สื่อใหม่ศึกษา New media studies : (7) ลักษณะสำคัญ... การบูรณาการหลอมรวมปรากฏการณ์และแหล่งให้ประสบการณ์แก่มนุษย์


 อธิบายภาพ : สื่อใหม่และการสื่อสารสื่อใหม่ในปัจจุบัน เชื่อมโยง หลอมรวม และบูรณาการแหล่งข้อมูลและแหล่งประสบการณ์ต่อความเป็นจริงจากหลากหลายชุดเหตุุการณ์ให้สามารถผสมผสานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในบริบทใหม่ได้อย่างไม่จำกัด อีกทั้งมีแนวโน้มพัฒนาการให้สื่อสารและแสดงผลได้ด้วยสื่อบูรณาการเบ็ดเสร็จบนสื่อมือถือ สื่อในบ้าน สื่อในสำนักงาน และสื่อในพื้นที่สาธารณะ ที่ต่างก็มุ่งพัฒนาให้เชื่อมโยงเข้าหากัน โลกอนาคตจะเต็มไปด้วยสื่อและการสื่อสารสื่อใหม่ ที่พร้อมจะเข้าถึงและปฏิสัมพันธ์ดังที่ต้องการกับมนุษย์ได้รอบตัว

การบูรณาการหลอมรวมเชิงปรากฏการณ์
Direct Reality and Virtual Reality Integration 

เกิดการผสมผสานสื่อประสบการณ์เสมือนจริงบูรณาการกับปรากฏการณ์จริง ในทุกขอบเขต สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้สื่อและการสื่อสารซึ่งมีความจำเป็นมากของสังคมและชุมชนทุกระดับเกิดพัฒนาการและมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สื่อใหม่และการสื่อสารสื่อใหม่ในปัจจุบัน จะมีลักษณะการทำงานบนความเชื่อมโยง หลอมรวม และบูรณาการแหล่งข้อมูลและแหล่งประสบการณ์ต่อความเป็นจริงจากหลากหลายชุดเหตุุการณ์ ให้สามารถผสมผสานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในบริบทใหม่ได้อย่างไม่จำกัด ทั้งความจริงจากปรากฏการณ์จริง ความจริงจากการนำเสนอผ่านสื่อ ความจริงจากกระบวนการถ่ายทอดและให้ความหมายหลากหลายชั้น ซึ่งทั้งหมดหลอมรวมและเชื่อมโยงเข้าสู่การปฏิสัมพันธ์ด้วยสื่อแบบติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับบุคคลผู้ใช้ (Mobile devices) โลกเสมือนจริง โลกในจินตนาการ และสถานการณ์จริงเบื้องหน้าในโลกความเป็นจริง สามารถบูรณาการและมีบทบาทร่วมกัน ก่อให้เกิดสื่อและการสื่อสารสื่อใหม่ในรูปแบบที่ไม่เหมือนดังในอดีต

นอกจากนี้ สื่อและการสื่อสารสื่อใหม่ จะนำไปสู่พัฒนาการใหม่ๆของเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนก่อเกิดกระบวนการเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างใหม่ อันส่งผลอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ ในหลายรูปแบบอาจจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมมากกว่าการเป็นส่วนเสริมความสมบูรณ์ให้กับภาคการผลิตและบริการอย่างอื่น

ในอดีตนั้น การดำเนินงานด้านสื่อและการสื่อสาร อาจจะถูกตัดออกเป็นลำดับแรกๆเมื่อต้องการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ในยุคใหม่นี้ สื่อและการสื่อสารสื่อใหม่ในลักษณะดังที่กล่าวมา จะเป็นนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างภาคการผลิตและภาคบริการทางเศรษฐกิจสังคมเสียเอง เช่น เกิดภาคบันเทิงและธุรกิจสืบนื่องขนาดใหญ่ในรูปแบบใหม่ของกีฬาและเกมส์ในสื่อเสมือนจริง (Games and e-sport)

เกิดรูปแบบใหม่ของศิลปะและการแสดงที่ผสมผสานการฉายสื่อดิจิตัล การนำเสนอสื่อใหม่ และการนำเสนอของจริง ทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสัมพันธ์กับการให้ประสบการณ์เสมือนจริง การจำลองการรักษาจากของจริงและสื่อเสมือนจริง ซึ่งทำให้เกิดการพลิกโฉมหลายด้านของกระบวนการทางการศึกษา การแพทย์ การทหาร การบิน การเงินการธนาคาร การจับจ่าย การค้า การพาณิชย์ และอื่นๆ เหล่านี้เป็๋นต้น.

....................................

หมายเหตุ :

ข้อเขียนนี้ เป็นเอกสารประกอบการบรรยายของผู้เขียน ในรายวิชาสื่อใหม่ สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทำงานและผู้สนใจ รวมทั้งเป็นความรู้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งแวดล้อมด้วยความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนต้องบันทึกบทเรียนให้พลวัตรไปกับวิทยาการและเทคโนโลยีสื่อซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไปด้วย จึงนำมาเผยแพร่และบันทึกรวบรวมไว้ในนี้ด้วย

....................................................

บรรณานุกรมและเอกสารประกอบการเขียน  

สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือประเทศไทย,VEEDVIL, (2012). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก http://www.veedvil.com/news/thailand-mobile-in-review/)  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์ , การวิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ : เวทีชุมชนออนไลน์ ... การวิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จากhttps://www.facebook.com/%E0%B...  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์, กลุ่มเรียนวิชาสื่อใหม่_กลุ่ม 1_ 2560: สื่อเตรียมสอบกลางภาค รายวิชาสื่อใหม่, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก https://www.facebook.com/group... 128026001246447/  

วิรัตน์ คำศรีจันทร์, กลุ่มเรียนวิชาสื่อใหม่_กลุ่ม 2_ 2560: สื่อเตรียมสอบกลางภาค รายวิชาสื่อ, (2561). สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก https://www.facebook.com/group... 1756021141358936/   Social media, (2016) สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561 จาก http://www.9tana.com/node/thai... 

หมายเลขบันทึก: 643880เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2018 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท