วิธีคิดให้รู้เท่าทันตัวเอง


     เวทีเสริมศักยภาพนักจัดการความรู้ท้องถิ่นและแกนนำ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๔๘ ณ สวนพุทธธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ผ่านมา นับเป็นเวทีเริ่มต้น ที่ทางโครงการฯ ให้นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) นำแกนนำชุมชนของตนไปเข้าร่วมเพื่อเสริมศักยภาพร่วมกัน

     ก่อนที่จะเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ จุดมุ่งหมายแรกของดิฉัน ตั้งใจว่าจะใช้เวทีนี้เพื่อทำความรู้จักสนิทสนมกับแกนนำให้มากที่สุด เนื่องจากการค้ดสรรแกนนำของดิฉันนั้นไม่เหมือนเพื่อน นจท.คนอื่นๆ โดยดิฉันได้นำเรื่องโครงการผู้นำสตรีด้านสุขภาพ ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั้งจังหวัด ท่านได้แนะนำให้ดิฉันรู้จักกับ อสม.ที่ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่น ๒ ท่าน ในเบื้องต้นดิฉันได้เข้าไปทำความรู้จักกับพี่ อสม.ทั้ง ๒ ท่านนี้บ้างแล้ว แต่คิดว่า หากได้ร่วมเรียนรู้กันสัก ๒ คืน ๓ วัน เราคงทำความสนิทสนมกันมากขึ้น...แต่แล้วก่อนเดินทางก็ปรากฎว่าดิฉันต้องเดินทางไปประชุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็ฯการประชุมของทีมประเมินภายนอกของโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภาคกลาง โดยมี 'น้องชไมพร วังทอง' นจท.หนองหญ้าไซ ร่วมเป็นตัวแทนของ นจท.เข้าประชุมด้วยครั้งนี้...ดิฉันรู้สึกกังวลมาในเรื่องการเดินทางของแกนนำ เพราะเคยได้สัมผัสการทำงานของ อสม.แล้วว่า แต่ละครั้ง อสม.มีการประชุม ทางหน่วยงานสาธาฯ จะอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี ทั้งด้านพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง และสถานที่ที่จะไปประชุมส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงแรมหรู หรือที่ที่สะดวกสบาย แต่การเดินทางไปครั้งนี้ ตัวดิฉันไม่ได้ไปพร้อมกับแกนนำ แถมยานพาหนะที่ดิฉันหาให้ก็เป็นเพียงรถสองแถวคันเล็ก อีกทั้งขณะที่แกนนำต้องเข้าร่วมประชุมตลอดวันแรก ดิฉันก็ไม่ได้เข้าร่วมเวทีด้วย ตลอดทั้งวันที่ประชุมอยู่ดิฉันก็คอยโทรศัพท์เช็คกับ 'น้าปราณีต' (นจท.ตำบลเชิงกลัด พื้นที่เดียวกับดิฉัน) คอยถามว่าแกนนำเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้รับคำตอบให้หนักใจตั้งแต่เช้าว่า แกนนำไม่คุ้นเคยกับเวทีแบบนี้เลย อยากจะกลับอย่างเดียว ทำให้ดิฉันหวั่นใจว่า จะซื้อใจแกนนำได้อย่างไรหนอ

     ไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญหรือโชคดีกันแน่ ที่ขณะพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ดิฉันได้ซื้อหนังสือ "เข็มทิศชีวิต" แผนที่ดูจิต บริหารชีวิต สู่อิสระทางการเงินและจิตใจ ของคุณ ฐิตินาถ ณ พัทลุง อ่านไปคร่าวๆ ครึ่งเล่ม มีหนึ่งประโยคของหนังสือ กล่าวว่า "เราวิ่งไปหาคนหรือสิ่งของ อยากให้เขาพูดหรือทำอย่างที่เราต้องการ ถ้าไม่ได้ ก็เกิดความเร่าร้อน กระทบกระเทือน ราวกับชีวิตของเราทั้งชีวิตนั้นแขวนไว้ที่คนหรือสิ่งนั้นๆ ใจของเราขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ ภายนอกจะนำไป.....แล้วเราควรจะทำอย่างไร?...." ประโยคนี้ช่วยกระตุกความคิดให้เริ่มคิดช้าๆ อย่างหาเหตุผลให้ทั้งตนเองและแกนนำ รวมถึงการได้พูดคุยกับ 'คุณทรงพล' ที่แสนจะเข้าใจชีวิตของคน ท่านเตือนสติว่า "ทำไมจะต้องกังวลมากมายกับสถานการณ์ขณะนี้ เป็นเรื่องดีเสียอีกที่เวทีนี้จะเป็นเวทีที่เราจะได้คิดว่า แกนนำที่เราคัดสรรมานั้น ใช่หรือไม่ ใช้สถานการณ์นี้เป็นเวทีพิสูจน์ว่าแกนนำจะเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับเราได้เหรือเปล่า" เมื่อดิฉันได้กำลังใจนี้ ทำให้กองไฟที่สุมอยู่ภายในจิตใจจึงดับลง

     เมื่อประชุมเสร็จสิ้น ก็เดินทางมาที่สวนพุทธธรรม ตอนนั้นก็ค่อนข้างดึกแล้ว และปรากฎว่า แกนนำของดิฉํนเดินทางกลับบ้านไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากสอบถามเพื่อนๆ นจท. ถึงสาเหตุการกลับไปของแกนนำ ดิฉันก็ได้คาดเดาว่า  อาจเป็นเพราะแกนนำยังไม่คุ้นเคยกับเวทีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ และเมื่อมาถึงก็ไม่รู้จักใคร  ก็เลยไม่อยากอยู่ ซึ่งดิฉันก็จะลองไปถามแกนนำดูถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเขารู้สึกอย่างไร

     ดิฉันหยุดคิดเรื่องของแกนนำก่อน แล้วตั้งสติให้พร้อมต่อการเรียนรู้ในเวทีเสริมศักยภาพฯ โดยครั้งนี้ดิฉันได้พบกับท่านอาจารย์อมรา สาขากร ประธานมูลนิธิสวนพุทธธรรม และท่านอาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่กรุณามาเป็นวิทยากรเอื้อเฟื้อกระบวนการเรียนรู้...กิจกรรมที่ท่านพาพวกเราเรียนรู้มีหลากหลายรูปแบบ ดิฉันจะขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ดิฉันประทับใจ...กิจกรรมนี้เป็นการตามรู้ตัวเอง โดยการพาเดินแถวเรียงหนึ่งจากสวนพุทธธรรมไปสู่ตลาดบางปะหัน ระยะทางกว่า ๓ กิโลเมตร โดยมีกฎกติกาว่า ห้ามทุกคนพูดคุยกัน...ระหว่างทาง ดิฉันมองดูข้างทาง ซึ่งก็มองเห็นบ้านเรือน โรงอิฐที่ไม่เหมือนของที่บ้านเรา (สิงห์บุรี) ดูวิถีชีวิตของคนในชุมชนตอนเช้า และได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่าพวกเราที่เดินผ่านนั้นเป็นเรื่องแปลก อาจเนื่องจากท่านอ.อมรา จัดกิจกรรมเรียนรู้เช่นนี้บ่อยครั้งแล้วจนเขาเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา...เมื่อกลับมาถึงสวนพุทธธรรม ก็แบ่งกลุ่มย่อยพูดคุยกันว่า แต่ละคนรู้สึกอย่างไร ดิฉันก็เล่าให้ฟังว่า ได้สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว บางครั้งเห็นขยะที่คนเหวี่ยงทิ้งใกล้ๆ กับถังขยะโดยไม่ใส่ลงถัง ก็ทำให้รู้สึกไม่พอใจ หรือมองเห็นโรงอิฐก็รู้สึกว่าเออทำไมเขาทำแบบนี้นะ ไม่เห็นเหมือนที่บ้านเราเลย ก็เห็นโน่นเห็นนี่...ท่านอ.ประภาภัทร ได้ถามคำถามกลับมาคำถามหนึ่งว่า "มองดูทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเลยเนาะ แต่ใจตัวเองได้มองดูหรือเปล่า" นี่เป็นคำถามที่กระตุกให้คิดได้เลยว่า เราเองมัวแต่มองดูคนอื่นๆ สิ่งอื่นๆ จนไม่ได้หันกลับมามองดูที่ตัวเอง อยู่กับใจตัวเองเลย

     การนำความรู้ไปปรับใช้ คิดว่าคงจะเป็นเรื่องของการนำรูปแบบกิจกรรมไปประยุกต์ให้คนฉุกคิดถึงตัวเองกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการนำหลักธรรมคำสอนไปใช้ในการเตือนสติตัวเอง เนื่องจากขณะที่ดิฉันอยู่ในหมวกต่างๆ มากมาย ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเข้ามากระทบกับชีวิตและจิตใจค่อนข้างมาก วิธีคิดให้รู้เท่าทันตนเอง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง...

                                  โดย นันท์นภัส รุ่งแสง ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลเชิงกลัด  อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 6423เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นันท์นภัส รุ่งแสง

ความรู้ที่สรส.มอบให้ได้นำมาใช้ในชีวิตจริงเมื่อเวลาผ่านไปทำให้อยากขอบคุณโครงการดี ๆ ที่สอนให้ชีวิตทำสิ่งที่มีคุณค่าได้อีกตั้งหลายอย่าง ขอบคุณค่ะคุณทรงพลและชาวสรส.ทุกท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท