ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๕๒. ปรับชั้นเรียนตามขีดความสามารถของครู



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano   ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง

ตอนที่ ๕๒ ปรับชั้นเรียนตามขีดความสามารถของครู  ตีความจาก Recommendation 7 : Adjust Scheduling to Address the Differential Effectiveness of Teachers

ข้อเสนอที่ ๗ ของหนังสือ The New Art and Science of Teaching นี้ เสนอให้จัดระบบชั้นเรียนเสียใหม่ ตามกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินความรู้โดยใช้สเกลความเข้าใจ (Proficiency Scale - ดูตอนที่ ๒) ต่อความรู้สำคัญ ของหน่วยเรียนรู้นั้น    เป็นกลุ่ม 2.0, กลุ่ม 3.0, และกลุ่ม  4.0    และจัดให้ครูที่มีสมรรถนะสูงสอนนักเรียนกลุ่ม 2.0  ครูที่มีสมรรถนะรองลงมาสอนกลุ่ม 3.0  และครูที่มีสมรรถนะต่ำสุดสอนกลุ่ม 4.0  


ข้อเสนอนี้มาจากหลักฐาน (จากผลงานวิจัย) ๒ ประการ 

  • ครูที่มีสมรรถนะระดับ percentile ที่ ๒๕ (ไม่ค่อยเก่ง)  กับครูที่ระดับ percentile ที่ ๗๕ (เก่ง)   สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้แก่นักเรียนได้ต่างกัน 0.35 x SD ในวิชาอ่าน   และต่างกัน 0.48 x SD ในวิชาคณิตศาสตร์    และ ครูที่มีสมรรถนะระดับ percentile ที่ ๕๐ (เก่งปานกลาง)  กับครูที่ระดับ percentile ที่ ๙๐ (เก่งมาก)  สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้แก่นักเรียนได้ต่างกัน 0.33 x SD และ 0.46 x SD  ในวิชาอ่าน และวิชาคณิตศาสตร์ตามลำดับ    เป็นหลักฐานว่าในสหรัฐอเมริกาครูมีสมรรถนะต่างกันมาก    และผมเดาว่าในประเทศไทยก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน
  • การที่จะได้ครูที่มีสมรรถนะสูง ต้องใช้เวลาฝึกฝนจากประสบการณ์ประมาณ ๑๐ ปี    เพราะหน้าที่ครูเป็นงานที่ซับซ้อน  


อาจมีผู้แย้งว่า แทนที่จะปรับที่เวลาเรียน ใช้วิธีปรับที่สมรรถนะของครู    คือหาวิธีทำให้ครูมีสมรรถนะสูงพอๆ กันทั้งหมดจะมิดีกว่าหรือ    คำตอบคือดีกว่าแน่นอน หากทำได้    และสถานการณ์ในประเทศฟินแลนด์ก็เป็นเช่นนั้น    แต่นั่นหมายความว่า จะต้องปรับความเชื่อ วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาของประเทศแบบเปลี่ยนจากหน้ามือ เป็นหลังมือใน ในหลากหลายด้านมาก    รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์`  


โปรดสังเกตว่า ข้อเสนอให้จัดชั้นเรียนตามผลการประเมินด้วยสเกลความเข้าใจนี้ จัดเฉพาะหน่วยเรียนรู้นั้นๆ เท่านั้น    นักเรียนที่อยู่ในกลุ่ม 2.0 ในหน่วยเรียนรู้ภูมิศาสตร์     อาจอยู่ในกลุ่ม 4.0 ของหน่วยเรียนรู้คณิตศาสตร์ ก็ได้ 


ผมขอเสนอเพิ่มเติมว่า ควรจัดกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ของครูที่สอนนักเรียน ๓ กลุ่มนี้ (ดูตอนที่ ๔๖)    เป้าหมายการดำเนินการช่วยให้เด็กทั้งสามกลุ่มบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ระดับ 4.0 ด้วยกันทั้งหมด  น่าจะเป็นประเด็นเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่ช่วยพัฒนาสมรรถนะครูได้อย่างดีมาก


ที่จริงชื่อของตอนนี้ น่าจะเปลี่ยนเป็น “จัดชั้นเรียนตามระดับความเข้าใจเดิมของนักเรียน”    ซึ่งก็คือตามพื้นความรู้เดิม (prior knowledge) ของนักเรียนนั่นเอง   


วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 634970เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2017 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

How do we deal with 'side issues' for teachers being ranked? Management and public perceptions may be biased 'before' and/or 'after' ranking and impact teachers' personal social standing and/or career prospect. Appying specialization profile strategies to teachers (in the same way as to students ie. a teacher may be ranked 4.0 in Maths, but 2.0 in History,...) can make matching (students' - teachers') profiles and available resources (time, rooms, equipment,...) very difficult. (That's scheduling learning classes or time-tabling may need 'high proficient' processing (or tools). Such tools would need to be made available -even on online-over-the-Net basis- to all schools.)

Is there solution for this available?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท