การเพาะถั่วงอก


การเพาะถั่วงอก

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

ถั่วงอก คือ ต้นอ่อนของถั่วที่ได้จากการเพาะเมล็ดถั่วเขียว โดยไม่ให้ถูกแสงแดด นิยมนำมาประกอบอาหารชนิดต่างๆ อาทิ ผัดถั่วงอก ใส่กวยเตียว ยำถั่วงอก รวมถึงเป็นผักรับประทานสด การเพาะถั่วงอก ถือเป็นอาชีหนึ่งทางการเกษตรที่สามารถให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด และมีขั้นตอนการเพาะ และการดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องให้ปุ๋ย เพียงให้น้ำอย่างเดียว ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเพาะเพียง 4 วันเท่านั้น ก็สามารถเก็บผลผลิตสร้างรายได้

การเพาะถั่วงอก ในปัจจุบัน จะใช้เมล็ดถั่วเขียว 2 สายพันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ แต่ที่นิยมในการเพาะถั่วงอกมากที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์ผิวดำ ที่มีอัตราการงอกที่ดีกว่า อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งนี้เมล็ดสายพันธุ์ทุกชนิดสามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ แต่จะมีลักษณะของถั่วงอกที่แตกต่างตามสายพันธุ์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วอัลฟัลฟ่า เป็นต้น

ถั่วงอกบางแห่งมีการใช้สารฟอกขาว พวกโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ และสารรักษาความสดพวกฟอร์มาลิน ก่อนจำหน่ายให้พ่อค้า แม่ค้า ซึ่งสารพวกนี้มีผลเป็นพิษต่อผู้บริโภคอย่างมาก หากได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายหากถั่วงอกมีการฟอกสี เมื่อทิ้งไว้นานลำต้นจะซ้ำ และดำคล้ำ

พันธุ์ถั่วงอกผิวมัน ได้แก่ พันธ์กำแพงแสน 1 และ 2 พันธุ์ชัยนาท 36 และ 72

พันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ได้แก่ พันธ์พิษณุโลก 2 และพันธ์ KaBa

วิธีการเพาะถั่วงอกง่ายๆที่บ้าน ทุกๆท่านสามารถทำได้ เราจะได้เพาะถั่วงอก ที่สดสะอาด อร่อยปลอดภัย ปราศจากพิษต่างๆ สำหรับรับประทาน หรือประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้หลายเมนู อร่อยเข้ากันมาก เรามีขั้นตอน และวิธีทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เรามีเคล็ดลับคือ นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่น้ำค้างคืน แล้วนำมาวางบนตะกร้า รองด้วยกระทิชชู แล้วคุมด้วยผ้าชุบน้ำ แล้วปิดฝา แล้วนำตะกร้าใส่ถุงดำ นำมาวางในที่อุ่นๆ ที่แสงแดดส่องไม่ถึง แล้วรดน้ำทุกวัน วันละสามเวลา สี่วันเราก็จะได้ถั่วงอกสดๆ สะอาด อร่อยปลอดภัยไว้รับประทานที่บ้าน

วัสดุ/อุปกรณ์

  • เมล็ดถั่วเขียว 100 กรัมเท่ากับ 1 ขีด
  • ตะกร้า 1 ใบ มีรูรอบๆ
  • กระดาษทิชชูแผ่นใหญ่ 6 แผ่น
  • ชามใหญ่ 1 ใบใหญ่กว่าตะกร้า
  • ถุงดำ 1 ใบ
  • ฝาปิดตะกร้า 1 ใบ

วิธีการและขั้นตอนการทำ

  • เตรียมเมล็ดถั่วเขียว ขนาดกำมือพอดีไม่เล็กเกินไป แล้วนำมาทำความสะอาด
  • จากนั้นนำเมล็ดถั่วเขียว นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วสะเด็ดน้ำออก จากนั้นนำเมล็ดถั่วเขียว มาใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วใส่น้ำลงไปพอประมาณ ให้น้ำท่วมเมล็ดถั่วเขียว แล้วแช่น้ำพักไว้ 8 ชั่วโมง หรือแช่น้ำไว้ค้างคืนยิ่งดี
  • เมื่อแช่เมล็ดถั่วเขียวได้เวลาแล้ว จากนั้นนำเมล็ดถั่วเขียวมาเทน้ำออก แล้วสะเด็ดน้ำออกให้หมด
  • จากนั้นนำตะกร้าที่มีรูรอบๆ แล้วนำกระดาษทิชชู มาวางลงไปด้านล่าง 3 แผ่น
  • จากนั้นนำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำ มาใส่ลงไปด้านบน วางกระจายๆให้ทั่วตะกร้า
  • จากนั้นนำกระดาษทิชชู มาวางปิดด้านบนสามแผ่น จากนั้นรดน้ำให้ทั่ว ให้กระดาษทิชชูเปียก
  • จากนั้นนำผ้าชุบน้ำให้เปียก แล้วนำมาวางด้านบนกระดาษทิชชูอีกที
  • จากนั้นปิดด้านบนด้วยฝาหม้อให้สนิท แล้วนำไปว่างบนชามที่มีขนาด ใหญ่กว่าตะกร้า เพื่อสะอาดเวลารดน้ำถั่วงอก แล้วน้ำจะไหลลงในชาม แล้วนำน้ำมาเททิ้งได้ง่าย น้ำจะได้ไม่ขังบนถัวงอก
  • จากนั้นนำตะกร้ามาใส่ถุงดำ แล้วปิดคลุมหุ้มให้สนิท แล้วจากนั้นนำไปวางในที่อุ่นๆ ที่มืดไม่มีแสงแดดส่องถึง แล้วรดน้ำวันละสามเวลา โดยรดน้ำผ่านผ้าที่วางคลุมไว้ อย่าเปิดผ้าดู ค่อยๆรดน้ำเบาๆ แล้วเทน้ำออกทิ้งทุกครั้ง แล้วปิดใส่ถุงดำคลุมไว้ตามเดิม ใช้เวลาประมาณ 4 วัน
  • หลังจากที่เพาะถั่วงอกไว้ได้ 4 วันแล้ว จากนั้นนำถั่วงอกออกจากถุง จากนั้นเปิดฝาและทิชชูออก
  • จะได้ถั่วงอกที่เพาะไว้แล้ว ขนาดถั่วงอกจะโต และยาวได้ที่พอดี พร้อมรับประทานได้
  • เมื่อถั่วงอกเพาะได้ขนาดโต และยาวได้ที่กำลังพอดีแล้ว จะเห็นรากถั่วงอกด้านล่างงอกออกมาเต็มกระดาษทิชชูที่รองไว้
  • จากนั้นนำถั่วงอกออกมา แล้วค่อยๆแกะออกจากกระทิชชู แล้วล้างน้ำให้สะอาด
  • ถั่วงอกสดๆ เพาะเองง่ายที่บ้าน จะได้ถั่วงอกที่สะอาด กรุบกรอบ ปราศจากสารพิษต่างๆอร่อยปลอดภัย พร้อมสำหรับรับประทาน เพื่อใช้ประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้หลายเมนู
  • ถั่วงอกสดๆ พร้อมสำหรับรับประทาน หรือใช้ประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้หลายเมนูจะได้ถั่วงอกสด สะอาด กรุบกรอบ ปราศจากสารพิษต่างๆ อร่อยปลอดภัย

ทำประกอบอาชีพ อุปกรณ์และวัสดุ

  • ตะกร้าพลาสติก หรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
  • ถังน้ำหรือกะละมัง
  • ถังเพาะพลาสติก ตามปริมาณที่ต้องการเพาะ โดยเจาะรูที่ก้นถังขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร ระยะห่างต่อรูประมาณ 1 นิ้ว
  • ตาข่ายพลาสติกตาถี่
  • ท่อนไม้หรือก้อนอิฐ
  • อุปกรณ์การให้น้ำ
  • กระด้งรูขนาด 0.5 เซนติเมตร

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

  •  เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมีความสมบูรณ์ และมีอัตราการงอกสูง มักจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บในระยะที่แก่แล้ว และควรเก็บไม่เกิน 2 – 3 เดือน
  • เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาต้องเก็บรักษาในที่ปราศจากความชื้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่สัมผัสกับไอฝนได้
  • นำเมล็ดพันธุ์ใส่ตะกร้าพลาสติก หรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
  • นำลงแช่น้ำ และร่อน เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่แห้งไม่สมบูรณ์ลอยน้ำ
  • แยกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออกให้เหลือเฉพาะเมล็ดสำหรับใช้เพาะ

การเพาะเมล็ด

  • นำเมล็ดพันธุ์หลังจากการเตรียมแล้วแช่น้ำนาน 6 – 12 ชั่วโมง
  • นำท่อนไม้หรืออิฐก้อนเรียงตามจุดที่ตั้งของถัง
  • นำถังเพาะตั้งบนท่อนไม้หรืออิฐที่เตรียมไว้ เรียงเป็นแถว หากมีการเพาะต่างวันกันให้แยกเป็นกลุ่มที่เพาะในวันเดียวกัน
  • วางตาข่ายพลาสติกรองก้นถัง
  • นำเมล็ดพันธุ์ใส่ในถังเพาะประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของถัง
  • ให้น้ำทุก 2 – 3 ชั่วโมง นาน 2 – 5 นาที และให้น้ำสัมผัสถั่วทุกเมล็ด
  • ในช่วงการเพาะควรให้มีอุณหภูมิของโรงเรือน ประมาณ 20 – 25 องศา หากอุณหภูมิสูงเมล็ดถั่วจะงอก และโตเร็ว ทำให้ถั่วงอกเรียวยาว ไม่สวยงาม ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิโรงเรือนต้องอาศัยการ จัดการตั้งแต่การออกแบบโรงเรียน และการให้น้ำอย่าสม่ำเสมอ

การเก็บถั่วงอก

การเก็บถั่วงอกสามารถเก็บขายได้หลังการเพาะประมาณ 4 วัน เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เมื่อเพาะแล้วสามารถเพิ่มน้ำหนัก ประมาณ 5 – 7 เท่า

วันที่ 1 เมล็ดถั่วมีลักษณะอิ่มน้ำ พองตัว และเปลือกเมล็ดเริ่มปริ แตก

วันที่ 2 เปลือกเมล็ดปริ แตก เห็นส่วนในเมล็ด และมีรากงอก

วันที่ 3 เมล็ดงอก และหางลำต้นยาวประมาณ 1 – 5 เซนติเมตร

วันที่ 4 ถั่วงอกโตยาวประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร เป็นระยะพร้อมจำหน่าย

การจำหน่ายสามารถจำหน่ายให้พ่อค้า แม่ค้าคนกลาง โดยอาจขายขณะที่ถั่วงอกยังอยู่ในถัง ด้วยการชั่งกิโล หรือนำถั่วงอกออกมาคัดแยก และบรรจุถุงจำหน่าย การจำหน่าย ที่ต้องแยกเปลือกเมล็ดออก สามารถใช้กระด้งในการผัดเหมือนการผัดข้าว แต่การผัดถั่วงอกเพื่อแยกเปลือกออก เปลือกถั่วงอกที่ยังติดที่ยอดถั่วงอกจะหลุดออก และตกลงด้านล่างตามรูของกระด้ง

ข้อแนะนำสำหรับโรงเรือน น้ำ และอุปกรณ์

  • โรงเรือน
  • อุปกรณ์การให้น้ำแบบรดมือ
  • อุปกรณ์การให้น้ำแบบอัตโนมัติ
  • คุณภาพน้ำ
  • โรงเรือนต้นกั้นด้านข้าง และด้านท้าย ด้วยการก่ออิฐ หรือใช้ผ้าพลางแสงกั้นก็ได้ โดยเฉพาะเวลากลางวันไม่ควรให้แสงส่องถึง
  • ด้านหน้าต้องมีประตูปิด หรือปิดด้วยพลาสติกกันแมลง
  • นินมใช้บัวรดน้ำ ขนาดรูเล็ก
  • อาจใช้วิธีการตักน้ำจากบ่อ หรือรดด้วยมือ
  • อาจเชื่อมต่อหัวบัวรดน้ำกับหอสูง หรือปั๊มน้ำด้วยสายยาง เพื่อง่ายต่อการให้น้ำ
  • ต้องมีบ่อพักน้ำ พร้อมกับปั๊มแรงดัน หรืออาจใช้วิธีตั้งหอสูงส่งน้ำ ชั้นพักน้ำแรงดัน
  • ต่อท่อ และสายส่งน้ำจากปั๊มแรงดันหรือหอสูง
  • ใช้ระบบหัวสเปรย์ในการกระจายน้ำ และสามารถกระจายน้ำได้ครอบคลุมปากถังเพาะ
  • ทำการต่อเชื่อมหัวสเปรย์เข้ากับฝาปิดถัง
  • หากใช้น้ำคลอง หรือน้ำจากบ่อ ควรทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียก่อน เช่นการตกตะกอน การฆ่าเชื้อ เป็นต้น เพราะอาจทำให้ถั่วงอกไม่สะอาดได้ง่าย รวมถึงเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนสู่ผู้บริโภค
  • ควรใช้น้ำผ่านการปรับปรุงคุณภาพหรือน้ำสะอาด เช่นน้ำประปา หรือน้ำฝน

หมายเลขบันทึก: 644450เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท