สสส.หนุนรพ.สต.ใช้ชุมชนเป็นฐาน งาน ลด-ละ-เลิก บุหรี่ แม่ฮ่องสอน


สสส.หนุนรพ.สต.ใช้ชุมชนเป็นฐาน

งาน ลด-ละ-เลิก บุหรี่ แม่ฮ่องสอน

            จากข้อมูลสำรวจของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่ามีจำนวนผู้สูบบุหรี่และยาเส้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่นิยมสูบยาเส้น คือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง เช่น ไทใหญ่ ม้ง กระเหรี่ยง ละหู่ ฯลฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยาเส้นถูกสอดแทรกในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของพี่น้องชนเผ่าเหล่านี้จนแยกไม่ออก

            สังเกตจากบ้านทุกหลังจะต้องมีกล่องยาเส้นวางไว้รับแขกที่มาเยี่ยมเยือน เครื่องเซ่นงานบุญประเพณีก็ต้องมีบุหรี่วางไว้บนสำรับ ตลอดจนสูบเพื่อให้ควันเป็นเครื่องไล่ยุง ไล่แมลง เวลาเข้าป่า ไร่-นา เลี้ยงสัตว์ เมื่อสูบบ่อยๆ เข้า ก็ไม่รู้ตัวว่าติด และควันที่สูดกลืนเข้าไป ก็ไม่รู้ว่าอันตราย เพราะคิดว่าวัตถุดิบปลูกเอง ทำเอง มาจากธรรมชาติทั้งหมด จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ จารีตและความเชื่อนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้สูบบุหรี่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังคงมีอยู่สูง ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่อาศัยบนเขาภูเขาสูง กระจัดกระจายหลายหมู่ หลายหย่อมบ้าน การคมนาคมบางเส้นทางรถเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง บางพื้นที่ต้องนั่งเรือแล้วเดินเท้าต่อใช้เวลาเป็นวันๆ ทำให้การเข้าพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้จากหลายๆ หน่วยงาน จึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้แล้วภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารอีกด้วย

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยยึดหลักให้ชุมชนจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ให้ได้

            ดังเช่นพื้นที่ตำบลแม่ลิดป่าแก่ อ.แม่สะเรียง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ลิดป่าแก่ รับผิดชอบ 3 หมู่บ้าน 15 หย่อมบ้าน แต่ละพื้นที่ห่างไกลกัน การทำงานจึงต้องอาศัย อสม. มาร่วมกันทำงาน โดยใช้แนวทาง 1 อสม. ต่อ 1 คนเลิกยาสูบ โดยตั้งเป้าให้มีผู้เลิกสูบให้ได้ 50 คน จากผู้สูบกว่า 200 คน

            นายจักรพงษ์ ศรีเมือง เจ้าพนักงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ลิดป่าแก่ เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ปกาเกอะญอ อาศัยอยู่กระจัดกระจาย การลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องผนวกกิจกรรมการเลิดสูบบุหรี่ไปพร้อมกับการลงพื้นที่คัดกรอง NCD และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจชาวบ้านต่างมีภารกิจ ทำไร่ ทำนา เข้าป่า จะนัดมาทำกิจกรรมหลายครั้งไม่ได้ เพราะเท่ากับว่า “นัดซ้ำ ชุมชนยิ่งซ้ำ” คือชาวบ้านเบื่อที่จะต้องมาอบรมบ่อยๆ ขณะเดียวกันการสื่อสารจึงค่อนข้างลำบากด้วย ต้องอดทนสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

            “การอมยาเส้น เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าอันตรายมากๆ  เสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก ซึ่งสื่อประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเสนอทางควันบุหรี่มากกว่า แต่กับแบบอมยังไม่มี คนที่สูบก็คิดว่าไม่ได้สูดควันเข้าไปเลยไม่เป็นอันตราย และพอใช้เครื่องเป่าปอดวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถใช้ได้ เพราะเครื่องวัดค่าจากควัน คนที่สูบเลยไม่มีตัวชี้วัดว่าอันตราย ต้องพยายามหาวิธีสร้างความรู้ความเข้าใจ” นายจักรพงษ์ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ และบอกด้วยว่า การจะบอกให้ชาวบ้านเลิกสูบบุหรี่หรือยาเส้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขาไปแล้ว จึงต้องมีวิธีการและใช้เวลาในการค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ก็ต้องอดทนและเข้าใจในชาวบ้าน การลดอัตราการสูบบุหรี่จึงจะเห็นผล

            ดังนั้นการทำงานในพื้นที่ห่างไกลต้องใช้ความพยายาม ความทุ่มเทต่อการเอาชนะอุปสรรคในการลด ละ เลิกบุหรี่ นอกจากเข้าใจในวิถีชุมชนแล้ว จะต้องเข้าถึงชุมชน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน เช่น ที่ รพ.สต.บ้านช่างหม้อ ที่ได้ทุ่มเทและเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง

            ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลบ้านช่างหม้อ เป็นชาวปกาเกอะญอกับว้า มีประชากรที่สูบบุหรี่จำนวน 554 คน คิดเป็น 26.09% จากประชากรทั้งหมด 3,125 คน 5 หมู่ 18 หย่อมบ้าน การรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ จะใช้การทำงานเชิงรุกเป็นหลัก มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ พร้อมรุกเข้าหาเป็นรายบุคคลเพื่อให้เกิดผลมากที่สุด

            นายพลชัย ผาติรัตน์ศิริกุล เจ้าพนักงาน รพ.สต.บ้านช่างหม้อ กล่าวว่า เวลาว่างหลังจากเลิกงานหรือวันหยุด เจ้าหน้าที่ก็จะตระเวนเยี่ยมเยือนไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ไร่ ในการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ หรือบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้การใช้สื่อ หรือเครื่องกระจายเสียงไม่สามารถทำได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีไปเจาะกลุ่มคน ให้ความรู้ถึงครัวเรือน

             ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้จัดตั้งกติกาชุมชน เช่น งานแต่งห้ามมีการสูบบุหรี่ในบริเวณบ้านงาน ห้ามสูบบุหรี่พื้นที่สาธารณะที่มีป้ายติดทุกที่ ห้ามสูบบุหรี่ในวันที่มีการประชุมหมู่บ้าน ห้ามขายบุหรี่ให้กับ นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามสูบบุหรี่ในวันเวลา/สถานที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา หากฝ่าฝืนปรับ 500 บาทเข้ากองทุนหมู่บ้าน และรณรงค์ร้านค้ายุคใหม่ใส่ใจ พ.ร.บ.สุราและบุหรี่ ซึ่งมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 17 ร้าน และมี 2 ร้านที่ไม่ขายสุราและบุหรี่เลย ขณะที่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะมอบ “ใบสั่งความดี” เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการลด ละ เลิก บุหรี่ ต่อไป

            ด้าน ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช ผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า การทำให้ชุมชนตระหนัก ลด ละ เลิกบุหรี่  เป็นสิ่งสำคัญและสอดคล้องกับแผนควบคุมยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นพัฒนาให้ชุมชนมีศักยภาพและส่วนร่วมในการจัดการ และเนื่องจากแม่ฮ่องสอน ถือเป็นจังหวัดที่ครองแชมป์อัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในประเทศไทย จึงเป็น 1 ใน 7 จังหวัด ที่กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

            โดยมี 5 แนวทางขับเคลื่อน คือ 1. ชุมชนต้องทำนโยบายด้วยการจัดเวทีพูดคุย เพื่อออกนโยบายควบคุมบุหรี่ในชุมชนร่วมกัน และติดป้ายประกาศให้ทุกคนรับรู้ 2.ต้องจัดสิ่งแวดล้อมสถานที่ต่างๆ ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เช่น ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ทุกแห่ง ร้านค้าต้องมีป้ายไม่จำหน่ายให้กับเด็ก และมีการอบรมกฎหมายให้ผู้ขายด้วย 3.ต้องเข้าถึงคนสูบบุหรี่และช่วยเลิก ปรับพฤติกรรมบุคคลทำงานเชิงรุก โดยทำคลินิกเคลื่อนที่ลงไปในหมู่บ้านเพื่อคัดกรองผู้สูบบุหรี่แล้วช่วยเขาเลิกสูบ 4.ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อบรมแกนนำ อสม.ให้เข้าไปช่วย มีความรู้ร่วมกัน พัฒนาศักยภาพร่วมกัน และ 5. ต้องปรับระบบบริการให้ผู้สูบบุหรี่เข้าถึงบริการได้ บูรณาการกิจกรรมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้นำเอากิจกรรมการเลิกบุหรี่เข้าไปร่วมกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรคเรื้อรัง สารเคมี

          สำหรับพื้นที่แม่ฮ่องสอนแล้ว แนวทางการขับเคลื่อนนี้ น่าจะเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพราะอยู่ห่างไกลและกันดาร แต่ทั้งหลายทั้งหลายทั้งปวง ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ ต้องมุ่งมั่นและรักในการทำงานอย่างแท้จริง

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท