Columbo Craft Village ตอน Craft Lawn



วันนี้ มีโอกาสไป "เสพ" งาน Craft ที่อยู่ระยะประชิดติดรั้ว มข. ที่ Columbo Craft Village หลายคนคุ้นเคยกับหมู่บ้านงานทำมือ หลายคนแทบไม่รู้จัก แต่ส่วนตัวผู้เขียน พอจะรู้จักและเคยไปเยือนบ้างในห้วงปกติที่ไม่ใช่งานอีเว้นท์ เคยไปชมงาน แต่ไม่ได้เลือกซื้อมาก่อนครั้งสองครั้ง ก่อนที่จะมีงาน Craft Village ในวันที่ 30 ก.ย. -1 ต.ค. 60

Craft Village ดูจะแปลกใหม่สำหรับคนอีสาน แต่คนขอนแก่นก็ชื่นชอบงานอีเว้นท์ลักษณะนี้ ดูได้จากงาน Art Lane ที่จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. หรือ "ช่างคึด" งานแสดงสินค้านักศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. คนก็ไปเที่ยวเสพงาน ชมของ ซื้อสินค้า มีส่วนร่วมเยอะมาก แต่พื้นที่หรืออีเว้นท์กลับมีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า "คนเมือง" ต้องการเสพงานศิลป์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานแบบใดก็ตาม และโดยเฉพาะการได้เสพแบบมีส่วนร่วม คือการมีกิจกรรมให้ทำหรือร่วมในรูปแบบต่างๆ

วันนี้มีโอกาสได้เจอและคุยกับพี่ซุ่ย วรรณา จารุสมบูรณ์ นักพัฒนาฯ ที่เคยเจอกันจากการร่วมเวทีรวมพลคนจิตอาสาขอนแก่น Khon Kaen New Spirit ที่พี่ซุ่ยเป็นต้นคิดและแม่งานหลัก ส่วนผมไปเป็นผู้ร่วม(เรียนรู้) 

การสนทนาแม้เพียงสั้นๆ ก็ได้อรรถรส เราคุยกันถึงประเด็นของ "พื้นที่" แห่งการเรียนรู้ และ "พื้นที่" ของการพักผ่อนหย่อนกายใจ วันนี้ Columbo Craft Village ทำหน้าที่ได้อย่างสง่างาม มีผู้คนมากหน้า หลายวัย ใคร่มาชม เสพ สนุก สุข ซื้อ กิน ฟัง พูด ฯ ตามอัธยาศัยใคร่เลือก หลายคนที่ไม่เคยมา คงแอบบ่นอยู่บ้างว่าพื้นที่แคบ ร้านค้ามีน้อย แต่สำหรับผมกลับมองว่า คนจัดคงอุ่นใจไม่น้อย เพราะจำนวนคนยิ่งมาก ยิ่งทำให้พลังแห่งการสรรค์สร้างเพิ่มขึ้น อีกอย่างผมกลับมองว่า Craft Village เปิดให้บริการเกือบทุกวัน เพียงแต่มีกิจกรรมใหญ่ๆแบบนี้ไม่บ่อยนัก คนยังไม่รู้จัก อีกอย่าง ร้านค้าที่มาจำหน่ายแบบเฉพาะกิจ ก็ยังทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายในพื้นที่ของตน เพียงแต่วันนี้ มาร่วมตัวกันในงาน Craft Lawn ในกลาง Village เพื่อเสริมทัพ Shop ฐาวรเจ้าถิ่น 
ข้อคิดที่ได้คือ เราจะเห็นคนทุกเพศวัยได้มาเสพและสร้างร่วมกัน หลายครอบครัวพาเด็กๆมาร่วม ดูอบอุ่น เอมใจ บางคนมาเสพตวามอินดี้ของเหล่าศิลปินที่หาชมทั่วไปได้ยาก หลายคนคงเป็นขาจรมาตามกระแสของสื่อออนไลน์ที่มีผู้คนมามายเสพแล้วส่งภาพงานผ่านสื่อเพื่อเรียกแขกมางานนี้ 
พี่ซุ่ยพูดถึงพื้นที่สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ลูกได้มาผ่อนคลายระบายอารมณ์ร่วมกันสำหรับคนเมือง ส่วนผม มองในแง่นักศึกษาที่มาหลายลักษณะ แม่ค้าพ่อขายหลายรายก็คือนักศึกษาหรือศิษย์เก่า มข.ที่ผลิตชิ้นงานมาวางขาย ลูกค้าส่วนหนึ่งก็คือนักศึกษาที่มาเสพบ้าง มาดูดดื่มบรรยากาศบ้าง หลายคนใาโดยไม่รู้ว่าคืองานอะไรก็มาก แต่ชื่นใจว่า จริงๆเรา (มข) ก็ยังขาดพื้นที่แหล่งเรียนรู้และแบ่งปันแบบนี้สำหรับคนมอ แต่ก็ดีใจที่ Craft Village ช่วยทำหน้าที่นี้ ให้ เด็ก เยาวชน นักศึกษา ผู้ปกครอง และคนเมืองได้มีชุมชนสำหรับผู้ที่สนใจงาน Craft ร่วมกัน 
นี่แหละ แบบฉบับของชาวขอนแก่น


หมายเลขบันทึก: 638283เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท