Seven Years in Tibet ..หนังสือที่พระอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาส เคยอ่าน เมื่อปี พ.ศ. 2498



2 วันที่ผ่านมา ผู้เขียน ได้ไปทำธุระ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างที่นั่งรอรับเอกสารกลับ  ผู้เขียนได้นั่งอ่านหนังสือ ที่ระลึกในพิธีกฐินพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2560 ของวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ มีเอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บันทึกรายวันของพระอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาสรวมอยู่ด้วย

            ระหว่างที่นั่งอ่านบันทึกรายวันที่หลวงพ่อฯท่านเขียนไว้ เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว  ..ผู้เขียนชอบลายมือของท่านมาก ท่านเขียนหนังสือสวย ตัวใหญ่อ่านง่าย.. ภาษาที่ท่านเขียน หลายต่อหลายถ้อยคำที่ผู้เขียนได้อ่านผ่านตานั้น.. ทำให้ผู้เขียนรับรู้ได้ถึงความในใจของท่านในมุมเล็ก ๆ ที่ผู้เขียนไม่เคยสัมผัสมาก่อน

            อย่างในหน้ากระดาษแผ่นนี้...ที่ผู้เขียนได้ถ่ายเก็บไว้  หลวงพ่อฯท่านได้เขียนไว้ ความว่า “ ปากกา ปากเกอร์ 21  ที่ใครส่งมาถวาย ใช้มาร่วม 2 ปีแล้ว เกิดเสีย หมึกขัดมาตั้งแต่เดือน ธันวา(ขณะที่ท่านเขียนบันทึกนั้น เป็นวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2498) นำมาล้าง และแก้ใหม่ในวันนี้ เลยใช้ได้อีก...ดีใจที่รู้สึกว่า..เป็นการตอบแทนความหวังดีของทายก..ตามกำลังที่เราจะทำได้

            ความในใจมุมนี้ ของท่าน...ท่านดีใจที่รู้สึกว่า...เป็นการตอบแทนความหวังดีของบุคคลท่านนั้น ที่ถวายปากกาด้ามนี้ไว้ให้ท่านขีดเขียน  เพราะบุคคลท่านนั้น ท่านคงทราบดีว่า..หลวงพ่อพุทธทาสท่านชอบอ่าน..ชอบเขียน...

            ผู้เขียนชอบใจคำทิ้งท้าย..ที่หลวงพ่อฯท่านเขียนไว้ว่า... ท่านได้ตอบแทนความหวังดีของคนที่ถวายปากกาด้ามนี้ ด้วยการนำกลับมาแก้ไขใหม่ และสามารถนำมาเขียนได้อีก...แทนที่ท่านจะทิ้ง ท่านกลับไม่? ท่านทำตามกำลังที่ท่านจะทำได้

            และในกระดาษแผ่นนี้..หลวงพ่อฯท่านได้เขียนไว้อีกว่า... เช้า อ่าน Seven Years in Tibet.. เล่น   น้องท่านปั้นส่งมาให้ ... ดีมาก

 

 สิ่งนี้เองที่ทำให้ ผู้เขียนกลับมานั่งคิด หาเหตุผล  ในสิ่งที่หลวงพ่อฯท่านเขียนทิ้งไว้ที่ว่า “ดีมาก”  นั้น  “ดีมาก” ในความหมายของท่านนั้น...ตัวผู้เขียนเอง ไม่กล้าที่จะ เดาใจของท่าน ว่าท่านคิดอย่างไร? และคิดกว้างขนาดไหน?

  แต่ผู้เขียนเชื่อในสิ่งที่หลวงพ่อฯท่านเขียนทิ้งไว้...เพียงแค่ คำว่า “ดีมาก” คำเดียว ที่ทำให้ผู้เขียนกลับมาหาคำตอบจากหนังเรื่องนี้  ...การหาคำตอบทำให้พบว่า หนังเรื่องนี้ สร้างจากเรื่องจริงของ  นักไต่เขาชาวออสเตรียที่ใช้ชีวิตอยู่ในทิเบตระหว่างปี ค.ศ. 1944 ถึง 1951 หากเทียบปี พ.ศ. คือระหว่างปี พ.ศ.2487 ถึงพ.ศ. 2494   เรื่องราวดังกล่าวถูกสร้างทำเป็นหนังและนำออกฉาย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2540 (หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วประมาณ 36 ปี)


หลวงพ่อฯอ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ. 2498   แสดงว่า หนังสือเล่มนี้ ถูกเขียนและพิมพ์เผยแพร่หลังเหตุการณ์เกิดขึ้น..ไม่กี่ปี...

นักไต่เขาชาวออสเตรียท่านนี้ ชื่อว่า ไฮน์ริค ฮาร์เรอร์  เขาถูกจับเป็นเชลยในสงครามโลกครั้งที่ 2  และหนีออกจากค่ายกักกันในประเทศอินเดีย เข้าไปที่ทิเบต   อยู่ที่ทิเบตเป็นเวลา 7 ปี การอยู่ที่นั้น เขาได้เป็นครูสอนองค์ทะไลลามะเกี่ยวกับเรื่องราวของโลกภายนอก ที่เป็นเรื่องของ “ภูมิศาสตร์” และ “ดาราศาสตร์” เมื่อจีนเข้ายึดทิเบตเขาจึงกลับบ้านเกิด (ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่ ไฮน์ริค ฮาร์เรอร์  ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลาซา ทิเบต ในฐานะเพื่อนและครูคนหนึ่งขององค์ทะไลลามะ นั้น เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวของโลกภายนอกให้กับองค์ทะไลลามะได้รับทราบ และในขณะเดียวกัน ไฮน์ริค ก็ได้เรียนรู้จากองค์ทะไลลามะถึงความสงบ สันติและการสำรวจลึกเข้าไปภายในใจของตน (ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 30 ตุลาคม พ.ศ.2556)

ผู้เขียน สนใจ สิ่งนี้ครับ ที่ไฮน์ริค ได้เรียนรู้จากองค์ทะไลลามะ นั่นคือ “ความสงบ สันติและการสำรวจลึกเข้าไปภายในใจของตน” เมื่อพิจารณาในสิ่งที่องค์ทะไลลามะท่านทรงถ่ายทอดให้กับ ไฮน์ริค ได้รับรู้นั้น มันกลับไม่ธรรมดาเลย และมันทำให้ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งไปกว่านั้นอีก.. นั่นคือ ช่วงวัยขององค์ทะไลลามะ ตอนนั้น ท่านทรงอยู่ในวัยเด็ก  แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทรงมอบให้กับไฮน์ริค  กลับลึกซึ้ง และล้ำค่ามากทีเดียว  สิ่งนี้เองที่ทำให้ ไฮน์ริค เติบโตทางจิตวิญญาณและเขาสามารถเอาชนะใจของตัวเอง ยอมรับในข้อบกพร่องของตัวเอง และเปิดใจที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ให้มากกว่าตัวตนของเขา และมันทำให้  ไฮน์ริค ได้ค้นพบความสุขและดุลภาพของชีวิตได้อย่างแท้จริง

เหตุที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า ....ก่อนหน้านี้ เขาเป็นนักไต่เขาที่มีความมั่นใจในตัวเองและความทะเยอทะยานในตัวเองที่สูงมาก เขายอมทิ้งภรรยา และลูกน้อยที่กำลังจะลืมตามองโลกใบนี้ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และสิ่งที่เขาทำไปนั้น..เพียงเพื่อพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกให้สำเร็จ

ถึงแม้ว่า..เขาจะพิชิตยอดเขาสูงมากี่ลูกแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่ง ที่เขาไม่เคยพิชิตมันสำเร็จได้เลย นั่นก็คือ... “ความทุกข์”และ “ความเปลี่ยวเหงา” ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของเขา   แต่วันนี้ ...ไฮน์ริค เขาได้ค้นหา และค้นพบ “ความสงบ สันติและการสำรวจลึกเข้าไปภายในใจของตน”  จนเจอ....เขาโชคดีมากเลยนะครับ



องค์ทะไลลามะ องค์ที่ผู้เขียนกล่าวถึง ท่านคือ  ทะไลลามะองค์ที่ 14  “ เทนซิน เกียตโซ”  

และสิ่งที่ผู้เขียนได้ขยายความ ในความหมาย ของคำว่า “ดีมาก” ที่พระอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาส ท่านได้เขียนทิ้งท้ายไว้นั้น  ...อาจไม่ใช่ ทั้งหมด ของดีมาก แค่เป็นเพียงสิ่งน้อยนิด ที่เข้าไปผสมกลมกลืนในความหมายของท่าน...เพียงน้อยนิดแค่นี้...ผู้เขียนกลับมีกำลังใจที่จะค้นหาความหมายของสิ่งนี้ต่อไปครับ   และหากผู้เขียนมีโอกาส... ผู้เขียนจะกลับมาค้นหา..”เพชรในตม” .. จากสิ่งนี้สิ่งที่หลวงพ่อฯท่านได้เขียนทิ่้งไว้อีกนะครับ...ยิ่งอ่านก็ยิ่งลึกซึ้งและแยบคาย  น่าสนใจมากเลยครับ .. Seven Years in Tibet...


หมายเลขบันทึก: 642733เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท