ประเด็นร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 6 : องค์กรกลาง


ประเด็นร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 6 : องค์กรกลาง

7 ธันวาคม 2560

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

กฎหมายบุคคลท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

ในส่วนของข้าราชการพลเรือน มีการตรากฎหมายข้าราชการพลเรือนที่ใช้นามเรียกขานคำเดิมมาตลอด เริ่มจาก พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2471 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2476 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2479 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2482 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2485 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2495 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2497 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และ พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ครั้นมาดูกฎหมายบุคคลท้องถิ่นกลับมีการใช้คำเรียกกฎหมายที่แตกต่างไป นับตั้งแต่กฎหมายที่ตราออกมาแล้วได้แก่ พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, พรบ. ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528, พรบ. ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานครพ.ศ.2554

สำหรับกฎหมายบุคคลใหม่ ก็มีชื่อเรียกที่ค่อนข้างสับสน อาทิ เรียกว่า ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับ สถ. และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ) หรือ ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ... (สำนักงาน ก.ถ.) หรือ ร่าง พรบ. การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ ... (คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย-คปก.) เป็นต้น

          การที่เรียกชื่อแตกต่างกันมีผลว่า คำที่ใช้เรียกบุคลากรของท้องถิ่นก็จะเป็นเพียง “ประเภทหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” เท่านั้น มิได้มีความหมายว่าเป็น “ข้าราชการ” แต่อย่างใดแม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นได้บัญญัติคำว่า “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ไว้ในมาตรา 250 วรรคท้าย[2] แล้วก็ตาม หากไม่มีการนิยามความหมาย โดยเฉพาะสิทธิในการ “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ” มีเป็นอย่างไร ก็อาจมีการแปลความ ตีความหมายที่มิได้หมายถึง “ข้าราชการ” อันมีสิทธิหรือสวัสดิการตามกฎหมายต่าง ๆ อาทิ กฎหมายเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ กฎหมายค่าเช่าบ้าน หรือการเทียบโอนตำแหน่งตามกฎหมายเฉพาะของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในแต่ละประเภท เป็นต้น

 

ขั้นตอนกระบวนการบริหารงานบุคคลที่สำคัญ

มาทบทวนดูขั้นตอนกระบวนการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น(Local Personnel System)ซึ่งเป็น “การบริหารงานบุคคลภาครัฐ” (Public Human Resource Management - PHRM) เกี่ยวข้องกับขั้นตอนสำคัญ ดังนี้ [3] (1) การวางแผนกำลังคน  (2) การกำหนดตำแหน่ง (3) การกำหนดค่าตอบแทน สวัสดิการ (4) การสรรหาและคัดเลือก (5) การพัฒนาบุคลากร (6) การประเมินผลปฏิบัติงาน (7) การเลื่อนตำแหน่ง (8) การโอน หรือย้าย (9) ขวัญและวินัย การลงโทษ (10) การพ้นจากราชการ ระบบบำเหน็จบำนาญโดยมีเป้าหมายหลักการบริหารงานบุคคลอยู่ที่[4] (1) การสรรหา (2) การพัฒนา (3) การรักษาไว้ และ (4) การใช้ประโยชน์

 

องค์การกลางการบริหารงานบุคคล

           องค์การกลางบริหารงานบุคคลภาครัฐ (Central Personnel Agency) หรือ องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ (Central PHRM Agency) ถือเป็นกลไกสำคัญในการ ควบคุมและกำกับดูแลให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน

องค์กรกลางบริหารงานบุคคลมี 2 รูปแบบคือ [5] (1) รูปแบบคณะกรรมการ (Commission Type) ประกอบด้วย กรรมการที่มาจากการแต่งตั้งหรือได้รับเลือกตั้ง หรือมาจาก 2 ทาง คือ ได้รับการแต่งตั้ง เช่น กรรมการโดยตำแหน่งเข้ามาเป็นกรรมการส่วนหนึ่ง และได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง จำนวนกรรมการของแต่ละองค์กรกลางบริหารงานบุคคลต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 9 – 18 คน (2) รูปแบบผู้อำนวยการ (Director Type) เป็นการจัดองค์กรที่ให้ความสำคัญกับบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าบริหารขององค์กร คือ ตัวผู้อำนวยการ

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.(Civil Service Commission- CSC) ใช้รูปแบบคณะกรรมการซึ่งจะมุ่งเน้นภาระหน้าที่ในด้านการเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการและหน้าที่สำคัญอื่นๆในการบริหารงานบุคคลภาครัฐมีจุดสำคัญคือ “การรวมอำนาจ” (Centralized System) ระบบบริหารงานบุคคลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  และมาตรฐานในการปฏิบัติหรือมีการจัดรูปแบบองค์การกลางในลักษณะ “การกระจายอำนาจ”ที่มีหลายองค์การกลางช่วยกันรับผิดชอบในกิจกรรมการบริหารงานบุคคลโดยคงบางส่วนที่เป็นเรื่องนโยบาย มาตรฐาน และการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไว้ที่ส่วนกลางสำหรับประเทศไทยแบ่งแยกองค์การกลางบริหารงานบุคคลออกตามประเภทของข้าราชการ ในรูปแบบของคณะกรรมการข้าราชการประเภทต่าง ๆ โดยแต่ละองค์การกลางต่างมีอิสระ ในการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ [6]

รูปแบบ “คณะกรรมการ” ที่เรียกว่า “Commission” (คณะกรรมการอิสระ) เน้นความเป็นอิสระจากผู้แต่งตั้ง และมีกลไกคุ้มครองความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจเพื่อให้สามารถใช้ดุลพินิจอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลและข้าราชการยึดหลัก “การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” หรือหลัก “ความไม่มีส่วนได้เสีย” (Impartiality) ไม่ยึดหลัก “ความเป็นกลางทางการเมือง” (Neutrality) ดังเช่น “Committee” ที่ห้ามกรรมการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง[7]

            เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่นนั้นได้จำลองลอกแบบมาจากกฎหมายของข้าราชการพลเรือน ที่มีบริบทของข้าราชการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ “ท้องถิ่น” (อปท.) มีลักษณะเป็นการเมืองที่มีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้แทนหรือตัวแทนของ อปท. มีหน้าที่บริหารนโยบายงาน อปท. รวมทั้งงานการบริหารบุคคลด้วย ที่รับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง ต่างจากข้าราชการพลเรือนที่อำนาจในการบริหารงานบุคคลสิ้นสุดที่หัวหน้าฝ่ายประจำคือ ปลัดกระทรวง หรืออธิบดีเท่านั้น และท้องถิ่น อปท.ทั่วไป ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากกรุงเทพมหานครที่เป็น “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ฉะนั้น การเทียบโครงสร้าง องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลกลางจึงแตกต่างกันไป [8] ที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงกันได้ทุกประการ

 

ปัญหาการมีคณะกรรมการกลางบุคคลหลายคณะ

“องค์กรบริหารงานบุคคลกลางของท้องถิ่น” ถือว่าเป็นจุดสำคัญหัวใจของการบริหารงานบุคคล งานบริหารบุคคลเป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กรมันน่าแปลกที่แต่ละท้องถิ่นกลับมีกฎหมายเกี่ยวกับงานบุคคล หรือที่ตาม พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ “คณะกรรมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นจังหวัด” 3 ประเภทได้แก่ ข้าราชการส่วนจังหวัด สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), พนักงานเทศบาล สำหรับเทศบาล และพนักงานส่วนตำบล สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือที่เรียกรวมว่า “คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด” คำย่อว่า “ก.จังหวัด” มีหน้าที่ออก “ประกาศหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปที่ “คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น” (แยกรวม 3 ประเภท) คำย่อว่า “ก.กลาง” ได้แก่ คณะกรรมการกลางข้าราชการส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และ คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ซึ่งปรากฏว่าในการออกประกาศฯ ของ ก.จังหวัดนั้นมีลักษณะที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นแนวทางเดียวกัน แม้เป็นท้องถิ่นประเภทเดียวกัน ในบางจังหวัดทำประกาศหลักเกณฑ์ฯ เป็น “ฉบับแก้ไข” บางจังหวัดทำเป็น “ฉบับเพิ่มเติม” รวมแล้วแต่ละจังหวัดมี 3 ก.จังหวัด (อบจ. เทศบาล และ อบต.) รวม 225 ฉบับ [9] ซึ่งยังไม่รวมกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา อีกต่างหาก ศาลปกครองมีแนววินิจฉัยว่า ก.จังหวัดแต่ประเภทใน แต่ละจังหวัดนั้นถือ เป็น “องค์กรบริหารงานบุคคลกลาง” เหมือนกันหมด นี่เป็นปัญหาของการมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่มากมาย ทำให้ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานการบริหารงานบุคคลได้ อันเป็นปัญหาสำคัญที่ได้มีการเรียกร้องและท้วงติงมาตลอด ไม่ว่าในช่วงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหรือการศึกษาวิจัยวิชาการของหน่วยงานใดก็ตาม ก็จะมีปัญหาเรื่อง “การมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่หลากหลายมากเกินไป”  หรือ “การมีคณะกรรมการจำนวนหลายคณะ” ผลการศึกษาล่าสุดอาทิ การศึกษาของธนาคารโลก (2552-2553)[10], การศึกษาของ ดร.สุรพงษ์ มาลี (2554)[11], การศึกษาของ อภิรัตน์ วงศ์ประไพโรจน์ (2557)[12], การศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) (2558) [13] และ การศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) (2559) [14] ต่างมีข้อสรุปที่ตรงกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมี “คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” หรือ ก.ถ. ควบคุมทั้ง ก.กลาง (3 ประเภท) ก.ก. (คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร) และ ก.เมืองพัทยา รวมทั้ง 5 ก. ก็ตาม แต่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ถือเป็น “ข้าราชการประเภทหนึ่ง” ที่มีมาตรฐานของตัวเองที่ใกล้เคียงกับข้าราชการพลเรือนมาก และ กทม. ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นัก เพราะขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย

 

ปัญหาองค์กรบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น 

ผลการศึกษาของอภิรัตน์ วงศ์ประไพโรจน์ (2557) [15]พบว่ามีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยที่สำคัญรวม 3 ประการ คือ (1) ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบการบริหารงานส่วนท้องถิ่นพบว่าเกิดปัญหาการทับซ้อนกันระหว่าง คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกับคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น ในการออกมาตรฐานกลางบริหารงานบุคคล เนื่องจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ไม่สามารถที่จะบังคับใช้และใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจตัดสินใจที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นได้ ว่าจะนำมาตรฐานกลางของคณะกรรมการใดมาปรับใช้คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดขาดความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานส่งผลโดยตรงต่อการใช้ดุลพินิจและการบังคับใช้แนวทางในการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลต่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั่นเอง(2) ปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่เป็นเพียงกองหนึ่ง ภายใต้สังกัดของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ภารกิจและหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการดูแลและควบคุมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของทั้งประเทศไทย โดยมีเลขานุการเป็นหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามโครงสร้างจึงถูกครอบงำโดยกระทรวงมหาดไทย ทั้งในเรื่องการบริหารงาน หรือการตัดสินใจในการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หมายความว่า คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลถูกครอบงำจากราชการบริหารส่วนกลางนั่นเอง(3) ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการลงโทษทางวินัยและการอุทธรณ์ร้องทุกข์เกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจในกระบวนวิธีพิจารณาโทษทางวินัย อีกทั้งยังเกิดปัญหาในการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ เนื่องจาก คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ตั้งอนุกรรมการ ส่งผลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อพนักงานส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาโทษทางวินัย เกิดการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ในปัจจุบันคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นทั้งผู้พิจารณาการลงโทษทางวินัย และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้รับเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ด้วย

นี่เป็นสภาพเบื้องค้นขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่เรียกร้องปรับปรุงกันมายาวนานถึง 18 ปี

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 13วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสบดีที่ 14ธันวาคม 2560, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 &หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23601 หน้า 6(กลาง), การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ

[2]มาตรา 250วรรคห้า (วรรคท้าย)

กฎหมายตามวรรคหนึ่งและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกัน การก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย

[3]ในหลักทั่วไปสากลให้ดูจากขอบเขตของงานด้านบริหารงานบุคคล (Personal  Functional) ได้แก่ (1) การวางแผนกำลังคน  (Personnel   Planning) (2) การสรรหาและการคัดเลือก  (Finding and Selecting) (3) การจัดบุคคลเข้าทำงาน  (Recruitment) (4) การปฐมนิเทศ  (Orientation) (5) การพัฒนาและฝึกอบรม   (Training and  Development) (6) การเลื่อนชั้นและการโยกย้าย (Transfer  and  Promotion) (7) การสร้างแรงจูงใจ  (Motivation) (8) การจัดการด้านสวัสดิการ  (Welfare) (9) การพ้นจากงาน (working  Leave) (10) แรงงานสัมพันธ์    (Labor  Relation)

& ทำไม Google ไม่สนว่าคุณ จบจากมหาวิทยาลัยดังแห่งไหน?, กาแฟดำ(สุทธิชัย หยุ่น), กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 ธันวาคม 2557,  www.bangkokbiznews.com/blog/detail/624195 

แผนกทรัพยากรบุคคลของกูเกิลเขาไม่เรียก Human Resources หรือ HR แต่ตั้งชื่อให้ใกล้ความจริงแบบพื้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ว่า People Operations ซึ่งหมายถึงเรื่อง “คน” ดี ๆ นี่เองนั่นแหละ

[4]อรพันธ์ อันติมานนท์, การบริหารทรัพยากรมนุษย์สำหรับผู้บริหาร, 2560 หน้า 3, http://person.ddc.moph.go.th/h...7.15082560.pdf  

[5]จุรี วิจิตรวาทการ จิรวรรณ ภักดีบุตร และ เกศกานดา จตุรงคโชค, 2547, อ้างใน ระบบข้าราชการในอนาคต: บทบาทหน้าที่ของ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. และบทบาทของส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในทศวรรษหน้า (นายฉัตรพงษ์ วงษ์สุข และ ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร), ปีที่วิจัย 2552, http://www.ocsc.go.th/download...ระบบข้าราชการในอนาคตฯ-2552  

&บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. และบทบาทของส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล, http://lib.dtc.ac.th/ebook/Hum...39%20Chapter%202.pdf  

[6]องค์กรกลางบริหารงานบุคคลในระบบราชการไทยและจำนวนข้าราชการทั่วประเทศล่าสุด, 2554, http://www.vichakankunapab.com...366.0;wap2  

[7]เย็นวารี, องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ : ประเด็นที่ควรทบทวน, 13 กุมภาพันธ์ 2557, http://hrnoakkala.blogspot.com...2014/02/blog-post_20.html  

[8]ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรทัย ก๊กผล, การบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, http://wiki.kpi.ac.th/index.ph...การบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร  

&ประวิทย์ ทองภูเบศร์, การบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร : ศึกษาเฉพาะกรณีคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520, http://digi.library.tu.ac.th/t...ชื่อเรื่อง.pdf 

&เอกสารประกอบการพิจารณา เรื่อง บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการต่าง ๆ, การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 4, 18 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.senate.go.th/w3c/se...  

[9]เดิมเมื่อเริ่มใช้บังคับ พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มี 75 จังหวัด จังหวัดละ 3 คณะกรรมการฯ ฉะนั้น เดิมจึงมี คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด = 75 X 3 = 225 คณะกรรมการ รวม ก.เมืองพัทยา และ ก.กรุงเทพมหานคร = 227 คณะกรรมการฯ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 76 จังหวัด คือ จังหวัดบึงกาฬ ตั้ง พ.ศ. 2554 ดู พรบ. ตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 18 ก วันที่ 22 มีนาคม 2554 หน้า 1, http://web.krisdika.go.th/data...2/%B504/%B504-20-2554-a0001.htm 

[10]รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย รายงานศึกษาฉบับที่ 3 (World Bank), ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ), บทที่ 6 การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น หน้า 46, 2553, http://documents.worldbank.org...  

[11]สุรพงษ์ มาลี, บทวิเคราะห์ ประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... , สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, จัดพิมพ์โดย สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2554, http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_173.pdf 

&  ลองเทียบดูร่างฉบับใหม่ ใน “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....”, ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (การรับฟังความคิดเห็น), ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.2/ว 1821 ลงวันที่ 8 กันยายน 2560 เรื่อง ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...  , http://www.dla.go.th/pub/256001.pdf 

[12]อภิรัตน์ วงศ์ประไพโรจน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย เลื่อนฉวี (ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์), ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, วารสารปีที่ 3 ฉบับที่ 1 สิงหาคม-พฤศจิกายน 2557, http://www.dpu.ac.th/graduate/...ปีที่%203%20ฉบับที่%201%20สิงหาคม-พฤศจิกายน%202557/83-Jour_V3_No_1_.pdf 

[13]คนทำงาน อปท. ควรรู้ สปช. เสนอปฏิรูป ‘บุคลากรท้องถิ่น’ อย่างไรบ้าง, 13 เมษายน 2558, คณะอนุกรรมาธิการการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ, https://prachatai.com/journal/2015/04/58835  

[14]เอนก เกษมสุข, อนุกรรมาธิการการบริหารงานบุคคล การกำกับดูแล ตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดูใน สรุปเวทีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย), จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันพุธ ที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 08.00- 15.40 น. ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, http://www.lrct.go.th/th/wp-content/uploads/2016/09/สรุปการสัมมนาร่างพระราชบัญญัติ-การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น-พ.ศ.-.....pdf  

[15]อภิรัตน์ วงศ์ประไพโรจน์, อ้างแล้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท