บุหรี่


เสี่ยงตาบอดถาวร

ตาบอด ฟังแล้วหลายคนอาจไม่เชื่อว่า โทษของบุหรี่ จะทำให้ตาบอดได้จริง แต่นั่นเป็นความจริง เพราะเมื่อเราสูบบุหรี่บ่อยๆ สารพิษในบุหรี่จะไปทำให้เกิดตาต้อกระจกได้ง่ายขึ้น โดยสังเกตได้จากดวงตาที่ดูขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ สารพิษในบุหรี่ ยังเป็นตัวการทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอเรตินาเกิดการตีบตัน จนเป็นผลให้ตาบอดถาวรในที่สุด

เสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อาจดูเป็นโรคที่ไกลตัว แต่สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่มีความเสี่ยงมากทีเดียว เพราะร่างกายของเราจะมีกระบวนการดูดซึมสารพิษหรือสารแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ซึ่งสารนิโคตินและสารเสพติดอื่นๆ ในบุหรี่นั้น มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อมีการดูดซึมและขับออกทางปัสสาวะบ่อยๆ จะทำให้กระเพาะปัสสาวะได้สัมผัสกับสารเหล่านี้ไปเต็มๆ เป็นผลให้เสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้นั่นเอง นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากกล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมกระเพาะปัสสาวะถูกทำลายจนอ่อนตัวลงไปแล้ว

เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันอย่างไม่ทันตั้งตัว และผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อโรคเหล่านี้มากที่สุด เนื่องจากสารนิโคตินและสารเสพติดอื่นๆ ในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัวและตีบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ยากขึ้น และอาจไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ จึงทำให้หัวใจวายอย่างเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในขณะออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงมักจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกกำลังกายหนักๆ นั่นเอง

เสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหาร

ผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ จะเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินอาหารได้สูง ไม่ว่าจะเป็นโรคกระพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งช่องปากและมะเร็งหลอดอาหาร รวมถึงการติดเชื้อ  Helicobacter pylori เพราะสารเคมีในบุหรี่ จะไปทำให้กระเพาะอาหารมีการผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น และมากเกินความจำเป็น จนทำให้กระเพาะอาหารเกิดแผลจากการกัดกร่อนของน้ำย่อย ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะและเสี่ยงโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ หากสูบบุหรี่บ่อยๆ และสูบในปริมาณมากต่อวันก็อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้

 

เสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ

หลอดเลือดสมองตีบ เป็นอีกโรคที่น่ากลัว เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองแตกได้ ซึ่งก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤต อัมพาตและอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อีกเช่นกัน ซึ่งจากการวิจัยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ และสูบเป็นประจำมักเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนปกติสูงถึง 10 เท่า อีกทั้งยังอาจทำให้เซลล์สมองฝ่อและเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ

เสี่ยงถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง เกิดจากการที่เนื้อปอดและถุงลมเล็กๆ ของเรานั้นค่อยๆ เสื่อมสภาพลง และเริ่มรวมตัวกันจนโป่งพองขึ้นมาในที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพราะการสูบบุหรี่มากๆ โดยสารนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ จะเข้าไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของปอด และทำให้ถุงลมเล็กๆ ฉีกขาด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบากและหายใจยากขึ้น บางคนอาจรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอดจนต้องหายใจถี่และเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งก็สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยได้มากทีเดียว

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอวัยวะเพศของคุณถึงมักจะไม่ค่อยแข็งตัว หรือบางคนอยากมีลูก แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ภรรยาก็ไม่ตั้งครรภ์สักที นั่นอาจเป็นเพราะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากการสูบบุหรี่บ่อยนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะสารเคมีในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้น้อยลง และยังทำให้จำนวนอสุจิลดน้อยลงตาม ซึ่งเมื่อขาดตัวอสุจิที่แข็งแรงไปโอกาสที่คุณจะเป็นหมันก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้น

เสี่ยงแท้งลูก

สำหรับผู้หญิงที่สูบบุหรี่ โดยทั่วไปนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูงกว่าผู้ชายแล้ว หากยังคงสูบในช่วงตั้งครรภ์ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้อีกด้วย เนื่องจากสารเคมีในบุหรีจะทำให้รกเกาะต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน และอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษตามมาได้ ดังนั้นหากรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรเลิกสูบบุหรี่โดยด่วน และต้องอยู่ให้ห่างไกลจากควันบุหรี่ด้วยเช่นกัน

ส่งผลกระทบอื่นๆ ต่อทางร่างกาย

นอกจากโทษของบุหรี่ที่กล่าวมาแล้ว ผู้สูบบุหรี่อาจมีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น ทั้งความผิดปกติที่ไม่อันตรายและที่เป็นอันตราย แต่ก็สร้างความวิตกได้เป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งผิดปกติเหล่านั้น ได้แก่ ฟันผุ ฟันดำ มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวเหม็นมาก แก่เร็ว ผมหงอก และอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หอบบ่อยๆ เล็บเหลืองหรือมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย

โทษของบุหรี่ต่อคนรอบข้าง

เสี่ยงโรคหอบหืด

เนื่องจากควันบุหรี่ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้สูดควันเข้าไปโดยตรง จึงอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และเสี่ยงต่อโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้ ในคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็อาจมีอาการกำเริบจากการสูดควันบุหรี่ได้ง่ายเช่นกัน

ทำลายสุขภาพทารกในครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ หากได้รับควันบุหรี่ในปริมาณมากหรือเป็นประจำทุกวันจะทำให้เสี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเด็กไม่สมบูรณ์ เด็กพิการตั้งแต่กำเนิด ภาวะแท้ง หรือการเสียชีวิตระหว่างคลอด ดังนั้นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ จึงไม่ควรอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ และตัวผู้สูบบุหรี่เองก็ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ใกล้ๆ กับหญิงตั้งครรภ์ด้วย

เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้ถึง 2 เท่า

ผู้สูบบุหรี่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่กลับเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าถึง 2 เท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะตัวผู้สูบจะได้รับควันบุหรี่เพียงส่วนหนึ่งของควันที่พ่นออกมาเท่านั้น แต่ผู้ที่อยู่รอบข้างกลับได้รับควันบุหรี่ไปเต็มๆ ดังนั้น หากคุณไม่อยากทำร้ายคนที่คุณรัก ก็ควรงดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูบในบริเวณที่มีคนอื่นๆ อยู่ใกล้จะดีกว่า

ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ

สำหรับใครที่มีลูก ไม่ควรสูบบุหรี่ใกล้ๆ ลูกน้อยของคุณ เพราะควันบุหรี่จะทำให้เด็กมีพัมนาการที่ช้าลงจากปกติถึง 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการทางด้านร่างกายหรือการพัฒนาการทางด้านสมองก็ตาม นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการพิการทางด้านสมองของเด็กๆ อีกด้วย

บุหรี่...สิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย

แต่บุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนเราได้เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงจะมีอัตราการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้มากกว่าผู้ชายนั่นเอง ซึ่งเมื่อได้รู้ถึงโทษของการสูบบุหรี่ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างกันแล้ว จากนี้ใครไม่อยากให้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวคุณและคนที่คุณรัก ก็ควรงดสูบบุหรี่โดยด่วน หากกลัวว่าจะทำไม่ได้ แนะนำให้เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ลดปริมาณการสูบต่อวันทีละนิดลง แล้วคุณจะสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในวันหนึ่งแน่นอน

ในการประชุมนานาชาติ เรื่อง การสูบบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่หก เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่กรุงโตเกียว นายฮาล์ฟดาน มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาได้พยายามขยายตลาด โดยโฆษณาชักชวนให้มีผู้สูบบุหรี่มากขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย และประเทศในโลกที่สามอื่น ๆ ทั้งนี้มุ่งเน้นหนักและเจาะจงจะหาตลาดใหม่ในกลุ่มหนุ่มสาวและผู้หญิง

สถิติของสหรัฐอเมริกาบ่งชัดว่า การออกกฎหมายจำกัดที่ทางสำหรับสูบบุหรี่ จากจำนวนผู้ใหญ่ (ไม่นับวัยรุ่น) ร้อยละ 40 สูบบุหรี่เมื่อ 25 ปีก่อน เหลือเพียงร้อยละ 27 เมื่อปี พ.ศ. 2529 ผลที่กระทบกระเทือนถึงผู้บริโภคไทยก็คือ ผู้ผลิตบุหรี่ต้องหาตลาดใหม่ เมืองไทยเป็นตลาดที่เปิดประตูกว้างต้อนรับ มีเพียงกำแพงภาษีเตี้ย ๆ กั้น ทั้งยังมีกฎหมายจำกัดที่ทางสำหรับสูบบุหรี่น้อยมาก เหลือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคแต่ละคนที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจเองว่า จะทำอย่างไร เมื่อรู้แล้วว่าตลาดไทยเป็นเป้าของการขยายตลาดบุหรี่ จะสมยอมหรือจะแข็งข้อต่อต้านกันอย่างไร

การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่

การเน้นให้เห็นโทษของบุหรี่แก่สุขภาพมีมานานแล้ว แต่มักจะไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะเป็นการชักชวนกันให้เลิกบุหรี่โดยสมัครใจ ถึงภาษีบุหรี่จะแพงขึ้นเพียงใดคนที่ติดบุหรี่ก็มักจะหาทางเจียดเงินซื้อบุหรี่มาสูบได้ แม้ไม่มีการโฆษณาทางสื่อมวลชน เพื่อน ๆ กันเองนั่นแหละกลับชักชวนให้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะวัยรุ่น

ในบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ห้ามสูบบุหรี่ในรถเมล์ รถไฟ และรถใต้ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการของรัฐ เมืองนิวยอร์คเพิ่งออกกฎหมายใหม่ ห้ามสูบบุหรี่ในแท็กซี่ แม้ไม่มีผู้โดยสาร คนขับก็สูบบุหรี่ไม่ได้ เพราะผู้โดยสารคนต่อไปถึงจะไม่ได้สูดควันบุหรี่ก็ยังได้กลิ่น ทำให้คนขับแท็กซี่บ่นกันอึงอื้อ

 

ส่วนในเครื่องบิน ต่อไปนี้ไม่เพียงแต่จะห้ามสูบบุหรี่ตอนเครื่องบินขึ้นและลงเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา ห้ามสูบบุหรี่ในเที่ยวบินที่สั้นกว่าสองชั่วโมง บริษัทการบินบางบริษัทห้ามสูบบุหรี่ในเครื่องบินทุกเที่ยว รวมทั้งเที่ยวบินที่ข้ามทวีปซึ่งใช้เวลาถึง 4-5 ชั่วโมง คนที่ติดบุหรี่ และอดคราวละหลายชั่วโมงไม่ได้ เห็นว่าต้องเลิกเดินทางโดยเครื่องบิน

สาเหตุที่ประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว สูบบุหรี่น้อยลงนั้น เป็นผลของการออกกฎหมายของรัฐบาล และออกเทศบัญญัติของเมืองต่าง ๆ จำกัดที่ทางสำหรับสูบบุหรี่ รวมไปถึงการแสดงโทษของบุหรี่ เพื่อปกป้องผู้ที่ไม่ประสงค์จะสูบบุหรี่ให้พ้นภัยจากควันบุหรี่ ทำให้เกิดความไม่สะดวกนานาประการจนผู้ที่สูบบุหรี่ต้องยอมจำใจเลิกไปเอง

อ่านเพิ่มเติม:

  • ผลกระทบควันบุหรี่มือสอง
  • ยาหยุดบุหรี่ 

คำถามจากผู้อ่านเกี่ยวกับบุหรี่

หากเราเลิกสูบบุหรี่ แล้วออกกำลังกาย เราจะสามารถ ฟื้นฟูสภาพปอดให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้หรือไม่ครับ

คำตอบ: การหยุดสูบบุหรี่ทันที ทำให้ไม่เกิดการทำลายไปมากกว่านี้ครับ แต่การจะกลับมาสมบูรณ์นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ แต่เชื่อได้เลยว่าคุณภาพชีวิตหลังจากหยุดสูบบุหรี่จะดีขึ้นมากครับ การออกกำลังกายก็ยังไม่ควรหักโหมนะครับเพราะสภาพปอดอาจไม่เอื้ออำนวย ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปครับ - ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

คำตอบ 2: อาจจะไม่สมบูรณ์ดังเดิมค่ะ แต่อย่างน้อยก็เป็นการหยุดทำลายปอด การเลิกสูบบุหรี่ช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้นเช่น อาการเหนื่อยหอบจะลดลง การขับเสมหะน้อยลง เป็นต้น โดยรวมแล้วการเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ระบบร่างกายสมดุลมากขึ้น ค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ได้รับควันบุหรี่จากคนอื่นบ่อยๆเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดไหมคะ

คำตอบ: บุคคลทั่วไป ที่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ผู้อื่นสูบบุหรี่ แล้วต้องได้รับควันพิษอยู่เรื่อยๆ นั้น มีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด มากกว่าเพราะมีความเข้นข้นของสารพิษมากกว่า เนื่องจากควันจากปลายมวลบุหรี่มีอุณหภูมิเผาไหม้ต่ำ กว่าและยังไม่มีตัวกรองงที่ก้นบุหรี่อีกด้วย - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

ปรับความคิดยังไงเมื่อต้องการเลิกบุหรี่ครับ

คำตอบ: ดูข้างซองบุหรี่เลยค่ะ สภาพคนที่สูบบุหรี่ อนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น มะเร็ง โรคปอกอุดกันเรื้อรัง เสี่ยงต่อ เส้นเลือดสมองตีบ แตกโรคหัวใจ ค่ะ - ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 2: หากต้องการเลิกบุหรี่ มีคลินิคเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาลรัฐบาล สามารถเข้าไปปรึกษาได้นะครับ หากไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับด้านนี้ จะมีการสอบถาม ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ นัดติดตามและประเมินผลเป็นระยะครับ เรียกว่า เทคนิค 5A หรืออีกเทคนิคคือ 5R คือมีกิจกรรมจูงใจให้อยากเลิกบุหรี่ ให้ข้อมูลความเสี่ยง บอกถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลิกบุหรี่ พยายามค้นหาอุปสรรคที่ขัดขวางการเลิกบุหรี่ โดยจะทำขั้นตอนแบบนี้ซ้ำๆ หลายๆครั้ง จนเกิดเป็นไอเดียกับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่เองครับ ส่วนในกรณีที่ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่สามารถทำได้เองคือ เทคนิคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ 5D เช่น Delay ไม่สูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูด อาจจะนับเลข เพื่ไม่ให้คิดถึงบุหรี่, Deep breath หายใจเข้าออกลึกๆ, Drink water จิบน้ำ, Do something หาอะไรอย่างอื่นทำจะได้ไม่คิดถึงบุหรี่ครับและสุดท้ายคือ Destination ให้พยายามมองถึงจุดหมายของการเลิกบุหรี่เข้าไว้ครับ ก็เป็นอีกเทคนิคที่มีการปฏิัติกันอย่างกว้างขวางนะครับ ลองไปทำดูได้ครับ - ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)

คำตอบ 3: การที่จะเลิกสูบได้ ขึ้นอยูกับตัวเอง และความคิดของเราก่อนค่ะ เราจะต้องเตรียมตัว ตั้งใจแน่วแน่ ว่าต้องเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ อาจจะต้อง หาแรงจูงใจนะคะ เช่น ทำเพื่อลูกของเรา ครอบครัวเรา หรือคนรอบตัวเราค่ะ ในเมื่อเรามีเป้าหมายเราก็จะสามารถ เลิกได้ค่ะ - ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)

คำตอบ 4: ให้นึกถึงข้อเสียของบุหรี่และโทษที่ตามมาต่อเราเองและคนอื่น จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้นึกถึงหรือเคยสูบบุหรี่ ให้หาสิ่งที่แทนบุหรี่ เช่นหมากฝรั่ง สุดท้ายก็ย้ำตัวเองบ่อยๆ พยายามหากลุ่มเพื่อนหรือชมรมที่ต้องการเลิกบุหรี่เหมือนกันเพื่อจะได้มีกำลังใจในการเลิกค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

อยากเลิกบุหรี่มีวิธีไหนบ้างครับ

คำตอบ: วิธีเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุดและได้ผลมากที่สุดคือการหักดิบค่ะ โดยเมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลิกแล้ว ควรกำหนดวันที่จะเลิกชัดเจน สร้างแรงจูงใจในการเลิก หาตัวช่วยระหว่างเลิก เช่น อมกานพลู อมมะนาว(หั่นแว่นบางๆให้ติดเปลือก) อมผลไม้รสเปรี้ยว จิบน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่แนะนำให้ใช้ลูกอมหรือหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของเมนทอล/เย็นซ่า หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น เช่น เพื่อนที่สูบบุหรี่ วงเหล้า หลังทานอาหาควรแปรงฟันให้ปากสะอาด ควรอดทนกับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นระหว่างเลิกบุหรี่ เช่น หงุดหงิด หาว เปรี้ยวปาก(อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการปกติหลังหยุดบุหรี่) อาการเหล่านี้จะทำให้ผู้เลิกบุหรี่รู้สึกทรมานประมาณ2 สัปดาห์-1 เดือน ถ้าผ่านระยะวิกฤตินี้ไปได้หมายความว่าคุณเลิกได้ 50 % แล้วค่ะ ที่เหลือแค่ประคับประคองตัวเองอย่างมีสติไม่ให้กลับไปสูบซ้ำจนครบ 1 ปี จึงจะถือว่าเลิกได้ค่ะ **วิธีหักดิบเป็นวิธีที่ค่อนข้างทำได้ยากเนื่องจากผู้เลิกด้วยวิธีนี้มักมีอาการทรมานจนทนไม่ได้ หากจิตใจไม่เข้มแข็งพอมักกลับไปสูบซ้ำ ขอแนะนำวิธีค่อยๆลดปริมาณ (ใช้กับคนไข้ในคลินิกเลิกบุหรี่ รพ.พังงา บ่อยๆค่ะ) 1. กำหนดวัน โดยใช้ระยะการลดปริมาณลงจนเลิกได้ภายในเวลา 1 เดือน 2. ใช้ตารางหรือปฏิทินเป็นตัวช่วย( 1 เดือนมี 4 สัปดาห์) สัปดาห์ที่1 สูบ 10 มวน/วัน สัปดาห์ที่2 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 5 มวน/วัน สัปดาห์ที่3 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 2 มวน/วัน สัปดาห์ที่4 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 0 มวน/วัน 3. เข้าระยะวิกฤติ (ต้องหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น ปรับพฤติกรรม การใช้ตัวช่วยต่างๆ หากำลังใจเสริม เป็นต้น) ระยะวิกฤติของการเลิกแบบลดปริมาณจะไม่รู้สึกทรมานมากเท่ากับการเลิกแบบหักดิบ เพราะอาการข้างเคียงจะน้อยกว่าวิธีหักดิบ ***การใช้หมากฝรั่งนิโคติน ไม่สามารถช่วยให้เลิกได้ 100 % เพียงแต่เป็นการใช้นิโคตินทดแทนโดยเปลี่ยนจากวิธีสูบเป็นเคี้ยว ***ยาในการเลิกบุหรี่สามารถช่วยบรรเทาอาการทรมานที่เกิดจากการหยุดบุหรี่ การใช้ยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ ลองเลือกดูนะคะว่าวิธีไหนน่าจะเหมาะกับตัวคุณมาก - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก

ผมเป่าปอดไม่ผ่านมาสองสามปีเเล้วครับเป็นเพราะเกี่ยวกับสูบบุหรี่หรือไม่ครับ

คำตอบ: การที่คุณทดสอบการทำงานของปอด ไม่ผ่าน นั้นเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ด้วยครับ โดย สารทาร์ในควันบุหรี่ จะทำให้ถุงลมปอดโป่งพอง มีผลทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้มากเท่าเดิม และทำลายเซลล์ปอด อีกด้วยครับ จึงทำให้การทำงานของปอดลดลงครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

SHARE THIS

หมายเลขบันทึก: 634225เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2017 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2017 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท