สรุป


ความพยายามที่จะให้ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการ หรือความชัดเจนแน่นอนและความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี

สรุป                ความพยายามที่จะให้ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการ หรือความชัดเจนแน่นอนและความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี ตลอดจนเพื่อรับรองการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เป็นคู่สัญญามีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายไทย หรืออาจเป็นเจ้าของกิจการที่มีสถานประกอบกิจการในประเทศไทยก็ได้

                       โดยประเทศไทยได้จัดทำกฎหมายดังกล่าวโดยเลือกแนวทางที่จะนำกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ และมีการนำไปใช้ทั่วโลกคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์แต่เป็นการนำมาใช้เฉพาะบางส่วนที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้นและในส่วนที่นำมาบัญญัติไว้ก็มิได้นำทั้งหมด ซึ่งเห็นว่าทำให้กฎหมายไม่สมบูรณ์และขาดความเชื่อมโยง จึงอาจเกิดปัญหาในการตีความหรือการใช้ได้ นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเลือกใช้วิธีการร่างดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาได้ในภายหลังเพราะย่อมหมายถึงการที่ประเทศไทยจะต้องรับเอาCISG มาใช้ทั้งหมด

                        การที่เรามีกฎหมายในลักษณะผสมผสานระหว่างกฎหมายหลายๆระบบเช่นร่างพระราชบัญญัตินี้ที่มีทั้งบทบัญญัติของ CISG หรือUCC ของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ซึ่งทำให้หลักการแห่งกฎหมายในหลายๆประเด็นแตกต่างออกไปจากเนื้อหาของCISG อาจทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้รับความเชื่อถือจากคู่สัญญาในต่างประเทศเท่าที่ควร และอาจทำให้ต้องมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของCISG ซึ่งเป็นการสูญเสียทั้งเวลา ทรัพย์สินและทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ ฯลฯ

                ผู้เขียนจึงเห็นว่า แม้บทบัญญัติของCISG จะมิได้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์โดยปราศจากข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับการกลั่นกรองทางความคิดมาอย่างดีแล้วและมีลักษณะที่เป็นกฎหมายที่เน้นการประนีประนอมเป็นอย่างมากระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความสมดุลในทางสิทธิ หน้าที่หรือความรับผิดในการที่จะให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย จึงมีลักษณะที่มีความยืดหยุ่นได้มากกว่ากฎหมายภายในและมีความเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

                   ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าการนำCISG มาบัญญัติเป็นกฎหมายโดยนำมาใช้ทั้งฉบับน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการนำมาดัดแปลงและทำให้หลักการเดิมของกฎหมายเสียไป หรือหากต้องการแก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศไทยก็ควรจำกัดไว้เฉพาะในส่วนที่CISG เปิดช่องให้ใช้กฎหมายภายในเท่านั้นเช่น ในเรื่องกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

                ดังนั้นการที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บทบัญญัติที่ต่างจากCISG ในหลายส่วนและการบัญญัติลักษณะที่นำเอาบทบัญญัติในCISG ที่ได้บัญญัติในมาตราเดียวกันมาแยกไว้คนละที่คนละส่วนกันทำให้กฎหมายขาดความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และอาจตีความได้ต่างออกไปจึงเห็นว่ายังไม่เหมาะสมแก่นำไปใช้บังคับโดยควรจัดให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในการแก้ไขรวมทั้งการพิจารณาความเป็นไปได้ตลอดทั้งความเหมาะสมที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หรือ CISG นี้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กิตติศักดิ์ ปรกติ, "อนุสัญญาว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ UN-    Convention on Contracts for the International Sale of Goods" วารสารนิติศาสตร์ ปีที่๑๗ ฉบับที่๔(ธันวาคม) ๒๕๓๐ หน้า๙๑-๑๑๐.

กำชัย จงจักรพันธ์, "ข้อสังเกตคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ" ดุลพาห เล่ม๒ปีที่๔๗ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๔๓ หน้า ๕๕-๖๖.

 กำชัย จงจักรพันธุ์, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่๒ ,"ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์: ข้อพิจารณาในหลักการและบทบัญญัติของกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, "สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ เสถียรภาพในทางกฎหมายและประเทศไทย" รพีสาร ปีที่๓, ฉบับที่๘ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๗) หน้า๒๕-๓๕.

วิษณุ เครืองาม, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้(พิมพ์ครั้งที่๙) สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, ๒๕๔๕.

Honnold, John o. Uniform law of International Sales under the 1980 United Nations Convention, 2nd ed.,Deventer,Boston:Kluwer and Taxation Publishers,1990.

Wallace Rabecca M.M. International Law,3rd ed.,London:Sweet&Maxwell,1997

,www.legalreform.go.th

หมายเลขบันทึก: 64045เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท