๖๓๑. ทำนา กับ งาดำ


ในส่วนที่ผมจะทำได้ก่อนในตอนนี้ ก็คือ ให้นักเรียนทำงานศิลปะ ..วันนี้..ให้นักเรียนชั้น ป.๒ แกะผลแห้งเป็นชิ้นๆ ทากาว แล้วปะติดในกระดาษ เป็นรูปอะไรก็ได้ตามใจชอบ..พรุ่งนี้..ค่อยมาพูดคุยกัน แล้วลงท้ายด้วยการเขียนเรื่องจากจินตนาการ..​

            ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำนา ๒ แปลง หรือ ๒ รูปแบบ นาแปลงเล็ก เป็นนาข้าวหอมมะลิ แปลงใหญ่ เป็นนางาดำ จำนวน ๒ ไร่ ทั้ง ๒ แปลงใช้การหว่าน ผลสรุปวันนี้..นาข้าวแบบหว่าน ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น แต่ผลผลิตดูทีท่าไม่่ค่อยดี เพราะทำล่าช้า..ส่วนงาดำ..จบแล้วอย่างเรียบร้อย..สมบูรณ์

           กิจกรรมทำเกษตรอินทรีย์แบบนี้..ไม่ง่ายเลยสำหรับโรงเรียนเล็กๆ แต่พอได้ขยับขยายกิจการไปได้ ก็เลยก้าวมาไกลถึงเพียงนี้ ก็เริ่มรู้สึกสนุก ได้ความรู้และประสบการณ์ ทั้งครูและนักเรียน ..

            ตอนนี้..จำนวนงาดำ ๓ กระสอบ ซึ่งมากกว่า ๕๐ กิโลกรัมอย่างแน่นอนนั้น จะขายที่ไหน? อย่างไร ?กิโลกรัมละเท่าไหร่.?.จะขาดทุนหรือกำไร ผมยังไม่ได้คิดเลย คิดแต่เพียงว่า กิจกรรมการปลูกและเก็บเกี่ยวงาดำ.. ในวันนี้ จะบูรณาการไปสู่การเรียนการสอน..ได้อย่างไร..?

           คิดถึงและรู้สึกขอบคุณ คณะนักศึกษา "วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี " กับปราชญ์ชาวบ้าน ในวันนั้น..ที่มาช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์งาดำ อย่างตั้งใจและพร้อมเพรียง จุดประกายให้..งาดำ..สดใส หลังจากหายไปจากหมู่บ้านนานกว่า ๓๐ ปี..กลับมาฉายแววว่าจะไปได้ดี ณ บ้านหนองผือ

           งาดำ ได้น้ำฝน เมื่อยามฝนตกชุก และพอฝนทิ้งช่วง ก็ได้รถบรรทุกน้ำของเทศบาลเลาขวัญ มาประคับประคอง ให้เจริญเติบโตและแข็งแรง ผู้ปกครองต่างชื่นชมว่าสวยงาม แต่ก็มีหลายคนไม่รู้จักว่าต้นอะไร พอบอกว่า..งาดำ..ก็มีอาการแปลกใจ เหมือนว่าจะเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก..

           ผมก็เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกเหมือนกัน..หลังจากที่ประชุมครู ตกลงปลูกงาดำ ผมจึงขอเมล็ดพันธุ์จากครูนิรุต..หลังจากหว่านไปได้ราว ๒ สัปดาห์ ผมก็เริ่มสังเกตลำต้นเป็นครั้งแรก..มันเหมือนต้นทานตะวัน แต่เล็กและเตี้ยกว่า พอเปรียบเทียบ..มากขึ้น ดอก ผลและเมล็ด ก็จะต่างกับทานตะวันอย่างสิ้นเชิง..

           งาดำ..ดูแลง่ายกว่าการทำนาข้าวหอมมะลิ..ผมมารู้สึกยาก ตรงที่..งาดำ..ที่ปลูกครั้งแรกนี้ แก่ไม่พร้อมกัน พอถึงเวลาที่ต้องเกี่ยว ฝนก็ตก..พอตกลงว่า..จะลงแขกเกี่ยวงา เวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควร..เวลาเกี่ยวจึงพบว่า ผลของงาที่เป็นฝักสีเขียวกลายเป็นสีดำและแห้งกรอบ เจอเคียวเข้าไป เมล็ดงาก็ร่วงจากผล..หล่นอยู่เต็มผืนนา..เห็นแล้วก็รู้สึกเสียดาย..

           ตัดใจ..ไม่เสียดาย คือไม่ต้องโลภมาก ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น คิดเสียว่า..ปลูกเพื่อการเรียนรู้ หากต้องขาดทุนก็ยังเห็นกำไรบ้าง ในเชิงการเรียนการสอน และจดจำเป็นข้อมูลไว้..เพื่อปรับปรุงในปีต่อไป..

            วันนี้ นักเรียน ป.๕ - ๖ ไปช่วยกันเคาะ ผมต้องคอยบอก ว่าเคาะให้เกลี้ยงนะ..ใจเย็นๆ ..ถ้ารีบเร่ง เมล็ดงาอาจซุกซ่อนอยู่..เคาะเสร็จ..ก็เหวี่ยงกำงา ทิ้งกองไว้..เตรียมเอาไปเผา..

            นักเรียนส่วนหนึ่ง..นำกระด้งมาฝัดงา เพื่อเอาเศษใบงาและสิ่งแปลกปลอมออกไป ก่อนเทใส่กระสอบ อีกกลุ่มหนึ่ง..ผมให้เด็ดผลแห้ง ที่ไม่มีเมล็ดงาแล้ว ใส่กระป๋องไว้ เพื่อนำไปใช้ปะติดเพื่อสร้างงานศิลปะ สำหรับการเรียนการสอนต่อไป..

            เคาะงาดำเสร็จสิ้น..ได้กองต้นงาแห้งกรอบมากหลายกอง..ผมคิดจะเผาตรงนั้นเลย แต่คิดอีกจะทำให้เกิดควันพิษไปทำไม?..ตัดสินใจจะนำไปหมกไว้ในพงหญ้า ให้ลำต้นและผลแห้ง ย่อยสลายเป็นปุ๋ย..น่าจะดีกว่า

            การได้สัมผัสใกล้ชิด..งาดำ..ตั้งแต่ต้นจนจบ และผมคิดจะทำให้จบอย่างสวยงาม ก็เพราะเมื่อวันวาน..ไปศึกษาดูงานสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี..พบวิธีการศึกษาเรียนรู้คุณลักษณะของงาดำ..พอสมควร..

           เท่าที่จดและจำมาได้..ก็คือ..งาดำ..เป็นพืชในชุมชน .ที่ควรศึกษา..เพื่อให้เห็นโครงสร้างของลำต้น ราก ใบ ดอก และผล ซึ่งผมจะต้องเข้ารับการอบรม เพื่อจะได้เข้าใจกระบวนการวิเคราะห์และจดบันทึก..

          ในส่วนที่ผมจะทำได้ก่อนในตอนนี้ ก็คือ ให้นักเรียนทำงานศิลปะ ..วันนี้..ให้นักเรียนชั้น ป.๒ แกะผลแห้งเป็นชิ้นๆ ทากาว แล้วปะติดในกระดาษ เป็นรูปอะไรก็ได้ตามใจชอบ..พรุ่งนี้..ค่อยมาพูดคุยกัน แล้วลงท้ายด้วยการเขียนเรื่องจากจินตนาการ..

         ก่อนกลับบ้าน..ฉุกคิดขึ้นมาได้ ก่อนที่นักเรียนจะขนไปกองไว้ให้เป็นปุ๋ย ผมต้องขนต้นงาดำ..ทีแห้งกรอบแล้ว มากองไว้ประมาณ ๒๐ กำ ..ตั้งใจว่า..จะนำไปชุบสี..แล้วตั้งประดับไว้ในห้องเรียน..ผลจะออกมาสวยหรูแค่ไหน..ก็ต้องทดลองทำดู ไม่ลองไม่รู้..

          การคิดแบบครู..ก็ดีไปอีกแบบ เห็นอะไรก็เป็นสื่อและเครื่องมือไปหมด พยายามบูรณาการ เชื่อมโยงไปสู่ห้องเรียน ให้นักเรียนเกิดความคิดวิเคราะห์..เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ทักษะทางภาษาและทักษะชีวิต..ไม่ติดการสอนแบบเดิมๆ 

          ยิ่งอายุงานมากขึ้น..ก็ยิ่งรู้สึกละอาย ถ้าไม่ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน..แบบว่า..ถึงแก่..แต่ก็มีไฟอยู่..มิใช่น้อย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๐  พฤศจิกายน  ๒๕๖๐



หมายเลขบันทึก: 642736เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ..ผอ.คนเก่ง..(ถึงแก่..ก็ยังมีไฟอยู่..ไม่น้อย)..มีประกายของการเปลี่ยนแปลงมาฝากเด็กๆ..เม็ดงาล่วงหล่น นั้น..ๆ..หากไม่ได้..แต่ผลประโยชน์ด้านเดียว..ให้เด็กๆ คอยสังเกตุ..ดูเมล็ดงาเหล่านั้น..ถ้าทิ้งไว้..จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง..เก็บมาเขียนแล้วแต่ละคนที่มีประการณ์จากการเฝ้าสังเกตุการณ์..เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง..คงมีอะไรมาเล่าสู่กันฟังในหมู่เด็กๆ..นะเจ้าคะ..(นอกตำรา)..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท