บทพูดสุนทรพจน์ทางวัฒนธรรมด้วยสำเนียงเหน่อสุพรรณ หัวข้อ วิถีชุมชนวิถีคนสุพรรณ


บทพูดเหน่อระดับมัธยม เวลา ๘นาที หัวข้อ

“วิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ”

เรียน ท่านคณะกรรมการและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ดิฉันนางสาวสุดารัตน์  คุ้มเนตร หมายเลข ๒

        จะมาพูดสุนทรพจน์ ทางวัฒนธรรมด้วยสำเนียงเหน่อสุพรรณในหัวข้อ “วิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ”

            ในวิถี  ชุมชน คนสุพรรณ                             สิ่งสำคัญ นานา น่าสืบสาน

            วัฒนธรรม ประเพณี ที่ยืนนาน                       การละเล่น เพลงพื้นบ้าน ภูมิปัญญา

            วรรณกรรม ท้องถิ่น แผ่นดินนี้                       สุพรรณบุรี เมืองคนเก่ง เพลงภาษา

            เกษตรกรรม แหล่งน้ำ ล้ำพรรณปลา               เมืองกีฬา การศึกษา น่าเที่ยวชม

            ศิลปะ งานฝีมือ มีชื่อขาน                             ยอดอาหาร ลือเลื่อง เครื่องนุ่งห่ม

            วิถีคน สุพรรณ สรรค์สังคม                            ค่านิยม การให้ ด้วยใจงาม

            บทกวีนี้ คนสุพรรณ ผู้เป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๘ ของประเทศ เป็นผู้เรียงร้อยถ้อยคำขึ้น  เพื่อสื่อสารให้ท่านผู้มีเกียรติได้เห็นภาพของ วิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ ชัดเจนขึ้น เพราะวลีที่ว่า “วิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ” นั้น หมายถึง แนวทางการดำเนินชีวิตของคนในสังคม จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ประพฤติปฏิบัติ ศึกษา อบรม สืบทอด สื่อสาร วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นั่นเอง

            วิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ ประการแรกที่ดิฉันจะขอยกมากล่าวคือด้านวัฒนธรรมประเพณี ชาวสุพรรณของเรามีประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ สวยงามไม่แพ้จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนทั้ง ๑๐ อำเภอจำนวนนับหมื่นคน มาร่วมงานและนำวิถีชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ ความดีเด่นของท้องถิ่นตน มานำเสนอ อย่างหลากหลาย มีขบวนการแสดงและการร่ายรำที่อ่อนช้อย น่าประทับใจ ยิ่ง

ในวันสงกรานต์ก็จะมีขบวนแห่สงกรานต์และการเล่นสาดน้ำที่ยิ่งใหญ่สนุกสนานไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ชุมชนสุพรรณเรายังมีงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์  งานเทศกาลท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ของชาวสุพรรณ มีงานประจำปีวัดป่าเลไลยก์ งานทิ้งกระจาด  งานลอยกระทง งานตักบาตรเทโวโรหณะ และงานวันสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ในชุมชนต่างๆ รวมทั้งงานประเพณีของชาวไทยชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีเชื้อสายชาว ลาว ญวน มอญ จีน กระเหรี่ยง เป็นต้น

            ในด้านการละเล่น และเพลงพื้นบ้านนั้น ชุมชนชาวสุพรรณได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของเพลงอีแซว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ ร้อยกว่าปีมาแล้ว และปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรี ก็ยังมีคณะเพลงอีแซวที่รับงานการแสดง อยู่หลายคณะ เรามีเพลงพวงมาลัย  เพลงเกี่ยวข้าว และเพลงเหย่อย ที่มีท่วงทำนองและลีลาถ้อยคำ  เป็นเอกลักษณ์ ของสุพรรณโดยเฉพาะ คนสุพรรณ เป็นคนอารมณ์ดี มีบทเพลงในสายเลือด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ นักร้องเสียงดีมีชื่อเสียงยอดเยี่ยม ของประเทศไทย ทั้งเพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิม การขับเสภา การเห่เรือ เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และแม้แต่เพลงล็อค จะเป็นคนในชุมชนสุพรรณ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เรามีศิลปินแห่งชาติถึง ๗ คน ตั้งแต่ครูมนตรี ตราโมท ครูแจ้ง คล้ายสีทอง  แม่บัวผัน จันทร์ศรี แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์   ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ครูมงคล แสงสว่าง ถึงนายยืนยง โอภากุล

            ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ตำนาน นิทาน ประวัติ ภาษิต ความเชื่อ ภาษา และวรรณกรรมพื้นบ้านนั้น ชุมชนสุพรรณของเรา นอกจากจะเป็นต้นกำเนิดวรรณคดีขุนช้างขุนแผนแล้วยัง มีตำนาน นิทานพื้นบ้านอีกมากมาย ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของสุพรรณ เช่นตำนานเขานมนาง ตำนานสามชุกซึ่งเป็นที่มาของสำนวนไทยว่า “ ข่าวโคมลอย “ ตำนานบ้านทึง ตำนานท้าวอู่ทอง ตำนานจระเข้วังตาเพชร ตำนานสองพี่น้องและบางแม่หม้าย  มีวรรณคดีที่กล่าวถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของคนสุพรรณ หลายเรื่อง เช่นโคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ กลอนนิราศสุพรรณของนายมี  นิทานโบราณคดี ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ลืมไม่ได้คือคนสุพรรณเป็นนักเขียน นักปราชญ์ทางภาษา นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  พระธรรมพุทธิมงคล  มาจนถึงเจ้าของรางวัลซีไรต์ คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และคุณเรวัติ พันธ์พิพัฒน์ เป็นต้น นี่กระมัง ที่ทำให้มีสำนวนชื่นชมว่า  “ช้างป่าต้นคนสุพรรณ”

 และที่สำคัญวิถีชุมชนสุพรรณ สื่อสารกันด้วยสำเนียงเสียงเหน่อสุพรรณ ที่มีวรรณยุกต์ ๖ เสียง มีความไพเราะและเป็นเอกลักษณ์อันมีคุณค่ายิ่งนัก

            ด้านอาชีพและการทำมาหากิน วิถีชีวิตชุมชนสุพรรณส่วนใหญ่จะมีรายได้จากผลผลิตทางเกษตรกรรม เป็นหลัก รายได้รองลงมาคืออาชีพอุตสาหกรรม และการบริการ

            โดยมีการทำนา มากที่สุด ตามด้วยการทำไร่ เช่นไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด นอกจากนี้ก็มีการเลี้ยงปศุสัตว์ และประมงน้ำจืด เรามีการเลี้ยงปลาดุก ปลาช่อน กุ้งก้ามกราม มีแหล่งปลาธรรมชาติมหาศาลที่วัดพระนอน และวัดต่างๆในลุ่มน้ำท่าจีน

            เมืองสุพรรณได้ชื่อว่าเป็นเมืองกีฬา มีสนามกีฬาที่มาตรฐานมีการส่งเสริมการแข่งขันกีฬา อยู่เสมอเคยจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติหลายครั้ง มีทีมฟุตบอลในลีกค์สูงสุดของประเทศ

เมืองสุพรรณเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาระดับสูงหลายสาขา หลายแห่ง มีพิพิธภัณฑสถานหลายแขนง มีโรงละครแห่งชาติ มีผลสำรวจหลายครั้งว่าเมืองสุพรรณเป็นเมืองที่น่าอยู่ อยู่แล้วมีความสุขที่สุดในประเทศไทย และเป็นเมืองที่น่าเที่ยวเพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม  ด้านธรรมชาติ ด้านอาหารการกินและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

            มีผลิตผลจากวิถีชุมชนที่หลากหลาย  ซึ่งล้วนล้ำค่าทางศิลปะและหัตถกรรมแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมเช่นโบสถ์ไม้สักวัดบ้านสูตร จิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อพุทธางกูร และวัดป่าเลไลยก์ งานฝีมือทอผ้าโบราณ และการทอผ้าในชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ อาหารการกินที่ขึ้นชื่อเช่นสาลี่สุพรรณ ปลาหมำสองพี่น้อง และร้านอาหารมีชื่อเสียงจำนวนมาก

            สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงวิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ ที่สร้างสรรค์ไว้อย่างล้ำค่า ควรแก่การอนุรักษ์สืบทอด และเหนือสิ่งอื่นใดวิถีคนสุพรรณเป็นชุมชนที่มีน้ำใจที่งดงาม และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผล บุคคลที่เป็นตัวแทนได้เด่นชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือคุณอาทิวราห์ คงมาลัย ผู้สร้างเกียรติประวัติ “โครงการก้าวคนละก้าว จากเบตง สู่แม่สาย” ที่ทำให้คนไทยรวมใจกันเป็นหนึ่ง และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสังคมอย่างแท้จริง คุณอาทิวราห์ คือ หนึ่งใน ผลผลิตของวิถีชุมชน วิถีคนสุพรรณ ที่เราภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

            สวัสดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 644431เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท