จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 1 : แนวคิดการทำงาน


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย2560 ตอนที่ 1 : แนวคิดการทำงาน

10 สิงหาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

 

เป็นเรื่องจริงตามสำนักข่าว Voice TV ว่า นับจากปี 2557 ยุค “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช.ประเทศไทยมีต้นทุนเม็ดเงินในการปฏิรูปประเทศคิดจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่สูงมากถึง 794 ล้าน [2] แต่จากการสำรวจพบว่าในหลายประเด็นของการปฏิรูปประเทศกลับเป็นเรื่องเก่า ๆ เดิม ๆ ที่เป็นปัญหาทั่วไปที่พบเห็นกันมาตลอด [3] ประหนึ่งว่าปัญหาเหล่านั้นได้ถึง “ทางตัน” มาแล้วในระดับหนึ่ง ที่จำเป็นต้องนำมาปัดฝุ่นและปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคงไม่พ้น “การปฏิรูปท้องถิ่น” อันเป็นหัวในของการปฏิรูปด้วยหลักที่ว่า “การปฏิรูปท้องถิ่นคือการปฏิรูปประเทศ” [4] ในท่ามกลางความสับสนอลหม่านของฝ่ายคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มหลายฝ่าย จึงเกิดกระแสต่อต้าน คัดค้าน ดึง ดัน กันมาตลอด ในตลอดช่วงการปฏิรูปที่ผ่านมา หลายคนบ่นเสียดายเวลา 3 ปีที่ผ่านไป เรายังไม่ตกผลึกทางความคิด

นอกจากนี้ในคำถาม 4 ข้อเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560 ของนายกรัฐมนตรี [5] ที่ให้ประชาชนตอบเกี่ยวกับ “ธรรมาภิบาล” [6] จากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีการหยอดคำถามเรื่อง“ยุทธศาสตร์” ไว้ด้วย เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ประหนึ่งว่า เรากำลัง “รออัศวินขี่ม้าขาว มาแก้ปัญหาให้ประเทศใช่หรือไม่” ย้อนมาเก็บตกในส่วนของ “ท้องถิ่น” หรือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) กันสักนิดแบบ “จับฉ่าย” นั่นนิดนี่หน่อย เพราะด้วยกรอบความคิดที่ยังไม่กระชับ ยังแตกกระจายหลากหลายอยู่ทั่วไป มาเริ่มสำรวจกันที่แนวคิดในการทำงาน

 

ต้นเหตุปัญหาหลักที่เกิดบ่อยใน อปท. เท่านั้น

ข้อสรุปไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่ อปท.มีปัญหาความขัดแย้งกันในเรื่อง“ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว”คำว่า “ผลประโยชน์”(Interest) [7] ไม่ได้หมายเพียง “เงิน” แต่อย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอย่างอื่นด้วย

(1) ในตำแหน่งหน้าที่การงานด้วย โดยเฉพาะในการเมืองท้องถิ่นตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่ายบริหารจัดสรร ในทางที่เอื้อผลประโยชน์ เช่น ตำแหน่งรองนายกฯ ที่ปรึกษา เลขาฯ และ ตำแหน่งของข้าราชการ “ฝ่ายประจำ” ที่ทำงานให้ฝ่ายการเมืองที่ต้องมีขวัญและกำลังใจภายใต้ “ระบบความเป็นธรรม” หรือที่เรียกว่า “ระบบคุณธรรม” (Merit System) [8] ในการบริหารงานบุคคล อาทิ การเลื่อนขั้น เลื่อนระดับปรับตำแหน่ง โอนย้าย ฯลฯ หากทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำเข้าใจกันด้วยดี ปัญหาการทำงานขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติไปสู่ประชาชนก็จะไม่มี การแก้ไขก็ง่าย อันส่งผลต่อ “งานบริการสาธารณะ” ในหน้าที่ของ อปท. ที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ และ ก่อให้เกิดการพัฒนาในภาพรวมนั่นเอง

(2) ผลประโยชน์ในการดำเนิน “การจัดซื้อจัดจ้าง” หรือที่เรียกว่า “การพัสดุ” (Procurement) ที่ฝ่ายการเมืองมิได้ให้นโยบายฝ่ายประจำก็ไปดำเนินการให้สำเร็จ แต่ฝ่ายการเมืองกลับลงมาทำงานแทน หรือ “ล้วงลูก” ฝ่ายประจำ ในหลายกรณีเช่น จัดหาผู้รับจ้างมาเองและต้องจ้างบริษัทนี้ด้วย ด้วยเกรงว่าหากให้ข้าราชการประจำ ฝ่ายพัสดุเข้าทำตามระเบียบฯ มันอาจจะไม่ได้รายนี้ก็ได้ อันเป็นการส่อผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งเป็นลักษณะของการกระทำการที่ “ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม” หรือ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interests -COI)[9]

(3) ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา “ตัวจริงเสียงจริง” คือ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น (Corruption) [10]โดยเฉพาะในโครงการงบประมาณใหญ่ ๆ ที่ฝ่ายการเมืองรับไป เล็ก ๆ กระจิ๊บกระจ้อย เศษเสี้ยวแบ่งให้ฝ่ายประจำรับไป พร้อมกับมอบความเสียงในตำแหน่งหน้าที่การงาน และ “คดีความแพ่งอาญา ละเมิดฯ” ไว้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้ภักดีทั้งหลายด้วย เหตุนี้การพัฒนาระดับท้องถิ่นมันจึงไปไม่ถึงไหน เมื่อท้องถิ่นไม่พัฒนาแล้วประเทศมันจะพัฒนาไปได้อย่างไร เพราะหากคนทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำต่างคิดเพียงว่า “ฉันจะได้เท่าไร”แต่ไม่ได้คิดว่า “งานจะดีแค่ไหนหากฉันรับมาเท่านี้”

(4) ในลำดับสุดท้ายที่สำคัญ ที่ต้องพูดถึงคือ ปัญหาด้านศีลธรรมจรรยา หรือที่เรียกว่า “จริยธรรมคุณธรรม” (Ethics) [11] ระหว่างผู้บริหารกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ จนเป็นค่านิยมเป็นแฟชั่นไป การขาดสำนึกรับผิดชอบและคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน ในทุกรูปแบบทั้งการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) [12]แบบไร้ขอบเขต เมื่อได้เป็นนักการเมืองมีผลประโยชน์มีเงินมีตำแหน่ง การเหลิงอำนาจ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ เด็กของนายมันมีมากเหลือเกินสูญเสียเสียการปกครอง เปรียบเสมือนแมลงหวี่แมลงวันที่บินมาเกาะมาตอมของชอบเละเทะไปหมด ประมาณนั้น

 

ข้อคิดการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ

อปท. เอาแค่อบจ. อบต. เทศบาล รวมเมืองพัทยา (ที่จริงต้องรวมกรุงเทพมหานครด้วย)มีแค่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และ ฝ่ายประจำหรือข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดอปท. เรื่อยไปจนถึงนักการภารโรง และลูกจ้าง พนักงานจ้างทั้งหมดทีเดียว

(1) ฝ่ายประจำทุกคนมีหน้าที่ทำงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายการเมือง และงานประจำที่ต้องทำเป็นปกติในสำนึกของความเป็นข้าราชการ การดูแลให้การบริการประชาชนที่มาติดต่อในที่ทำงานหรือหน้าที่อย่างอื่นๆตามปกติทั้งหมด

(2) ฝ่ายการเมืองที่มีระยะเวลาทำงานวาระแค่ 4 ปี ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภา ท่านทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่เมื่อลงเลือกตั้งได้รับชัยชนะในการแข่งขันลงเลือกตั้งทั่วไปที่มีระยะเวลาการทำหน้าที่เพียง 4 ปีเท่านั้น เมื่อหมดวาระก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ปัญหาการบริหารงาน อปท. ย่อมจะต้องมีแน่นอน หากแต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่องค์กรนั้นๆว่าตัวนายกฯและทีมที่ปรึกษาทีมบริหารจะวางแผนการทำงานได้ดีมีระบบที่ชัดเจนอย่างไร หากวางแผนไว้ดีและรู้ปัญหาท้องถิ่น ปัญหาก็จะมีน้อย ในการหาเสียงจะทำให้ได้รับรู้ปัญหาจึงสามารถวางแผนการทำงานได้ส่วนปัญหาจุกจิกจิปาถะเป็นปัญหาปกติในการทำงานของคนหมู่มากอย่าไปใส่ใจ

มาเริ่มต้นสำรวจและยอมรับในข้อสรุปความจริงเหล่านี้กัน เหมือนจิ้งจกทักก็ให้ฟังด้วย เพราะการรับฟังเสมือนเป็น  ”กระจกเงาส่องตัวเอง” ได้เป็นอย่างดี

[1]Phachern Thammasarangkoon & Arnon Changchai, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 48 วันศุกร์ที่ 11– วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560, หน้า 66  

& หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23488 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ 

[2]794 ล้าน เม็ดเงิน สปช.-สปท. ต้นทุนปฏิรูปประเทศ ยุค คสช., News - Voice TV, by Phanaschai Kongsirikhan, 4 สิงหาคม 2560, http://news.voicetv.co.th/thai...

[3]นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1/2560, รัฐบาลไทย ข่าวทำเนียบรัฐบาล, 3 มีนาคม 2560,  http://www.thaigov.go.th/news/...

วาระการปฏิรูปยังคงเป็น 27 วาระ รวม 42 เรื่องที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2560 พร้อมกับจะมีอีก 32 เรื่องที่จะทำภายในปี 2561-2564 เรื่องที่จะปฏิรูปในปี 2560 จะเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 6 ประเด็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งเป็นเรื่องกรอบของกลไกภาครัฐ การพัฒนาฐานราก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

[4] หัวใจการปฏิรูปประเทศ, โดย สายล่อฟ้า 21 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thairath.co.th/cont...  

บัญญัติ 10 ประการ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ-ป้องกันรัฐประหาร ได้อ่านแนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ได้เสนอต่อสังคมมาตลอดในเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “การปฏิรูปประเทศคือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ต้องกระจายอำนาจไปให้ประชาชนปกครองตัวเองมากที่สุด ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง” นี่คือหัวใจของการปฏิรูปซึ่งจะต้องทำตรงนี้

& ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปท้องถิ่น, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ มติชนรายวัน, 16 กันยายน 2559, https://www.matichon.co.th/new...

& ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ฉบับสมบูรณ์ , โดย  คณะกรรมการปฏิรูป,วันที่ 18 เมษายน 2554,   http://polsci.pn.psu.ac.th/web...

& สิวาพร สุขเอียด(ผู้เรียบเรียง), การปกครองส่วนท้องถิ่น, http://wiki.kpi.ac.th/index.ph...การปกครองส่วนท้องถิ่น

หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประการหนึ่งก็คือ การปกครองตนเองมิใช่เป็นการปกครองอันเกิดจากคำสั่งเบื้องบน โดยเป็นการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง

[5]นายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม 4 ข้อ ปมเลือกตั้ง ให้ ปชช. ส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม, เดลินิวส์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2560, http://www.commandcenter.moi.g...นายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม-4-ข้อ-ปมเลือกตั้ง-ให้-ปชช.-ส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม.html

& นายกฯตั้งคำถาม4ข้อก่อนพาประเทศสู่การเลือกตั้ง 26 พฤษภาคม 2560, http://www.posttoday.com/polit...

[6]ดร.ถวิลวดี บุรีกุล, ธรรมาภิบาล: หลักการเพื่อการบริหารรัฐกิจแนวใหม่, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง, วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2546, http://kpi.ac.th/media/client/client_pic/journal_pdf/journal_2546/02.-.pdf

การบริหารจัดการที่ดี หรือธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งองค์กรภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและพยายามที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการทำงานที่ดีที่สุด โดยอยู่บนพื้นฐานของการมีหลักการดังกล่าว

ในส่วนของเอกชนก็มีการมีการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ซึ่งมีการเรียกว่า เป็น corporate governance หรือ บรรษัทภิบาล เป็นการสร้าง หลักของการเติบโตของบริษัท เพื่อความอยู่รอดในโลกของการแข่งขัน ซึ่งต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับบุคคลากร เช่น ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และแข่งขันได้ เป็นต้น

[7]ในที่นี้เบื้องต้นหมายถึง “ผลประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนบุคคล” (Private Interest) มิใช่ในความหมายของ “ผลประโยชน์สาธารณะ” (Public Interest) ซึ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ

[8]ธนธัช ขุนเมือง, ระบบคุณธรรม(Merit system) VS ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System), คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมภาคประชาชน, 6 กุมภาพันธ์ 2555, https://msprotect.wordpress.com/2012/02/06/ระบบคุณธรรมmerit-system-vs-ระบบอุปถั/

[9]การขัดกันแห่งผลประโยชน์, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/การขัดกันแห่งผลประโยชน์

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า ผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 9 มาตรา184-187  เรียก “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ซึ่งมีกล่าวถึงในมาตรา 114, 248, 250 ด้วย

ดู ดร.อรทัย ก๊กผล, ผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (Conflict of Interest in Local Government), วารสารสถาบันพระปกเกล้า วารสารปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน 2547, http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_47.pdf

[10]คอร์รัปชัน, วิกิพจนานุกรม, https://th.wiktionary.org/wiki/คอร์รัปชัน

[11]กิตติยา โสภณโภไคย, “คุณธรรม” “จริยธรรม” และการดำรงอยู่กับสังคมประชาธิปไตย (ความหมาย และแนวคิดเชิงทฤษฎี), 2552, http://www.ombudsman.go.th/10/ethical/ethical0.pdf

[12]ธนธัช ขุนเมือง, ระบบคุณธรรม(Merit system) VS ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System), คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมภาคประชาชน, 6 กุมภาพันธ์ 2555, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 633253เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2017 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2017 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท