ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

การพูดต่อที่ชุมชน


การพูดต่อที่ชุมชน

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

                การพูดต่อที่ชุมชน มีความสำคัญต่อความเป็นผู้นำ ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน คนที่มีทักษะในการพูดต่อที่ชุมชนย่อมได้เปรียบคนที่ไม่มีทักษะในการพูดต่อที่ชุมชนหรือผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนการพูดต่อที่ชุมชน

            หลายคนบอกว่าคนที่พูดเก่ง  เขามักเป็นคนที่มีพรสวรรค์มาตั้งแต่กำเนิด เพราะความคิดดังกล่าว เลยไม่สนใจฝึกฝนการพูดต่อที่ชุมชน แต่สำหรับตัวกระผม  กระผมยืนยัน นั่งยันและนอนยัน 1,000 ###/span#< เลยครับว่า การพูดต่อที่ชุมชนฝึกฝนได้ และมีคนอีกจำนวนมากมายในโลกนี้ก็ได้ยืนยันเช่นกัน

            แล้วจะทำอย่างไรถ้าต้องการ พูดต่อหน้าที่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระผมขอแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

          1.ต้องมีเป้าหมาย หลายๆคน เห็นว่าการพูดต่อที่ชุมชนมีความสำคัญแต่ก็ไม่มีความพยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นในการฝึกฝน  แต่ตรงกันข้ามกับคนที่มีเป้าหมายหรือมีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นนักพูด  บุคคลเหล่านี้ก็จะทุ่มเทฝึกฝน อย่างไม่ลดละหรือไม่หยุดหย่อน ถ้าท่านขาดความกระตือรือร้นในการฝึกฝนการพูดต่อที่ชุมชน  ท่านลองนั่งเขียนบนกระดาษดูว่า  ถ้าท่านพูดต่อที่ชุมชนได้ดี ท่านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เช่น ได้เงินเพิ่มมากขึ้น  มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น  มีโอกาสเป็นนักการเมืองในระดับต่างๆ  หรือทำให้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง  โด่งดัง เป็นต้น

            2.ศึกษาวิธีการพูดของนักพูดชื่อดังทั้งในอดีตและปัจจุบัน การศึกษาชีวิตและวิธีการพูดของบุคคลคนดังจะทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจและมีความต้องการที่จะเลียนแบบชีวิตหรือวิธีการพูดของบุคคลที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังได้เรียนรู้เทคนิคในการพูดต่อที่ชุมชนมากยิ่งขึ้น

            3.ต้องเพิ่มความกล้าหาญและสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง บุคคลที่ต้องการเป็นนักพูดหรือพูดต่อที่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ท่านจะต้องเพิ่มความกล้าหาญและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวการพูดต่อที่ชุมชน เกิดจากหลายสาเหตุ แต่มีสาเหตุที่สำคัญๆไม่กี่อย่าง สาเหตุประการหนึ่งก็คือ  เราไม่เคยชินหรือเราไม่คุ้นเคยต่อการพูดต่อที่ชุมชนนั่นเอง แล้วเราจะทำอย่างไรให้คุ้นเคยเวทีหรือการพูดต่อหน้าที่ชุมชน วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ท่านต้องขึ้นไปพูดต่อที่ชุมชนบ่อยๆนั่นเอง  จงหาเวทีฝึกฝนการพูดต่อที่ชุมชนให้แก่ตนเอง แล้วท่านจะเกิดความเคยชินและคุ้นเคยเวทีการพูด แล้วความประหม่าของท่านก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

            4.เรียนรู้หลักสุนทรพจน์  คือ เรียนรู้วิธีการเปิดฉาก การพูดเนื้อหาสาระ ตลอดจนถึงการเรียนรู้วิธีการปิดฉาก โดยส่วนใหญ่เขาจะยึดหลักดังนี้

            ขึ้นต้น     ตตต.  เท่ากับ  ต้นตื่นเต้น

            ตอนกลาง   กกก   เท่ากับ    กลางกลมกลืน

            สรุปจบ     จจจ   เท่ากับ   จบจับใจ

            สุนทรพจน์ในการพูดที่ดีนั้น ก็เหมือนกับการเขียนเรียงความ ซึ่งจะต้องมี  คำนำ เนื้อหา สรุป  การพูดที่ดีก็เช่นกัน ก็จะมีลักษณะเหมือนกับการเขียนซึ่งจะต้องมีโครงสร้างหรือโครงเรื่อง จึงจะทำให้เกิดการลำดับการพูดได้ดี และจะส่งผลให้ การพูดมีความเข้าใจง่าย  ไม่สับสน  เนื่องจากมีการลำดับเหตุการณ์  ลำดับช่วงเวลา 

            5.สร้างศิลปะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ  นักพูดที่ดีเมื่อวิเคราะห์ว่าผู้ฟังนั่งฟังด้วยความเบื่อหน่าย ไม่สนใจอยากที่จะฟังการพูด  นักพูดต่อหน้าที่ชุมชนที่ดีจะต้องรู้จักเทคนิคในการช่วยให้ผู้ฟังเกิดความสนใจหรือเกิดความตั้งใจฟังตลอดการพูด สำหรับเทคนิคที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจมีดังนี้

            5.1.การใช้น้ำเสียง  ถ้อยคำเป็นการสื่อความหมายแต่น้ำเสียงทำให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นในหัวใจ การพูดด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบตลอดการพูดมักจะทำให้ผู้ฟังไม่สนใจ เบื่อหน่าย ดังนั้น นักพูดที่ดีจะต้องมีน้ำเสียงในการพูดที่มีความหลากหลายในระหว่างการพูดต่อที่ชุมชน คือ ต้องมีเสียงเบาบ้าง ดังบ้าง เน้นบ้าง เงียบบ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง ยืดเสียงบ้าง เป็นต้น

            5.2.หาตัวอย่างแปลกๆ ใหม่ๆ มานำเสนอ  การพูดตัวอย่างเดิมๆ ซ้ำๆ หรือตัวอย่างที่ผู้ฟังมักเคยได้ยินแล้วนั้น ผู้ฟังเมื่อทราบว่าเคยฟังแล้วก็มักจะไม่อยากที่จะฟังซ้ำ ดังนั้น นักพูดต่อที่ชุมชนที่ดีต้องพยายามหา ตัวอย่างใหม่ๆ แปลกๆ มานำเสนอหรือมาพูด ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและใส่ใจที่จะฟังการพูดตลอดระยะเวลาในการพูด

            5.3.นำอารมณ์ขันมาประกอบการพูด  นักพูดเกือบทุกยุคทุกสมัย เกือบทุกชนชาติมักชื่นชอบนักพูดที่พูดแล้วสนุก มีอารมณ์ขัน เพราะทำให้การฟังเป็นไปด้วยความสนุก เกิดเสียงหัวเราะ  เสียงปรบมือ เกิดเสียงที่ให้กำลังใจจากผู้ฟัง ยิ่งเป็นสังคมไทยเรา ผู้ฟังยิ่งชื่นชอบนักพูดที่มีอารมณ์ขัน

            5.4.นำกิจกรรมมาประกอบหรือสอดแทรก  ในสถานการณ์ที่การพูดต้องใช้เวลานาน เช่นต้องพูด 6 ชั่วโมง แน่นอนคนฟังก็ไม่ต้องการจะนั่งนานๆหรือนั่งฟังตลอด 6 ชั่วโมงแบบอยู่กับที่ ดังนั้น นักพูดที่ดีควรหากิจกรรมมาประกอบหรือนำมาสอดแทรก เพื่อให้พูดฟังได้ยืนบ้างหรือเกิดการเคลื่อนไหวร่างกายบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย ทั้งนี้นักพูดจะต้องหากิจกรรมมาประกอบให้สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องหรือสอดคล้องกับเนื้อหาที่ตนเองพูดจึงจะเกิดความเหมาะสมและผู้ฟังก็จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าวด้วย

          6.ฝึกฝน  ฝึกฝน และฝึกฝน   ข้อนี้เป็นข้อสุดท้ายที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะถ้าขาดข้อนี้ไปแล้ว ท่านก็ไม่สามารถพูดต่อที่ชุมชนได้ดีหรือเป็นนักพูดที่ดีได้  จงฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน  บางคนอ้างว่าตนเองไม่มีเวทีเลยไม่รู้จะฝึกฝนอย่างไร  คืออย่างนี้นะครับ นักพูดเรืองนามในอดีตเช่น  เดล คาร์เนกี ฝึกพูดขณะรดน้ำต้นไม้หรือขณะตัดหญ้าที่รก    อดีตประธานาธิบดีลินคอล์น ฝึกพูดบนหลังม้าขณะเดินทางข้ามรัฐซึ่งสมัยอดีตต้องใช้ม้าเนื่องจากยังไม่มีรถยนต์  สำหรับตัวผมเอง สมัยก่อนผมเองก็ไม่มีเวทีที่จะฝึกฝนเช่นกัน กระผมเลยฝึกฝนด้วยตนเอง ขณะเดินออกกำลังตอนเช้าหรือตอนมีเวลาว่าง ก็จะเลือกหัวข้อ แล้วลองพูดหัวข้อที่ตนเองเลือกประมาณ 2-5 นาที ต่อ1หัวข้อหรือ 1 เรื่อง การฝึกด้วยตนเองเช่นนี้ จึงทำให้กระผมพูดได้คล่องขึ้น

            สุดท้ายนี้ ถ้าท่านต้องการความก้าวหน้า ถ้าท่านต้องการเป็นผู้นำ ถ้าท่านต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน  ถ้าท่านต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง  การพูดต่อที่ชุมชนจะนำพาท่านไปสู่สิ่งเหล่านั้น  จงเรียนรู้และจงฝึกฝนการพูดต่อที่ชุมชนแล้วท่านจะได้ดังสิ่งที่ท่านปรารถนา 


หมายเลขบันทึก: 632246เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2017 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2017 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท