เอกสารประกอบการเสวนา "รักแท้ การร่วมเพศ และความตาย" ข้อคิดเห็นจาก A Bungee Jumping of Their Own


เป็นเอกสารที่ผมทำประกอบการนำเสวนาที่ คณะรัฐศาสตร์ มธ. (๒๓ ต.ค. ๔๙)
http://www.popcornfor2.com/movies/031_feb04_bungee.html
http://www.heroic-cinema.com/reviews/bungee
เป็น link ที่สามารถอ่านเรื่องย่อได้
หากคุณถามว่ารักแท้คืออะไร คุณมีคำตอบในใจหรือไม่
และที่สำคัญกว่าคือทำไมคุณจึงคิดว่ามันเป็นรักแท้
๑.
หนังเรื่องนี้สำหรับผมมันคือหนังรักธรรมดาเรื่องหนึ่งที่วางฐานอยู่บนเรื่อง เพศ-sex” เพราะตั้งแต่ต้นจนจบความรักของตัวละครทั้ง ๒ นั้น วางรูปแบบ(Characteristic)เป็นความรักระหว่างเพศอย่างเห็นได้ชัด ผมเข้าใจเช่นนี้เพราะหนังก็ไม่ได้บอกว่า อาจารย์ และลูกศิษย์นั้นเป็นเกย์ เขาทั้ง ๒ เพียงสงสัย, ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนรู้สึก หากมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ความเป็นเกย์ ของทั้งคู่เกิดจากคนแวดล้อมทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า ทั้ง ๒ ไม่ได้เป็นเกย์ แต่ทั้ง ๒ ถูกทำให้เป็นเกย์ ผมรู้สึกว่าเมื่อดูหนังไปได้ครึ่งเรื่อง ผมมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า เกย์คืออะไร เกย์เป็นเกย์ หรือเกย์ถูกทำให้เป็นเกย์กันแน่ และหากเกย์ถูกทำให้เป็นเกย์ด้วยการสร้างทางสังคม(social construct)แล้ว ทำไมสังคมจึงไม่ยอมรับเกย์ หรือหากดัดคำถามนิดหน่อย ทำไมผู้สร้างจึงรังเกียจในสิ่งที่ตนสร้าง หรือก็คือหากผู้สร้างรังเกียจสิ่งที่ตนสร้าง ผู้สร้างจะสร้างสิ่งนั้นมาทำไม ในสังคมมนุษย์มีสิ่งต่างๆมากมายที่ถูกสร้าง แล้วถูกถีบ (อย่างที่ Foucault เรียกว่า subjugated knowledge) ออกไปจากความเป็นปกติของสังคม สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ว่าเหตุใดจึงถูกถีบ แต่ที่น่าสนใจกว่าสังคมมีความชอบธรรมอย่างไรที่สนับสนุนการถีบสิ่งเหล่านั้นออกไป หากพูดแบบ Gramscians ก็คือ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นไม่ได้รับการยอมรับจากผู้สร้างที่เป็น ปัญญาชน  ซึ่งเป็นผู้กำหนดอุดมการณ์หลักของสังคม ผมมองว่าเหตุที่ปัญญาชนมีความชอบธรรมในการถีบสิ่งที่ตนไม่ยอมรับออกไปนั้นเกิดจากความที่สังคมไม่มีความชอบธรรมของเสรีชน เพราะสังคมเองปล่อยให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งสนตะพายพวกตนไปทางนั้นทางนี้อย่างเซื่องๆ หรือก็คือในสังคมปัจจุบันที่คนต่างเป็นไทแต่ใจยังเป็นทาส ความชอบธรรมของปัญญาชนจึงเป็นความชอบธรรมของทาสมากกว่าความชอบธรรมของเสรีชน เช่นนี้แล้วในสังคมสมัยใหม่ที่ประกาศตนว่าเป็นเสรีประชาธิปไตย เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นเพียง ปลอมๆ(pseudo) เช่นนี้แล้วผมจึงมองว่าเกย์จึงเป็นเพียงนิยามของเหยื่อกลุ่มหนึ่งของสังคมทาส และความรุนแรงใดๆที่เกิดกับเกย์จึงอาจเป็นเพราะเกย์ไม่มีรสนิยมในการเป็นทาสก็เป็นได้ ในสถานะนี้แล้วเกย์จึงไม่สมควรมีพื้นที่หรือตัวตนใดๆได้ในสังคมทาส ความเป็นเกย์จึงเป็นเสรีภาพของชีวิตที่ไม่มีที่อยู่อย่างชอบธรรมในสังคมสมัยใหม่ที่เรียกตัวเองว่าสังคมเสรี พวกเขาจึงต้องตาย
๒.
รักแท้คืออะไร ไม่สำคัญไปกว่ารักแท้มีจริงหรือไม่ หนังเรื่องนี้บอกผมว่ามี แต่ก็นั่นแหละ ผมก็ไม่แน่ใจว่านิยามของรักแท้ที่หนังเรื่องนี้ให้กับผมนั้นเป็น รักแท้ที่แท้(truly true love) จริงหรือไม่ หากพูดแบบ Lacanians ความจริงนั้นเป็นความจริงได้เพราะความจริงคือความจริง และหากคุณอธิบายความจริงได้ความจริงนั้นก็ไม่ใช่ความจริงที่จริงอีกต่อไป ในสถานะนี้รักแท้ที่หนังเรื่องนี้พยายามบอกผม สำหรับผมมันจึงไม่ใช่รักแท้ เพราะสำหรับผมรักแท้ไม่มีคำอธิบาย และเมื่อคุณอธิบายรักแท้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะพรหมลิขิต, ความตั้งใจ, ความเพียร, ความมั่นคง, การร่วมเพศ กระทั่งความตาย หรือไปไกลขนาดการข้ามภพข้ามชาติ, ข้ามจารีต/ประเพณี/ค่านิยม เมื่อหนังอธิบายได้สำหรับผมมันก็จะไม่ใช่รักแท้อีกต่อไป
            อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ก็เสนอนิยามของรักแท้ ที่ว่ารักแท้ที่ไม่ยึดติดกับร่างกาย แต่กับจิต หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังรักระหว่างอาจารย์หนุ่มกับศิษย์หนุ่ม แต่เป็นหนังรักของนักศึกษาหนุ่มกับนักศึกษาสาว เป็นความรักที่อยู่ยงคงกระพันมากกว่าร่างกาย แต่กระนั้นในตอนจบของหนังเรื่องนี้กลับแสดงในสิ่งที่ขัดกัน คำสัญญาของทั้ง ๒ ที่ว่าจะมาเกิดใหม่นั้น คือการบอกว่าแม้รักแท้ไม่ขึ้นอยู่ที่ร่างกาย แต่รักแท้ก็ต้องการร่างกาย ในทางหนึ่งสิ่งที่รักแท้ในหนังต้องการเป็นสิ่งพิสูจน์ว่ามีรักแท้ก็คือการร่วมเพศ ที่ทำได้เมื่อมีร่างกายเท่านั้น คำพูดที่ว่า ผมอยากนอนกับคุณ จึงไม่ใช่เพราะผมอยากร่วมเพศกับคุณ แต่เป็นเพราะ ผมต้องการพิสูจน์ว่าผมมีรักแท้ให้คุณ  นั่นคือรักแท้จึงต้องร่วมเพศ และเพราะรักแท้ไม่สามารถร่วมเพศได้จึงต้องตาย และหากชาติหน้าร่วมเพศอีกไม่ได้รักแท้จึงต้องรอต่อไป
            ข้อสรุปแบบนี้ดูจะระคายหูสำหรับปัญญาชนที่ทำราวกับว่าการร่วมเพศไม่มีอยู่ในสังคม การร่วมเพศเป็นเรื่องไม่ดีที่ถูกสงวนไว้สำหรับผู้ใหญ่ ในสถานะนี้ผู้ใหญ่ที่บอกว่าการร่วมเพศไม่ดีแต่ตนร่วมเพศ ผู้ใหญ่จึงเป็นคนไม่ดีที่ดี(good bad-human) เพราะแบกรับความไม่ดีไว้กับตน และเหลือแต่สิ่งดีๆไว้ให้เด็ก ซึ่งฟังดูดีแต่เอาเข้าจริงมันเป็นการดูถูกสัตว์สายพันธุ์เดียวกับตนของผู้ใหญ่ เพราะในความคิดแบบนี้ เด็กจะเป็นเพียงสัตว์ที่ทำตนไปตามสัญชาตญาณ แต่ผู้ใหญ่เป็นคนที่รู้จักควบคุมสัญชาตญาณ  การควบคุมสัญชาตญานการร่วมเพศจึงดูจะเป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันการเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าตนควบคุมสัญชาตญาณไม่ได้ เพราะตนจะเป็นผู้ใหญ่ได้ก็ต้องร่วมเพศ การร่วมเพศเป็นเรื่องที่ชั่วที่เด็กพวกหนึ่งได้ก้าวกระโจนเข้าหา และบอกว่า มันชั่วจริงๆด้วย อย่าตามมาเชียว ก็ลองมาแล้วเลยรู้ การพิสูจน์รักแท้จึงเกิดได้กับผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะร่วมเพศได้ แต่ดังกล่าวมาแล้วว่าหากการร่วมเพศเป็นสิ่งไม่ดี รักแท้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไปคลุกคลีกับสิ่งไม่ดี รักแท้จึงเป็นความดีที่บริสุทธิ์ไปไม่ได้ การร่วมเพศในสถาบันแต่งงานที่อบอวนไปด้วยกลิ่นไอรัก เอาเข้าจริงมันคือกลิ่นไอของความไม่รู้ว่า จะชั่วหรือจะดี ที่ปัญญาชนสร้างมาครอบครองจินตนาการของสังคมอย่างลักลั่น เต็มไปด้วยตรรกะที่อ่อนแอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพลังครอบงำอย่างยิ่ง และแน่นอนเพราะมันเกิดขึ้นในสังคมทาสสมัยใหม่ที่เราดำรงกันอยู่ และมีทาสมากมายที่เห็นว่าความเบาปัญญานี้ชอบธรรม และดังกล่าวมาแล้วเมื่อคนสองคนที่ไม่สามารถร่วมเพศอย่างชอบธรรมในสังคมได้ สังคมทาสนี้ก็จะไม่สามารถนิยามได้ว่าเขาทั้ง ๒ ชั่วหรือดี การที่ไม่สามารถนิยามได้นี้เองจึงดูจะไม่เป็นการชอบธรรมที่สังคมจะบอกว่าความเป็นเกย์นั้นไม่ดี เอาเข้าจริงตรรกะแบบผมจึงบอกไม่ได้ว่าเกย์ดี หรือไม่ดี ผมบอกได้ว่าสังคมเบาปัญญาเพียงพอที่จะนิยามความ ไม่รู้ ที่มีต่อเกย์ว่าชั่ว และสุดท้ายสังคมเองนั่นแหละที่ทำให้เขาทั้ง ๒ พิสูจน์รักแท้ด้วยความตาย
๓.
การตายที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้มี ๒ ครั้ง การตายครั้งแรกของนักศึกษาสาว และการตายครั้งที่ ๒ ของอาจารย์หนุ่มและศิษย์หนุ่ม มีความหมาย(meaning)เหมือนกันในทางหนึ่งคือการพิสูจน์การมีอยู่จริงของรักแท้ที่หนังนิยาม การตาย ของร่างกายในสถานะนี้ไม่ใช่ ความตาย ของจิต แต่ในอีกทางหนึ่งการตายทั้ง ๒ ครั้งก็มีความหมาย(signified)ที่ต่างกันอยู่ สำหรับผมการตายครั้งแรกนั้นเป็นเพียงการพิสูจน์การมีอยู่ของรักแท้แต่เพียงเท่านั้น แต่การตายครั้งที่ ๒ มีความหมายของการหลบหนีอยู่ด้วย 
           การหลบหนีที่เกิดขึ้นนั้นก็คือการหนีจาก อำนาจ ที่รัดรึง รักแท้ นั่นจึงมีนัยะว่า รักแท้นั้นแม้มี พลัง(force) แต่ก็มีกำลัง(authority) น้อยกว่าอำนาจ(power)ของสังคม ในสถานะนี้รักแท้จึงถูกอำนาจของสังคมปฏิบัติการณ์ด้วยตลอดเวลา สังคมจึงมีนิยามของรักแท้ชุดหนึ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ารักแท้ของสังคม(the social’s true love) อาจไม่ใช่รักแท้ที่แท้(truly true love) และเมื่อรักแท้ที่แท้ถูกปฏิบัติการณ์ทางอำนาจ หนังกลับเสนอการหลบหนีแทนที่จะต่อสู้ ในสถานะนี้การตายครั้งที่ ๒ จึงเป็นข้อพิสูจน์ของการมีอยู่ของรักแท้ที่ต้องสยบยอมต่อวาทกรรมของสังคม การตายครั้งที่ ๒ จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีที่จะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเกย์ และเป็นหนังเพียงหนังรัก และเป็นรักที่เป็นรักแท้ที่ถูกวาทกรรมของสังคมสร้างให้เป็นมายาคติ(myth) ด้วยในเวลาเดียวดัน 
           แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าหนังเรื่องนี้แม้รักแท้ที่สยบยอมนี้อาจดูไม่มีคุณค่าในทางปรัชญาการเมืองหากมองเพียงผิวเผิน แต่หากมองในอีกทางแล้ว การที่การตายครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นได้นั้น ในทางหนึ่งกลับเป็นภาพแสดงความไม่แยแสต่อการดำรงอยู่ของร่างกายที่เป็นหน่วยย่อย(unit)ของสังคม ในสถานะนี้รักแท้ที่แท้จึงกลับมีอำนาจเหนือวาทกรรมของสังคม วาทกรรมที่ว่าก็คือ การยึดติดในร่างกาย และการปรนเปรอร่างกาย การตายครั้งนี้จึงเป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่แสดงฐานะอันเหนือกว่าของจิต ต่อร่างกาย ในขณะเดียวกันมันคือภาพสะท้อนของความสำคัญยิ่งกว่าของ ปัจเจกชน ที่มีเหนืออุดมการณ์ เป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ปัจเจกชนด้วยเลือด และความตาย ความตายจึงเป็นสิ่งสำคัญของการพิสูจน์รักแท้ รักแท้จึงต้องถูกบูชายัญ ผมคิดถึง Soren Kiegegaad ที่เชื่อว่ามนุษย์มีชีวิตอยู่ใน ๓ รูปแบบ คือขั้นสุนทรีย์, จริยะ และศาสนา โดยมนุษย์จะเกี่ยวพันกับรูปแบบชีวิตในลักษณะกระโจนข้ามไปในแต่ละขั้นที่สูงขึ้นไปโดยทิ้งเบื้องต่ำให้ได้มาซึ่งเบื้องสูง (จากซ้ายไปขวา)แต่เขาไม่อธิบายว่าจะเกิดเหตุการณ์กระโจนย้อนศรหรือไม่ ผมไม่ได้กำลังนิยามการบูชายัญ แต่ผมมองว่ารูปแบบใดๆก็ตามของคีเกการ์ดนั้นมีการบูชายัญเกิดขึ้นทั้งสิ้น แม้ต้องเข้าใจร่วมกันว่าบูชายัญนั้นไม่จำเป็นต้องมีการตายร่วมด้วยเสมอไป เพราะตรรกะของการบูชายัญคือการ give and get ดังนั้นการที่สิธทัตถะทิ้งชีวิตแสนสุขซึ่งรวมถึงการทิ้งลูกเมีย(ที่หากเป็นคนในปัจจุบันก็จะถูกเรียกว่าผัวไม่มีความรับผิดชอบ และสร้างราหุลให้เป็นปัญหาสังคม)เพื่อให้ได้มาซึ่งทางสว่างแห่งปัญญาก็นับได้ว่าเป็นบูชายัญ แต่ก็เป็นการบูชายัญของนอกกายเท่านั้น สิธทัตถะจึงต้องตายเพื่อที่การบูชายัญนั้นไปสู่จุดสูงสุดดังที่เยซูตายบนกางเขนโรมัน ต่างกันตรงที่เยซูนั้นสิ้นชีวิต แต่สิธทัตถะสิ้นตัวตน และสิธทัตถะก็เกิดใหม่เป็นสมณะโคดม ดังที่เยซูฟื้นมาเป็นพระบุตรและสุดท้าย ตัวตน และ ชีวิต ของทั้งคู่ก็ได้ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเทวะ ซึ่งคงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการบูชายัญที่ ต้องทิ้งจึงได้มาโดยนักแต่งเรื่องรุ่นหลังยุคศาสดาที่เรียกกันว่าอัครสาวก ซึ่งไม่เพียง ๒ ศาสนาที่ยกมา แต่มีแทบทุกศาสนาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เอาเข้าจริงแล้วหากคิดในตรรกะแบบผม การตายจึงเป็นไปเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในกรณีนี้ให้รักแท้ และสิ่งนี้เองที่จะสามารถสร้างพลังให้รักแท้มีชัยชนะเหนือสังคม แต่หากเป็นเช่นนี้แล้วหากผลักตรรกะอย่างที่สุด สำหรับผมกลับเป็นเรื่องน่าตกใจ วิทยาศาสตร์ที่มีตรรกะของการสร้าง จึงต้องพ่ายแพ้ต่อการตัดขาดแบบศาสนา การที่สังคมสมัยใหม่ดำรงตนว่าเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ แต่เอาเข้าจริงผลแพ้ชนะในการต่อสู้ทางปัญญากลับเป็นเรื่องทางศาสนาไปเสียได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์ไร้น้ำยา แต่เป็นเพราะสังคมทาสสมัยใหม่ต่างหากที่ลืมไปว่าวิทยาศาสตร์นั้นถือกำเนิดมาเพื่ออธิบายการมีอยู่ของพระเจ้า
 และเพื่อความศักดิ์สิทธิ์และชัยชนะของรักแท้พวกเขาจึงต้องตาย
note คำเตือน!
นี่เป็นมุมมองที่ผมได้จากหนัง
 แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของทุกสิ่ง สิ่งที่ผมเสนอไม่ใช่ถูกหรือผิด
แต่ สิ่งสำคัญกว่าหรือจะยินดี คิด หรือไม่คิด กับสิ่งรอบตัวเท่านั้น
ดังนั้นอย่าเชื่อผม แต่ขอให้คุณคิดเอาเอง
คำสำคัญ (Tags): #เอกสารเสวนา
หมายเลขบันทึก: 63569เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท