เห็ดหิน....


"เห็ดหิน"เป็นเห็ดพื้นถิ่น มีให้ได้ลิ้มลองปีละครั้ง ในช่วงฤดูฝน มักจะขึ้นตามลานหินที่มีความชื้นสูง ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีเขียว มีความนิ่มและความเหนียวแบบกรุบกรอบ นำมาประกอบอาหารได้แบบพื้นบ้านชื่อว่า"ยำเห็ดหิน"โดยก่อนทำการนำมาปรุงควรจะ"ลวกเห็ดหิน"ด้วยน้ำร้อนเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อความสะอาดและปลอดภัยครับ...ขอขอบคุณพี่สาวทั้งสองคนของผมที่เป็นต้นเรื่องในบันทึกนี้ และขอขอบคุณ G2K ที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ออกไปยังโลกอันกว้างใหญ่ ท้ายที่สุดก็ต้องขอขอบคุณบรรพบุรุษที่ได้ส่งต่ออาหารดี ดี มายังคนรุ่นหลังให้ได้ใช้ดำรงชีพต่อไปด้วยนะคร้าบ.....

                                             -ขอนำเอาเรื่องราวของอาหารพื้นถิ่น มาบันทึกเอาไว้ให้ได้ติดตามและทำความรู้จักกับเมนูพื้นบ้านของบ้านเกิดเมืองนอนของผม บ้านสุขสวัสดิ์/เถิน/ลำปาง/เหนือ กันสักหน่อยก็แล้วกันนะครับ...และเพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมแห่งการกินอยู่ของคนต่างจังหวัดแบบผมรวมทั้งจะได้เป็นการเรียนรู้และแบ่งปันเรื่องราวดี ดี จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ "เห็ดหิน"บนสมุดออนไลน์เล่มนี้ "อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน"ของผมคร้าบ!!!!!

1.เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2560 ผมได้มีโอกาสกลับบ้านเกิดเมืองนอน บ้านสุขสวัสดิ์ ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เพื่อไปร่วมแสดงมุทิตาจิตใน"งานพิธีมอบตราตั้งเจ้าอาวาส พระจันทร์ติ๊บ  ขันติโก วัดสุขสวัสดิ์ หมู่ที่ 12 ตำบลแม่ถอด"ครับ...โดยงานนี้ครอบครัวใหญ่ตระกูล"จอมดวง"รู้จักอิ่มเอมใจและมีความสุขมากๆ ครับ สำหรับการได้ร่วมแสดงมุทิติจิตกับ"พระจันทร์ติ๊บ ขันติโก"ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันของ"พ่อผ่าน-แม่เหรียญทอง จอมดวง"ครับ...แม้ว่างานนี้บรรดาพี่น้องท้องเดียวกันและหลานๆ บางคนไม่ได้มาร่วมงานนี้ แต่ก็ได้ส่งพลังแรงใจรวมทั้งปัจจัยต่างๆ มาร่วมแสดงความยินดีด้วย บุญกุศลต่างๆ ที่ได้ร่วมกันทำในครั้งนี้ ขออุทิศไปยัง"พ่อผ่าน-แม่เหรียญทอง จอมดวง และวงศาคณาญาติ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ ท่านด้วยนะครับ สาธุ........

2.เสร็จจากภารกิจในงานแสดงมุทิตาจิตที่วัดแล้ว ผมกับพี่สาวก็เดินทางไปยัง"ทุ่งนา"ของเราครับ โดยถือว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อผ่าน-แม่เหรียญทอง จอมดวง ที่ได้มอบไว้ให้กับลูกหลานครับ แม้ว่าจะไม่มากนักแต่เราก็รู้สึกได้ถึงความรักและความตั้งใจในการเก็บรักษาสมบัติเหล่านี้เอาไว้ให้ลูกหลานเพื่อใช้สำหรับสร้างแหล่งอาหารไว้สำหรับหล่อเลี้ยงชีพต่อไปครับ...ปีนี้ข้าวในนาดูงามเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ได้มอบให้กับผู้คนบนโลกใบนี้ครับ..หลังจากเดินเยี่ยมชมแปลงนาเสร็จแล้ว พี่สาวของผมก็ได้ชวนไปเก็บ"เห็ดหิน"กันต่อครับ....

3.ก่อนเก็บ"เห็ดหิน"ผมขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ"พี่สาว"ของผมก่อนก็แล้วกันนะครับ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านที่ได้ติดตามบันทึกของผมมาบ้างก็คงพอจะคุ้นหน้าคุ้นตา"พี่สาว"ทั้งสองของผมมาบ้างแล้ว แต่เพื่อทำหน้าที่เป็น"ป๋าดัน"ดาราบ้านทุ่ง"ของผมแล้ว งานนี้จึงขอแนะนำตัวกันอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกันนะครับ 55555 คนแรก"เสื้อแขนยาวสีเขียว เธอชื่อ"พี่เกี๋ยวแก้ว"ครับ ส่วนอีกคนหนึ่งเสื้อสีส้ม เธอชื่อ"พี่สุมาลี"ครับ..สองสาวของครอบครัวใหญ่ของเราดูมีความสุขในทุกครั้งที่ได้เจอกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าทั้งสองคนอยู่กันคนละจังหวัด(พี่เกี๋ยงแก้ว อาศัยอยู่บ้านเกิด ส่วน พี่สุมาลี อาศัยอยู่ที่จังหวัดพิจิตร"นั่นเองครับ พอได้เจอกันจึงได้มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันในทุกครั้งเลยล่ะครับ 555555 

4.ทำความรู้จักผู้นำทางกันแล้ว ตอนนี้ก็ไปช่วยกันเก็บ"เห็ดหิน"กันต่อครับ ว่าด้วยเรื่อง"เห็ดหิน"ที่ท่านกำลังเห็นอยู่นี้ สำหรับตัวผมเองแล้วก็มีความคุ้นเคยกับเห็ดชนิดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลยล่ะครับ เท่าที่จำความได้นั้นพอถึงเวลาย่างเข้าหน้าฝนและฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน เราก็มักจะไปเก็บ"เห็ดหิน"ในป่าที่มี"ลานหิน"กันครับ...และก็จะนำมาปรุงเป็นเมนูอร่อยๆ ด้วย และด้วยภารกิจและหน้าที่ที่ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ตัวผมก็ต้องจากบ้านเกิดเพื่อมาทำงานต่างจังหวัด ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้มีโอกาสได้"ลิ้มรสเห็ดหิน"มานานหลายปีเลยล่ะครับ พอมีโอกาสได้กลับบ้านเกิดพร้อมกับฤดูกาลนี้"เห็ดหิน"ได้ออกมาให้เราได้เก็บกิน ดังนั้นจึงไม่พลาดโอกาสที่จะนำเอาเรื่องราวมาบันทึกไว้ครับ และเท่าที่ผมลองสืบค้นข้อมูลจาก Internet ดูก็พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับ"เห็ดหิน"มีน้อยมากๆ ครับ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นพืชอาหารพื้นถิ่นที่มีเฉพาะบางพื้นที่ด้วย ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการนำเอาข้อมูลมาบันทึกเอาไว้ในโลกออนไลน์ครับ แต่สมาชิกท่านหนึ่งใน G2K ได้นำเอาเรื่องราวของ"เห็ดหิน"มาบันทึกเอาไว้ที่นี่ครับ ยำเห็ดหิน โดย Buriruk Vawkhoksung เอาเป็นว่าตามไปดูข้อมูลเกี่ยวกับ"เห็ดหิน"ได้เลยนะครับ...

5.หลังจากเก็บ"เห็ดหิน"เรียบร้อยแล้ว "พี่เกี๋ยงแก้ว"ก็นำ"เห็ดหิน"มาล้างทำความสะอาดโดยเก็บเอาเศษหญ้าและเศษก้อนหินที่ติดมากับเห็ดหินออกให้หมดครับ รวมทั้งได้บอกกับผมว่าสามารถนำเอา"เห็ดหิน"ไปปล่อยขยายพันธุ์ได้ที่บ้านไร่ของผมด้วย เพราะว่ามีสภาพเป็นลานหินเหมือนกัน แล้วต่อไปก็จะได้มี"เห็ดหิน"ไว้ลิ้มลองในทุกๆ ปีนั่นเองครับ เมื่อได้รับรู้แบบนี้แล้ว ตัวผมเองก็ต้องขอเอาพันธุ์เห็ดหินกลับมาด้วย และที่สำคัญนอกจากจะขยายพันธุ์แล้วผมก็จะนำเอามาปรุงเป็นเมนูเด็ดให้ได้ลิ้มลองเพื่อจะได้รำลึกถึงความหลังครั้งเก่าก่อนได้ชัดขึ้นนั่นเองครับ 55555

6.พอกลับถึงบ้านไร่ของผม ณ บ้านหนองราง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร แล้ว ผมก็ได้นำเอา"เห็ดหิน"มาปรุงเมนูเด็ดที่ชื่อว่า"ยำเห็ดหิน"ครับ สำหรับเครื่องปรุงนั้น ประกอบด้วย"ปลาทูนึ่งต้มน้ำปลาร้า/มะเขือเปราะ/ตะไคร้/งาดำคั่วตำละเอียด/ใบขิง ส่วนน้ำพริกยำก็ทำง่ายๆ ครับ มี "พริกสด/กระเทียม คั่วให้สุก นำมาโขลกให้ละเอียด ใส่ปลาทูลงไป ผสมให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าต้มสุก เกลือแกง แล้วนำเอามะเขือเปราะและตะไคร้หั่นบางๆ ผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ ปิดท้ายด้วย"ใบขิงหั่นฝอย"โรยงาดำคั่ว"เพียงเท่านี้เราก็จะได้เมนู"ยำเห็ดหิน"เมนูแบบพื้นบ้านล้านนาแล้วล่ะครับ555555

7.ส่วนเห็ดหินอีกส่วนหนึ่ง ตัวผมเองก็ได้นำเอาไปปล่อยทิ้งไว้บนลานหินที่หลังบ้านครับ เท่าที่สังเกตดูแล้ว"เห็ดหิน"เป็นเห็ดที่ชอบความสะอาด พื้นที่ต้องปลอดสารเคมีจริงๆ เพราะว่าหากมีสารเคมีแล้วก็จะทำให้"เห็ดหิน"ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นจึงถือได้ว่า"เห็ดหิน"เ ป็นอาหารที่ปลอดภัยและเป็นอาหารที่อร่อยมาก ๆ ด้วยล่ะครับ...เอาไว้ลุ้นกันในปีหน้าดีกว่าว่า"บ้านไร่ของผม"จะมีเห็ดหินขึ้นมาให้ได้ลิ้มลองรึเปล่าครับ 55555

8.และนี่ก็คือเรื่องราวของ"เห็ดหิน"เห็ดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แหล่งอาหารจากป่า อาหารพื้นถิ่น ที่ช่วยหล่อเลี้่ยงชีพของผู้คนในชุมชนมาตั้งแต่ครั้งอดีต มาถึงวันนี้สถานการณ์ของสภาพแวดล้อมต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แหล่งอาหารต่างๆ เริ่มลดน้อยถอยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหากเรามีโอกาสที่จะรักษาและร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์พืชอาหารเหล่านี้เอาไว้บ้าง แม้ว่าจะไม่ยิ่งใหญ่หากแต่เพียงช่วยกันคนละไม้ละมือตามความสามารถของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าคนรุ่นหลังก็จะได้รับรู้และร่วมกันสืบทอดมรดกอันล้ำค่าจากโลกใบนี้ต่อไปอย่างอบอุ่นใจครับ...

สำหรับวันนี้....ยินดีที่ได้แบ่งปันเรื่องราวดี ดี จากบ้านเกิดเมืองนอน....

                                                                                                                          สวัสดีครับ

                                                                                                                         เพชรน้ำหนึ่ง+มดตะนอย+ตระกูลจอมดวง

                                                                                                                            30/08/2560

                                                                                                                             Hi Hug House


หมายเลขบันทึก: 635204เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2017 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2017 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก

ขออนุโมทนากับหลวงพี่คุณเพชรด้วยนะครับ

เห็นวิธีทำเห็ดหินแล้ว

น่ากินมากๆ

น่าอร่อยมาก  ลุ้น ๆ นึกว่าฟันจะหักซะแล้ว ๕ ๕ ๕

สวัสดีค่ะ..คุณเพชรน้ำหนึ่ง....หน้าตาเหมือน..สาหร่ายทะเล..น่าจะเป็นพืชประเภทเดียวกับมอสที่เคยเห็นขึ้นตามหินในที่ชุ่มชื้น..พิศดารที่..คนอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ..รู้จักกินเป็นอาหาร..กัน..เป็นปัญญาชน จริงๆ..นะเจ้าคะ..

-สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

-ขอบคุณทีี่มาร่วมกิจกรรมดี ดี ของตระกูลจอมดวง นะครับ 

-กลับบ้านเกิดเมืองนอนทีไรก็ได้เก็บเอาเรื่องราวมาบันทึกไว้เสมอๆ ครับ

-ยินดีที่ได้นำเอาภูมิปัญญาดี ดี เช่นนี้มาส่งต่อครับครู

-สวัสดีครับพี่หมอธิ

-เห็ดหิน...ไม่แข็งดังหินผา 555

-อร่อยครับพี่หมอ

-ที่สำคัญคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเราครับ..

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมยามกันเด้อ..

-สวัสดีครับยายธี

-สาหร่าย นี่คือสาหร่ายบนดินนะครับยาย 555

-ต้องขอขอบคุณบรรบุรุษที่ส่งต่อการเลี้ยงชีพด้วยอาหารดีๆ เช่นนี้มายังลูกหลานครับ

-ขอบคุณยายที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจวงศาคณาญาติของผมด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท