ครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญที่สุดในการอบรมกล่อมเกลาเด็กๆ


      เมื่อคืนที่แล้วผมได้ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนาและค้างคืนที่วัดแห่งหนึ่ง  ตอนเช้าก็เข้าร่วมกิจกรรมทำวัตรเช้า นั่งสมาธิภาวนาต่อ  และใส่บาตร  เสร็จแล้วก็ร่วมถวายภัตตาหารพระ หลังจากนั้นพระก็ให้ญาติโยมเข้าแถวไปตักอาหารมารับประทานกันด้วยอาการสงบ  โดยพระได้นำสวดปฏิสังขา โยนิโส... ให้พิจารณาลดอัตตาในการบริโภคอาหาร  

      มีเหตุการณ์หนึ่งในขณะนั้นที่ผมอยากเอามาเล่า เพื่อเป็นข้อคิดให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคหลังๆ   มิได้มีเจตนาเพ่งโทษหรือจับเป็นอารมณ์แต่อย่างใด  เพียงแต่ผมไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปโดยไม่นำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์และเป็นข้อคิดในการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนในอนาคต
     กล่าวคือในระหว่างการเข้าคิวเพื่อตักอาหารมีพ่อ แม่ ลูกชายครอบครัวหนึ่ง ลูกชายคงอายุราวๆเด็กประถมปลาย ก็ดูแต่งตัวดี  น่าจะเป็นลูกคนมีฐานะและดูไม่น่าจะเป็นเด็กเกเร(ยังชมในใจว่ารู้จักพาลูกมาเข้าวัดเข้าวา)  พ่อแม่พาเด็กคนนี้มาเข้าคิวต่อจากผม  โดยเด็กพยายามเบียดเข้ามาเพื่อแย่งตักอาหารที่เขาหมายตาไว้ คล้ายกลัวจะถูกแย่งไปเสียก่อนปานนั้น  โดยไม่ฟังคำเตือนตลอดเวลาของพ่อแม่  เวลาตักอาหารก็ตักจนล้นถาด ด้วยกิริยาไม่น่ารัก
     เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดและอยากสะท้อนไปถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่รุ่นใหม่ๆทุกคนว่า  น่าจะต้องช่วยกันอบรมกล่อมเกลาบุตรตั้งแต่ตอนเป็นเด็กตัวน้อยๆ(ไม้อ่อนดัดง่าย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรู้จักให้  และการรู้จักรอคอย  เริ่มตั้งแต่ฝึกให้รู้จักการให้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆเช่น รินน้ำให้พ่อแม่ดื่ม  ตักข้าวให้พ่อแม่ก่อนของตนเอง  แบ่งขนมให้น้องให้พี่ ให้ญาติ  แบ่งปันของให้เพื่อน ดูแลช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากและสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งฝึกให้ช่วยพ่อแม่ทำงาน  ช่วยยกของ ดูแลทุกข์สุขของคนใกล้ชิด เป็นต้น และทุกครั้งที่เขาทำความดีก็ต้องไม่ลืมที่จะชมเชย ยกย่องในสิ่งที่เขาทำอย่างจริงใจ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ก็จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและติดพฤติกรรมที่ดีนี้ไป  รวมทั้งเรื่องอื่นๆ เช่นการตักอาหารแต่พอรับประทาน และต้องรับประทานให้หมด การมีนิสัยที่พอเพียง เป็นต้น  โดยการทำให้ดู ทำบ่อยๆ บอกสอน ให้เหตุผลประกอบ ทำกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี่แหละเขาก็จะเกิดเป็นนิสัย 
       เมื่อเข้าโรงเรียนคุณครูก็อบรมกล่อมเกลาต่อเนื่อง  เขาก็จะได้ซึมซับและจะเป็นเด็กที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา มีความกตัญญู  ถ้าเริ่มต้นกันอย่างนี้น่าจะลดนิสัยความโลภ การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นลดน้อยหรือหายไปเอง  และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ  เป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นคนดีของสังคม เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่น่าเคารพให้แก่เด็กในรุ่นต่อๆไปอีก  สังคมก็จะสงบสุขน่าอยู่มากขึ้น  
      แต่ที่ผ่านมาสถาบันครอบครัว และสถาบันสังคมเรายังถูกมองว่ามีความอ่อนแออยู่มาก  ขาดตัวแบบที่ดีที่จะอบรมกล่อมเกลาเด็กและเยาวชน บางครั้งพ่อแม่เองก็เอารัดเอาเปรียบพ่อแม่ของตนหรือแสดงความไม่กตัญญูต่อบุพการีให้ลูกๆเห็น  ตลอดจนขาดความจริงจังในการเลี้ยงดูเด็ก มีการสร้างภาพให้ดูดี  มีทั้งเลี้ยงแบบปล่อยอย่างสุดกู่ หรือดูแลแบบคุณหนูไปทั้งชีวิต  พอเด็กเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผลผลิตที่คอยคิดแต่จะเอาทุกสิ่งทุกอย่างจากทั้งพ่อแม่  สังคมและบ้านเมือง ไม่รู้จักการเป็นผู้ให้ คอยเอารัดเอาเปรียบคนรอบข้าง  ขึ้นรถไฟฟ้าก็จะแย่งคนแก่นั่งแล้วเล่นมือถือกันตลอดแถวโดยไม่ยี่หระใครทั้งนั้น  ชอบขับรถปาดหน้าแซงคิวคนอื่นอย่างเห็นเป็นเรื่องสนุกและเป็นเรื่องธรรมดา  เมื่อถูกต่อว่าก็จะโกรธพร้อมที่จะมีเรื่องกับทุกคนทุกวัย  สะสมความโลภความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยจนถึงขั้นคอรัปชั่นโกงบ้านโกงเมือง โดยไม่รู้จักพอ ถ้าสังคมยังเป็นเช่นนี้กันมากขึ้น  คนจะเก่งบ้านเมืองจะก้าวหน้าขึ้นอย่างไรก็คงจะหาความสงบสุขเหมือนสังคมสมัยรุ่นปู่รุ่นย่ารุ่นตารุ่นยายได้ยาก
       เรามาเริ่มต้นกันใหม่เถอะนะครับ...
                             

หมายเลขบันทึก: 643840เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2018 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2018 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไปเห็นมาเมื่อวานนี้ ไม่อยากให้ผ่านไป เลยบันทึกเตือนพ่อแม่รุ่นใหม่ๆเสียหน่อย โดยเฉพาะตอนขึ้นรถไฟฟ้าเห็นชัดมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท