ระหว่างคนจนกับคนรวย ใครได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐ ภายใต้นโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ภูษิต ประคองสาย, วิโรจน์ ตั้บงเจริญเสถียร, กัญจนา อิษยาธิคม
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

 

 

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามต่อสาธารณะว่าระหว่างคนจนกับคนรวย ใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภารรัฐและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนไทยที่มีเศรษฐานะแตกต่างกันระหว่างก่อนและหลังการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วิธีการศึกษา ประกอบด้วย การวิเคราะห์
Benefit incidence analysis ในงบปีประมาณ 2544 และ 2546 โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิการสำรวจอนามัยและสวัสดิการปี 2544 และ 2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลต้นทุนการให้บริการสุขภาพของสถานพยาบาลภาครัฐและทรัพยากรภาครัฐที่สนับสนุนต่อการใช้บริการของภาคเอกชน โดยแบ่งประชาชนไทยตามเศรษฐานะออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ยากจนที่สุด ยากจน เศรษฐานะปานกลาง เศรษฐานะดี และดีที่สุด โดยใช้รายได้ต่อหัวประชากรของครัวเรือนเป็นตัวชี้วัด ทำการประเมินความเป็นธรรมในการได้รับทรัพยากรสุขภาพจากภาครัฐโดยใช้ concentration index

 

ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังจากการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชากรไทยมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 95 ในปี 2546 โดยประชากรกลุ่มยากจนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองจากการสร้างหลักประกันสุขภาพ ประชากรกลุ่มเศรษฐานะยากจนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปแบบของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ดัชนี concentration indices ของผู้ป่วยนอกที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  มีลักษณะ pro-poor เพิ่มมากขึ้นในปี 2546 เช่นเดียวกับบริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประชาชนกลุ่มเศรษฐานะยากจนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ภายหลังการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมี concentration index เพิ่มจาก 0.044 เป็น -0.123 และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้รายได้ต่อหัวประชากรกับดัชนีสินทรัพย์ในการแบ่งเศรษฐานะของประชากร หรือเมื่อใช้ต้นทุนเฉลี่ยของการให้บริการสุขภาพในระดับประเทศกับต้นทุนในระดับภาค

 

สรุป พบว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีลักษณะ pro-poor ทั้งในปี 2544 และ 2546 โดยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชากรที่ยากจนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรภาครัฐเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่มีผลทำให้ประชากรที่ยากจนได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นคือ การขยายการมีหลักประกันสุขภาพให้เข้าถึงคนยากจนและผู้ที่เดิมไม่มีหลักประกันสุขภาพ การลดอุปสงค์ด้านการเงินในการเข้าถึงบริการสุขภาพ (เก็บค่าร่วมจ่ายเพียง 30 บาท) การมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม และการกำหนดให้สถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิเป็นสถานพยาบาลหลักในการให้บริการสุขภาพซึ่งง่ายต่อการเข้าถึงของประชากรกลุ่มยากจน


จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ

ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙

วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 63704เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท