ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว: ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะ “พันธ์รบ กำลา”


คนเราเก่งอะไรก็เก่งไป ถ้าบริหารจัดการเรื่องเงินไม่เป็น ต่อให้เป็นดอกเตอร์ก็ไม่มีวันรวย มุ่งแต่ทำงาน แต่ไม่คิดบริหารจัดการเรื่องเงินนะ ไม่มีรวย แล้วคนเราจะเอาตัวเองมาวัดกันว่าเก่ง ไม่เก่ง เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เรื่องเงินมาวัด คนที่เกิดจากศูนย์ ถ้าเขารวย แสดงว่าเขาต้องมีวิธีบริหารจัดการเป็น

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว

ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะ “พันธ์รบ กำลา”

อรรถการ สัตยพาณิชย์

 

            “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” บางสาขาชอบไปตั้งอยู่ตามหน้าร้าน 7-eleven ทำให้บางคนเข้าใจว่า “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”  เป็นธุรกิจในเครือ  7-eleven  หรือ CP  แต่ความเป็นจริง เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ เจ้าของ CP ไม่ได้เป็นอะไรกับ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” แม้แต่น้อย

            และยิ่งถ้าฟังชื่อ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” แล้วจินตนาการถึงหน้าตาของเจ้าของ ก็คงไม่มีใครคิดว่าเจ้าของจะเป็นหนุ่มอีสาน 100% ที่มีนามว่า พันธ์รบ กำลา บทเรียนแห่งความสำเร็จในชีวิตของเขาในวันนี้ คงไม่มีประโยคใดเหมาะเท่ากับวาทะของ “ขงเบ้ง” ที่ว่า “ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะตน”

 

                                           “เพราะแสวงหา     มิใช่เพราะรอคอย

                                             เพราะเชี่ยวชาญ   มิใช่เพราะโอกาส

                                             เพราะสามารถ      มิใช่เพราะโชคช่วย

                                             ดังนั้นแล้ว           ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน”

                                                                                             ขงเบ้ง

 

ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

            คุณพันธ์รบ กำลา ประธานบริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ผู้ริเริ่มธุรกิจบะหมี่รถเข็นร้านเล็กๆ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ชื่อเสียงโด่งดังในวันนี้  เป็นชาวร้อยเอ็ดโดยกำเนิด เคยผ่านประสบการณ์ชีวิต และผ่านการล้มลุกคลุกคลานจากหลากหลายอาชีพ ทั้งการเป็น ชาวนา ยาม และพ่อค้า คุณพันธ์รบเล่าว่าอาชีพค้าขายงานแรก เมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงคือ การขายไอศกรีม

            “พอมาขายไอศกรีม ผมขายดีกว่าคนอื่น กลยุทธ์ของผมจะมองว่า ถ้าเป็นซอยตัน ผมก็จะแกว่งกระดิ่ง แต่เวลาออกจากซอยจะออกช้าๆ เพราะถ้าเราเข้าไป แล้วรีบออกมา บางทีเขาเตรียมเงินไม่ทัน กลยุทธ์ก็คือว่า ผมเดินเข้าไปครั้งแรกเหมือนเตือนว่า “ไอศกรีมผมมาแล้วนะ” ลูกรีบไปขอเงินแม่ไว้ เดี๋ยวผมกลับมา แต่ถ้าเป็นซอยที่มันไม่ตัน เราต้องไปช้าๆ เพราะบางทีลูกขอตังค์แม่ยังไม่ได้ นี่คือความคิดที่ทำให้ขายดี”

            หลังจากนั้น 2-3 ปี เขาได้เปลี่ยนมาขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสอยู่ที่ 7-eleven แยกลำลูกกา ผลตอบแทนค่อนข้างดี เนื่องจากเน้นบริการที่ดี สร้าง Perception ที่ดีให้กับลูกค้า อีกทั้งบุคลิกของคุณพันธ์รบเป็นคนที่ใส่ใจคนอยู่แล้ว จึงทำให้ธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยวไปได้ดี

            หลังจากนั้นเขาก็เกิดความคิดที่จะขายบะหมี่เกี๊ยว โดยมีแรงบันดาลใจมาจากน้องชาย ที่ขายบะหมี่แล้วได้กำไรมากกว่า

            “สมัยนั้นตลาดบะหมี่ยังไม่มีการแข่งขันเหมือนในปัจจุบัน เจ้าของกิจการก็ไม่ค่อยจะบริการเรา เขาอยากขายของ แต่เขาไม่ค่อยบริการ ผมก็ไปขอร้องเขาว่า ผมอยากที่จะขายบะหมี่ เอารถมาให้ผมได้ไหม มาส่งบะหมี่ผมได้ไหม แต่เขาไม่มาส่งให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า รถไม่วิ่งผ่านตรงที่ตั้งขาย เพราะฉะนั้นเจ้าของจึงไม่มาส่งให้”

            คุณพันธ์รบจึงแก้ปัญหาด้วยการให้เจ้าของกิจการเอาบะหมี่มาส่งที่ร้านน้องชายแทน แล้วตนเองก็ไปรับจากน้องชายมาขายต่ออีกที จากเดิมที่ขายก๋วยเตี๋ยว ก็ขายดีอยู่แล้ว หลังจากนำบะหมี่มาขายเพิ่ม ก็ยิ่งทำให้ขายดีมากกว่าเดิม ด้วยรถเข็น 2 คัน ด้านซ้ายมือขายลูกชิ้นน้ำใส ด้านขวามือขายราชาบะหมี่เกี๊ยว สร้างยอดขาย 5-6 พันบาทต่อคืน

            2 ปีหลังจากนั้น ด้วยเงินจากการขายก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่ กับการบริหารจัดการการเงินที่ดี คุณพันธ์รบจึงมีเงินเก็บ 700,000 บาท ซึ่งในสมัยนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่คนอย่างเขาจะทำได้

            “ผมมีความละเอียดในตัว ผมจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และเป็นระบบ ผมมีลูกน้อง 2 คน ผมซื้อออมสินมา 2 ตัว ค่าตัวเขาคนละร้อย พอเก็บร้านเสร็จผมก็หยอดใส่ นี่ของนาย ก. นี่ของนาย ข. สิ้นเดือนมาทุบออมสิน 2 ตัวให้ค่าแรงเขาไป พูดง่ายๆ ก็คือ เราบริหารจัดการเรื่องเงินให้เป็นระบบ แต่ละวันมีรายจ่ายอะไรบ้างต้องจ่ายให้หมด

            “สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นการบริหารจัดการที่ดี คนเราเก่งอะไรก็เก่งไป ถ้าบริหารจัดการเรื่องเงินไม่เป็น ต่อให้เป็นดอกเตอร์ก็ไม่มีวันรวย มุ่งแต่ทำงาน แต่ไม่คิดบริหารจัดการเรื่องเงินนะ ไม่มีรวย แล้วคนเราจะเอาตัวเองมาวัดกันว่าเก่ง ไม่เก่ง เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เรื่องเงินมาวัด คนที่เกิดจากศูนย์ ถ้าเขารวย แสดงว่าเขาต้องมีวิธีบริหารจัดการเป็น ลูกค้าของผมหลายคน ขายบะหมี่วันละ 10 กิโล บางคนขายแค่ 2 กิโล มีเงินมากกว่า เพราะอะไร เพราะเขารู้จักจ่าย รู้จักใช้”

 

สั่งสมประสบการณ์

สร้างบัลลังก์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”

 

            ประสบการณ์จากการขายบะหมี่ทำให้คุณพันธ์รบเห็นว่า บะหมี่บางวันที่มาส่งมีคุณภาพไม่ดี จึงเกิดความคิดที่อยากจะทำเอง เมื่อคิดแล้วจึงเริ่มวางแผน  ด้วยเงินเก็บที่มีอยู่ คุณพันธ์รบสั่งซื้อเครื่องมา โดยไม่มีความรู้ในการทำเส้นบะหมี่แม้แต่น้อย

            “ผมซื้อเครื่องมาทำบะหมี่ ผมทำปีแรกมันก็เหมือนเด็ก เกิดมาใช่ว่าจะเดินได้เลย แต่บะหมี่ชายสี่ปีแรกเดินไม่ได้เลย เดี๋ยวก็เป็นโรคนั่น โรคนี่ อะไรจิปาถะ กว่าเราจะเป็นชายสี่จริงๆ ก็ผ่านไปประมาณ 1 ปี ทดลองผิดถูกอยู่นั่นแหละ ผสมรสกัน มันดีไหม เพิ่มตัวนี้ ลดตัวนี้ จนกว่าได้สูตรที่ดี

            “กว่าจะได้สูตรที่ดีมันทำอย่างไร ตอนนั้นร้านบะหมี่ผมก็ยังขายอยู่ เมื่อขายอยู่ก็ทำบะหมี่เสร็จ ก็เอามาขายเลย ทีนี้ลูกค้าบอกว่าทำไมวันนี้บะหมี่ไม่เหมือนทุกวัน ก็เป็นสิ่งที่ลองผิดลองถูก พอบะหมี่มีคุณภาพ ผมได้ไปดาวน์รถคันหนึ่งสมัยนั้นประมาณ 70,000 บาท กลับไป ชาวบ้านเห็นผมมีรถขับ เขาก็มาถามว่าไปทำอะไรมา มีเงินมีทอง ก็เจรจาให้เขาฟังเสร็จสรรพว่าไปขายบะหมี่นะ กำไรเท่านี้ๆ เขาก็บอกว่าขอไปขายด้วยได้ไหม ผมบอกโอเค เพราะตอนนี้ผมมีเครื่องทำบะหมี่แล้ว

            “เป็นธรรมดาของมนุษย์เมื่อจะทำอะไรก็ต้องไปถามคนที่ชำนาญ เขาก็เข้ามาถามผมว่า ทำบะหมี่ทำยังไง ขายยังไง ผมก็ตอบตกลงทันที แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าคุณจะขาย คุณก็ต้องใช้ชื่อผม ถ้าคุณขายแล้วไม่ใช้ชื่อผม คุณก็ไปหาที่อื่น เขาจึงจำเป็นต้องเอาชื่อผมไปขาย ในขณะที่ผมมีหน้าที่ทำบะหมี่ไปส่งให้เขา ผมจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น คนที่มาขาย ร้านแรกจากคนที่ไม่มีเงิน ก็มีเงิน มีกำไรวันละ 500 บาท 1,000 บาท เดือนหนึ่งรวมได้ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งคนบ้านนอกมีเงินเดือนละ 30,000 สมัยนั้นเทียบเท่ากับอาจารย์ใหญ่”

            “สมมติเหมือนอย่างทำงานบริษัทนะ เดือนละ 100,000 บาท แต่เพื่อนขายบะหมี่ได้เดือนละ 200,000 แล้วรู้จักกัน ไม่ต้องบอกให้ลาออกจากงานประจำ เขาจะมาเอง แต่พอมาเอาบะหมี่ผมไปขาย มันมีกำไรอีก พวกเขาก็ไปบอกญาติพี่น้อง บอกคนใกล้เคียง คนใกล้เคียงทำก็มีกำไรก็กรูกันเข้ามา และนี่คือที่มาของการเติบโตของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”

            ปี 2541 วิกฤตเศรษฐกิจ ได้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก ผู้คนที่เคยกินเงินเดือนเยอะๆ นั่งในออฟฟิศ เป็นผู้จัดการ ก็เจอปัญหาทางการเงิน และเริ่มมีการประหยัดมากขึ้น

            “สมัยนั้นจากที่พวกเขากินอาหารภัตตาคาร ก็มากินบะหมี่ผม ชาม 10 บาท 15 บาท มันทำให้ผมดีขึ้นมาส่วนหนึ่ง แทนที่ผมจะฟุบไปกับเขา ผมกลับฟื้นวิกฤตขึ้นมาช่วงนั้น ผมไม่ได้ตายตาม เพราะอะไร เพราะว่าผมขายของกิน มนุษย์เราเกิดมาต้องกิน รวยก็ต้องกิน จนก็ต้องกิน นั่นคือเหตุผลหนึ่ง

            เหตุผลที่ 2 ช่วงนั้นผมมีประมาณ 210 สาขา เริ่มมีคนรู้จัก มีการกระจายไปยังที่ต่างๆ ง่ายต่อการพบเห็น แต่ไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ ในขณะนั้นคุณปัญญา นิรันดร์กุล เชิญผมไปออกรายการเกมแก้จน ตอนนั้นเป็นเทปแรกๆ ก็เลยมาเชิญผมไปออกรายการ พอออกรายการปุ๊บ มีกระแสตอบรับกลับมาดีมาก มีโทรศัพท์จากทั่วประเทศไทยมาติดต่อว่าเอาบะหมี่ชายสี่ไปขาย”

 

Big Bang Brand

 

            ผลจากการออกสื่อโทรทัศน์ครั้งนั้น สามารถสร้าง Big Bang ให้กับแบรนด์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” จนมีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก แต่สิ่งที่ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้คือ

               1. Brandname การตั้งชื่อที่ไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลูกค้าสามารถจดจำได้ง่าย “ในสมัยแรกๆ ที่ตั้งชื่อว่า “ชายสี่” ลูกน้องที่ทำงานด้วย แทบจะไม่กล้าเข็นรถไปส่งของ เพราะคำว่า ชายสี่นั้น ถ้าแปลหรือพูดเป็นภาษาอีสานแล้วมีความหมายที่ค่อนข้างหยาบคาย แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าชื่อนี้ดีที่สุด”

            2. คุณภาพของสินค้า จากประสบการณ์ที่ขายบะหมี่มาก่อน ทำให้มีความรู้ในการทำบะหมี่ว่าเส้นชนิดใดที่ลูกค้าชอบ หรือไม่ชอบ จึงได้นำเอาจุดอ่อนนั้นมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งคุณพันธ์รบกล่าวว่า “เส้นบะหมี่ที่ดีต้องเหนียวนุ่ม ไม่ใช่แข็งกระด้างเหมือนเคี้ยวฟาง”

                3. ตนเอง คุณพันธ์รบเชื่อว่าธุรกิจนี้เติบโตได้มาจากจิตใจ “ธุรกิจนี้ผมสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนรอบข้างมีความรักในตัวผม เมตตาและศรัทธาในตัวผม สิ่งนี้คือ กุญแจสำคัญในการสร้างธุรกิจ”

            การบริหารจัดการของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เมื่อกิจการเติบโต มีสาขาเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องการผลิต สินค้าที่ออกไปไม่ได้มาตรฐานมีมากขึ้น จึงมีการนำ QC เข้ามาดูแล เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพและมาตรฐานของโรงงานผลิต และสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค

            ส่วนในเรื่องการกระจายสินค้า เมื่อสินค้าผลิตออกจากโรงงาน บริษัทจะดำเนินการจัดส่งให้ลูกค้าในทันที  จากการสำรวจพบว่าลูกค้าของชายสี่ ร้อยละ 80-90 จะขายเวลากลางคืน ซึ่งทางบริษัทก็จัดส่งให้ในเวลากลางคืนเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจราจร

            การกระจายสินค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด ใช้วิธีการขยายสาขา สร้าง Center ในภูมิภาคต่างๆ

            การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของแฟรนไชส์ คุณพันธ์รบ กล่าวว่า สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่ที่หนักใจอย่างยิ่งของแฟรนไชส์เซอร์

            “จากการที่ศึกษามา คำว่า แฟรนไชส์ คือความเหมือนกัน แต่ของชายสี่นั้นไม่เหมือน เพราะในสมัยแรกๆ เราต้องการเพียงแค่ขายได้เพียงอย่างเดียว เราลืมเรื่องของคุณภาพ เราคิดว่าเราต้องการมีจุดขายให้มากที่สุด คุณภาพเป็นเรื่องรอง สิ่งนี้มันจึงเป็นปัญหาสำหรับบริษัท กลายเป็นว่าบะหมี่ของชายสี่บะหมี่เกี๊ยวแต่ละสาขา รสชาติไม่เหมือนกัน ผมจึงบอกลูกค้าว่าคุณกินร้านไหนแล้วอร่อย คุณก็กินร้านนั้นละกัน

            “เพราะว่าเราไม่มีวิธีควบคุมพวกเขา เราส่งสินค้าเฉพาะเส้นกับแผ่นเกี๊ยวให้กับลูกค้า ส่วนน้ำซุปเราไม่ได้ส่ง จึงทำให้ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ไม่เหมือนกัน แต่สูตรที่ทางบริษัทได้ให้ไปจะเหมือนกันทุกที่ ผมให้ทั้งคู่มือ ทั้ง CD บรรยายสอน มีขั้นตอนบอกอย่างชัดเจน แต่คนที่ขายกลับไม่ปฏิบัติตามคู่มือ บางทีพวกเขาทำตามใจตัวเอง อย่างสาขาในภาคใต้ก็มีการเอาหอมใหญ่ใส่ลงไป จึงทำให้แฟรนไชส์ของชายสี่ในช่วงนั้นขาดความสมบูรณ์แบบ”

            ดังนั้นชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จึงยังคงมุ่งมั่นที่จะกำหนดนโยบายการควบคุมคุณภาพ มีการสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นกับลูกค้าและสาขา เพื่อให้เป็นแฟรนไชส์ที่สมบูรณ์แบบ และมีมาตรฐานเดียวกันอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีวันไหนที่จะหยุดที่จะพัฒนา...... 

 

หมายเหตุ: ผมได้เขียนถึงคุณพันธ์รบ กำลา ครั้งแรกเมื่อตอนที่เขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเรื่อง “101 คัมภีร์ฝ่าวิกฤติ” เป็นการนำเนื้อหาการสัมภาษณ์ผู้ที่ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 โดยผู้ดำเนินรายการวิทยุคือ คุณพิสิทธิ์ กีรติการกุล คลื่น FM.101 โดยนำบทสัมภาษณ์มาตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตเมื่อ พ.ศ.2544 หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพันธ์รบที่โรงงานคลอง 6 เพื่อทำต้นฉบับตีพิมพ์ในนิตยสาร S+M และอีกครั้งในนิตยสาร BrandAge Essential

                                                                                


หมายเลขบันทึก: 644427เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท