PLC มหาสารคาม : อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (ขยายผลครูตุ๋ม) _๕ : ชุมชนเรียนรู้ครูพี่เลี้ยงนักเรียนพิการบกพร่องทางการเรียน


วันเสาร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๐ CADL ไปเป็นวิทยากรจิตอาสา พัฒนาชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียนในเขต สพป.มค.๑ มหาสารคาม กลุ่มเป้าหมายเป็นครูพี่เลี้ยงนักเรียนพิการบกพร่องทางการเรียน (เด็ก LD) จำนวนประมาณ ๖๐ ท่านจากทุกโรงเรียนในสังกัด  วิทยกรหลักคือครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ ครูเพื่อศิษย์อีสาน ปี ๒๕๕๗ ผมไปในลักษณ์วิทยากรกระบวนการโดยมีแสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) เป็นวิทยากรกิจกรรมละลายพฤติกรรม ... ผม AAR  ว่า เราประสบผลสำเร็จพอสมควร เว้นแต่เวลาน้อยไปทำให้ช่วงการสะท้อนการเรียนรู้ วิพากษ์ และสร้างสัญญาใจไปทำต่อนั้น ไม่ได้ลงละเอียอดมากนัก ... โอกาสหน้าว่ากันต่อครับ 



ครูพี่เลี้ยงเกือบทั้งหมดอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีบ้างที่เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่แต่ก็ไม่มาก ผมใช้โปรแกรมสำรวจทันทีทางมือถือ PollEverywhere ด้วยคำถามสำคัญ ๒ ข้อ ๑) คือ "ในการทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงของท่าน มีเด็กที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กี่คน" และ ๒) "ปัญหานักเรียนอะไรที่สำคัญที่สุด" โดยก่อนจะถามข้อที่ ๒) เราได้สำรวจโดยการให้เขียนปัญหานักเรียนที่พบลงกระดาษเปล่าหรือส่งเข้าในกลุ่มไลน์กลุ่มก่อนแล้ว แล้วนำ ๕ ปัญหาแรกมาสำรวจอีกที ... ทั้งสองข้อปรากฎผลดังรูปครับ


หนึ่งตัวเลขคือหนึ่งโรงเรียน ตัวเลขขนาดใหญ่แสดงว่ามีผู้เติมตัวเลขนั้นหลายคน หากรวมตัวเลขคร่าว ๆ ดู จะรู้เลยครับว่า ปัญหานี้วิกฤตของประเทศในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าถ้าไม่หาทางแก้ไขโดยด่วน  ตัวเลขที่เผยแพร่กันทั่วไปว่าว่ามีปัญหานี้เพียงหลักหมื่นคน อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องสามหมื่น น่าจะคาดเคลื่อน... ความจริงในหัวอกของคนเป็นพ่อแม่แค่คนเดียวก็กเกินพอแล้ว

 
ปัญหา ๕ อันดับแรก ได้แก่ ๑) สมาธิสั้น ๒) ไม่เข้าเรียน ไม่ฟังครู ๓) ปัญหาเรื่องทักษะการอ่าน ๔) ก้าวร้าว รังแกเพื่อน ๕) ปัญหาเรื่องการอ่าน  ตามลำดับผลการโหวตของครูพี่เลี้ยงประมาณ ๓๐ ท่าน (จากประมาณ ๖๐) 

นอกจากปัญหาจะยังอยู่นับจากที่เราได้อบรมขยายผลไปสู่ครูแล้วตั้งแต่เดือน ๒๐-๒๑ พฤษภาคม คือ ๔ เดือนที่แล้ว (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมลองสำรวจด้วยการประเมินแบบ ๕ ระดับแบบนับนิ้วทันที  พบว่า มีเพียงประมาณ  ๖ โรงเรียน ที่ครูพี่เลี้ยงสะท้อนว่าที่โรงเรียนได้นำเอากระบวนการจิตอาสาพัฒนาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ๖ ขั้น ของครูตุ๋มไปใช้ ตัวเลขนี้ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์... อาจจะดูน้อย แต่หากพิจารณาให้ดี ขอแค่มีครูคนเดียวจากโรงเรียนเดียว นำเอาไปใช้อย่างจริงจัง จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้กลายเป็นคนดีในอนาคตมากกว่า ๑๐ คน... นั่นหมายถึง...นักเรียน ๖๐ คน ต่อปีทีเดียว 

เห็นความทุ่มเทของครูตุ๋ม ผมเคยคิดว่าตนเองทุ่มเทมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกันครั้งนี้ กลายเป็นว่าผมมีพลังขึ้นมาได้อีกดีกรีทีเดียว  กระบวนการของเราคราวนี้สมบูรณ์สุดเท่าที่เคยทำมา ครูตุ๋มและนักเรียนจิตอาสาเป็น "คุณกิจ" เจ้าขององค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์  ผมเป็น "คุณอำนวยการเรียนรู้" และแสนเป็นกระบวนกรละลายพฤติกรรม เรานำเอาคลิปวิดีโอและสไลด์เดิมเหมือนที่อบรมให้ครูเมื่อด ๔ เดือนที่แล้วมาใช้อีกครั้ง (อ่านที่นี่)

ในการเล่าถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๗ ประการของครูตุ๋ม (อ่านได้ที่นี่) ผมเน้นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดรองจากครูและครูพี่เลี้ยงแล้วคือ นักเรียนจิตอาสา เพราะการดูแลกันตัวต่อตัว แก้ไขและสอนทันทีเมื่อน้องทำผิดหรือทำไม่ได้ คือปัจจัยให้น้องมีกำลังใจและค่อย ๆ สะสมความเข้าใจและทักษะจากความกล้าผิดกล้าถูก (กล้าเรียน) 


แสนใช้กิจกรรมที่เน้นกิจกรรมทำสนุกให้ครูได้เห็นกิจกรรมที่สามารถนำไปทำกับเด็กได้ เสียดายที่เวลามีไม่มาก จึงไม่ได้แนะนำหรือทำกิจกรรมใหนโมเดล "๓ กำลัง ส." ของแสนมากนัก (ผมเคยเขียนทฤษฎี ๓กำลังส. ไว้ที่นี่) เช่น นับเลขมรณะ กลมและเหลี่ยม สัตว์บกสัตว์น้ำ ปรบมือตามขาสัตว์ ฯลฯ ... ผม สังเกตว่า ครูสนุกและชอบกิจกรรมของแสนมาก ๆ น่าจะมีใครนำไปใช้ต่อแน่ 


กิจกรรมสุดท้าย ผมออกแบบให้ครูแต่ละกลุ่มย่อย ๆ ละ ๔-๕ ท่าน ช่วยกันระดมสมองเสนอวิธีแก้ปัญหา ๕ ประการที่ได้สำรวจไว้ในช่วงต้น โดยให้เลือกกลุ่มละปัญหาเท่านั้น คุณครูทุกกลุ่มร่วมมือแลกเปลี่ยนร่วมมือกันอย่างกระตือรือร้น ปัญหามีอยู่อย่างเดียวคือ ผมให้เวลาเพียง ๑๕ นาที สำหรับการระดมสมองและเขียนลงในฟลิบชาร์ท  ผลปรากฎดังรูปด้านล่างครับ 




ขอเก็บชาร์ทเหล่านี้ไว้ในบันทึก  ผมมั่นใจว่า โอกาสหน้า หลังจากเวลาผ่านไป เราจะมาทำ PLC ลักษณะนี้อีก และหากมองย้อนกลับมา คุณครูจะเห็นว่าวิธีการและประสบการณ์ในวันนี้ เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปหรือไม่เพียงใด 

ข้อสังเกตที่พบและสำคัญมากในการแก้ปัญหาที่เหตุ ได้แก่ ๑) ปัญหาส่วนใหญ่ที่ครูพี่เลี้ยงสะท้อนเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรม แสดงว่าสิ่งที่ครูต้องทำคือต้องปรับพฤติกรรมของนักเรียนเสียก่อน การใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ครูทุกคนต้องให้ใจ  ๒) วิธีการแก้ไขที่คุณครูพี่เลี้ยงนำเสนอส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เน้นเด็กทำตามที่ครูคิด เหมารวม และหลาย ๆ กิจกรรมเป็นลักษณะควบคุมลงโทษ บังคับให้ทำตามที่ครูคิดว่าจะได้ผล แท้จริงแล้วปฏิสัมพันธ์เชิงบวกจะต้องเน้นที่การเปิดใจของเด็กให้ได้เป็นอันดับแรก เน้นที่การให้ความรัก ความใส่ใจ ความเมตตา การฟังและสังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนเป็นเบื้องต้น แล้วเข้าถึงเด็กแต่ละคนโดยอาจไม่มีรูปแบบหรือกิจกรรมตายตัว ๓) ครูพี่เลี้ยงต้องการความมั่นคงในชีวิตการทำงานครับ ... ประเด็นนี้ฝากบอกต่อไปยังผู้ใหญ่ดูแลให้ด้วยครับ  

ผมแสดงสไลด์ "ภูเขาน้ำแข็ง" ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถอดบทเรียนจากความสำเร็จของครูตุ๋มเป็นสไลด์สุดท้าย และอธิบายสร้างแรงบันดาลใจร่วมกันในการกลับไปแก้ปัญหา ดังรูป



สุดท้ายนี้อยากขอบคุณและให้กำลังใจคุรดารุณี ที่เป็นผู้เป็นแม่งานทุกอย่างในครั้งนี้ ขออนุโมทนาบุญกับการทำงานที่ทุ่มเทของท่านครับ 

เสียดายที่ผมถ่ายรูปไว้ไม่มาก หากครูผู้อ่านมีรูปที่ถ่ายในวันนั้น เชิญโพสท์แบ่งปันกันได้ท้ายบันทึกนี้ครับ 
หมายเลขบันทึก: 638281เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท