น้ำยาปูนา


ทางเดินชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน แต่จุดหมายปลายทางย่อมเหมือนกันในแง่ของ"สัจจธรรมของชีวิต"ดังนั้นในระหว่างทางเดินของชีวิต หากใครได้เก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์และเติมเต็ม"ความสุข"ให้ได้มากที่สุด ผมเชื่อว่าเราก็จะมี"กำไร"มากเท่านั้น แง่ของ"กำไร"มิได้หมายถึงเงินทองหรือทรัพย์สินใดๆ หากแต่มันคือ"มิตรภาพ"ที่เรามีให้กันและกันนั่นเองครับ...ขอขอบคุณ "ป้าแป้น"ที่อยู่ในช่วงหนึ่งของจังหวะทางเดินของชีวิต ขอขอบคุณ"ผู้อ่าน"ที่อยู่เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ขอขอบคุณ"G2K"ที่ช่วยเป็นผู้ส่งต่อเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ไปยังผู้คนที่ผ่านเข้ามาแวะเยี่ยมยามกัน.......

                                                  -หลังจากเก็บเอาเรื่องราวของอาหารพื้นบ้านไว้นานนับเดือน วันนี้ขอนำเอามาบันทึกไว้บนสมุดออนไลน์เล่มนี้ "อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน" ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สานต่อวิถีแห่งการกินอยู่ของคนพื้นถิ่นแห่งนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และหากเมื่อใดที่หวนกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดก็จะได้นำเอาวิถีแบบนี้กลับมาสืบทอดต่อเพื่อหล่อเลี้ยงชีพด้วยความภาคภูมิใจครับ...สำหรับเมนูที่ผมจะนำเสนอในวันนี้เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านที่มีวิธีทำแบบง่ายๆ ตามสไตล์ของผม ที่มักจะบอกเอาไว้อยู่เสมอว่า"การทำอาหารใครๆ ก็ทำได้คร้าบ!!!!!!"

1.น้ำยาปูนา....คือเมนูที่จะส่งต่อจากบันทึกนี้ครับ น้ำปลาปู หากมีโอกาสได้สัมผัสเมนูอาหารจากท้องนาแบบนี้แล้ว ตัวผมมักจะไม่พลาดที่จะเก็บเอาภาพและเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะชวนทุกท่านไปช่วยกันปรุงเมนูจาก"ปูนา"ครับ...พร้อมแล้วตามไปช่วย"ป้าแป้น"แกะปูได้แล้วครับ...

2.หลังจากแกะปูแยกส่วนกันเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เป็นการ"โขลกปูนา"ครับ...วิธีการก็ทำง่ายๆ เพียง"โขลกปูนาให้ละเอียด"ซึ่งก็มีวิธีการทำเหมือนกับ"น้ำปลาปู"นั่นเองครับ...โขลกปูนาจนหมดแล้วก็ตามไปช่วยกันทำในขั้นตอนต่อไปได้เลยครับ...

3.เมื่อได้เนื้อปูแล้ว ก็นำเอามากรองแยกส่วนของกากกระดองปูออก นำน้ำมาผสมเพียงเล็กน้อยพอให้ได้ช่วยคั้นเอาน้ำ/เนื้อปู ออกมาให้มากที่สุดครับ วิธีการนี้เราก็จะได้เนื้อปูแบบเข้มเข้น พร้อมที่จะเอาไปทำเมนูอร่อยๆ แล้วล่ะครับ 555

4.เมื่อเตรียมการเรื่องของ"ปูนา"เสร็จเรียบร้อยแล้ว "ป้าแป้น"ก็เข้าครัวเพื่อนำเอา"ปลาย่าง/หอมแดง/กระเทียม/ข่า/ตะไคร้/พริกแห้ง/พริกสด/กระชาย/ใบมะกรูด มาต้มให้สุก เท่านี้ก็จะได้"น้ำซุป"ที่หอมกลิ่นเย้ายวนใจมากๆ เลยล่ะครับ....อ้อ...และ"ป้าแป้น"ก็ไม่ลืมที่จะนำเอา"ถั่วทอง(ถั่วเขียวกระเทาะเปลือก)"มาห่อผ้าขาวบางและต้มลงไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะนำมาโขลกรวมกับเครื่องปรุงต่างๆ เพิ่มความเข้มข้นให้กับ"น้ำยาปูนา"ได้อีกมากเลยล่ะครับ....

5.เมื่อโขลกทุกอย่างละเอียดดีแล้ว ก็ได้เวลาที่จะนำเอามากรองอีกรอบ ทั้งนี้"ป้าแป้น"บอกกับผมว่าจะทำให้"น้ำยาปู"เข้มข้นและสะดวกในการกินนั่นเองครับ เพียงได้เห็นวิธีการทำที่ใส่ใจในรายละเอียดของ"ป้าแป้น"แล้ว ทำให้ผมรู้สึกยินดีที่ได้เรียนรู้วิถีที่น่ามองแบบนี้มากๆ เลยล่ะครับ...เมื่อกรองเครื่องปรุงแล้ว "ป้าแป้น"ก็นำเอา"หอมแดง"มาเจียวให้หอม วิธีการแบบนี้คนที่นี่เรียกว่า"การฆ่าน้ำมัน"ครับ..(ฆ่าน้ำมัน คือ การทำให้น้ำมันไม่มีกลิ่นหืน โดยมักจะนำเอากระเทียม หรือ หอมแดง ลงไปเจียวก่อน หรือบางแห่งจะใช้"น้ำปลา"เหยาะลงไปเล็กน้อย"...

6.หลังจากที่ทำการเจียวหอมแดงเสร็จแล้ว ก็นำเอาพริกแกงลงไปผัดให้หอม เสร็จแล้วก็นำเอาน้ำปูที่กรองเอาไว้มาเทลงในหม้อ เพิ่มเติมความเข้มข้นด้วย"ถั่วทองโขลกละเอียด"ทิ้งไว้ให้เดือด ปรุงรส เพียงเท่านี้ก็ได้"น้ำยาปูนา"อร่อยๆ แล้วล่ะครับ...

7.น้ำยาปูนาพร้อม เส้นขนมจีน ผักสดๆ จากไร่ก็พร้อม แล้วเราจะรออะไรอยู่ล่ะครับ มาถึงตอนนี้ต้องบอกว่า"ความอร่อยไม่เคยปราณีใคร"จริงๆ ครับ....5555555555555

8.และนี่ก็คือ"อาหารพื้นบ้าน"ที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์และช่วยกันสืบทอดเอาไว้ครับ นอกจากจะได้ช่วยกันเก็บเรื่องราวเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราได้รับก็คือ"ความสุข"ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและก็จะได้รับ"ความสุข"ในอีกทุกๆ ครั้งที่กลับมาอ่านและทบทวนตามจังหวะก้าวเดินของชีวิตที่ผ่านมาของเรานั่นเองคร้าบ!!!!!!

สำหรับวันนี้....ขอขอบคุณ"ป้าแป้น"คนต้นเรื่อง และถือเป็น"ต้นแบบชีวิต"ที่ผมได้มาสัมผัสและเรียนรู้วิถีการเป็นอยู่และนำเอากลับไปใช้ดำเนินชีวิตครับ..

                                                                                                                          สวัสดีครับ

                                                                                                                                                      เพชรน้ำหนึ่ง

                                                                                                                                                       02/11/2560



ความเห็น (14)

อาหารพื้นบ้านมากคุณค่าต่อสุขภาพและจิตใจ

  • น่าทานมากๆเลยครับ..
  • ปกติชอบครับ เมื่อก่อนนำมาดองน้ำปลา นำมาหลน นำมาเผา..ฯลฯ แต่เดี๋ยวนี้ไม่กล้า!
    อ่านบันทึกนี้แล้ว อยากๆๆอีกแล้ว ทว่าจะไม่มีสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า...ซึ่งอันตรายหรือครับ?

เห็นแล้วหิวเลย

น่าทานมากๆ ต้องทานกับผักสดๆ 

ขอบคุณมากๆครับ

-สวัสดีครับอาจารย์จันทวรรณ

-เป็นเมนูของคนพื้นนี้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ครับ

-อร่อยแบบบ้านทุ่งน่ะครับ

-ขอบคุณอาจารย์ที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจบันทึกนี้ด้วยนะครับ

-สวัสดีครับอาจารย์ต้น

-ยินดีที่ได้แบ่งปันเรื่องราวดี ดี จากท้องทุ่งครับ

-วัฒนธรรมแห่งการกิน ที่น่ามองมากๆ เลยล่ะครับ

-ขอบคุณครับ

-สวัสดีครับท่าน พ.แจ่มจำรัส

-ต้องขออภัยในความน่าลิ้มลองจากบันทึกนี้ด้วยนะครับ 555

-หากมีเวลามาเยี่ยมบ้านนาบ้างเน้อ พี่เน้อ...


-สวัสดีครับแม่ครูศรีจันทรัตน์

-นอกจากอาหารตา แล้วยังได้เรียนรู้วิถีแห่งการดำรงชีพแบบพอเพียงอีกด้วยครับ

-บางครั้งเงินทองก็มิได้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดนะครับ

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจบันทึกนี้ครับ

-สวัสดีครับครูธนิตย์

-เป็นบันทึกที่ทำให้ครูได้ย้อนวันวานอีกแล้ว...

-หากมองในเรื่องของวิถีการกินอยู่แล้วผมว่าเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมแห่งการกินได้เป็นอย่างดีเลยครับ

-หากมองในเรื่องของความปลอดภัยของอาหารผมว่าก็ต้องมีการปรุงให้สุกและทำให้ถูกสุขลักษณะเท่านี้ก็กินได้อย่างสบายใจแล้วล่ะครับครู

-ขอบคุณที่มาเสริมความในบันทึกนี้ด้วยนะครับ

-สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

-ผักสดๆ แบบท้องนา หาง่าย และดีต่อสุขภาพครับ

-ยินดีที่ได้แบ่งปันเรื่องราวดี ๆนี้ครับครู

พลอยให้คิดถึงวัยเด็กกับการ "จี่ปู"  ที่เอาเกลือโรยกระทง แล้วใช้ข้าวเหนียว "จ้ำ" แล้วก็ "จ้ำ"  

แซบคัก แซบแน ...

-สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดิน

-บันทึกนี้ทำให้ได้เรียนรู้วิถีพื้นบ้านในหลากหลายมิติ

-การได้นำเอาเรื่องราวต่างๆ มาบันทึกเอาไว้และมีผู้ที่ผ่านเข้ามาได้เรียนรู้พร้อมกับได้ย้อนอดีตความทรงจำดี ดี แล้ว ถือว่าเป็นความอบอุ่นใจลึกๆ ครับ

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจบันทึกนี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท