สังคม กลุ่มชน ชาติพันธ์ุ ญ้อท่าขอนยาง : ไทญ้อเป็นใคร มาจากไหน


ความหมายของคำว่า "ไทญ้อ"   



                      คำว่าไทญ้อ  หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้าง  ในแง่นัยยะของตัวภาษามีอะไรที่บ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์ของชาวไทญ้อไว้อย่างน่าสนใจ  และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป  อันดับแรกผู้เขียนขอเเยกคำว่า "ไทญ้อ"  ออกเป็น 2  คำ  คือคำว่า  ไท และคำว่า ญ้อ  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นรากศัพท์ตามความหมายของคำดังนี้

 คำว่า “ไท” มีผูให้ความหมายไว้หลายท่านดังนี้

    1. หมายถึง “ประชาชน” “พลเมือง” คนธรรมดาสามัญที่ไม่ใช่เจ้าขุนหรือบริพารลูกเจ้าลูกขุนเช่นในคำว่า “ไพร่ฟ้า ข้าไท” (ไพรฝาขาไท)  ตามศิลาจารึกหลักที่สาม
    2. หมายถึง “คน” หรือ “ชาว”  ตามความหมายที่ใช้ในภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยถิ่นอื่น เช่น ไทบ้านนอก – คนบ้านนอก  หรือชาวบ้านนอก  ไทเมือง – คนในเมือง  ไทบ้านเพิ่น – ชาวบ้านอื่นเป็นต้น
    3. หมายความว่า “ฝ่าย” หรือ “ข้าง” ความหมายนี้ปรากฏอยู่ในภาษาไทยถิ่นอีสานว่า ไทเพิ่นไทโต๋ – ฝ่ายเขาฝ่ายเรา  ไทเขาไทเฮา – ข้างเขาข้างเรา เป็นต้น
    4. หมายความว่า “เป็นใหญ่” และ “อิสระ” หมายถึงความเป็นไทไม่เป็นทาส  มีความอิสระในการประกอบอาชีพมีศักดิ์ศรีในความเป็นเชื้อชาติที่ไม่ถูกกดขี่  มีภาวะเทียมหน้าเทียมตาเสมอกับชนชาติอื่นทุกประการ  คือมีความเป็นไทแก่ตัว  ตามกฎหมายหมายถึงมีอิสระในการดำรงชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิ   ตามความหมายนี้น่าจะเพิ่งบัญญัติความหมายขึ้นใหม่  ในสมัยฝรั่งล่าเมืองขึ้น  เพราะไม่ปรากฏมีความหมายนี้ในภาษาไทยถิ่นใดเลยนอกจากภาษาไทยกลาง
    5. หมายถึง  ชนชาติไทยสาขาหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง  คือ กลุ่มไท (Thai  Group) ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไท” (Thai) และมีลักษณะของภาษาเป็นเสียงธนิต (aspirated)  เช่น ไทสยาม  ไทลาว        ไทกะเลิง  ไทพวน  ไทโย้ย  ไทย้อ  ผู้ไท ไทตากใบ  ไทกะเลิง เป็นต้น (เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์, 2531 : 6-7)
    6. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2554 : 590) ได้ให้ความหมายของคำว่า  ไท  ในความหมายที่สาม  หมายถึง ชนเชื้อชาติไท  มีหลายสาขาด้วยกัน  เช่น  ไทใหญ่ ไทดำ ไทขาว ,ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส, เช่น เราเป็นไทไม่ใช่ทาส.

 ส่วนคำว่า “ญ้อ” ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านดังนี้

          ปรีชา  พิณทอง (2532 : 630 ) กล่าวว่า ย้อ หมายถึง คนไทยเผ่าหนึ่ง เรียก ไทยญ้อ อยู่ในท้องที่จังหวัดนครพนม           บุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุล และ นภาพร  พิมพ์วรเมธากุล ได้ให้ความหมายของ ย้อ คือ คนไทยเผ่าหนึ่ง  ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดสกลนครและนครพนม  เรียก “ไทย้อ” หรือ “ย้อ”

          สำหรับผู้เขียนเอง  มีความคิดว่าคำว่า “ย้อ”  น่าจะมีรากศัพท์ที่มาจากคำว่า “เหยิ้น” ซึ่งมีความหมายว่าเชื่องช้า  เนิบนาบ  ที่คนทั่วไปเรียกแบบนี้ก็เพราะสำเนียงภาษาของชาวไทญ้อมีน้ำเสียงนุ่มนวล  เชื่องช้า  แตกต่างจากสำเนียงภาษาอื่น ๆ ในภาคอีสาน

          ก่อนที่เราจะไปเข้าใจความหมายของคำว่า “ญ้อ ”  คณะผู้จัดทำขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านทุกท่านก่อนว่า  คำว่า”ญ้อ”  สามารถเขียนได้หลายแบบ  และไม่มีแบบไหนผิด  เนื่องด้วยชาวไทยญ้อ  ไม่ได้มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง  ดังนั้นคำว่าญ้อ   จึงถูกบัญญัติและเขียนขึ้นโดยไม่ตายตัว    คำว่า “ย้อ” และ “ญ้อ”      จึงมีความหมายเหมือนกัน   แต่ในรายงานเล่มนี้จะขอใช้คำว่า “ญ้อ” แทนคนญ้อ 

          จากข้อมูลข้างต้น  สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า  ชาวไทญ้อ  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ใช้ภาษาตระกูลไต – กะได อาศัยอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย และในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  แสดงความเป็นกลุ่มชาาติพันธุ์หนึ่งที่มีความสำคัญและอยู่ในประเทศของเรา

ชาวไทญ้อมาจากไหน

          จรัส พยัคฆราชศักดิ์ (2534 : 235) ได้กล่าวถึงตำนานความเชื่อพื้นบ้านของชาวไทญ้อว่าตนสืบเชื้อสายมาแต่ขุนบรม สมัยลงมาสร้างบ้านแปงเมืองตามพงศาวดารนิทานพื้นบ้าน ซึ่งจากตำนานอันนี้จะเห็นว่าชาวไทญ้อได้รับอิทธิพลความเชื่อที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมของชาวล้านช้างเป็นอย่างมาก จากพงศาวดารมีข้อความโดยย่อว่า

          ขุนทั้งสามคือ ปู่ลางเชิง ขุนเค้ก ขุนคาน ขออนุมัติต่อแถนเพื่อลากลับมาอยู่เมืองมนุษย์ตามเดิม โดยอ้างเหตุผลว่า “ข่อยนี้อยู่เมืองบ่นก็บ่แก่น แล่นเมืองฟ้าก็บ่เห็น” พระยาแถนก็อนุมัติให้อพยพลงมาอยู่ “บ่อนนาน้อยอ้อยหนู” ในดินแดนสุวรรณภูมิและให้ควายลงมาไถนา ด้วยอันเป็นเหตุให้คนไทยมีควายใช้ไถนา เป็นปฐมต่อมาควายตัวนี้ตายลงจึงเกิดต้นน้ำขึ้นที่ซากของควาย มีผลน้ำเต้าใหญ่ยิ่งเหลือประมาณผลหนึ่ง (ชาวอีสานโบราณเรียกน้ำเต้าว่าปุ้ง) เมื่อโตเต็มที่ก็ได้ยินเสียงคนอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก ขุนทั้งสามจึงเอา “เหล็กซีแดง” (เหล็กที่เผาจนแดง) เจาะรูเพื่อให้คนออกมา 2 รู คือพวกไทยลมกับไทยสิ มีผิดำเนื้อดำคล้ำ (เนื่องจากถูกรมด้วยควันไฟเวลาถูกเหล็กแดงเจาะ) เป็นบรรพบุรุษของพวกข่า ขอม เขมร มอญ ได้ชื่อว่าเป็นชนชาติรุ่นพี่ ต่อมาก็ยังมีคนเหลืออยู่ในผลน้ำเต้าปุ้งอีกมาก ขุนทั้งสามจึงหาสิ่วมาเจาะใหม่ให้ออกเพิ่มอีก 3 รู พวกที่ออกรุ่นหลังหรือรุ่นน้องนี้มาจากรูสิ่วไม่ถูกควันรมจึงมีผิวกายขาวกว่า ได้แก่ พวกไทยเลิง ไทยลอ ไทยควาง ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนลาว คนไทย คนญวณในภายหลัง เมื่อมีคนออกมาจากน้ำเต้าปุ้งมากมายเช่นนี้ ขุนทั้งสามก็พยายามสอนให้ทำไร่ทำนา ต่ำหูก(ทอผ้า) สอนให้เป็นผัวเป็นเมียกัน

          ในตำนานขุนบรมได้กล่าวถึงเมืองคำเกิดอันเป็นเมืองที่อยู่ของญ้อ ดังนี้ ตอนที่ 3 ของตำนาน เป็นช่วงลูก ๆ ของขุนบรมเจริญวัยทั้ง 7 โดยเลือกจากหญิงที่ออกมาจากน้ำเต้าปุ้ง  ขุนบรมก็จัดแบ่งขุนนางอำมาตย์ ตลอดจนหมู่เสนาให้แก่โอรสทั้งเจ็ด พร้อมทั้งจัดแบ่งเขตให้ไปสร้างบ้านแปงเมือง มีทั้งหมด 7 เมือง ดังนี้

                   เมืองหนองแส              ให้พระยี่เมืองไปครอบครอง

                   เมืองแกว                   ให้จูสงไปครอบครอง

                   เมืองยวน                   ให้ไสผงไปครอบครอง

                   เมืองสีดา                   ให้งัวอินไปครอบครอง

                   เมืองพวน                   ให้เจ็ดเจืองไปครอบครอง

                   เมืองคำเกิด                 ให้ลกกมไปครอบครอง

                   เมืองอโยธยา               ให้ขุนลอไปครอบครอง

          เมืองขุนบรมจัดแบ่งเขตแดนโดยการชี้แนะจากแถนให้กับโอรสทั้ง 7 เรียบร้อยแล้วก็สั่งสอนโอรสให้รู้จักวัตรของผู้เป็นกษัตริย์ สั่งสอนขุนนางและไพร่บ้านไทยเมืองทั้งหลายให้รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตน โดยเฉพาะการค้ำจุนพุทธศาสนา อย่าได้ละเว้นการทำบุญทำทานยอมรับอำนาจของบุญกรรมและเน้นสัมพันธไมตรีระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง ถ้าหากโอรสองค์ใดไม่ปฏิบัติตามก็มีคำแช่งไว้ให้ได้รับภัยพิบัติ

 

          ภาพที่ 1.1 ชาวไทญ้อ  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม ภาพถ่ายโดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศษ (นครพนม, 2559)

          หลักฐานเกี่ยวกับชาวไทญ้อได้ปรากฏครั้งแรกในปี พ. ศ. 2351 ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กล่าวว่าถิ่นฐานเดิมของชาวญ้อ  อยู่ในแคว้นสิบสองปันนา หรือยูนาน  ต่อมาเคลื่อนย้ายตามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐาน   ในเมืองหงสา (ในแขวงไชยบุรีของลาว) ทางตอนเหนือของชาวหลวงพระบางเขตพระราชอาณาจักรลาวสมัยนั้น และในครั้งนั้นชาวไทญ้อได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีหัวหน้าชื่อ ท้าวหม้อ ภรรยาชื่อ นางสุนันทาได้พาบุตรและไพร่ 100 คน ล่องแพตามลำน้ำโขงมาถึงนครเวียงจันทร์ ท้าวหม้อได้ขอสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทร์ เจ้าอนุวงศ์จึงได้พาครอบครัวและพรรคพวกไปตั้งเมืองที่ปากแม่น้ำสงคราม ซึ่งอยู่ทางขวามือของแม่น้ำโขง และตั้งท้าวหม้อเป็นพระยาหงสาวดี ให้ขึ้นตรงต่อนครเวียงจันทร์ อีกกลุ่มหนึ่งขุนบรมเป็นผู้นำ ไปตั้งเมืองที่เมืองคำเกิดและอยู่ในความปกครองของนครเวียงจันทร์เช่นเดียวกัน

          

ภาพที่ 1. 2 ภาพแผนที่เมืองหงสา  แขวงไชยะบุรี  สาธารณัฐประชาธิไตยประชาชนลาวที่อยู่ใกล้กับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดน่าน  ประเทศไทย (ช่วงฉ่ำ ไพศาล, 2556)

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์ไม่ขอขึ้นตรงกรุงเทพฯ และได้หนีไปเมืองญวน  ท้าวหม้อก็พาครอบครัวและบ่าวไพร่อพยพโยกย้ายข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งซ้ายและตั้งเมืองชื่อว่า เมืองปุงลิงและขึ้นตรงต่อเมืองญวน ในปี พ.ศ. 2317 เจ้าอนุวงศ์กลับจากเมืองญวนมานครเวียงจันทร์ และคิดกบฏต่อกรุงเทพฯอีก แม่ทัพไทยตามจับเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวได้  เมื่อสงครามสงบลงก็ได้เกลี้ยกล่อมครอบครัวชาวเมืองคำเกิด คำม่วน ให้ข้ามโขงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองไชยบุรี และให้เมืองไชยบุรีขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯตามอย่างหัวเมืองลาวและโปรดเกล้าฯ แบ่งเมืองนครพนม เมืองหนองหารและเมืองหนองคายให้เป็นเขตแดนเมืองไชยบุรี

ภาพที่ 1.3 ภาพการแต่งกายของชาวไทญ้อในอดีต  ในบริเวณพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร (หอมรดกไทย, 2542)

          ครั้นถึง พ.ศ. 2379 เจ้าเมืองปุงลิง ก็ได้อพยพครอบครัวและบ่าไพร่อพยพจากเมืองปุงลิงมาพักที่ดอนทรายกลางแม่น้ำโขง และขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรกรุงเทพฯจึงได้รับอนุญาตให้อพยพจากดอนทรายกลางแม่น้ำโขงมาตั้ง ณ บ้านท่าอุเทน ต่อมาภายหลังได้ยกบ้านท่าอุเทน เป็นเมืองอุเทน     

          นอกจากนี้ชาวไทญ้อจะมีอยู่เป็นจำนวนมากในอำเภอเมืองสกลนคร อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และยังมีอยู่ที่อื่น ๆอีก เช่น อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอกุดบาก อำเภอกุสุมาลย์ ในจังหวัดสกลนคร อำเภอศรีสงคราม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ( เรืองเดช  ปันเขื่อนขัติย์. 2531 : 22)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

จัดทำโดย

1. นางสาวจุฑามณี  สีผลสมอ          รหัสนิสิต 59010514008
2. นางสาวจุฑามาศ  พรหมดา          รหัสนิสิต 59010514009
3. นายนันทวัฒน์  ทองดี                รหัสนิสิต 59010514012
4. นางสาวสุธีวัลย์  บรรณการกิจ  รหัสนิสิต 59010514024
5. นายอำพล  ถมคำ            รหัสนิสิต 59010514032
6. นายภาณุพงศ์  ธงศรี        รหัสนิสิต 59010514033
7. นางสาวฐิติกาญจน์  ตราษี    รหัสนิสิต 59010514042



หมายเลขบันทึก: 642921เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2017 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท