ลองติด F บ้างก็ได้นะลูก จะได้เรียนรู้


F ไม่ทำให้เราตาย แต่ทำให้เรารู้จักวิธีเอาตัวรอดและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น “กว่าเดิม”

ผมมี 2 คำถามตอนท้ายบันทึกนี้ ถ้าอ่านจบแล้วช่วยตอบคำถามนะครับ

ระหว่างสนทนากับเพื่อนที่เป็นครู แล้วพูดคุยกันถึงการมีสาระและไร้สาระในชีวิต จึงนึกถึงบทสนทนาหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ไม่แน่ใจว่ากับใครที่ไหน  นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้กล้าหาญชาญชัย เล่าอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจว่า “คุณแม่บอกว่า ให้ลองติด F  บ้าง จะได้เรียนรู้” ตอนนั้นผมฟังแล้ว ก็ไม่รู้จะสนทนาอะไรกับเขาต่อไปดี ได้แต่อมยิ้ม แล้วปล่อยเสียงหัวเราะเยาะในลำคอ “เหอะๆ” ให้พอทำท่าว่ารับรู้รับทราบกับเรื่องเล่าของเขาคนนั้น แล้วก็นึก F ที่ติดทรานสคริปท์มาตอนเรียนปริญญาตรี

การติด F หมายถึง เราไม่ผ่านขั้นเกณฑ์ที่วางไว้ร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน ว่าหากผ่านระดับนี้ๆๆๆๆๆ จะได้เกรดเท่านั้นเท่านี้ เพื่อใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในวิชานั้นๆ F จึงหมายถึงไม่ผ่านแม้แต่เกณฑ์ต่ำสุดอย่าง D ก็เลยมี F เป็นสัญลักษณ์ว่า “ไม่สำเร็จ” แล้วต้อง “เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”

การติด F ไม่ทำให้เราตาย แต่ทำให้เรารู้จักวิธีเอาตัวรอดและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น “กว่าเดิม” และเกิดการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะการติด F มีเรื่องราวให้เรียนรู้มากมาย เช่น เรียนรู้การทำใจ เพราะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่แก้ไขเรื่องราวใหม่ไม่ให้ซ้ำรอยอดีต (แต่ก็อาจซ้ำได้อีก) เรียนรู้การรู้จักพิจารณาไตร่ตรองตนเอง เรียนรู้ตนเองว่า ขาดตกบกพร่องตรงไหน อ่อนเรื่องอะไรที่ต้องเสริมเพิ่มทัพให้ตนเองเมื่อต้องเรียนใหม่ในวิชานั้น เรียนรู้ที่จะเอาตัวเองให้รอดพ้นจาก F คืออาจจะได้เรียนรู้ว่าที่พลาด พลาดเพราะมัวไปหลงอะไร อย่างไร ไม่ใส่ใจเรียน ขาดเรียน ไม่ส่งงาน อ่านหนังสือไม่เข้มข้นพอ หรือร่างกาย จิตใจไม่พร้อม ก็มีหลายเหตุปัจจัย แล้วตอบตนเองให้ได้ว่า  F ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป  และเมื่อผ่านมันมาได้ ก็จะกระหยิ่มยิ้มย่องอย่างผู้มีชัย อันเป็นชัยชนะเหนือ “ใจ” ตนเอง ที่สามารถเอาชนะกิเลสแห่งตน มิใช่การไปแข่งขันกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน แล้วรหัสภาษาอังกฤษที่ถูกระบุพัฒนาการของวิชานั้นๆ แม้นหากได้แค่ D ก็ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่อีกเรื่องในชีวิต .... แล้วเมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป หลายคราว เราก็ลืมไปเสียด้วยซ้ำว่าเราเคยติด F เพราะในชีวิตจริงมีเรื่องราวมากมายยิ่งใหญ่กว่า F ในตอนเรียนหนังสือ F ในวิชาเรียน กับ F ในชีวิตจริง มันต่างกันมาก.....

 

ที่เขียนบันทึกเรื่องนี้ มิได้เชิญชวนให้ทุกคนลดความตั้งใจหรือลดความเพียรพยายามลง หากแต่อยากให้กำลังใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความเพียรต่างหากจะช่วยให้เรารอดพ้น F และให้ทุกๆจังหวะของชีวิตคือการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะอยู่รอดแม้ในสถานการณ์วิกฤต เรียนรู้ที่จะยกใจตนให้พ้นจากความมืดบอด เพราะจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน .... ช่วงสอบก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะกลัว F  แต่หลายคนไม่ได้กลัว F แต่กลัวได้น้อยกว่า B หรือคาดหวัง A เป็นที่ตั้ง การตั้งเป้าหมายไว้สูงๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกสอนกันมามาก จนบางคนตั้งเป้าหมายเกินตัวเอามาก แต่นั่นก็อาจจะเป็นจุดเรียนรู้ที่สำคัญของเขาเช่นกัน....สำหรับผู้เขียน F ในวันนั้น ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ แต่จะให้ดีอย่าติด F ดีกว่านะครับ....แต่ก็แอบชื่นใจกับบทสนทนากับนักศึกษาคนนั้นที่ผู้ปกครองบอกว่า “ติด F บ้างก็ได้นะลูก” เพราะคิดว่าน้องคนนั้นจะต้องเรียนดีมาโดยสม่ำเสมอ และผู้ปกครองก็เป็นคนที่ใจกว้างเพื่อสร้างฐานของการเรียนรู้ที่สำคัญในทุกๆขณะให้แก่ลูก มิได้คาดคั้นว่าการมีเกรด A มากมายในชีวิตจะเป็นเรื่องที่ดีเด่นเสมอไป

 

มีคำถามสั้นๆ 2 คำถามให้เลือกตอบ คำถามแรกสำหรับนักศึกษาและคำถามที่สองสำหรับบัณฑิต++

คำถามแรก วันนี้คุณพร้อมที่จะเข้าสู่บททดสอบในวันพรุ่งนี้หรือยัง

คำถามที่สอง หากในทรานสคริปท์คุณมี F อยู่ (มันก็อยู่อย่างนั้นแบบเท่ๆของมัน) ณ เวลานี้คุณรู้สึกกับมันอย่างไร

 

ณ  มอดินแดง, 30 พฤศจิกายน  2560

หมายเลขบันทึก: 642730เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบคำถามนี้จริง ๆ ครับ

คำถามที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตได้ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท