ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๔๖. สร้างระบบที่มั่นใจว่ามีการพัฒนาครู



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano   ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง

 

ภาค ๑๑  สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ


ภาค ๑๑  สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ ตีความจาก Chapter 11  : Making System Changes  ซึ่งมีข้อเสนอแนะ ๘ ข้อ ตามในตอนที่ ๔๖ - ๕๓  


ดังที่ผมบ่นมาเป็นระยะๆ ว่าหนังสือ The New Art and Science of Teaching แตะเรื่องการจัดการบริบท ในโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาน้อยไป    จริงๆ แล้วเขาเอามาไว้ในภาค ๑๑ นี้   


เขาระบุในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าครูทำงานภายใต้การบริหารงานของโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา    ซึ่งสำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีหน่วยบริหารหน่วยที่สามซึ่งทรงพลังที่สุด คือกระทรวงศึกษาธิการ    ดังนั้นการสร้างการ เปลี่ยนแปลงในระบบตามภาค ๑๑ นี้     ในบริบทไทยน่าจะพุ่งไปที่แท่งต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ 


เขาบอกว่าเป็นธรรมชาติ หรือเป็นธรรมดา ที่ระบบที่กำหนดโดย “โครงสร้างเบื้องบน”  สองหรือสามโครงสร้าง ดังในย่อหน้าบน ย่อมมีทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบต่อการดำเนินการของครูที่เสนอในหนังสือเล่มนี้ภาคที่ ๑ - ๑๐ ที่ผ่านมา    ข้อเสนอแนะ ๘ ข้อต่อไปนี้ จึงมีเป้าหมายขจัดหรือลดปัจจัยลบ เพิ่มปัจจัยบวก ให้แก่การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ของครู   

 

ตอนที่ ๔๖ สร้างระบบที่มั่นใจว่ามีการพัฒนาครู ตีความจาก Recommendation 1 : Create A System That Ensures Teacher Development   


การเปลี่ยนแปลงระบบที่ชัดเจนและสำคัญที่สุดคือระบบการพัฒนาครู ดังเสนอในตอนที่ ๔๖ นี้    ซึ่งผมตีความว่า เป็นระบบพัฒนาครูที่เน้นให้ครูพัฒนาตนเอง และพัฒนากันเอง (PLC)    ซึ่งเป็นการพัฒนาจากการทำงาน โดยมุ่งมั่น พัฒนาศิษย์ ตามที่กล่าวไว้ในภาค ๑ - ๑๐ รวม ๔๓ ประเด็นยุทธศาสตร์    คือเป็น Learning by Doing ของครูนั่นเอง 


เครื่องมือในการพัฒนาครู ใช้ ๒ เครื่องมือประกอบกันคือ สเกลบอกระดับการพัฒนา (developmental scale)  และการประเมินตนเอง (self-audit)   


สเกลบอกระดับการพัฒนาของแต่ละประเด็น (element) จาก ๐ - ๔  แสดงในตาราง 




เขาแนะนำกระบวนการ ๕ ขั้นตอนสำหรับครูดำเนินการพัฒนาตนเอง

  • เริ่มด้วยการประเมินตนเอง (self-audit)
  • ติดตามความก้าวหน้าของตนเอง
  • ได้เข้าสังเกตการณ์การสอนที่ดี และร่วมอภิปรายทำความเข้าใจ
  • เข้าร่วมทีมครูร่วมมือพัฒนาซึ่งกันและกัน (PLC)
  • ได้รับโค้ชชิ่ง

เริ่มด้วยการประเมินตนเอง

ตอนต้นปีการศึกษาครูประเมินตนเองใน ๔๓ ยุทธศาสตร์ (element) ที่ระบุในตอนก่อนๆ    โดยใช้สเกลบอกระดับ การพัฒนาข้างบน    สำหรับเลือก ๓ - ๔ ประเด็นยุทธศาสตร์ สำหรับดำเนินการพัฒนาตนเองในปีนั้น    เกณฑ์ในการเลือกคือ ผลการประเมิน อยู่ที่ระดับ  ๐ - ๒   และตั้งเป้าผลการประเมินซ้ำตอนปลายปีการศึกษา ซึ่งควรกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าระดับ ๓   

 

ติดตามความก้าวหน้า

หลังจากดำเนินการพัฒนาตนเอง ครูติดตามความก้าวหน้าของตนเองโดยการจัดทำบันทึกกิจกรรม ในทำนองเดียวกับที่ครูแนะนำให้นักเรียนทำ (ตอนที่ ๑๐)    และครูทำ “ตารางบอกความก้าวหน้าของครู” (Teacher Progress Chart - http://soltreemrls3.s3-website...)  ลงคะแนนประเมินตนเองเป็นรายเดือน

 

เข้าสังเกตการณ์การสอนที่ดี และร่วมอภิปรายทำความเข้าใจ

ครูแต่ละคนควรได้เข้าร่วมกิจกรรม เข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียนที่สอนโดยครูที่เก่ง  และร่วมอภิปรายทำความเข้าใจอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง    เพื่อทำความเข้าใจการสอนที่ดีจากภาคปฏิบัติ ตามด้วยการอภิปรายทฤษฎีเบื้องหลังวิธีการเหล่านั้น 

 

เข้าร่วมทีมครูร่วมมือพัฒนาซึ่งกันและกัน (PLC)

รายละเอียดของกระบวนการ PLC อยู่ในหนังสือ บันเทิงชีวิตครู สู่ชุมชนการเรียนรู้  (https://www.scbfoundation.com/...)    ในทางปฏิบัติครูควรรวมกลุ่มกันตามเป้าหมายการพัฒนาที่ตั้งไว้ตอนต้นปี    เช่น PLC ด้านเทคนิคสื่อสารเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยการเฉลิมฉลองผลสำเร็จ (ตอนที่ ๔),  PLC ด้านเทคนิคตั้งคำถามที่ยากต่อนักเรียนที่เรียนอ่อน (ตอนที่ ๔๔)  เป็นต้น  


PLC เหล่านี้อาจรวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้นเป็นเวลา ๑ เดือน  เช่นทุกวันในตอนเย็น ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง     เมื่อสมาชิกประเมินตนเองว่าบรรลุเป้าหมายการพัฒนาตนเองครบทุกคนแล้ว ก็สลายตัวได้    หรือจะต่อยอดพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมยิ่งขึ้นและใช้เวลายาวเป็นปี ก็ย่อมได้ 

 

ได้รับโค้ชชิ่ง

โค้ชชิ่งที่ได้รับมีเป้าหมายจำเพาะเพื่อยกระดับสเกลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาประเด็นยุทธศาสตร์ที่ กำหนดไว้ตอนต้นปี    โดยมีแนวทางการให้โค้ชชิ่งตามระดับการพัฒนาต่อไปนี้ 







โปรดสังเกตว่า หนังสือ The New Art and Science of Teaching ไม่ได้แนะนำการพัฒนาครูโดยการกำหนดให้ เข้ารับการอบรมระยะสั้นตามที่ใช้กันในกระทรวงศึกษาไทย    และโปรดสังเกตว่า เป้าหมายของการพัฒนาครูคือผลลัพธ์ การเรียนรู้ของนักเรียนที่ดีขึ้น    ไม่ใช่พัฒนาครูลอยๆ อย่างที่ระบบการศึกษาไทยดำเนินการกันอยู่ 

การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย คือเปลี่ยนแปลงระบบพัฒนาครูประจำการ

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 633454เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2017 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2017 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท