสุม เป็นต้น            
         โรงเรียนมีแบบบันทึกข้อมูลพื้นฐานทางตรงจากการสอบถามเมื่อแรกเข้า และเพิ่มข้อมูลจากการเยี่ยมบ้าน  บันทึกข้อมูลด้านบุคลิกภาพด้วยแบบประเมินด้านบุคลิกภาพ ด้านสติปัญญา และด้านความเสี่ยง ส่วนข้อมูลทางอ้อมได้จากบันทึกการสังเกตพฤติกรรม วิเคราะห์ผลงานและข้อมูลจากกลุ่มเครือข่าย  โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำเข้าสู่ระบบข้อมูลของโรงเรียนแล้วเชื่อมโยงสู่โปรแกรม care for all ของ สพม.เขต 32  จะมีการพัฒนาข้อมูลตลอดเวลาตามพฤติกรรมและระยะเวลา            
         การเยี่ยมบ้านนักเรียนถือเป็นภารกิจหลักที่ดำเนินการ ครูที่ปรึกษาจะไปเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ครูต้องมีข้อมูลพื้นฐานและมีข้อมูลที่พูดคุยกับผู้ปกครอง จะมีการบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วจัดเข้าแฟ้มระเบียนสะสม  บางข้อมูลที่เป็นความลับก็จะอยู่ที่ครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวแล้วแต่กรณี  และพร้อมนำมาใช้เมื่อจำเป็น           การคัดกรองจัดกลุ่มเป้าหมายในการดูแล ส่งเสริมพัฒนาจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1)กลุ่มสนใจ(กลุ่มมีความสามารถพิเศษ) 2)กลุ่มพอใจ(กลุ่มปกติ)  3)กลุ่มห่วงใย(กลุ่มเสี่ยง)  และ 4)กลุ่มใกล้ชิด(กลุ่มมีปัญหา)  โรงเรียนจะให้ความสนใจส่งเสริมพัฒนา ดูแลนักเรียนทุกกลุ่มอย่างเป็นระบบ โดยนำข้อมูลไปเป็นพื้นฐานในการวางแผนจัดกิจกรรม  โดยจัดกิจกรรมที่ระบุจุดประสงค์และเป้าหมายอย่างชัดเจน จุดประสงค์ในกิจกรรมใดก็ตามต้องสอดแทรกการพัฒนาทักษะชีวิตไปด้วย การประเมินผลการจัดกิจกรรมจะยึดจุดประสงค์ของแต่ละกิจกรรมและผลต่อกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ  แล้วผลการประเมินจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมอย่างต่อเนื่อง         
          การดูแลช่วยเหลือนักเรียนในบางกรณีที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทั้งหมด เช่น กิจกรรมที่ดำเนินการกับกลุ่มใกล้ชิด ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ผู้บริหารจะรับรู้และร่วมแก้ปัญหา  การแก้ปัญหาต้องรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์และเกิดผลในเชิงบวก  บางกรณีจำเป็นต้องอาศัยมืออาชีพมาช่วยแก้ปัญหา  เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหรือเฝ้าระวังในระดับหนึ่ง โรงเรียนได้จัดให้มีการฝึกอบรมทักษะการให้คำปรึกษาสำหรับครูที่ปรึกษาและนักเรียนกลุ่ม YC(Young Counsellor) ด้วย             
          กิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนจัดขึ้นนอกจากให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของนักเรียนแต่ละกลุ่มแล้ว ยังมุ่งสร้างให้นักเรียนมีวินัยในตนเอง  มีทักษะชีวิต  เพื่อเสริมสร้างนักเรียนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ เป็นพลังที่มีคุณภาพและไม่สร้างปัญหาต่อสังคมต่อไป  กิจกรรมสำคัญๆ เช่น

            - กิจกรรมวิถีพุทธ โดยคณะครูและนักเรียนพร้อมใจกันแต่งชุดขาวและปฏิบัติธรรมในวันพระ  ซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของโรงเรียน คือ “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปฏิบัติธรรม ในวันพระ” โดยเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียน

            - กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ระดับชั้นม.1 และม.4 เพื่อหล่อหลอมนักเรียนที่จบมาจากต่างสถาบันได้รู้จักปรับตัว ละลายพฤติกรรมเดิม  ยอมรับกฎระเบียบของโรงเรียนโดยมีการสอดแทรกความรู้และข้อมูลของสถานศึกษา  ให้นักเรียนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์         
            - กิจกรรมอบรมแกนนำเพื่อนที่ปรึกษา (YC)  คณะกรรมการนักเรียนและแกนนำห้องเรียนคุณภาพ  เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะทำงานระหว่างประชาธิปไตยในสถานศึกษา และศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นตามที่โรงเรียนกำหนด  ให้พี่ดูแลน้อง โดยใช้คณะกรรมการห้องเรียนสีขาวเป็นเครือข่ายของเพื่อนที่ปรึกษา โดยการควบคุมดูแลของคณะกรรมการนักเรียน         
            - กิจกรรมปรับพฤติกรรมนักเรียนในสถานศึกษา   โดยดำเนินการภาคเรียนละ 2 ครั้ง ที่กำกับดูแลพฤติกรรมนักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน  ซึ่งนักเรียนได้รับทราบข้อตกลงนี้แล้ว  และพร้อมที่จะเข้าร่วมปรับพฤติกรรมด้วยความเต็มใจ         
            - กิจกรรมเสริมทักษะชีวิต คิดวิเคราะห์ แยกแยะ เป็นกิจกรรมที่มุ่งแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน   ในกลุ่มห่วงใย และใกล้ชิดเพื่อพัฒนาตนเองให้รู้จักคิดเมื่อพบกับปัญหาว่าปัญหาเกิดจากอะไร รู้จักวิเคราะห์ว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร และฝึกให้นักเรียนรู้จักแยกแยะ ฝึกทักษะชีวิตในการคิดแก้ปัญหาและการเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมที่เสี่ยงทั้งเพื่อน ทั้งครอบครัว  จะเป็นค่ายที่สามารถสอนให้นักเรียนเผชิญปัญหาจริงและสามารถคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองจนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข          
            โครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่งโครงการหนึ่งคือ “โครงการ 1 ทุน 1 อาชีพ” เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในเขตชนบทห่างไกล ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และครอบครัวนักเรียนเป็นจำนวนมากมีฐานะยากจน โรงเรียนได้เปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือจากการให้ทุนการศึกษาที่เป็นการให้เปล่าแบบสังคมสงเคราะห์มาเป็นการให้ทุนเพื่อสร้างอาชีพซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ในลักษณะธุรกิจที่พอเพียง  นักเรียนสามารถสร้างเสริมความรู้และประสบการณ์ด้านอาชีพด้วยการปฏิบัติจริงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาหาความรู้ การวางแผน การคิดต้นทุน กำไร และการต่อยอดความรู้  ซึ่งได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกและผู้ปกครองนักเรียนร่วมดูแลและร่วมสนับสนุนโครงการด้วย ตัวอย่างกลุ่มอาชีพที่ประสบผลสำเร็จซึ่งมีทั้งลักษณะอาชีพเดี่ยวและอาชีพหลายอย่างร่วมกัน  เช่น กลุ่มผักปลอดสารพิษและเลี้ยงไก่ไข่  กลุ่มเลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักและทำปลาส้ม  กลุ่มเลี้ยงปลาดุก  กลุ่มปลูกดอกดาวเรือง  กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่  กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า และเลี้ยงไก่ไข่  เป็นต้น         
            ต่อมากลุ่มนักเรียนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ได้ขยายผลและส่งต่อให้กับกลุ่มนักเรียนที่สนใจ และพัฒนาเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มกันทำงานและหารายได้ระหว่างเรียนในรูปแบบ Mini Companies หรือบริษัทจำลอง  และครูที่ปรึกษาได้จัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง เรียกหลักสูตรนี้ว่า บริษัทจำลอง (Mini Companies) บริษัทมีโครงสร้างเริ่มจากมีผู้ถือหุ้น(โรงเรียนร่วมหุ้นด้วย)  มีคณะกรรมการในรูปบริษัท  มีประธานบริษัท  กรรมการผู้จัดการ  กรรการบริษัท  ผู้จัดการฝ่ายการเงิน  ฝ่ายผลิต และฝ่ายการตลาด  เป็นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ ฝึกทักษะการทำงาน ฝึกกระบวนการบริหารจัดการ  การประชุมแสดงความคิดเห็น  การวิจัยตลาด  การลงทุน  การคิดกำไรขาดทุน  การเก็บสะสม  การรู้จักทุนหมุนเวียน  เกิดทักษะชีวิตในเรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม รักการทำงาน รู้จักคุณค่าของเงิน เข้าใจและมีเจตคติที่ดีต่อความพอเพียง            บริษัทที่เริ่มดำเนินการแล้ว  เช่น บริษัท RK Organizer (รับจัดงานแต่งงาน งานบวช งานศพ อย่างครบวงจร)  บริษัทโปงลาง “ใต้ร่มบารมี”(รับงานแสดงโดยวงโปงลางครบชุด)  บริษัทพอเพียงเลี้ยงชีพได้(การทำขนม  งานฝีมือส่งสหกรณ์โรงเรียนและตลาดนัด  รวมทั้งเป็นไกด์นำเที่ยว รับสอนพิเศษ)  บริษัทสตูดิโอครูเล็ก(รับถ่ายทำตัดต่อVDO จัดทำสื่อการเรียนการสอน สื่อการนำเสนอ  หนังสั้น) เป็นต้น             โรงเรียนหวังว่าในโอกาสต่อไป บริษัทจำลอง (Mini Companies) จะพัฒนาเป็น SME ของโรงเรียนที่เป็นนวัตกรรมสำคัญในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างครบวงจร            
           จากการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดังกล่าวเกิดผลสำเร็จปรากฏแก่นักเรียนในทุกๆด้าน มีกรณีตัวอย่างนักเรียนในกลุ่มห่วงใยและกลุ่มใกล้ชิด ที่ได้รับการดูแลอย่างดีจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ที่พวกเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครองและตัวนักเรียนหลายคน รวมทั้งนักเรียนกลุ่มอื่นๆด้วย แม้แต่ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แม้โรงเรียนจะอยู่ในเขตชนบทห่างไกล แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 32 จังหวัดบุรีรัมย์ ยังประเมินจัดลำดับคุณภาพในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางที่มีทั้งหมด 23 โรงเรียน ว่าอยู่ในลำดับที่ 5 ในระดับ ม.ต้น และลำดับที่ 4 ในระดับ ม.ปลาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการบริหาร ความทุ่มเทเอาใจใส่ ความมีวินัย  คุณธรรม  จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู รวมทั้งความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สมกับที่โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีเด่น ระดับประเทศ ประเภทโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง ปีการศึกษา 2559 อย่างแท้จริง

         ที่จริงโรงเรียนยังมีกิจกรรมและวิธีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ดีอีกหลายเรื่อง แต่ในที่นี้จะขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อน  หากโรงเรียนหรือหน่วยงานใดสนใจไปดูของจริง ก็ต้องบุกป่าฝ่าดงไปดูช้างเผือกในไพรกันเองแล้วกัน                                
                                             **********************************           
                                      (วารสารวิทยาจารย์  ปีที่ 116 ฉบับที่ 6 เดือนเมษายน 2560 หน้า 10-13)
                

หมายเลขบันทึก: 644451เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท