ยำเห็ดหิน


เห็ดหิน ไม่ใช่เห็ดที่เกิดจากเชื้อรา แต่เป็นตะไคร่น้ำที่มีสีเขียวเหมือนหยก เป็นก้อนกลมขนาดลูกชิ้น มีความนุ่มคล้ายวุ้น มักขึ้นตามลำน้ำใสที่มีน้ำไหลผ่าน

เห็ดหิน หรือ หรือ สาหร่ายมุกหยก ไม่ใช่เห็ดที่เกิดจากเชื้อรา แต่เป็นตะไคร่น้ำที่มีสีเขียวเหมือนหยก เป็นก้อนกลมขนาดลูกชิ้น มีความนุ่มคล้ายวุ้น มักขึ้นตามลำน้ำใสที่มีน้ำไหลผ่าน ชาวบ้านจะนิยมกินเห็ดหินที่มีสีเขียวอ่อนใสคล้ายแก้วผสม    เพราะจะเป็นเห็ดที่ขึ้นใหม่และ อ่อนนุ่มเหงือกนุ่มฟัน

   เครื่องปรุงและกรรมวิธีในการยำเห็ดหิน มีดังนี้

     1. พริกหนุ่มเม็ดใหญ่สีเขียวหรือสีแดงสุก นำไปย่างไฟแกะเปลือกออกให้เหลือแต่เนื้อพริก

     2. กะปิและปลาร้าห่อใบขมิ้นหมกไฟให้หอม

     3. กระเทียมและหอมแดงเผาไฟให้นิ่มแกะเปลือกสีดำออก

     4. นำเครื่องปรุงทุกอย่างโขลกให้ละเอียด

     5. คั่วงาขาวในกระทะให้หอม พักไว้ให้เย็น

     6. โปรตีนที่มี เช่น เนื้อ หมู ไก่ นำไปย่างไฟให้สุก ฉีกเป็นเส้นฝอยเล็กๆ

     7. ล้างทำความสะอาดเห็ดหินแล้วใส่ในกะละมัง นำเครื่องปรุงที่โขลกละเอียดลงไปคนให้เข้ากัน ใส่โปรตีนที่เตรียมไว้ โรยด้วยงาขาว

     ชาวบ้านนิยมกินกับข้าวเหนียว แกล้มผักอวบน้ำจากในนา เช่น ผักควบ ผักปุ๋มปู ปุ๋มปลา ผักฮิน เป็นต้น

คุณค่าทางอาหารของสาหร่ายมุกหยกพบว่า สาหร่ายปริมาณ 100 กรัม จะมีโปรตีน 20.26-43.52 % ไขมัน 0.00-1.56 % ใยอาหาร 2.70-43.00 % มีวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 มีแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก และยังประกอบด้วย กรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น

เมไทโอนีน ไลซีน โพรลีน ซีรีน ไทโรซีน อะลานีน อยู่อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค และไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

สำหรับสรรพคุณด้านการรักษา ของสาหร่ายมุกหยก ตามภูมิปัญญาไทยเชื่อว่าสามารถรักษาระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมทั้งช่วยลดอาการร้อนใน ส่วนภูมิปัญญาจีนมีความเชื่อว่าการบริโภคสาหร่ายชนิดนี้จะช่วยรักษาโรคเก๊าต์ โรคมะเร็ง อาการตาบอดในเวลากลางคืน แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ตลอดจนอาการป่วยต่างๆ สำหรับภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าจะช่วยในการลดคลอเลสเตอรอลและป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ เนื่องจากสาหร่ายชนิดนี้มีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยในการดูดซับสารพิษในร่างกายได้อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 139088เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีภาพให้ดูด้วยก็น่าจะดีมาก

เพิ่งเคยได้ยินเห็ดหิน ค่ะ อ่านจากบันทึกแล้ว น่าอร่อยนะคะ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท