ชีวิตที่พอเพียง 2995. อัตตาเกิดขึ้นอย่างไร



หนังสือ คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์ จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา  เขียนโดย ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นหนังสือขายดี  

ผมค่อยๆ ละเลียดหนังสือเล่มนี้ และเขียนบันทึกเชิงตีความหรือ reflection ไว้ที่ , , ,

ในหนังสือหน้า ๒๑๑ มีประโยค “อัตตาเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในเชิงรูปธรรม”    บอกผมว่า ผมควรลองตอบคำถามนี้ 

 ผมไตร่ตรองว่า คำถามนี้ตอบได้ร้อยแปดพันเก้าแนว     แนวพุทธบอกว่าเกิดจากปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นวงจรเวียนว่ายตายเกิดแห่งตัวตน    มองโยงไปถึงความทุกข์ที่เกิดจากตัวตน    ตีความแบบนี้ เราก็ตระหนักว่า ถ้าใจแข็ง หรือตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวไปตามผัสสะทั้งหลาย    เราก็จะไม่หลงเอาอัตตา ไปผูกพันกับมายา    อัตตาจึงไม่มี

แนวที่ผมสนใจ คือแนว Transformative Learning   อัตตาเกิดจากประสบการณ์  และปฏิสัมพันธ์ ทางสังคม  ตามด้วยการใคร่ครวญ ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง (critical reflection)    เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ ในโลกทัศน์ กระบวนทัศน์    คือเปลี่ยนอัตตาตัวตนนั่นเอง

อัตตาจึงไม่หยุดนิ่ง  ไม่คงที่    เป็นอนัตตาแบบหนึ่ง    แต่ไม่ใช่แบบหลุดพ้นสู่นิพพาน    หรือมีนิพพานก็เพียงชั่วครู่    ไม่ถาวร

ตีความใหม่ คนเราต้องเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอัตตาไปเรื่อยๆ    โดยเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น ฉลาดขึ้น รู้เท่าทันมากขึ้น   เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น   ลดตัวกูของกูลง   รู้จักเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น  มั่นคงในคุณธรรม ทนความเย้ายวนมากขึ้น  อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น  เข้าใจแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น   เข้าใจความเชื่อมโยงมากขึ้น  เข้าใจหลืบมุมที่ซ่อนอยู่มากขึ้นและชัดขึ้น ฯลฯ    นี่คือ Transformative Learning   ที่เป็นกระบวนการไม่รู้จบ 

ตีความอย่างนี้ อัตตาเกิดขึ้นจากการฝึกฝนที่ซับซ้อน     ผมเชื่อว่า คนเราสามารถตั้งปณิธานเพื่อฝึกฝน ตนเองสู่เป้าหมายชีวิตที่ดี ตามที่ต้องการได้    คืออัตตาฝึกได้  

ในคติพุทธเราสามารถยึดหลักธรรมะธรรมดาๆ (ที่มีความลึกซึ้ง) เช่น ฆราวาสธรรม   จักรธรรม ๔  สังคหวัตถุ ๔   พรหมวิหาร ๔   และหลักธรรมสำหรับคนทั่วไปตาม เว็บไซต์นี้    นำมาใช้เป็นความรู้เชิง ทฤษฎีเพื่อตั้งคำถามในกระบวนการไตร่ตรองสะท้อนคิด (คำพุทธคือ โยนิโสมนสิการ) เรื่องราวที่เราเผชิญ จากการดำรงชีวิต หรือจากการทำหน้าที่การงาน    ก็จะเกิดการหมุนวงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงอัตตา ไปในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น   

หากเราสร้างอัตตาขึ้นจากฐานทฤษฎีแห่งความดี  เราจะได้อัตตาที่หมุนเวียนยกระดับความเป็นคนดี    หากเราสร้างอัตตาขึ้นจากฐานทฤษฎีแห่งความชั่ว    เราก็จะได้อัตตาที่ “หมุนลง” คือจิตใจตกต่ำ 

ท่านพุทธทาสบอกว่า สูงสุดของอัตตาคือ “ไร้อัตตา”    ไร้ดีไร้ชั่ว    ไม่ยึดมั่นถือมั่น

ผมตีความถูกหรือผิด ก็ไม่ทราบ

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ค. ๖๐

 

600821, 

 

หมายเลขบันทึก: 634188เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท