ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๑. สัมมาทิฐิ ๘



บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  

ตอนที่ ๑ สัมมาทิฐิ ๘  ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems   ซึ่งเป็นบท สุดท้ายของหนังสือ    แต่ผมเลือกมาเป็นตอนที่ ๑ ของบันทึกชุดนี้    เพราะเห็นว่าการมีทฤษฎีที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) หรือมีกรอบความคิดหรือกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทั้งปวง    หรือมองมุมกลับ คุณภาพการศึกษาไทยเราตกต่ำ น่าจะมีรากเหง้ามาจากกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาด ที่จะต้องมีการแก้ในระดับ “ชุดความคิด” (mindset)   ซึ่งบันทึกตอนที่ ๑ นี้ และตอนต่อๆ ไป น่าจะช่วยให้ความกระจ่างได้มาก  

ที่จริงเรื่องผลลัพธ์ของการศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นเรื่องซับซ้อน (complex) ยิ่ง    มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย หลากหลายด้าน    ที่หลายเรื่องจะไม่ได้ระบุในบันทึกชุดนี้    แต่เนื่องจากบันทึกชุดนี้ตีความจากหนังสือในขุด  Visible Learning ของ John Hattie   จึงมั่นใจได้ว่าประเด็นที่นำมาเสนอจะก่อผลกระทบต่อการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญ    ซึ่งตามข้อเสนอของ Hattie  มีค่า d (Effect Size) = > 0.40  


ชุดความคิดสำคัญ ๘ ประการ ได้แก่    

 

สัมมาทิฐิที่ ๑   ครูและผู้บริหารการศึกษาเชื่อว่าหน้าที่หลักของตนคือ ประเมินผลลัพธ์ของการสอนของตน ต่อการเรียนรู้และผลสำเร็จของนักเรียน

สัมมาทิฐิที่ ๒   ครูและผู้บริหารการศึกษาเชื่อว่าความสำเร็จและความล้มเหลวในการเรียนของนักเรียน มาจากสิ่งที่ตนทำหรือไม่ได้ทำ     ครูและผู้บริหารการศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)

สัมมาทิฐิที่ ๓  ครูและผู้บริหารการศึกษาคุยกันเรื่องการเรียนรู้ มากกว่าเรื่องการสอน

สัมมาทิฐิที่ ๔  ครูและผู้บริหารการศึกษามองการประเมิน เป็น feedback ต่อผลงาน (impact) ของตน

สัมมาทิฐิที่ ๕  ครูและผู้บริหารการศึกษาสื่อสารด้วยการเสวนา หรือการปรึกษาหารือ (dialogue) ไม่ใช่การสั่งการ หรือการสื่อสารทางเดียว (monologue)

สัมมาทิฐิที่ ๖  ครูและผู้บริหารการศึกษามุ่งเผชิญความท้าทาย    ไม่ใช่มุ่งแก้ตัวว่า “ทำดีที่สุดแล้ว”

สัมมาทิฐิที่ ๗  ครูและผู้บริหารการศึกษาเชื่อว่าตนมีภารกิจ/ความรับผิดชอบ ในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ในห้องเรียน  และในห้องพักครู

สัมมาทิฐิที่ ๘   ครูและผู้บริหารการศึกษาทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าใจภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้


ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า สัมมาทิฐิ ๘ นี้ ไม่ได้มีคุณเฉพาะต่อคุณภาพการศึกษาเท่านั้น    ยังมีคุณต่อการพัฒนา บ้านเมือง  ต่อองค์กร  และต่อปัจเจกบุคคลด้วย    เป็นชุดความคิดแห่งความเจริญก้าวหน้า ๘ ประการ    ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ในต่างโอกาส ต่างบริบท ก็ต้องมีการตีความตามบริบทที่จำเพาะ    ในบันทึกชุดการศึกษาที่เห็นผลกระจ่างชัด จะตีความ สัมมาทิฐิแต่ละข้อสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับผลลัพธ์ / ผลกระทบ ของการเรียนรู้ของนักเรียน (และของครู/ผู้บริหาร การศึกษา)


สัมมาทิฐิสำคัญยิ่งที่ซ่อนอยู่ในสัมมาทิฐิ ๘ ข้างบนคือ ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องประเมินตนเอง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำหน้าที่สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 636085เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2017 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2017 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

The 'right view' (Hattie's 'mind frames' or 'mind set'; Prof. Panich's สัมมาทิฐิ) is one of Buddhists' right path (magga) - the teaching that has been well known (but not yet well practiced) in Thai culture. Practioners whether 'teachers' or 'students' can enjoy benefits of this detailed view.

An aside, a Tibetan teaching: when choosing which of the fork of the way, take the 'hard way'. Because in life, the 'right thing' is more difficult to do.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท