นักจัดการความรู้ท้องถิ่นพา"สภาปชช.ต.หนองหญ้าไซ"ลงศึกษาชุมชนฯ


          ตามแผนการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนผู้นำชุมชนตำบลหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี มี "ธง" อยู่ที่การจัดตั้งสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่นขึ้นเพื่อเป็นองค์กรที่ทำงานในด้านการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น แต่ทว่าในการดำเนินงานตามแผนงานนั้น มักจะมีการปรับแผนงานเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องประสานการทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าไซ ( อบต.หนองหญ้าไซ ) การดำเนินงานตามแผนแต่ละแผนนั้น จำเป็นต้องใช้กลวิธีเพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับทาง อบต. โดยที่ทาง อบต.นั้นต้องเห็นชอบด้วย ในการทำงานจุดประสงค์หลักก็เพื่อต้องการให้ทาง อบต.หนองหญ้าไซ เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำงานในพื้นที่ของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) ประจำตำบล อีกทั้งยังเป็นแกนนำร่วมในการทำงานด้านการจัดการความรู้เพื่อชุมชน

 

         นอกจากการทำงานที่สอดคล้องกับทาง อบต.หนองหญ้าไซ ดิฉันจำต้องบริหารงานเพื่อให้งานสภาประชาชนตำบลหนองหญ้าไซ (สภาปชช.) และงานสภาหมู่บ้านในแต่ละหมู่ที่ดิฉันได้ร่วมก่อตั้งขึ้นในฐานะของ นจท.ตำบลหนองหญ้าไซ ร่วมกับทาง อบต.หนองหญ้าไซ เมื่อครั้งทำงานในช่วงระยะโครงการที่ ๑ (ในโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) ภาคกลาง) เมื่อมาถึงการทำงานในช่วงระยะโครงการที่ ๒ (ในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น) ทำให้การเคลื่อนงานทั้งทาง อบต. และงานสภาหมู่บ้าน จำเป็นต้องทำงานพัฒนาศักยภาพไปพร้อม ๆ กัน

 

         การดำเนินงานในระยะนี้ ดิฉันเห็นว่าเป็นช่วงที่คณะทำงานมีความกังวลในเรื่องของการทำเกษตรกรรม คือ การทำนา ที่เป็นอาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสามารถทำการปลูกข้าวในปีนี้ได้หรือไม่ ทำให้การมาเข้าร่วมประชุมสภาหมู่บ้านและสภาปชช.ลดน้อยลงไป

 

         ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องจัดพาศึกษาดูงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากของจริง-ทำจริง และสามารถนำกลับไปปฏิบัติปรับใช้ในการทำงานของชุมชนได้

 

         การพาศึกษาดูงานครั้งนั้น (เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๔๘ ณ ชุมชนบางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.หนองหญ้าไซ เพื่อให้ นจท.ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่คณะทำงานสภาปชช.ในหลักสูตร...การสร้างสรรค์ความเป็นชุมชนเพื่อการเรียนรู้และการทำงานเป็นกลุ่ม โดยทาง อบต.หนองหญ้าไซเองก็มีความมุ่งหวังว่าทางคณะทำงานสภาปชช.จะสามารถเรียนรู้จากชุมชนบางเจ้าฉ่าในเรื่องของการทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง และสามารถกลับมาทำแผนชุมชนที่มีความเหมาะสมกับหมู่บ้านของตนเองได้

 

         การจัดการเรียนรู้ โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น ๓ กลุ่มให้ไปศึกษาชุมชนในประเด็นที่สนใจ ได้แก่ ๑) การเรียนรู้เรื่องแผนชุมชน ๒)การเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ ๓) การเรียนรู้เรื่องกลุ่มอาชีพ โดยแต่ละฐานจะมีเพื่อน นจท. ที่อยู่จังหวัดอื่นมาช่วยพาเรียนรู้ (คุณอัฒยา สง่าแสง ; นจท.ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองคุณวลีรัตน์ จำนงค์เวช ; นจท.ตำบลจระเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง)

 

         สิ่งที่คณะทำงานสภาปชช.ได้เรียนรู้จากชาวบ้านในชุมชนบางเจ้าฉ่าครั้งนี้ ได้แก่ การเรียนรู้เรื่องการทำแผนชุมชน ให้สามารถนำกลับไปปรับใช้กับตำบลหนองหญ้าไซ และได้เห็นกลุ่มตัวอย่างในการรวมกลุ่มอาชีพด้านการจักสานภายในหมู่บ้านบางเจ้าฉ่าที่เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งทำให้คณะทำงานฯทีได้เรียนรู้ฐานนี้มีความคาดหวังและเกิดพลังเล็กๆ ที่ต้องการสร้างกลุ่มอาชีพให้มีความเข้มแข็งแบบหมู่บ้านบางเจ้าฉ่า ส่วนด้านการเยี่ยมชมจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาจไม่ค่อยเป็นไปตามความคาดหวังนัก เนื่องจากพื้นที่บางเจ้าฉ่าในระยะหลังมานี้ไม่ค่อยได้เน้นเรื่องของเกษตร อีกทั้งฤดูกาลนี้ก็ไม่มีผลไม้ให้ชม แต่ก็ถือได้ว่า ได้เรียนรู้กับชุมชนได้มากมายทีเดียว

 

         สำหรับตัวดิฉันเอง ในฐานะนักจัดการความรู้ฯ งานครั้งนี้ได้เรียนรู้ในด้านของ การจัดเตรียมงาน การเลือกสถานที่เพื่อจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ถ้าหากเป็นพื้นที่ที่มีคณะมาดูงานพื้นที่นั้นมากๆ จะทำให้คุณภาพที่เกิดขึ้นในการพาศึกษาดูงานของนั้นน้อยลง เนื่องจากการจัดบุคลากร / วิทยากรประจำฐาน เพื่อรองรับและให้ความรู้แก่คณะศึกษาดูงานนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการและเป็นผลให้ผู้ที่ร่วมเดินทางศึกษาดูงานมีความผิดหวังและไม่คิดว่าตนเองจะได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาดูงาน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ตนเองคิดว่าได้เรียนรู้มากที่สุดคือ ความตั้งใจจริงของคณะทำงานสภาปชช. ที่ต้องการเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองเป็นอย่างมาก โดยคณะทำงานฯ ต่างสัญญาว่าจะกลับมาสานงานต่อในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนแม่บทชุมชนในตำบลต่อไป...

 

                                

                                                           โดย ชไมพร วังทอง ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่น ตำบลหนองหญ้าไซ  อำเภอหนองหญ้าไซ   จังหวัดสุพรรณบุรี 

 

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

 

 

หมายเลขบันทึก: 6418เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท