แนวทางการร่างกฎหมายการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย


ในปัจจุบันประเทศไทยมีร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ที่ร่างขึ้นเพื่อใช้การการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบกิจการที่มีสถานประกอบกิจการอยู่คนละประเทศกันเพื่อรับรองการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ

แนวทางการร่างกฎหมายการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย

           ในปัจจุบันประเทศไทยมีร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ที่ร่างขึ้นเพื่อใช้การการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบกิจการที่มีสถานประกอบกิจการอยู่คนละประเทศกันเพื่อรับรองการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ โดยร่างตามหลักการสำคัญของ CISG แต่มิได้นำบทบัญญัติทั้งหมดของCISG มาใช้แต่นำมาเฉพาะบางส่วนโดยนำมาประกอบกับบทบัญญัติที่ผู้ร่างเห็นว่าควรจะนำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ร่างเห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าการนำบทบัญญัติของCISG มาใช้ทั้งหมด              

            ศึกษาโครงสร้างและเนื้อหาของบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์               

             ศึกษาโดยเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ กับCISG              

              -กรณีบทบัญญัติในCISG ที่มิได้นำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ ได้แก่  

              ในมาตรา1 ของCISG ที่กำหนดนิยามของสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศว่า ต้องเป็นการซื้อขายสินค้าที่คู่สัญญามีสถานประกอบกิจการอยู่คนละประเทศกันโดยไม่คำนึงว่าคู่สัญญาจะมีสัญชาติใด และสัญญาเกิดขึ้นที่ใด แต่ตามร่างพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์มิได้บัญญัติไว้ครบถ้วนเช่นเดียวกับในCISG จึงอาจเกิดปัญหาในประเด็นดังกล่าวในเรื่องการตีความอันเกิดจากบทบัญญัติที่ไม่มีความชัดเจนซึ่งทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายได้  

               ในมาตรา4 ของ CISG มิได้บัญญัติไว้เช่นกันแต่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล เพราะCISG มีวัตถุประสงค์จะให้เรื่องความสมบูรณ์และผลของสัญญาเป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เกิดปัญหากับศาลไทยในการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยกฎหมายไทยซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง 

               ในมาตรา9(1) ของCISG มิได้บัญญัติไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญที่ควรบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะในทางการค้าระหว่างประเทศวิธีหรือแนวทางปฏิบัติทางการค้ามีความสำคัญมากดังนั้นในCISG จึงได้บัญญัติไว้โดยมีนัยที่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเลยทีเดียว มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่คู่สัญญาจะต้องนำสืบต่อศาลดังเช่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของไทย ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าการที่ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์มิได้กำหนดถึงผลบังคับของแนวปฏิบัติทางการค้าไว้ย่อมทำให้พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการใช้ในการตีความ ตลอดจนการใช้วินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทในสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น  

              ในมาตรา13 ของCISG มิได้ถูกบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มิได้บัญญัติให้คำว่า ลายลักษณ์อักษร รวมถึง โทรเลขและเทเล็กซ์ด้วยทำให้อาจเกิดปัญหาการตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลักฐานแห่งสัญญาซื้อขายอยู่ในรูปแบบโทรเลข หรือเทเล็กซ์ ได้ 

               ในมาตรา 23 ของCISG มิได้บัญญัติไว้ แต่เห็นว่าย่อมมีผลให้สัญญาเกิดขึ้น เมื่อคำสนองถูกส่งไปถึงผู้เสนอซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 361 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                ในมาตรา 70 ของCISG มิได้บัญญัติไว้ซึ่งมาตราดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงหลักการที่สำคัญในCISG นั่นคือหลักการรักษาไว้ซึ่งสัญญา ซึ่งหลักการดังกล่าวแตกต่างจากหลักการตามกฎหมายภายใน ดังนั้นการที่ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์มิได้กำหนดไว้ทำให้ศาลต้องวินิจฉัยตามหลักกฎหมายไทยนั่นคือทำให้ผู้ซื้อที่ได้รับความเสียหายอาจใช้สิทธิเยียวยาความเสียหายโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ขายที่ผิดสัญญาในสาระสำคัญตามมาตรา67, 68, 69 ได้ใช้สิทธิแก้ไขเยียวยาความเสียหายนั้น

                สรุป

               จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์นั้น ผู้ร่างมิได้นำCISG มาใช้ทั้งหมดซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแม้ในบางมาตราที่ไม่ได้นำมาบัญญัติไว้จะไม่มีผลต่อคุณค่าของกฎหมายดังกล่าวเพราะเป็นกรณีที่CISG เปิดช่องให้ใช้กฎหมายภายในประเทศได้ แต่เห็นว่าในหลายๆมาตราของCISG มีความสำคัญและการที่ผู้ร่างไม่นำมาบัญญัติไว้ย่อมทำให้ได้กฎหมายที่ไม่สมบูรณ์ และยังเป็นปัญหาในการตีความและใช้กฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทอีกด้วย ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้

                ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสียใหม่โดยเห็นว่าเมื่อจะใช้บทบัญญัติของCISG มาเป็นแบบในการร่างแล้วก็ควรนำมาใช้ทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศ  

               -กรณีที่ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์มีเนื้อหาไม่เหมือนกับบทบัญญัติของ CISG 

                มาตรา3 ของร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์เป็นบทนิยามซึ่งเห็นว่าได้บัญญัติไว้แตกต่างจากเนื้อหาของCISG ดังนี้เช่น     

            คำว่า สินค้า ตามมาตรา3 วรรค2 ก็บัญญัติไว้แตกต่างจากมาตรา 3(1) ของCISG โดยมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติในส่วนของสัญญาจ้างทำของที่ตามCISG ไม่ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ       

         คำว่า สัญญา หรือคำว่า อินโคเทอมส์ ตามมาตรา 3 วรรค3 และ 4 ซึ่งไม่บัญญัติไว้ในCISG     

           คำว่า สถานประกอบกิจการ ตามมาตรา 3 วรรค 5ที่มิได้บัญญัติไว้ในCISG เพราะCISG ในมาตรา1(1) ได้บัญญัติเพื่อกำหนดขอบเขตของสัญญาซื้อขายที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวแต่ตามร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ไม่ปรากฏว่าได้นิยามไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ให้มีความชัดเจนดังเช่นที่บัญญัติในCISG  

              คำว่า ผู้ประกอบกิจการค้าพาณิชย์ ตามมาตรา3 วรรค6 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีข้อบกพร่องเพราะการที่บัญญัติว่าให้หมายถึงเฉพาะนิติบุคคลที่วัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรเท่านั้น อาจเกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่เป็นนิติบุคคลอื่นที่มิได้แสวงหากำไร เช่นมหาวิทยาลัยของรัฐทำการซื้อหนังสือจากต่างประเทศซึ่งควรใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายการค้าระหว่างประเทศมากกว่ากฎเกณฑ์ของกฎหมายภายในหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                คำว่า ประเพณีทางการค้า ตามมาตรา 3 วรรค7 ซึ่งบัญญัติไว้แตกต่างจากCISG มาตรา9 โดยมิได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่คู่สัญญาจะต้องผูกพันตามนั้น มีผลทำให้ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเพณีทางการค้าจึงไม่มีค่าบังคับดังเช่นกฎหมายแต่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่คู่สัญญาต้องนำสืบในศาล และศาลไม่อาจรู้เองได้  

              มาตรา5(5) ที่บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้กับสัญญาซื้อขายเรือมีระวางห้าตันขึ้นไป ซึ่งแตกต่างจากในCISG และผู้เขียนเห็นว่ามีความหมายแคบกว่าตามCISG ที่ใช้คำว่า Ship, vesselsซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรือขนาดเท่าใด   

             มาตรา5(7) ที่บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้กับสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า ความถี่หรือข้อมูลซึ่งเห็นว่าชัดเจนกว่าในCISG ที่กำหนดเฉพาะกระแสไฟฟ้าเท่านั้น    

            มาตรา 10 ที่บัญญัติถึงลำดับการบังคับใช้กฎหมายในทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าต่างจากหลักการของCISG อย่างชัดเจนในประเด็นที่ให้ประเพณีทางการค้าบังคับเมื่อไม่มีบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ เพราะตามCISG ประเพณีทางการค้าจะถูกนำมาใช้ก่อนบทบัญญัติของอนุสัญญาดังกล่าว  

               มาตรา 16 วรรค1 ที่บัญญัติไว้ต่างจากมาตรา25 ของCISG เพราะCISG ได้ให้คำนิยามของกการผิดสัญญาในข้อสำคัญหมายถึงการผิดข้อสัญญาที่มีผลทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ได้รับผลดังที่มุ่งหวังจากการเข้าทำสัญญา แต่ตามมาตรา16 ดังกล่าวกลับแยกการผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญเป็นส่วนหนึ่งและผลที่จะเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาเป็นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ตามCISG ใช้มาตรฐานของบุคคลปกติที่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับผู้ขาย มิใช่บัญญัติดังเช่นมาตรา16 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ที่กำหนดไว้เพียงว่าการผิดสัญญาอาจเกิดได้หากผู้ขายได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นถึงความเสียหายนั้น

                นอกจากนี้ในส่วนของมาตราอื่นๆยังมีการบัญญัติเพิ่มเติมจากเนื้อหาของCISG ด้วยซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในบางมาตราเป็นการบัญญัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนเท่านั้นและไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติเช่น มาตรา16 วรรค2 ของร่างพระราชบัญญัติที่บัญญัติถึงสิทธิของคู่สัญญาที่เสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญาที่มิใช่สาระสำคัญคือแม้ไม่อาจบอกเลิกสัญญาแต่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หรือ ในบางมาตราแม้ได้บัญญัติเพิ่มเติมจากบทบัญญัติในCISG แต่ไม่ทำให้สาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปเช่นมาตรา50 วรรค1 ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 

               โดยสรุปในส่วนที่ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ได้บัญญัติไว้โดยเพิ่มเติมจากบทบัญญัติของCISG มีทั้งในส่วนที่ไม่ทำให้เกิดความสับสนและทำให้เกิดความชัดเจนในการที่ผู้ใช้กฎหมายจะนำไปศึกษาหรือใช้ตัดสินข้อพิพาท แต่ยังมีอีกหลายมาตราที่เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญของCISG และเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับกฎหมายไทยที่ร่างโดยอาศัยอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งนี้เพราะมิได้นำอนุสัญญาระหว่างประเทศมาใช้อย่างเป็นระบบ หรือคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 64044เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท