การทำงานของคน Gen Z


การทำงานของคน Gen Z

นัทธี จิตสว่าง 

  บวรลักษณ์ ทองมาก

                  

  ในขณะที่เรากำลังศึกษาและปรับตัวในการทำงานร่วมกันคน Gen y ได้ไม่นาน คน Gen z ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ล่าสุดและมีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ มากที่สุด ก็เริ่มเข้ามาสู่ระบบการทำงานอีกแล้ว

                   คน Gen z ซึ่งเป็นคนเกิดในช่วงปี 2538 – 2539 ถึงปี 2555 – 2556 เป็นคนรุ่นที่เกิดมาในยุค Digital age  คน Gen z จึงยึดติดกับเทคโนโลยีและการสื่อสารอย่างเหนียวแน่น และชอบทำงานที่มีความเป็นอิสระพยายามหลีกหนีจากระเบียบที่ขวางกั้น  การทำงานที่จะหวังผลงานในเชิงสร้างสรรค์จากคน Gen z ซึ่งมีอยู่มากมายจะต้องปล่อยให้อิสระให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ภายใต้เป้าหมายและกรอบกว้างๆ แต่ในขณะที่ชอบทำงานอิสระและมีความคิดสร้างสรรค์ คน Gen z ก็ขาดความอดทนต่อความจำเจ แต่ชอบที่จะทำงานที่แปลกใหม่และท้าทายความสามารถ

                   การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจึงเป็นจุดแข็งของคน Gen z  ด้วยเหตุที่เกิดมาในยุค Big Data และเทคโนโลยี คน Gen z จึงมีทักษะและความสามารถในการค้นคว้าหาข้อมูลได้อย่างยอดเยี่ยม ดังที่เราจะเห็นได้ว่า คน Gen Z จะคุ้นชินกับการเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านการใช้เทคโนโลยี เพื่อการเปรียบเทียบและได้มาซึ่งตัวเลือกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม และข้อดีความเป็น digital native ทำให้คนรุ่นนี้คุ้นเคยกับการทำงานด้วยเทคโลยีต่างๆ ได้อย่างไม่ต้องเรียนรู้ ทั้ง ส่งอีเมลล์ (E–mail) ใช้งานอีอ๊อฟฟิต (E-office) ลงทะเบียนการประชุมออนไลน์ หรือการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยสื่อสังคม (Social media) ช่องทางต่างๆ ในโลกที่ข้อมูลสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา การทำงานของคน Gen z จึงไม่ยึดติดกับเวลาและสถานที่เพราะมีความคล่องตัวในการทำงานที่ไหนก็ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นคน Gen z กลับไปทำงานที่บ้านจนเสร็จถึงตี1 ตี2 และทำงานสายในวันรุ่งขึ้นหรือวันอื่นๆ ด้วยปัจจัยทางสภาพแวดล้อมนี้เอง ทำให้คนเจน Z นั้น มักจะมองหาความยืดหยุ่นในการทำงาน และเป็นผู้ที่มุ่งเน้นผลงานมากกว่าวิถีการทำงาน


                   ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คน Gen z จึงไม่นิยมเข้ารับราชการ เพราะไม่ชอบ “ภาพ”  ของราชการที่เก่าไม่ทันสมัย และเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ทั้งนี้แม้จะเป็นคน Gen z ที่มาจากครอบครัวที่บิดามารดาเป็นข้าราชการมาก่อน พวกเราจะมองภาพของข้าราชการต่างไปจากคนรุ่นก่อนโดยเฉพาะเมื่อภาพของการเป็น “เจ้าคนนายคน” ของราชการหมดไป ในขณะที่การเข้าทำงานในองค์กรเอกชนจะมีความคล่องตัวและไม่ถูกบังคับด้วยกฎระเบียบและสายงานการบังคับบัญชาหลายชั้น สิ่งสำคัญที่สุด Gen Z มักมีความคิดที่ว่าการทำงานในองค์กรเอกชน จะสามารถแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ ความรู้ความสามารถเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิตทำงาน     

                ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน (2560) คน Gen z เพียงไม่เท่าไรที่หลุดเข้าไปในระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศฐ) เองได้เปิดเผยว่าบัณฑิตป้ายแดงปีนี้เตะฝุ่นเพิ่มถึง 4.7 แสนคน ส่วนใหญ่เพราะเลือกงานและชอบงานอิสระจึงไม่แปลกที่จะไม่เลือกงานราชการ อีกประการหนึ่งราชการมีกระบวนการสอบที่ต้องใช้เวลา รวมทั้งการเตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ คน Gen z  ชั้นหัวกระทิไปศึกษาต่อ หรือถูกคัดเข้าไปในองค์กรเอกชนชั้นนำ

                 ไม่เพียงแต่ที่ คน Gen z จะไม่นิยมทำงานราชการเท่านั้นคน Gen z ยังไม่นิยมที่จะทำงานหน้าเดียวในองค์กรแล้วรอการเติบโตไปจนตลอดชีวิตการทำงาน แต่ในข้อนี้อาจต้องเริ่มต้นมองจากข้อดีที่ว่า ในยุคที่การเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นทำได้ง่ายและรวดเร็ว ทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยตนเอง ทำให้คน Gen z มีคุณสมบัติที่จะทำงานด้วยความสามารถหลากหลายด้าน (Multitasking) แต่ในอีกมิติหนึ่ง คน Gen z ก็มีแนวโน้มที่จะไม่อดทนต่อการทำอะไรซ้ำซากจำเจ ดังนั้นแม้เข้าทำงานในองค์กรเอกชน คน Gen z จะนิยมเปลี่ยนงาน จะไม่ทำงานในองค์กรเดิมไปจนเกษียนหรือทำงานที่เดิมไปอีก 20 – 30 ปี เพราะการเปลี่ยนงานคือการก้าวกระโดดไปอีกขั้น ยิ่งเปลี่ยนงานบ่อยยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์ในประวัติการทำงานและเปิดโอกาสให้เรียกร้องค่าตัวได้สูงขึ้น

               ยิ่งไปกว่านั้น Gen z จำนวนไม่น้อยที่ไม่นิยมที่จะทำงานประจำในองค์กร แต่ต้องการแสวงหาความเป็นอิสระ โดยเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตนเองหรือรวมกลุ่มกันจัดตั้งธุรกิจเอกชน เนื่องจากยุคของพวกเขาการจัดตั้งธุรกิจเองสามารถทำได้ง่ายกว่ายุคก่อนๆ รวมตลอดถึงการเข้าถึงเครื่องมือการผลิตและเผยแพร่สินค้าก็ทำได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยสื่อสังคมต่างๆ ทำให้ตนทุนการผลิตลดลง นอกจากนี้ยังมีตลาดเปิดใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นการที่คนหนุ่มคนสาวใน Gen z จะเข้าสู่วงการค้าขายและจัดตั้งธุรกิจของตนเองจึงพบเห็นได้ไม่ยาก  หลายคนอาจจะเป็น Freelance อาศัย Shared working space เป็นที่ทำงานในแต่ละชิ้น หรือยิ่งกว่านั้นอาจจะพบ คน Gen z ใช้ชีวิตแบบ Digital nomads คือไม่ประจำในสถานที่ทำงานที่แต่ทำงานไปท่องเที่ยวไป หรือทำงานในสถานที่ใดก็ได้

              อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าคน Gen z จะทำธุรกิจได้อย่างไรในเมื่อไม่มีประสบการณ์ ซึ่งต้องสร้างสมมาพอสมควรจากการทำงานในองค์กร เรียนรู้ก่อนแล้วออกไปจัดตั้งธุรกิจของตนเองหรือเรียนรู้จากธุรกิจครอบครัว แต่คน Gen z  เพิ่งจะจบการศึกษาใหม่ๆ จะทำธุรกิจได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งว่า คน Gen z จำนวนมากเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วกว่าคนรุ่นก่อนที่ต้องรอจนจบมหาวิทยาลัยหรือปวส. ก่อนจึงจะทำงาน แต่คน Gen z จะนิยมทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เราเห็นคน Gen z นิยมที่จะขายของออนไลน์ หรือใช้ช่องทางสื่อสังคมต่างๆ ในการรับจ้างทำงานในขณะที่ยังเรียนไม่จบ คนรุ่นล่าสุดของสังคมพิสูจน์ว่าโลกดิจิทัลนั้นมีคุณค่า และพวกเขาจะแสวงหาโอกาสจากพื้นที่นี้ได้เสมอ

          สัญญาณที่ดีจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นนี้คำนึงถึงชีวิตในอนาคตของตนเองอยู่มาก สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนออกมาจากการมุ่งพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของตนเอง เพื่อแสวงหาอาชีพที่มั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่น่าดีใจว่า คน Gen z นี้คำนึงถึงมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ประชากรมากกว่า 80% ของคนรุ่นนี้ มีความเข้าใจในคำว่า ผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อโลก จึงไม่แปลกที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ผลกระทบของงานหนึ่งๆ ที่มี่ต่อสังคม จะเป็นปัจจัยในการเลือกอาชีพของคน Gen z

                  คน Gen z จะไม่ทนทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบโดยเฉพาะทำงานภายใต้กฎระเบียบและการบังคับบัญชาที่เคร่งครัดในองค์กร การโตขึ้นมาในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม อิสระทางความคิดและการใช้ชีวิต  ทำให้คนรุ่นนี้ชอบทำอะไรที่ท้าทายและแสวงหาความหมายจากการทำงาน แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากคนรอบข้าง  เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนให้สังคมพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ทว่า ลักษณะเด่นนี้ก็อาจส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวสู่ชีวิตการทำงานนี้ มีแนวโน้มที่จะเลือกงานและเป็นคนที่ทำให้อัตราการลาออกจากงานของหน่วยงานต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น คนในลักษณะของ คน Gen z ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่องค์กรจะขาด คน Gen z ที่มีประสิทธิภาพมาสานต่องานขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรในระบบราชการและองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีแต่คน Gen x และ Gen y เต็มไปหมดจึงนับเป็นผลกระทบต่อหน่วยงานราชการและองค์กรขนาดใหญ่อย่างยิ่ง ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะประชากรคนทำงานในรุ่นใหม่ๆ แล้วในอนาคตข้างหน้าองค์กรเหล่านี้ควรจะต้องประสบกับปัญหาอย่างแน่นอน

****************************

หมายเหตุ ภาพประกอบจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต 


หมายเลขบันทึก: 638299เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดร. บุรชัย สนธยานนท์

ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ.

ผมคิดว่า การสร้าง stereotype กับคนรุ่นออกมาแบบนี้ใหม่ก็ตรงกับคนเมืองที่จบมหาวิทยาลัยส่วนมาก แต่อาจไม่ตรงกับคนที่ไม่จบปริญญาตรี. ไม่ทราบว่า เป็นไปได้ไหม?   อนึ่ง การที่เราเน้นพูดถึงแค่เจตนคติ แต่ไม่ได้กล่าวถึงระดับความสามารถว่าพวกเขาส่วนมากมีความรู้ ทักษะ เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการแล้วหรือยัง และความสามารถเท่าเทียมหรือด้อยกว่ากับคนรุ่นเดียวกันในประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าจะพูดกันด้วย. เพราะนั่นจะมีผลกระทบโดยรวมกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท