"เริ่มทำจากความไม่สมบูรณ์" PLC ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่วรพัฒน์


“เริ่มทำจากความไม่สมบูรณ์”

โดย ดร.วรลักษณ์ ชูกำเนิด. อาจารย์ประจำภาควิชาการบริหารการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี03/08/60 เปิดชั้นเรียน (Open class)@โรงเรียนวรพัฒน์"พวกเราเริ่มทำจากความไม่สมบูรณ์แบบเหมือน ๆ กับโรงเรียนอื่น ต่างเพียงแค่พวกเรากล้าเริ่มก่อน “

นับร่วมเป็นเวลาปีที่ 4 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 บนเส้นทาง PLC ของกลุ่มคนเล็ก ๆ ในวรพัฒน์เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าการปฏิรูปการเรียนรู้แท้จริงอยู่ที่ชั้นเรียน และ ไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่คนเป็นครูจริง ผู้บริหารจริง ๆ และนักการศึกษาจริง ๆ จะทำไม่ได้ ถ้าเรากอดคอกันลุยให้ถึงที่สุด!

"เราไม่มีพลังและเวลามากพอที่จะใช้พลังในการ Focus การปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผิดจุดในรูปแบบเดิม ๆ "

เมื่อก่อนเราในฐานะคนทำการศึกษามักจะมี "คำถาม" จนถึง "คำโวยวาย" ถึงการคุณภาพศึกษาไทยในภาพกว้าง ๆ ด้วยความผิดหวัง หรืออาจถึง สิ้นหวัง ก็ว่าได้ ในมุมมองฉันว่าการคิดเช่นนี้มันเป็นการใช้พลังในการ Focus การปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผิดจุด บทเรียน คือ การใช้พลังไปกับการบ่นกับระบบการศึกษา หรือ นโยบายว่ากันไป แต่ซากปรักหักพังก็เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่เรากำลังดูแลลูก ๆ หลาน ๆ ของเรา

"เปลี่ยนจากความคาดหวัง (Expect) เป็น การสร้างความหวัง (Hope) ด้วยการลุกขึ้นอาสารับโจทย์ลงมือทำเพื่อพิสูจน์การใช้กลยุทธ์ปฏิรูปการเรียนรู้ที่เริ่มจากชั้นเรียน โดยผู้ก่อการดีตัวเล็ก ๆ ที่ทำงานภาคสนามในระดับโรงเรียน" 

ด้วย คำพูดของท่าน รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ และทีมงานทั้ง ดร.เกษม เปรมประยูร และดร.สุวรรณี เปลี่ยนรัมย์ ที่จุดประกายและคอยย้ำเสมอทำให้พวกเรากลับมาตระหนักจริง ๆ ว่า ความหวังนี้เป็นไปได้มันต้องเริ่มจากการปฏิรูประดับชั้นเรียนจึงจะเป็นใช้พลัง Focus ให้ถูกจุด ในทีมวรพัฒน์เราเริ่มด้วยฐานคิดกลับมาถามกันเองว่าปฏิรูปการ "เรียนรู้" จริง ๆ แล้วเป็นการเรียนรู้ของใคร มันคือ การเรียนรู้ของผู้เรียน แล้วผู้เรียนคือใคร ผู้เรียน คือ นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักการศึกษา นี่น่าจะนิยามเป็น "ชุมชนผู้ลุกคนมาปฏิรูปการเรียนรู้ของตนเองเป็นเบื้องต้น" โดยใช้พื้นที่ปฏิรูปที่ถึงตัวเด็กที่สุด ภายใต้หลักคิดว่า " ตรงไหนที่ถึงการเรียนรู้ของเด็กก็ทำตรงนั้น" พื้นที่ที่สรุปกันได้คือ พื้นที่ชั้นเรียนของเด็ก ๆ นี่น่าจะเป็นความหมายและคุณค่าแท้ของ PLC หรือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่มีความหมายมากไปยิ่งกว่า คือ ชุมชนผู้อาสาลุกขึ้นมาปฏิรูปการเรียน เป็นผู้ก่อการดีเพียงไม่กี่คนที่ริเริ่มทำก่ออิฐก่อนแรกของ PLC โรงเรียนวรพัฒน์ ด้วยการมาสืบค้น (Inquiry) การพัฒนาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) 

"พวกเราเริ่มทำจากความไม่สมบูรณ์แบบเหมือน ๆ กับโรงเรียนอื่น ต่างเพียงแค่พวกเรากล้าเริ่มก่อน "

เราคลำและทำด้วยกันท่ามกลางอุปสรรคปัญหาที่ท้าทาย ทั้ง "ไม่รู้...ว่ามันคืออะไร" "คนที่ทำก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร" "ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาก็กังวลกับวิธีการที่โรงเรียนเปลี่ยนแปลงการสอน" "ครูก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะทำได้จริงหรือไม่หรือแค่ชั่วคราว" ทุกอย่างเริ่มจากความไม่สมบูรณ์ มีอย่างเดียวที่ชัดเจน คือ "เป้าหมายทิศทางที่จะไปให้ได้ คือ ทำชั้นเรียนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความหมายและมีความสุขในชีวิต" ค่อย ๆ ทำจากครูและผู้บริหารกลุ่มเล็ก ๆ เก็บการเรียนรู้จากการเผชิญปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ลองผิดลองถูก แต่ไม่หยุดทำ ค่อย ๆ ทำจนกลายเป็นประสบการณ์ ปูทางการทำงานปฏิรูปชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิดไปเรื่อย ๆ ขยายจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ในโรงเรียน ทำแล้วเก็บความสำเร็จเล็ก ๆ เริ่มปีที่ 2 มันมีสัญญาณที่ดีเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เด็กที่เริ่มมีอาการสนุกกับการคิดในชั้นเรียน สนทนาขบคิดเกับสถานการณ์ปัญหาร่วมกัน ยกมืออยากแสดงความคิดเห็น รอคอยที่ครูจะสอนคณิตศาสตร์ สัญญาณนี้ย้ำว่า เอาเหอะ! เราน่าจะมาไม่ผิดทางเพียงแต่ต้องเรียนรู้และสืบค้นกันต่อไป....ทีมงานเริ่มสนุกกับการศึกษาชั้นเรียนร่วมกัน ทั้ง Plan วางแผนร่วมกัน Do สอนและสังเกตการสอนร่วมกัน See สะท้อนข้อค้นพบและปรับปรุงการสอนให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิมร่วมกัน ทำไปเรื่อย ๆ จากแรก ๆ ทำแบบงง ๆ จนกลายเป็นทำจนเป็นนิสัยในการทำงานของพวกเราไปโดยปริยาย 

“เราทำต่อเนื่องจนคิดค้นและพัฒนาระบบ PLC ที่สร้างวัฒนธรรมชุมชนการเรียนรู้ของทีมวรพัฒน์แบบพัฒนาไม่หยุดยั้งและทำให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ ครั้ง”

ระบบสำคัญก็คือ PLC ที่ทำต่อเนื่องไม่หยุดยั้งและทำให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อีก ตามความหมายของคำว่า “วรพัฒน์ คือ การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง” อย่างเช่นการเปิดชั้นเรียนแบบ Extra Loop ของทีมพวกเราในครั้งนี้ จริงแล้วมันเป็นชั้นเรียนธรรมดา ๆ หรือ Regula Loops ย่อย ๆ ที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง Plan Do See ในชุมชนการเรียนรู้ของพวกเรา หรือ PLC ทั้งในระดับ รายวัน (Daliy) รายสัปดาห์ (Weekly) รายเดือน (Monthly) โดยทีมผู้บริหาร และรายภาคเรียน (Semesterly) โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ) ที่พวกเราทำกันอยู่โดยปกติอย่างต่อเนื่องทำสั่งสมค่อย ๆ ยกระดับจนเป็นคุณลักษณะของชั้นเรียนที่แสดงออกให้เห็นโดยตัวเด็กและครูที่เป็นบรรยากาศชั้นเรียนแบบเปิด จนเป็นสิ่งที่ปรากฎคือ ไม่ว่าครูคนไหน ๆ ของวรพัฒน์ก็สามารถเปิดชั้นเรียนตนเองพัฒนาด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพร่วมกันกับเพื่อนครูอื่น ๆ โดยปกติไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัว อีกทั้งยังเห็นเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาชั้นเรียนตนเองต่อไป จึงไม่แปลกอะไรที่ครูสอนได้แบบปกติ และรับฟังจดบันทึกการสะท้อนของเพื่อนครูที่มาศึกษาชั้นเรียนร่วมกัน นักเรียนเองก็มีอาการเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างที่มีผู้เชี่ยวชาญสะท้อนว่า ดูแล้วเป็นชั้นเรียนที่ “เอะอะโวยวาย” แต่เป็นการเอะอะโวยวาย Focus ในเรื่องที่เด็ก ๆ กำลังเรียนและคิดหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อที่จะนำเสนอแนวคิดของตนเองออกมาในวิธีการที่หลากหลายอย่างรับฟังซึ่งกันและกันสุดท้ายขอย้ำว่า"พวกเราเริ่มทำจากความไม่สมบูรณ์เหมือน ๆ กับโรงเรียนอื่น ต่างเพียงแค่พวกเรากล้าเริ่มก่อน “ จนมาถึงวันนี้สิ่งที่เดินทางกันมาย่างเข้าปีที่ 4 มันเริ่มปะติดปะต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เริ่มจากชั้นเรียนได้บ้างพอเห็นจุดตั้งตั้นและที่มาที่ไปพอเห็นความหวัง (Hope) จากสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เรารู้ว่าเรามาถูกทางแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สุดทาง มันยังมีอีกหลายย่างก้าวและหลายกับดักในการเปลี่ยนแปลงตนเองที่พวกเราต้องผ่านไปให้ได้ แต่ PLC และชุมชนการเรียนรู้เราเข้มแข็งขึ้น จากระดับกลุ่มเล็ก ๆ เป็นชั้นเรียน จากชั้นเรียนเป็นแผนก จากแผนเป็นทั้งโรงเรียน จากทั้งโรงเรียนเป็นผู้ปกครองเข้ามาร่วม จากผู้ปกครองเข้ามาร่วม มีเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้ามาร่วม จากเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้ามาร่วม มีโรงเรียนต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาตรี โท เอก คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย มาร่วมเดินทางไปด้วยกันอย่างมีความหวัง (Hope) เพราะการปฏิรูปการเรียนรู้จากชั้นเรียนในครั้งนี้มันเดิมพันด้วยอนาคตของลูกหลานเรา สังคมของเรา และศักดิ์ศรีความเป็นครูและนักการศึกษาของพวกเรา.....................................................โรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์:Centre of excellence in mathematics(CEM) ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น: Center for Research in Mathematics Education (CRME)

หมายเลขบันทึก: 633023เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2017 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2017 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมาก

ผมทำเรื่องนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

เอามาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts...

https://www.gotoknow.org/posts...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท