กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปํญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทย


การให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรให้กับคนต่างด้าวโดยหน่วยงานราชการไทย เป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ส่วนการที่คนต่างด้าวได้มอบอำนาจให้ตัวแทนในประเทศไทย ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ซึ่งตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

         กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทย               

 การที่คนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย   โดยมีการติดต่อทำการค้ากับคนไทย   จัดได้ว่าเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ   ซึ่งผลของนิติสัมพันธ์นั้นย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายเอกชนและกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของไทย  

 จากหลักดังกล่าว  หากคนต่างด้าวที่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทยนั้นได้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้น   หรือเป็นคนต่างด้าวที่เป็นคนชาติที่เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ให้ความคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย    ทำให้ประเทศไทยต้องมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของคนต่างด้าวเหล่านั้น (เรียกตามกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า “ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ”)  หรือในกรณีที่คนต่างด้าวประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ  ของตน  เช่น  เครื่องหมายการค้า   สิทธิบัตร  ฯลฯ  จึงได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทยโดยผ่านทางตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทย   นิติสัมพันธ์ระหว่างคนต่างด้าวเหล่านั้นกับหน่วยราชการไทยในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทาปัญญา  จัดเป็นนิติสัมพันธ์ตามตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ[1] เพราะในนิติสัมพันธ์นี้คู่กรณีมีสถานะไม่เท่าเทียมกัน   ส่วนนิติสัมพันธ์ของคนต่างด้าวกับตัวแทนซึ่งเป็นเอกชนที่อยู่ในประเทศไทย  จัดเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ   เพราะมีคู่กรณีมีฐานะเท่าเทียมกันระหว่างตัวการตัวแทน   อย่างไรก็ตาม  จะเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  แต่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  เนื่องจากเป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชน(บุคคล)ที่มีลักษณะระหว่างประเทศ 

 จากปรากฎการณ์ดังกล่าว   ทำให้ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่คนต่างด้าวในประเทศไทย  ย่อมมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลด้วย 

                        งานเขียนชิ้นนี้ จึงมุ่งศึกษาในเรื่องการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทย   โดยเน้นศึกษาในส่วนกฎหมายลิขสทธิ์   กฎหมายเครื่องหมายการค้า  และกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นว่า

  “กฎหมายระหว่างประเทศแผนกดคีบุคคลก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองให้แก่ทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ในทางหนึ่งเช่นกัน”

 ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิติในทางระหว่างประเทศและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ  ด้วย   และเป็นเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งที่นักกฎหมายในปัจจุบันต้องสนใจและศึกษากฎหมายแขนงนี้    โดยจะขอนำเสนอในแง่มุมดังต่อไปนี้     

 

  I  การให้ความคุ้มครองลิขสิทธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  ได้กำหนดในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของคนต่างด้าวหรือที่เรียกตามกฎหมายฉบับนี้ว่าการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ  โดยกำหนดไว้ในมาตรา61  คือ    

                       งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์และสิทธิของนักแสดงของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธินักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย  หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศ  ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้             

        นอกจากนั้นกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศไว้ในมาตรา 8 โดยกำหนดไว้ว่า  ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 

          (1)  ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย  หรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย   ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น       

    (2)  ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว  การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย  หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาตคีอยู่ด้วย  หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก  หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1)  ในขณะที่มีการโฆษณาครั้งแรก            

     อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย  ได้แก่  อนุสัญญาเบอร์นฯ  และความตกลง TRIPs [2]                                                                                                                                   กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับแทนพระบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2521 และมีผลยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ฉบับปีพ.ศ. 2536 เหตุที่มีการใช้กฎหมายฉบับใหม่นี้ เป็นเพราะประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีในข้อตกลง   TRIPs  ที่มีข้อกำหนดให้ประเทศภาคี ต้องปฎิบัติตามสนธิสัญญาเบอร์น    ฉบับกรุงปารีส ค.ศ.1971 มาตรา 1-21  ซึ่งมีเนื้อหาในการให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าลิขสิทธิ์ในลักษณะที่เข้มข้นกว่าอนุสัญญาเบอร์น ฉบับกรุงเบอร์ลิน 1908 

 ดังนั้น กฎหมายลิขสิทธ์ พ.ศ.2537 จึงมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับอนุสัญญาเบอร์นฯ ฉบับกรุงปารีสดังกล่าว   และเมื่อประเทศไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงพันธกรณีของประเทศที่มีต่ออนุสัญญาเบอร์นฯ ฉบับกรุงเบอร์ลิน 1908 พร้อมกับข้อสงวน6 ข้อ    มาผูกพันกับอนุสัญญาเบอร์นฯ ฉบับกรุงปารีส ค.ศ.1971 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ .2 กันยายน 2538 เป็นต้นมา  จึงส่งผลให้ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีข้อสงวนทั้ง 6 ข้อ ซึ่งในข้อสงวนข้อที่ 3 นั้น ได้กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมที่เป็นคนต่างด้าว  ต้องดำเนินการจัดให้มีการแปลหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นแปลงานวรรณกรรมของตนเป็นภาษาไทยภายในกำหนด 10  ปี นับแต่ที่ได้โฆษณาครั้งแรก  

  ดังนั้น ภายหลังจากวันดังกล่าว แม้เจ้าของลิขสิทธ์ในงานวรรณกรรมซึ่งเป็นคนต่างด้าว  จะไม่ได้จัดให้มีหรืออนุญาตให้ผู้ใดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและโฆษณาคำแปลนั้นภายในกำหนด 10 ปี นับแต่ที่ได้โฆษณาครั้งแรก สิทธิในการแปลงานนั้นยังคงมีอยู่ หากบุคคลใดมาดัดแปลงงานโดยการ แปลงานเป็นภาษาไทย โดยมิได้รับอนุญาต บุคคลผู้นั้น  ย่อมมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธ์( รายละเอียด โปรดดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2548)              

   2. การให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าของคน ต่างด้าว           

  กฎหมายเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย   ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติครื่องหมายการค้า พ.ศ .2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2543 ได้กำหนดให้เจ้าของเครื่องหมายการค้า  ต้องนำเครื่องหมายการค้าของตนมายื่นขอจะทะเบียนในประเทศไทย  จึงจะได้รับความคุ้มครองในประเทศไทย                 กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่า  ผู้ที่จะขอความคุ้มครองในเครื่องหมายการค้านั้น  จะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น  เพราะฉะนั้น  คนต่างด้าวที่ประสงค์จะให้เครื่องหมายการค้าของตนได้รับความคุ้มครองในประเทศไทย  ก็สามารถนำเครื่องหมายการค้าของตนมายื่นจดทะเบียนได้ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

  โดยมาตรา 6  แห่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าไว้ว่า    เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ(3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว  

         หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนโดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของคนไทยหรือคนต่างด้าว   ดังนั้น   เราสามารถกล่าวได้ว่า  ความเป็นต่างด้าวไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย        

 อย่างไรก็ตาม  หากคนต่างด้าวประสงค์ที่จะเข้ามายื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศไทย  กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องของการที่จะต้องมีตัวแทนในประเทศไทยเพื่อทำการแทนในการยื่นขอจดและรวมทั้งทำหน้าที่ในการรับส่งเอกสารแทนคนต่างด้าวหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า  “ต้องมีสถานที่ส่งบัตรหมายในประเทศ” ทั้งนี้เป็นไปตามหลักในมาตรา  10  ที่กำหนดไว้ว่า  เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น  ผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทน  ต้องมีสำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย           

  อนึ่ง  มีบางกรณีที่เครื่องหมายการค้าของคนต่างด้าวที่ยังไม่ได้มีการนำมายื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทย  กฎหมายเครื่องหมายการค้าก็ได้ให้ความคุ้มครอง  แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภาย่ใต้เงื่อนไขที่ว่าเครื่องหมายการค้านั้น  ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป (WELL  KNOWN  MARK) ซึ่งเครื่องหมายการค้าของคนต่างด้าวในลักษณะนี้  จะต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย   โดยผลของความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าประเภทนี้  แม้ยังไม่ได้มีการนำมาจดทะเบียนในประเทศไทย   ถ้าหากมีบุคคลอื่นพยายามที่จะนำมายื่นขอจดทะเบียน  นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า  คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า  หรือแม้แต่ศาลก็จะไม่รับพิจารณาในการให้ความคุ้มครอง  เพราะถือว่าเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของบุคคลอื่นมายื่นขอจดทะเบียนโดยพลการอันเป็นสิ่งที่ขัดต่อมาตรา  8(10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ .2534  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543    

    สำหรับตัวอย่างของเครื่องหมายการค้าในลักษณะนี้ได้แก่  เครื่องหมายการค้าของสโมรสรฟุตบอลทีมชาติอารณเจนตินา  ทีมสโมสรเอซี  มิลาน   จูเวนตุส  ปาร์มา  เอซี และ อาแจกซ์  อัมสเตอร์ดัม  (รายละเอียดปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8834/2542 )    เป็นต้น                

นอกจากนั้น  เครื่องหมายการค้าของคนต่างด้าวที่ยังไม่ได้มีการขอจดทะเบียนในประเทศไทย  หากมีบุคคลที่ไม่สุจริตได้นำเอาเครื่องหมายการค้านั้นไปปลอมหรือเลียน  ประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา  272-275  ก็ยังคงให้ความคุ้มครองเครื่องหมายเหล่านี้อยู่ด้วย ปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2545 ซึ่งเป็นเรื่องเครื่องหมายการค้า  KIPLING                 

    อย่างไรก็ตามแม้ว่าในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องในทางอาญาที่ไม่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ในทางแพ่งของเอกชนในทางระหว่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  แต่ผู้เขียนก็อยากที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย  เพราะเป็นประเด็นส่วนหนึ่งในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทย

3.การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรของคนต่างด้าว   

             กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทยคือพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ.  2542  ได้กำหนดวิธีการในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรเอาไว้ว่า  บุคคลที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครอง  ต้องมาดำเนินการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวโดยอยู่ภายใต้หลักในมาตรา 5  ที่กำหนดไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 9  การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้             (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่              (2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น  และ              (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม          

ส่วนบุคคลที่จะสามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยได้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 คือ(1) มีสัญชาติไทย  หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย    

   (2) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา  หรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

 (3)  มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยขอรับสิทธิบัตรนั้นได้ 

 (4)  มีภูมิลำเนา  หรืออยู่ในระหว่างการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างแท้จริงและจริงจังในประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย          

   จะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบัน  ประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคึในความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตร  เช่น  PATENT   COOPERATION   TREATY) แต่ประเทศไทยก็เป็นภาคีใน WTO  ซึ่งผูกพันตามข้อตกลง TRIPs   และผูกพันตามหลักต่างตอบแทนในทางระหว่างประเทศ ดังนั้น  ความเป็นคนต่างด้าวจึงไม่เป็นอุสรรคในการนำสิทธิบัตรมายื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทย    เพียงแต่มีเงื่อนไขตามที่มาตรา 6(4)   โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วในต่างประเทศ  หากประสงค์ที่จะมายื่นคำขอนั้นในประเทศไทย  จะต้องมาดำเนินการภายในกำหนด  18  เดือน มิฉะนั้นจะถือว่าคำขอรับสิทธิบัตรนั้นขาดความใหม่              

   นอกจากนี้  ยังมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้เป็นพิเศษสำหรับการขอรับสิทธิบัตรโดยบุคคลต่างด้าว  คือ ต้องมอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักร  ทั้งนี้เป็นไปตาม  ข้อ  13  แห่งกฎกระทรวง  ฉบับที่ 21 ( พ.ศ. 2542) ออกตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร  พ.ศ.  2522 จึงสามารถกล่าวได้ว่า  ความเป็นต่างด้าวไม่เป็นอุสรรคในการขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย  และส่งผลให้ขณะนี้  คำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นในประเทศไทยนั้น  มากกว่า  90%  เป็นคำขอรับสิทธิบัตรของคนต่างด้าว       

      จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทยดังกล่าว  ทำให้ทราบว่านิติสัมพันธ์ทางมหาชนในทางระหว่างประเทศและนิติสัมพันธ์ของเอกชนในทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้น  มีความเกี่ยวข้องและมีส่วนสัมพันธ์กับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างด้าวในประเทศไทย   การที่กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลซึ่งสอดแทรกอยู่ในกฎหมายอื่นในลักษณะเช่นนี้   ผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวในการให้การศึกษากฎหมายคดีบุคคลนี้กันมากขึ้น     

           บรรณานุกรม-          พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537-          พระราชบัญญัติครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2543-          พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ.2542-          พันธุ์ทิทย์  กาญจนะจิตรา  สายสุนทร, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  ภาคนำ: แนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด,2548)                                                                                                                                                                                             1 พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา  สายสุนทร, คำอธิบายกฎหมายุระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  ภาคนำ: แนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 6( กรุงเทพฯ บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด ,2548 ) น62

 2 ประกาศกระทรวงพาณิชย์  ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ .2545





ความเห็น (3)
พี่อ๋องไม่ทราบว่าตอนนี้ประเทศไทยให้ความคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลิ่นหรือยังค่ะ
ในขณะนี้  ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องเครื่องหมายการค้าเสียงและกลิ่นครับ    ส่วนในอนาคตนั้น  หากการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีความคืบหน้าและรวมถึงการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เมื่อถึงวันนั้น  ประเทศไทยก็ต้องให้ความคุ้มครองในเรื่องเครื่องหมายการค้าเสียงและกลิ่นนี้ และคนไทยก็มีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เช่นกันครับ

มาติดตามอ่านค่ะ ได้รับความรู้อีกแล้ว(ชอบมาก)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท