- ให้ความใส่ใจนักเรียนแต่ละคนนับแต่วันแรกของการเปิดเรียน โดยการพูดคุยซักถามและจดจำข้อมูลต่างๆ ที่นักเรียนบอกออกมา จริงอยู่ว่าครูประจำชั้นมีเวลาตลอดปีการศึกษาที่จะทำความรู้จักกับนักเรียนให้ลึกซึ้งขึ้น โดยการสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการที่นักเรียนแสดงออกมา แต่การพูดคุยซักถามหรือจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้แสดงออก ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ครูรู้ข้อมูลของนักเรียนมากขึ้นในระยะเวลาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นด้านความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ความชอบ ความฝัน หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่ชอบ และที่สำคัญ ครูควรเรียกชื่อนักเรียนทุกครั้งที่พูดคุยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าให้ความใส่ใจในตัวนักเรียนคนนั้นๆ
- ให้คำแนะนำหรือคำแนะแนวด้านบวก เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยที่เหมาะสม
- ตั้งความคาดหวังต่อตัวเด็กให้สอดคล้องกับพัฒนาการช่วงวัยและความสามารถของเด็กแต่ละคน เพราะการคาดหวังให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ หรือแสดงออกด้านต่างๆ เกินกว่าวัยพัฒนาการ จะทำให้เด็กหมดกำลังใจเพราะไม่สามารถทำได้ตามที่ (ถูก) คาดหวัง
- อย่าเปรียบเทียบนักเรียนกับนักเรียนคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทในชั้นเรียน แต่ควรเปรียบเทียบกับตัวของนักเรียนคนนั้นๆ
- หลีกเลี่ยงการสร้างความอับอายหรือประทับตราด้านลบให้กับนักเรียน
- เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้จากการมีผู้ใหญ่เป็นแบบ
- ถ้านักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ครูควรพูดตักเตือนในส่วนพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกมา แทนที่จะว่ากล่าวที่ตัวเด็ก
- ชื่นชมกับความสำเร็จของนักเรียน
- ยอมรับความรู้สึกที่นักเรียนแต่ละคนแสดงออกมา ทั้งที่เป็นบวกและลบ โดยไม่ตัดสิน
- เป็นที่ปรึกษาและกองเชียร์ที่ดีของนักเรียน
การพยามสร้างสังคมห้องเรียน ให้นักเรียนตระหนักรู้คุณค่าในตัวเอง และรู้สึกเป็นสมาชิก (ที่สำคัญ) คนหนึ่งของห้องเรียน ไม่เพียงเป็นการเตรียมพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมใหญ่เท่านั้น แต่ยังทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติด้านบวกต่อห้องเรียนและต่อการเรียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนต่อเนื่องไปตลอดปีการศึกษานั้นๆ
คำสำคัญ (Tags)#การสร้างความตระหนัก
หมายเลขบันทึก: 63305, เขียน: 26 Nov 2006 @ 09:38 (), แก้ไข: 17 May 2012 @ 21:14 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก