นโยบายการศึกษา กับการชูนโยบาย คุณธรรมนำความรู้


การจัดการศึกษาในประเทศไทย เป็นนโยบายสาธารณะที่ภาครัฐเป็นผู้วางแผนและกำหนด
พูดกันมานานแล้ว ปัญหาการศึกษานับวันก็มีมากขึ้น การศึกษามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาศักยภาพคน ดังนั้นจึงมีจำเป็นอย่างยิ่งที่การวางนโยบายด้านการศึกษาต้องอาศัยข้อมูลในหลายมิติ ประกอบในการวาง กำหนดนโยบาย เช่น สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอดีด การเป่ลี่ยนแปลงในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งความเจริญของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เป็นสภาวะแวดล้อมที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องดูเป็นองค์ประกอบในการกำหนดอนาคตของชาติ โดยการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา เพื่อสามารถนำนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติ และดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม จากอดีตที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายเพื่อวางแผนการศึกษาของประเทศมีจุดเริ่มต้นมานานมากแล้ว ผู้เขียนขอเล่าสู่กันฟังจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับแรกของประเทศในปี 2503 ด้านการศึกษาได้มีการวางนโยบายการศึกษาให้สอดรับกับแผนพัฒนาฯ ไปด้วยเรียกว่าแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน รวม 9 ฉบับ  พัฒนาการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะที่ผ่านมา และปัญหาที่เกิดขึ้นและสะสม น่าจะเป็นต้วชี้ หรือสะท้อนได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนในสังคมของเรา เช่นปัญหาความรุนแรงในสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี เป็นต้น การศึกษาของเรามีข้อบกพร่องอย่างไร ทำให้คนในสังคมมีคนชั่วมากขึ้น ทั้งๆที่จากอดีตที่ผ่านการวางนโยบายด้านการศึกษา ก็มีการกำหนดว่า สร้างคน ผลิตคนให้มีคุณธรรม มีความรู้ สร้างสรรค์สังคมอย่างมีความสุข นับเป็นความล้มเหลวของการดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อมาสู่รัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลชั่วคราว ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  ท่านก็ได้มีวิสัยทัศน์ ในการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานให้กับราชการ ประชาชนคนไทยใน การทำงานในปัจจุบันเป็นหลักในการถือปฏิบัติ มีสโลแกน ว่า 4 ป. คือโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และประสิทธิภาพ  โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ ดังนั้นนโยบายการศึกษาจึงต้องมีความสอดคล้องกับแนวคิดหรือหลักการของผู้นำประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน จึงได้มีการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันโดยได้กำหนดนโยบายการศึกษาและทิศทางการศึกษาของประเทศ ชูนโยบาย คุณธรรมนำความรู้

รมว.ศธ.ได้เน้นนโยบาย คุณธรรมนำความรู้ ในการจัดการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการปฏิรูปการเมือง เกิดจากปัญหาคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม วิถีประชาธิปไตย ความแตกแยกนำไปสู่การขาดความสามัคคี ขาดความสมานฉันท์ ดังนั้นการเสริมสร้างคุณธรรม ความตระหนัก สำนึกในค่านิยมและวิถีประชาธิปไตย ความสมานฉันท์  สันติวิธี เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน

รมว.ศธ.ได้นำนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาทำให้เป็นรูปแบบเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้นใน ๕ ประเด็น ดังนี้

๑. เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้  โดยมุ่งสร้างความตระหนัก สำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว สถาบันทางศาสนา และสถาบันทางการศึกษาเรียกว่า บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)

๒. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ สพท. และ อปท.ต้องสำรวจเด็กที่เข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับล่วงหน้า ๑ ปี เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบอกได้ว่า จัดโรงเรียนที่ไหนให้เด็ก ส่วนเด็กจะรับโอกาสที่โรงเรียนนั้นหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของเขา หน้าที่ของผู้เรียนก็คือ เมื่อเข้าเกณฑ์ก็ต้องเรียน หากไม่เรียนก็ผิดกฎหมาย ส่วนการจัดเงินอุดหนุนรายหัวที่ให้ไม่เพียงพอนั้น ใน ๓-๔ ปีมานี้ได้จัดเงินอุดหนุนรายหัวในการศึกษาขั้นพื้นฐานไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ขาดไป ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท จึงจะจัดให้เพิ่มในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่  ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก นอกจากจะเพิ่มให้ใกล้กับค่าใช้จ่ายจริงของโรงเรียนขนาดกลางแล้ว ยังมีตัวบวกให้ด้วย ซึ่งจะขอดูกำลังเงินว่าจะเติมให้ครั้งเดียว ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท หรือภายในไม่เกิน ๒ ปี เช่นให้ทีละครึ่ง คาดว่าจะเห็นผลเรื่องการศึกษา ๑๒ ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทยให้ขยับถึง ๙-๙.๕ ปี

๓. พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ  สมศ.ได้ประเมินผลคุณภาพการศึกษา พบว่าโรงเรียนเกือบ ๒๐,๐๐๐ โรงอยู่ในสภาพที่ต้องปรับปรุง กล่าวว่า ผ่านเกณฑ์ใช้ได้มีประมาณ ๑ ใน ๓ จึงจะต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ พัฒนาการสอนของครู ปรับปรุงวิธีการเรียนของเด็ก รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเน้นการแก้ปัญหาขาดแคลนครูโดยยึดพื้นที่และกลุ่มสาระเป็นสำคัญ

๔. กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา  โดยเน้นการจัดระบบการกระจายอำนาจใน ๔ ด้าน คือ ด้านวิชาการ บริหารบุคคล งบประมาณ และการจัดการทั่วไป รวมทั้งพัฒนาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูแกนนำของเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน เพื่อให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถขยายผลในพื้นที่และในโรงเรียนของตนเอง ซึ่งจะมีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน โดยจะมีการนำร่องในโรงเรียนขนาดใหญ่และกลาง ประมาณ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ โรง นอกจากนี้ จะเปลี่ยนฐานะของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ให้มีการทำงานที่เบ็ดเสร็จสิ้นสุดในระดับสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดระบบการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาด้วย

๕. การมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคเอกชน และท้องถิ่น  โดยการปรับปรุงโครงสร้าง บทบาท ภาระหน้าที่ของสมาคมผู้ปกครองและครู ทบทวนเรื่องคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนเอกชนในทุกระดับและประเภท ให้สามารถจัดการศึกษาได้ตามนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของชาติ มุ่งเน้นให้ความอิสระและความคล่องตัวโดยไม่เลือกปฏิบัติ.

เราคงต้องเฝ้าติดตามตรวจสอบในระยะเวลา 1 ปีนี้ คุณธรรมนำความรู้ จะออกมาเป็นรูปธรรม ได้หรือไม่ อย่างไร

คำสำคัญ (Tags): #นโยบายการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 64421เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท